©ulture

‘ทมิฬหินชาติ’ วลีที่ใช้บรรยายถึงความโหดร้ายป่าเถื่อน มีที่มาจากชาวทมิฬจริง

ส่วนชาวทมิฬจะโหดร้ายหรือไม่ คงยังตอบไม่ได้ เพราะข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของวลีนี้ ล้วนมาจากชนชาติที่เคยเป็น ผู้ชนะ และ ศัตรู

ดังนั้น เราจะมาดูข้อสันนิษฐานอื่นๆ เกี่ยวกับ ‘ทมิฬหินชาติ’ เพื่อหาคำตอบว่า ชาวทมิฬ เป็นชนชาติที่โหดร้ายจริงหรือ?

ทมิฬ = หินชาติ

คำว่า ‘ทมิฬ’ หากสืบค้นความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ จะมีคำจำกัดความว่า

(๑)  [ทะมิน] น. ชนพื้นเมืองอินเดียเผ่าหนึ่ง ปัจจุบันมีอยู่มากทางอินเดียแถบใต้และเกาะลังกาแถบเหนือ, ชื่อภาษาของชนเผ่านั้น. (ป.).

(๒)  [ทะมิน] ว. ดุร้าย, ร้ายกาจ, เช่น ใจทมิฬ ยุคทมิฬ, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ หินชาติ เป็น ใจทมิฬหินชาติ. (ป.).

เด็กสาวชาวทมิฬ ถ่ายเมื่อปี 1880s
เด็กสาวชาวทมิฬ ถ่ายเมื่อปี 1880s
(photo: commons.wikimedia.org)

ฉะนั้น ‘ทมิฬ’ ใน ‘ทมิฬหินชาติ’ น่าจะมีความหมายในแบบที่สอง คือเป็น คำวิเศษณ์ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับชนชาติใดๆ

และที่หยิบเอา ทมิฬ มาคู่กับ หินชาติ ก็น่าจะเป็นลักษณะการใช้คำประเภท “คำซ้อน”

โดยเป็นการซ้อนเพื่อความหมาย คือใช้คำที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงมาซ้อนกัน เพราะทั้ง ทมิฬ และ หินชาติ ก็ล้วนมีความหมายในเชิงลบไม่ต่างกัน

ท้ายที่สุด หากตัดอคติเรื่องชนชาติ ความขัดแย้ง และการรบราฆ่าฟันออกไป คงเหลือไว้แต่เพียงคำว่า ‘ทมิฬ’ ก็จะพบว่า ทมิฬ ในฐานะเป็นคำวิเศษณ์นั้น เป็นไปในทางเดียวกับ ‘หินชาติ’ จริงๆ

แต่หากพูดถึง ทมิฬ ในแง่ของคำนามที่หมายถึงชนชาติแล้ว จะพบว่าเป็นคนละเรื่อง

เด็กๆ ชาวทมิฬ ถ่ายเมื่อปี 1886
เด็กๆ ชาวทมิฬ ถ่ายเมื่อปี 1886
(photo: commons.wikimedia.org)

คนทมิฬ ≠ ใจทมิฬ

ชาวทมิฬในปัจจุบัน คือ ลูกหลานของชาวดราวิเดียน

ชาวดราวิเดียน คือ ชนชาติที่ก่อกำเนิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ทั้งเมืองโมเฮนโจ ดาโร และเมืองฮารัปปา อารยธรรมเก่าแก่ยุคแรกๆ ของโลก ที่มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สะท้อนถึงความรู้ด้านวิศวกรรมและเรขาคณิตอันยอดเยี่ยม รวมไปถึงระบบสุขาภิบาล ที่มีการสร้างท่อระบายน้ำ แยกน้ำดี-น้ำเสีย ตลอดจนมีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และติดต่อค้าขายกับต่างชาติ

ภาพหอคอย Great Gopuram และวัด Madura ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมดราวิเดียน ณ เมืองมทุราย รัฐทมิฬนาฑูประเทศอินเดีย
ภาพหอคอย Great Gopuram และวัด Madura ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมดราวิเดียน ณ เมืองมทุราย รัฐทมิฬนาฑูประเทศอินเดีย
(photo: periodpaper.com)

นอกเหนือไปจากนั้น ปัจจุบัน ภาษาทมิฬยังจัดว่าเป็นภาษาเก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งของโลกที่ยังไม่ตาย อีกทั้งยังเป็นภาษาแรกที่มีการเขียนแบบเฉพาะสำหรับบทกวี โดยมีผู้ใช้ภาษาทมิฬประมาณ 78 ล้านคน นับเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก

ภาษาทมิฬของคำว่า “โอม ”ที่เป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์และสัญรูปทางจิตวิญญาณในศาสนาแบบอินเดีย
ภาษาทมิฬของคำว่า “โอม ”ที่เป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์และสัญรูปทางจิตวิญญาณในศาสนาแบบอินเดีย
(photo: wikipedia.org)

 

เรียกได้ว่า ถ้าจิตใจโหดเหี้ยมดุร้าย จะกล่าวว่า ‘ใจ ทมิฬหินชาติ’ ก็คงไม่ผิด…

แต่ถ้าจะบอกว่า ‘คน ทมิฬหินชาติ’ อาจจะต้องรื้อประวัติศาสตร์กันอีกยาว.

ภาพวาดชาวอินเดียใต้ คาดว่าเป็น ‘ชาวทมิฬ’ คำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอังกฤษ (บน) และภาษาทมิฬ (ล่าง)
ภาพวาดชาวอินเดียใต้ คาดว่าเป็น ‘ชาวทมิฬ’ คำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอังกฤษ (บน) และภาษาทมิฬ (ล่าง)
(photo: หนังสือ Seventy-two Specimens of Castes in India: “All people, nations and languages shall serve Him.”, www.wdl.org)

 

อ้างอิง :

  • Lani Seelinger. The 10 Oldest Languages Still Spoken in the World Today. http://bit.ly/2CWSkdS
  • NGThai. ไม่มีอารยันและดราวิเดียนแท้ในอินเดีย. http://bit.ly/2AkE2RB
  • คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม? ผีพราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560.
  • น้าชาติ ประชาชื่น. สยามวงศ์. http://bit.ly/2Pdt0pE
  • มนสิชา เอกปิยะพรชัย, ผศ. ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว. เสวนาภารตวิทยา: “ทมิฬไม่หินชาติ”. วันที่ 17 พฤษภาคม 2561
  • มติชนสุดสัปดาห์. ศรีลังกา ปัญหาชนชาติ บีบคั้นชาวทมิฬ ผ่านภาษาสิงหล จนต้องฆ่ากันตาย. https://www.matichonweekly.com/scoop/article_11080
  • วิกิพีเดีย. ภาษาทมิฬ. https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาทมิฬ
  • วิกิพีเดีย. อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ. https://th.wikipedia.org/wiki/อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ