©ulture

วิชัย มาตกุล เพิ่งจบ ม.6 ไม่ได้เข้ามหา’ลัย โดนพ่อส่งไปอยู่พม่า

ภาพปกหลังหนังสือ ‘โยดายาบอย’ เวอร์ชั่นสำนักพิมพ์ abook (ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 กรกฎาคม 2559)

เราอ่าน ‘โยดายาบอย’ (Yodayaboy) เป็นครั้งแรกสมัยที่เพิ่งโยกย้ายตัวเองขึ้นไปเรียนมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นครั้งแรกกับการทำความรู้จัก วิชัย มาตกุล ในฐานะนักเขียนหนังสือคนหนึ่ง จากเดิมที่รู้จักเขาแค่ในฐานะ Creative Director ประจำแซลมอน เฮ้าส์ (Salmon House) 

และเชื่อว่าในช่วงหลังมานี้ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับงานโฆษณาของเขามากกว่าหนังสือหลากเล่มหลายอารมณ์ที่เจ้าตัวเขียนขึ้นจากประสบการณ์วายป่วง จนชวนให้รู้สึกเหมือนตะคริวกินใจอย่าง ‘ตะคริว ณ นิ่วใจ’ หรือจะเป็นผลงานเดบิวต์อย่าง ‘สิ่งมีชีวิตในโรงแรม’ ที่นอกจากจะเป็นหนังสือแสดงภาพอาชีพของคนโรงแรมให้นึกตามกันได้ง่ายๆ แล้ว ยังเป็นหนังสือบันทึกชีวิตประจำล็อบบี้ของบรรดาบุคลากรในโรงแรม ซึ่งรวมไปถึงแขกนิสัยต่าง ๆ ตั้งแต่น่ารัก นิสัยดี ให้ทิปเยอะ ไปจนถึงแขกบ้าอาร์มาเกดดอน (วิชัยเรียกแบบนี้จริงๆ) ที่พร้อมจะทำลายความอดทนของพนักงานได้ตลอดเวลา

วิชัย มาตกุล Creative Director ประจำแซลมอนเฮ้าส์

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นในคำนำของหนังสือหรือโพสต์ในเฟซบุ๊ก วิชัยมักจะพูดถึงโยดายาบอยด้วยความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากเล่มอื่น ทั้งอบอวลไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัว ความไม่เข้าใจในชีวิต ณ ตอนนั้น การพยายามหาคำตอบผ่านความทรงจำอันขรุขระ แต่ขณะเดียวกันกลับสวยงามอย่างบอกไม่ถูกในบางช่วงเวลา

จะว่าไปแล้ว สิ่งที่คนอ่านจะได้จากหนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่แค่การจดจ่ออยู่กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของวิชัยในปี 1998 นักเรียนชายไทยที่เพิ่งจบมัธยม 6 มาหมาดๆ กลับต้องจำใจแบกเสื่อผืนหมอนใบตามคำสั่งผู้เป็นพ่อไปใช้ชีวิตวัยรุ่นในประเทศพม่า ประเทศที่เขาไม่เคยเหลียวแลหรือสนใจ แต่จนแล้วจนรอด ประสบการณ์ครั้งนั้นกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขากลายเป็นเขาในทุกวันนี้ 

เพราะคนอ่านเองก็อาจใช้เวลาขณะไล่สายตาไปตามบรรทัดเพื่อหวนนึกถึงตัวเราเองในช่วงวัยที่ฟุ้งซ่าน เวิ่นเว้อ และว้าวุ่น อีกทั้งยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตัวเองเลือกเดินเท้ามาตามเส้นทางชีวิตนี้ แต่ที่แน่ๆ มันคือเส้นทางที่ทำให้เรากลายเป็นเราในทุกวันนี้ และคงดีไม่น้อยที่จะลองย้อนกลับไปทบทวน และทำความเข้าใจความไม่สมเหตุสมผลของชีวิตในตอนนั้นดูอีกสักครั้งหนึ่ง

“นี่เป็นเรื่องของเด็กติดเพื่อนคนหนึ่ง ที่ต้องใช้เวลาวัยรุ่นเพียงครั้งเดียวในชีวิตที่ประเทศพม่า ขอพื้นที่ให้มันเวิ่นเว้อหน่อยนะ” วิชัย มาตกุล

 

ทำไมวะ

“คำว่า ‘ไปพม่า’ ของพ่อแม่ มันดังเท่ากับเสียงระเบิดของตึกในซอย ถนนยุบ แผ่นดินแยก มีเสียงร้อง มีคนตาย โดยมีผมนอนจมกองเลือดเสียชีวิตอยู่ใต้ซากปรักหักพังนั้น”

ภาพปกหลังหนังสือ ‘โยดายาบอย’ RETROSPECTIVE EDITION เวอร์ชั่นสำนักพิมพ์ Salmon Books (ตีพิมพ์ 2566)

คำว่า ‘ไปพม่า’ ของพ่อแม่วิชัยอาจสาหัสกว่าการย้ายบ้านหรือย้ายโรงเรียน เพราะมันคือการย้ายตัวเองไปอยู่อีกประเทศหนึ่งเพียงลำพัง พม่าในปี ค.ศ. 1998 ช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตยังไม่รวดเร็วเท่าการกะพริบตา ความคิดถึงยังมีการรอคอยอย่างไม่รู้อนาคตเป็นตัวกั้น ระยะห่างยังไม่ถูกย่นย่อให้ใกล้ชิดกันด้วยแอปพลิเคชั่นสื่อสารต่างๆ นานา

ช่วงแรกของหนังสือ วิชัยพาเราไปทำความเข้าใจกับแนวคิดของผู้เป็นพ่อก่อนว่า ทำไมถึงต้องเป็นพม่า และทำไมเขาถึงไม่ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนใครอื่นเขา ซึ่งแน่นอนว่า ตัวเขาในวัยนั้นย่อมไม่เข้าใจ จนได้แต่คิดว่า “ทำไมวะ”

ในหนังสือ วิชัยเรียกพ่อของตัวเองว่า นายทอง ซึ่งรายละเอียดคร่าวๆ คือ นายทองคิดว่าการเรียน 4-5 ปีในมหาวิทยาลัยเป็นเวลาที่เยอะเกินจำเป็นหากต้องการมีประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะกับวิชัยที่เรียนไม่เก่ง และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอายังไงกับอนาคตของตัวเอง ซึ่งต่อให้เรียนจบออกมา เด็กจบใหม่กว่าครึ่งจะหางานไม่ได้ทันที หนำซ้ำยังไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้งานที่อยากทำเสมอไป คุณจะต้องเสียเวลากี่ปีในการทำงานที่ไม่ชอบ ออกไปหางานใหม่ และจะต้องทำงานอีกกี่ปีถึงจะมีเงินเดือนมากพอจะใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ได้อย่างสบายตัวสบายใจ และเกือบทั้งหมดที่พูดไป คนเหล่านั้นอาจไม่ได้งานตรงสายที่เรียนมา

แนวคิดของนายทองคือ ให้วิชัยไปเรียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ 2 ปี ให้พูดอ่านออกเขียนได้ แล้วกลับมาหางานทำเลย เท่านี้คุณก็จะเริ่มต้นเร็วกว่าคนอื่น 2-3 ปี มีเวลามากพอจะเปลี่ยนงาน ทำงาน ตั้งตัว และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้มากประมาณหนึ่ง

ทุกอย่างที่นายทองพูดออกมาแปลกประหลาดไปหมดสำหรับวิชัยในวัยเพิ่งจบมัธยม 6 แล้วทำไมต้องเป็นพม่า วิชัยตอบคำถามนี้ด้วยประโยคที่อาจเป็นการสรุปประเด็นซึ่งกำลังเกิดขึ้นตรงหน้าตัวเองในปี ค.ศ. 1998 ว่า “กูมีตังค์ส่งมึงไปได้เแค่พม่า จบนะ”

 

โยดายา (หรือโยเดีย – ชื่อที่ชาวพม่าเรียกชาวไทย)

“ความคาดหวังที่จะได้กลับเมืองไทย กลายเป็นความฝันฟุ่มเฟือยราคาแพง เกินฐานะผมไปแล้วอย่างเป็นทางการ”

ภาพปกหนังสือ ‘โยดายาบอย’ เวอร์ชั่นสำนักพิมพ์ abook (ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 กรกฎาคม 2559)

ทุกคนคงเคยมีช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจกับอะไรสักอย่างที่พ่อแม่บอกกับเรา อะไรสักอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงคิดแบบนั้น และไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องทำแบบนั้น แต่สุดท้าย เราก็ต้องลงมือทำแบบจำยอม หรือไม่ก็อาจจะเต็มใจ โดยมีข้อสงสัยติดอยู่ในเสี้ยวความรู้สึก

การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เข้าใจตัวหนังสือ แต่เป็นการย้อนกลับไปมองว่าความไม่เข้าใจเหล่านั้นมันส่งผลต่อเราอย่างไร สำหรับหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่บทที่ 3 เป็นต้นไป มันคือเรื่องราวความไม่เข้าใจที่วิชัยต้องรับมือ เขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไร จะไปทำอะไร รู้แค่ว่านี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินเสียงความเหงาขยับตัว

หรือถ้าว่ากันตามคำนำเวอร์ชั่นสำนักพิมพ์อะบุ๊ก (ปัจจุบันตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แซลมอน) ช่วงต้นเล่มนั้นมีพื้นฐานอยู่บนความไม่ชอบใจในประเทศที่วิชัยไม่รู้จัก กระทั่งไม่อยากสนิทด้วย ทุกตัวอักษรในหนังสือถูกเขียนขึ้นด้วยความสงสัย ฟูมฟายให้กับความโชคร้ายของตัวเอง และโมโหกับทุกสิ่งรอบตัวอันแสนจะไม่เป็นใจต่อการมีความสุขในชีวิต จนกระทั่งผ่านไปครึ่งค่อนเล่มกลับเป็นวิชัยเองที่ต้องเตือนสติตัวเองให้รู้สึกรู้สากับการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้

“มันเป็นความรู้สึกประหลาด ที่อยู่มาวันหนึ่ง เราต้องเตือนตัวเองให้รำคาญเสียงแตรรถพม่า หรือต้องเตือนตัวเองให้โทรกลับเมืองไทยบ้าง”

 

Hate to Love

ข้อแตกต่างสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นๆ ของวิชัย เห็นจะมีด้วยกัน 2 ปัจจัยหลักๆ

หนึ่ง หลายครั้งหลายคราวและในหลายเล่ม ต่อให้สถานการณ์ตรงหน้าจะวุ่นวายขนาดไหน จนวิชัยต้องอุทานออกมาว่า ซากอ้อย กับแช่แฟ้บ เขาก็ยังสามารถเล่าสิ่งเหล่านั้นออกมาได้อย่างชวนขำขัน มากเสียงตลก และมีความทีเล่นทีจริงปนเปอยู่บนความเป็นมืออาชีพอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ‘สิ่งมีชีวิตในโรงแรม’ ที่ต้องรับมือกับปัญหาจากแขกร้อยแปดพันเก้าอย่าง ที่คนอ่านคงต้องขำตัวโยนกันบ้างในหลายๆ บท

สอง พูดถึงความเป็นมืออาชีพแล้ว บางทีหนังสือของวิชัยก็มีสถานะคล้ายจะเป็นคู่มือให้กับบางเรื่องราวได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการมีลูกคนแรกอย่าง ‘DON’T WORRY, BE DADDY’ กับวิธีการเตรียมตัวเมื่อภรรยาตั้งท้อง ต้องตรวจอะไร และต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้พร้อมเป็นพ่อคน หรือจะเป็น ‘มันมากับความเหมียว’ ที่พูดถึงการเลี้ยงแมว 3 ตัว ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับใครหลายคนไม่มากก็น้อยเลย

ภาพเนื้อหาตัวอย่างของ ‘โยดายาบอย’ RETROSPECTIVE EDITION เวอร์ชั่นสำนักพิมพ์ Salmon Books (photo : https://store.minimore.com/salmonbooks/items/yodayaboy)

ทั้งหมดข้างต้นมีโยดายาบอยเป็นขั้วตรงข้ามเกือบทั้งหมด แน่นอนว่ายังคงมีอารมณ์ขันตามภาษาเขียนของวิชัยให้ได้ขำกันปอดโยกบ้างเป็นครั้งคราว แต่โดยส่วนใหญ่ และจากคำบอกเล่าของวิชัย เขาบอกว่า “ผมเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้อีกครั้งด้วยความรู้สึกและท่าทีที่ต่างออกไป ไม่ต้องพยายามตลกกับมันมาก ไม่ต้องพยายามเศร้ากับมันมาก แค่จริงจังกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดก็พอ”

ยิ่งแล้วใหญ่เมื่อพูดถึงความคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นคู่มือ เพราะการที่เด็กไทยคนหนึ่งที่พึ่งเรียนจบ ม.6 จะโดนส่งไปอยู่ประเทศพม่า อย่าว่าแต่ความเป็นมืออาชีพ แค่ไม่นอนร้องไห้ทุกคืนก็นับว่ายากแล้วสำหรับหลายๆ คน 

หลักใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้จึงอาจว่าด้วยความสัมพันธ์แบบ hate to love หรือจากไม่ชอบใจสู่ความชินชา ก่อนจะกลายเป็นช่วงเวลาที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสวยงาม แม้จะเจ็บปวด และน่าโมโหต่อโลกใบนี้ แต่ทั้งหมดคือสิ่งที่ก่อร่างสร้างวิชัยขึ้นมาเป็นเขาในทุกวันนี้ 

ขณะเดียวกันเมื่อวางหนังสือเล่มนี้ลง มันก็คงชวนให้คนอ่านนึกถึงวันวานที่อะไรต่างๆ รอบตัวยากจะเข้าใจไปเสียหมด ทำไมสิ่งเหล่านั้นถึงไม่สมเหตุสมผลกับเราเลย ถึงอย่างนั้นเราในตอนนี้ก็อาจจะยังไม่สามารถตอบคำถามบางอย่างให้กับตัวเองเมื่อตอนนั้นได้ แต่อย่างหนึ่งที่วิชัยได้เขียนเอาไว้ในคำตามของหนังสือเวอร์ชั่น RETROSPECTIVE EDITION (เวอร์ชั่นตีพิมพ์ใหม่กับสำนักพิมพ์แซลมอน) ของโยดายาบอย ก็มากเพียงพอจะสรุปใจความของหนังสือ ผู้เขียน และคนอ่านได้

“ถ้าวิชัย มาตกุล ในวินาทีนี้สามารถย้อนเวลากลับไปหาตัวเองเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เราจะกอดตัวเองไว้แน่นๆ และบอกว่า ขอบคุณสำหรับทุกๆ อย่างที่แกอดทนสร้างมันขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันอาจจะไม่เมกเซนส์ และไม่สามารถตอบคำถามอะไรให้แกเลย มันเป็นเรื่องน่าเสียใจและน่าโกรธโลก แต่เราทุกคนขอบคุณแก ที่แกเริ่มต้นลากจุดจนทำให้ภาพเราชัดอย่างทุกวันนี้ 

“พวกเราทุกคนรักแกมากๆ นะ”