life

หนึ่งในข้อถกเถียงยอดฮิตของคนเลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ที่บางครั้งถึงขั้นทะเลาะกันในบ้านเลยก็คือ 

“มีลูกแล้วยังเลี้ยงหมาแมวได้หรือไม่” 

สารพัดข้อกังวลของคนเป็นพ่อแม่ ที่กลัวเชื้อโรคบ้าง กลัวลูกเป็นภูมิแพ้บ้าง ทำให้หลายครั้งเราเลือกที่จะทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง เพื่อรักษาสุขภาพของลูก 

วันนี้หมอเลยถือโอกาสมาเล่าให้ฟังว่าความจริงแล้ว การเลี้ยงสัตว์ให้โตมาพร้อมๆ กับลูก เป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันแน่  

คำตอบของหมอคือ มีทั้งดีและไม่ดีค่ะ 

ซึ่งจะดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้อยู่ที่สัตว์เลี้ยง แต่อยู่ที่เจ้าของล้วนๆ 

เริ่มจากข้อดีของการเลี้ยงลูกให้โตมากับสัตว์เลี้ยงก่อน 

น้องจะมีจิตใจอ่อนโยนและมีนิสัยรักสัตว์

มีงานวิจัยออกมายืนยันหลายชิ้น ว่าเด็กที่โตมากับสุนัขหรือแมว จะมีพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงมาคนเดียว เพราะการที่เขามีสัตว์เป็นเพื่อน ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เรียกได้ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นผู้ช่วยชั้นดี ในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และปรับพฤติกรรมของลูกเลยล่ะ

(Photo : nbcnews.com)

น้องจะมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น หากเลี้ยงเขาให้คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง

เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ เด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบพ่อแม่ปล่อยให้นั่งเล่นกับดินกับหญ้าบ้าง มักจะแข็งแรงกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบอนามัยอยู่ในห้องใช่มั้ยคะ 

นั่นเพราะการที่เขาได้สัมผัสกับเชื้อโรคบ้าง จะทำให้ร่างกายของเขาสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา 

หมาแมวเองก็เป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคอ่อนๆ อยู่ในตัว

ถ้าเด็กๆ ได้คลุกคลีกับกับสัตว์เลี้ยงบ้าง ร่างกายของเขาก็จะมีภูมิคุ้มกันเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง และเจ็บป่วยได้ยากกว่าเด็กที่ไม่เคยสัมผัสเชื้อโรคเลยนั่นเอง แต่มีข้อแม้ว่าสัตว์เลี้ยงต้องสะอาดด้วยนะคะ

แล้วให้หมาแมวเข้าใกล้ลูก ขนจะไม่เข้าจมูกจนเป็นภูมิแพ้หรอหมอ? 

ข้อนี้ต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดกันมานาน เพราะขนสัตว์ไม่สามารถเข้าจมูกคนได้ 

เนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่เกินกว่าจะผ่านตัวกรองที่จมูกของเรา

ฉะนั้น หมดกังวลได้เลยว่าหมาแมวจะทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ หรือโรคระบบทางเดินหายใจ

หากเด็กมีอาการภูมิแพ้ นั่นเป็นเพราะเขาเป็นมาตั้งแต่ในครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ค่ะ 

(Photo : wwwallaboutcats.com)

อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ดูเหมือนการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นเพื่อนเล่นกับลูกนั้นมีแต่ข้อดี
แล้วข้อเสียล่ะ คืออะไร

เชื้อโรคและเห็บหมัด หากเลี้ยงสัตว์แบบไม่ดูแลความสะอาด

เรื่องความสะอาดของสัตว์เลี้ยงนั้นสำคัญมากๆ หากเจ้าของเลี้ยงสัตว์แบบไม่ดูแลความสะอาดและสุขภาพสัตว์เลย เช่น ไม่ฉีดวัคซีน ไม่ฉีดเห็บหมัด ไม่อาบน้ำ แบบนี้สัตว์เลี้ยงก็จะมีเชื้อแบคทีเรียมากเกินไป หากให้มาเข้าใกล้เด็กอ่อน น้องก็มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียได้

แต่ที่หมอขอเน้นเป็นพิเศษเลยคือเรื่องเห็บหมัด เพราะถึงแม้จะไม่สามารถติดต่อสู่คนได้ แต่หากผิวอ่อนๆ ของทารกโดนเห็บหมัดกัดเข้า ก็มีโอกาสที่จะเป็นแผลติดเชื้อได้เลย

เอาหมาแมวที่ไม่รู้นิสัยมาเลี้ยงอาจเป็นอันตรายกับเด็ก

บางคนรู้ข้อดีของการเลี้ยงลูกให้โตมากับสัตว์เลี้ยง ก็พยายามไปหาลูกหมา ลูกแมวมาเลี้ยงตอนคลอดลูกแล้ว
ข้อนี้อันตรายพอสมควร เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าหมาแมวตัวนั้นจะโตมามีนิสัยอย่างไร ดื้อมั้ย เกรี้ยวกราดหรือเปล่า การเลี้ยงหมาเด็กพร้อมกับเด็กอีกคน เป็นเรื่องยาก ที่หมอไม่แนะนำ

หากต้องการเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนเล่นของลูก หมาแมวควรอยู่มาก่อนเด็ก เพราะเราพอจะรู้แล้วว่าเขาช่วยเลี้ยงน้องได้ เป็นเพื่อนเล่นกันได้จะดีที่สุด

(Photo : todaysparent.com)

มีลูกแล้วละเลยสัตวเลี้ยงก็อาจอันตรายกับลูกได้

หลายคนที่มีลูกแล้วลดความรักในตัวสัตว์เลี้ยงลง เช่น มีลูกแล้วไม่ให้หมาเข้าบ้าน และละเลยไม่ดูแลเขาเลย
ตรงนี้มีโอกาสที่สุนัขจะเกิดภาวะเครียดจนมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นได้

และยิ่งเจ้าของไม่ยอมให้เขาเข้าใกล้ลูก เขาก็ไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จัก ว่านี่คือสมาชิกคนใหม่ของบ้าน จึงอาจจะเกิดกรณีที่สุนัขกัดเด็กได้ เพราะเขาจะมองว่านี่คือคนแปลกหน้า

แต่เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น หากเราค่อยๆ พาเขามาทำความรู้จักกัน ค่อยๆ ให้เขาเรียนรู้ว่านี่คือน้องนะ สมาชิกอีกคนของบ้าน แล้วเขาจะรักเด็ก บางครั้งรักมากยิ่งกว่าเราที่เป็นเจ้าของเสียอีก

ข้อแนะนำสุดท้ายจากหมอต้า

เห็นแล้วใช่ไหมคะ ว่าการเลี้ยงสัตว์กับเด็กนั้นมีแต่ข้อดี ส่วนข้อเสีย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้

สำหรับใครที่เลี้ยงหมาแมวอยู่แล้ว และกำลังจะมีสมาชิกใหม่ หมอแนะนำว่า พาสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนประจำปีให้ครบ ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ตรวจเลือดเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีโรคเลือดแปลกๆ เช่น พยาธิเม็ดเลือด และอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกสัปดาห์ เขาจะได้ไม่มีเชื้อแบคทีเรียมาสู่ลูกเราได้

ส่วนการพาน้องมาทำความรู้จักกับสัตว์เลี้ยง ก็ต้องให้เรียนรู้กันไปทีละนิด เช่น หากนำลูกเข้ามาวันแรก อาจจะให้เขาอยู่ข้างนอกก่อน แล้วค่อยๆ พามาให้เจอ มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เขาชินว่านี่คือสมาชิกคนใหม่ของบ้าน จะได้ค่อยๆ ปรับตัว

(Photo : washingtonian.com)

สุดท้าย และสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต้องไม่ประมาท ต่อให้ลูกและสัตว์เลี้ยงเข้ากันได้ดีแค่ไหน ก็ควรอยู่ในสายตาพ่อแม่ตลอดค่ะ