©ulture

ซะบิ (寂) ความหมายนัยตรงคือ ความหยาบ

ผิวสัมผัสที่กร้านเหมือนโลหะขึ้นสนิม นี่คือคุณลักษณะของเครื่องเคลือบสมัยซ่งแบบ เจี้ยนเย่า (建窯) และ จี๋โจวเย่า (吉州窯) นั่นเอง เพียงแต่เมื่อผสมกับความเป็นเซนที่ต้องถ่อมตนในคุณค่า ปรมาจารย์ชาในญี่ปุ่นไม่เพียงเลือกเครื่องเคลือบที่มีผิวแบบซะบิ แต่ยังเลือกชิ้นที่มีคุณค่าแบบซะบิ คือราคาถูกจนไร้ความหมายในแง่ศิลปะด้วย

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
เครื่องเคลือบแบบ เจี้ยนเย่า (建窯) (Photo: invaluable.com)

เช่นกรณีของ เครื่องเคลือบ จูโคจะวัง (珠光茶碗) เป็นอุปกรณ์ชงชาของ มุราตะ จูโค ปรมาจารย์คนแรกๆ ของสำนักชงชาแบบซ่ง ซึ่งนิยมใช้ของที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมจากอาณาจักรซ่ง ที่มีราคาถูก และหยาบกร้าน

มุราตะ จูโค
มุราตะ จูโค

ในสมัยโบราณ วัดวาอารามในญี่ปุ่นโดยเฉพาะยุคพุทธศาสนาหกนิกาย จะออกแบบตามสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์ถัง แต่เมื่อนิกายเซนแพร่หลาย สถาปัตยกรรรมวัดวาในญี่ปุ่น ออกแบบตามศิลปะสมัยซ่ง โดยเฉพาะซ่งตอนใต้ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่กังนั้ม (หรือ “เจียงหนาน” ในภาษาจีนกลาง) ตัวเรือนเป็นน้ำปูนสีขาวสะอาด เนื้อไม้ถูกเปลือยให้เห็นสีธรรมชาติ กระเบื้องสีเทา แวดล้อมด้วยป่าไผ่ ไม้ดัด และสวนศิลา ต่างจากวัดสมัยถังและสมัยนาระที่ลงสีจัดจ้าน จัดวางอย่างโอ่อ่า ราวกับวังหลวง

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
วัดโทฟุคุจิ เมืองเกียวโต (Photo: kyotofreeguide.blogspot.com)
วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
วัดกินคะคุจิ หรือ “วัดเงินแห่งเกียวโต” (Photo: discoverkyoto.com)

วัดเซนแบบญี่ปุ่นจึงเป็นภาพสะท้อนของวัดในกังนั้ม ในกังนั้มนิยมจัดสวน วัดเซนก็จัดสวนแบบกังนั้ม เมื่อญี่ปุ่นพัฒนากระบวนพิธีชงชา จึงรับสุนทรียะของการจัดสวนในวัดเซนมาด้วย และมีตำราจัดสวนแบบสมัยถังและซ่งเรียกว่า ตำราซะกุเทกิ (作庭記) ซึ่งช่วยบันทึกวิธีจัดสวนแบบถังและซ่งที่สาบสูญไปในจีน

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
หนังสือการจัดสวนแบบซะกุเทกิแบบร่วมสมัย ตีพิมพ์เมื่อปี 2008

พิธีชงชาในสมัยเซนรุ่งเรืองจัดกันในสวน เรียกว่า โรจิ (露地) หรือแผ่นดินหยาดน้ำค้าง เป็นการเลียนแบบสวนในวัด และชื่อโรจิยังมาจากเนื้อความในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าการชงชาเชื่อโยงกับพุทธศาสนา

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
สวนแบบโรจิ (Photo: japanesegarden.org)

ว่ากันตามตรงแล้ว ญี่ปุ่นเริ่มพิธีชงชามาตั้งแต่สมัยนาระ โดยมีกระบวนพิธีอันโอ่อ่าแบบสมัยถัง ส่วนผู้ที่เริ่มการชงชาตามสไตล์ซ่งอันเรียบง่ายในสวนหยาดน้ำค้าง คือ มุราตะ จูโค ซึ่งเรียนการชงชามาจาก โนอะมิ ศิลปินทางโลก และเรียนปรัชญาการชงชาจาก ท่านอิกคิวโซจุน (ที่เรารู้จักกันในชื่อ “อิกคิวซัง”)

อิกคิวซัง อิกคิวโซจุน
อิกคิวโซจุน

ท่านอิกคิว เป็นพระเซนที่อยู่นอกกรอบ เป็นพหูสูตร เป็นโพธิสัตว์ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ ท่านสอนมุราตะ จูโค ว่าพุทธธรรมก็เป็นหนึ่งเดียวกับวิถีแห่งชา และมอบ ‘ลิปิศิลป์’ หรือภาพเขียนลายมือที่นำเข้ามาจากจีนให้กับมุราตะ จูโค เป็นเครื่องยืนยันความเป็นศิษย์ทางธรรม

มุราตะ จูโค เป็นผู้บุกเบิกสำนักชงชาแบบซ่งและสุนทรียะแบบวะบิ เรียกกันว่า วะบิฉะ (侘茶) และการใช้อุปกรณ์ชงชาราคาถูกจากเมืองจีนแต่อุปโลกน์เป็นของราคาค่าควรเมือง จะเป็นรากฐานของค่านิยมของใช้แบบ ซะบิ (寂)

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
(Photo: team-yellow.com)

สุนทรียะแบบ “วะบิ-ซะบิ” จะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในยุคของ เซนโนะริคิว ปรมาจารย์วิถีแห่งชาผู้มีนามอันลือลั่น เขาเป็นผู้ซื้อหาอุปกรณ์ชงชาของมุราตะ จูโคมาใช้ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ของสุนทรียะที่พร่องและหยาบแต่งาม เขายังให้กำเนิดเครื่องชาชาแบบใหม่ที่เรียกว่า เครื่องเคลือบระคุ (楽焼) ที่หยาบและไม่เป็นรูปทรงยิ่งกว่าเดิม แต่เป็นที่นิยมว่างามล้ำเลิศ  ด้วยชื่อเสียงของเซนโนะริคิว ทำให้สินค้าที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมในจีนและประดิษฐ์ของใหม่ที่บิดๆ เบี้ยวๆ กลายเป็นของล้ำค่าในวงการชงชา  พิธีกรรมที่เรียบง่ายแบบวะบิฉะ กลายเป็นค่านิยมหรูหราของคนชั้นสูง นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “วะบิ-ซะบิ” เป็นสุนทรียะอันสำคัญของญี่ปุ่น

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
เครื่องเคลือบระคุ (楽焼) ที่หยาบและไม่เป็นรูปทรง แต่นิยมว่างามล้ำเลิศ (Photo: letao.com.tw)

แต่เมื่อถึงจุดนี้ ต้องยอมรับว่า วะบิ-ซะบิ แทบจะสิ้นเยื้อใยจากจิตวิญญาณความเรียบง่ายในยุคต้นแล้ว เพราะมันถูกการกำหนดคุณค่าทางรูปธรรม ชี้นำความสำเร็จทางจิตวิญญาณ

เมื่อญี่ปุ่นเข้าสุ่ยุคเซนโคกุ หรือยุคแห่งการแย่งชิงอำนาจในศตวรรษที่ 15 – 17 บรรดาขุนศึกคนสำคัญยังคงอาศัยการปฏิบัติเซนผ่านการชงชาและจัดดอกไม้ เพื่อบรรเทาความกลัดกลุ้มในใจ พฤติกรรมเช่นนี้ยังนับว่าเป็นวะบิที่แท้ แต่อุปกรณ์ชงชาของบรรดาขุนศึกมีราคาสูงลิ่ว ถึงกับใช้อุปกรณ์ชงชาเป็นส่วนหนึ่งของการชิงแผ่นดิน นี่ทำให้ซะบิ ห่างไกลจากตัวตนเดิมของมัน

เมื่อสิ้นยุคขุนศึก แผ่นดินสงบราบคาบ ปรัชญาเซนถดถอย วะบิ-ซะบิ กลายเป็นของเล่นของชนชั้นสูงอย่างเต็มตัว

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
ภาพวาดพิธีชงชา (Photo: Wikimedia Commons)
วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
การจัดดอกไม้แบบอิเคะบานะ (Photo: wolvestable.com)

ในดินแดนกังนั้มทุกวันนี้ มิได้นิยมการจัดสวนแบบสมัยซ่งอีกแล้ว แต่นิยมสวนแบบหมิง-ชิง ทว่า เค้ารางสุนทรียะแบบซ่งยังคงเหลืออยู่ตามอารามป่าเขา กังนั้มยังเป็นดินแดนของนิกายฉานอันเรียบง่าย พระสงฆ์ยังครองจีวรปุปะ พักในเรือนกรรมฐานที่สมถะ ผนังสีขาวกับไม้สีเปลือย กระเบื้องสีเทา เก็บยอดชาทีละยอดเพื่อคั่วเบาๆ และจิบด้วยความสุขุมเพื่อดำรงฌานในทุกอิริยาบถ ท่ามกลางภาพทัศน์ราวกับภาพวาดในสมัยซ่ง อุปกรณ์ชงชาในวัดฉานที่แท้คืออุปกรณ์ที่ใช้ประจำวันนั่นเอง เฉกเช่นวิถีชงชาในสมัยของมุราตะ จูโค

เซนในญี่ปุ่นตัดขาดจากรากฐานของการปฏิบัติธรรม และเมื่อแพร่ไปยังโลกตะวันตก ยังมีการผสมปนเปพุทธธรรมแบบเซนเข้ากับสุนทรียะ “วะบิ-ซะบิ” ที่กลายพันธุ์แล้วด้วยน้ำมือของชนชั้นสูงในยุคเอโดะ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เซนคือการจัดดอกไม้ จัดสวน ชงชา

วะบิ ซะบิ wabi sabi วะบิ-ซะบิ wabi-sabi
(Photo: endilletante.tumblr.com)

แท้จริงแล้วเซนคือการปฏิบัติกรรมฐาน ส่วนการจัดดอกไม้ จัดสวน ชงชา หรือแม้แต่วิถีแห่งธนูและดาบ เป็นเพียงสันทนาการทางโลกที่ต้องอาศัย “กรรมฐาน” เพื่อบรรลุความเป็นเลิศ

เซนไม่ต้องการสันทนาการทางโลก แต่กิจกรรมทางโลกต้องการเซน

วะบิ-ซะบิ ยังมีเค้าลางของความเป็นกังนั้มและเซนยุคแรกเริ่ม เพียงแต่มันเลิกร้างจากรากเหง้าเดิมที่ถ่อมตน มัธยัสถ์ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

และการเข้าใจสิ่งรอบตัวด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายไปเสียแล้ว.

_____

*ทำความรู้จักคุณค่าแบบ “วะบิ” (侘) ต่อได้ที่ วะบิ-ซะบิ รอยตำหนิแห่งสุนทรียะ ตอนที่ 1 : “วะบิ” (侘) ความเรียบง่ายจาก ‘ซ่ง’ ถึง ‘เซน’