life

จากเมืองสีชมพูอย่างชัยปุระ ตีตั๋วนอนบนรถไฟราว 6 ชั่วโมงครึ่ง ก็จะถึง “โยธปุระ” นครสีฟ้า เมืองแห่งนักรบในอดีตกาลที่มากด้วยตำนานไม่แพ้อาณาจักรใด

หลังจากที่ข้าพเจ้าพะรุงพะรังแบกเป้ขึ้นหลัง แล้วเดินออกจากสถานีรถไฟ Jodhpur Junction ลัดเลาะเข้าสู่เขตเมืองเก่าแห่งโยธปุระ หรือ จอดห์ปูร์ (Jodhpur) ภาพของป้อมปราการบนภูเขาที่แทงทะลุสายตาอยู่ตรงหน้า ชวนให้นึกถึง Edinburgh Castle แห่งเมืองเอดินเบอระ ประเทศสก็อตแลนด์ขึ้นมาทันที ทั้งที่ตอนนี้เราอยู่ในเมืองหน้าด่านในเขตทะเลทรายของประเทศอินเดียแท้ๆ


เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้าอดเทียบเคียงความเหมือนที่แตกต่างระหว่างอังกฤษกับอินเดียไม่ได้ เพราะจากประสบการณ์เดินทางสลับไปสลับมาระหว่าง 2 ดินแดนนี้ มีหลายอย่างที่ “เหมือนจะเหมือน” กันอย่างน่าทึ่ง เช่น การเดินทางสะดวกสบาย ไปไหนไปกันได้ทั่วประเทศด้วยเครือข่ายรถไฟสุดโยงใย วิถีชีวิตที่ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกจริงจังอย่างไม่ฝืนใจ เพราะเป็นอินเนอร์ของคนอังกฤษและอินเดียอยู่แล้ว แถมทั้ง 2 ประเทศนี้ยังมีต้นไม้เยอะและกระรอกชุกชุม แต่ก็แตกต่างกันแบบขำๆ ตรงที่คนอังกฤษไปไหนก็นิยมจูงสุนัขไปด้วย ในขณะที่อินเดียมีวัวเร่ร่อนมากมาย แบบไม่ต้องมีใครจูง เป็นต้น

Jodhur
ภาพเปรียบเทียบของทั้ง 2 ปราการใจกลางเมืองจากโปสการ์ด

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลิ่นอายของประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่ยังกลมกล่อมและหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตผู้คน ที่ทั้งอังกฤษและอินเดียต่างก็ถนอมรักษารากเหง้าเก่าใหม่ให้ดำเนินต่อไปแบบไม่สูญเสีย โดยเฉพาะที่โยธปุระแห่งนี้ ที่มีเขตเมืองเก่าอุดมด้วยบ้านเรือนเฉดสีฟ้า ตั้งอยู่รายล้อมปราการประจำเมืองอย่าง ป้อมเมห์รังกาห์ (Mehrangarh Fort) ที่ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของเมืองก็สามารถมองเห็นปราการไซส์อลังการที่ตั้งตระหง่านบนผาหินทรายแห่งนี้ ไม่ต่างอะไรกับปราสาทเอดินเบอระบนยอดภูเขาไฟที่ดับแล้วของเมืองหลวงแห่งสก็อตแลนด์ ที่ตั้งอยู่บนปลายสุดของถนน Royal Mile ในย่าน Old Town ทำหน้าที่ห้องรับแขกประจำเมืองมานานหลายศตวรรษ

Jodhur
ป้อมเมห์รังกาห์ (Mehrangarh Fort)

ความเหมือนประการสำคัญของทั้ง 2 เมืองนี้ คือ เหมาะแก่การเดินทัวร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะย่านเมืองเก่ามีตรอกซอกซอยให้ซอกแซกมากมาย โดยเฉพาะโยธปุระที่คุณควรเตรียมรองเท้าผ้าใบคู่ที่ใส่สบายที่สุดไปให้พร้อม งานนี้มีเดินกันเหงื่อตกกีบกันบ้าง เผื่อเวลาเดินหลง เผื่อเวลาถามทาง และบวกเวลาช้อปปิ้งเข้าไปด้วย แนะนำว่า ควรให้เวลากับโยธปุระสัก 2 คืน กำลังดี มีจังหวะให้ทัวร์สถานที่สำคัญได้ 3-4 แห่งสบายๆ

Jodhur

Jodhur
วิถีชีวิตที่พบเจอระหว่างทางเดินไปป้อมเมห์รังกาห์

ปลดเป้ออกจากหลังได้ปั๊บ ข้าพเจ้าก็รีบสาวเท้าไปยังเมห์รังกาห์ฟอร์ททันที แนะนำให้คุณจองที่พักในเขตเมืองเก่า จะได้ไม่ต้องเช่ารถให้เปลืองรูปี แต่สามารถเดินทะลุตรอกซอกซอยขึ้นเนินไปเรื่อยๆ เหนื่อยเมื่อไรก็ถึงเมห์รังกาห์ฟอร์ทเมื่อนั้น สนนราคาค่าเข้าชม 600 รูปี (ประมาณ 300 บาท) มาพร้อม Audio Guide บรรยายเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับแต่ละห้องหับสำคัญภายในป้อมฯ โดยละเอียด

Jodhur
ทางเดินเข้าป้อมเมห์รังกาห์

ประวัติของมหาปราการแห่งนี้ เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1459 เมื่อฤาษีตนหนึ่งให้คำแนะนำกับมหาราชาจ๊อดธะ (Rao Jodha) แห่งราชวงศ์ Rathor ผู้เป็นเจ้าครองนครในสมัยนั้นว่า ควรสร้างเมืองขึ้นที่นี่ พระองค์จึงได้มีบัญชาให้เริ่มทำการต่อเติมป้อมเดิมที่เคยมีมาตั้งแต่โบราณกาลให้มีขนาดใหญ่มหึมาดั่งที่เห็นในปัจจุบัน ภายในมีพระตำหนักและท้องพระโรงหลายแห่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป

Jodhur

Jodhur
ฝ่ามือของเหล่านางสนมที่ต้องบวงสรวงชีวิตในกองไฟ

ความใหญ่โตของกำแพงป้อมอันแข็งแกร่งที่สูงมากกว่า 30 เมตรยาวตลอดแนว  ค่อยๆ บิ้วด์อารมณ์ให้อาคันตุกะอย่างเราซึมซับประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่า 560 ปีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมาถึงสุดปลายทางของซุ้มประตูโลหะ (Lohapol) ที่บนผนังทั้ง 2 ด้าน มีรอยประทับมือสีแดงมากกว่า 30 ฝ่ามือ ปรากฏอยู่บนกำแพง โดยแต่ละมือคือ หนึ่งชีวิตของสตรีม่ายแห่งราชวงศ์ที่จำต้องบวงสรวงชีวิตในกองไฟ เพื่อตายตามมหาราชาที่เสียชีวิตไปในสงคราม

 

Jodhur
พระตำหนักพูลมาฮาล (Phool Mahal)
Jodhur
พระตำหนักโมติมาฮาล (Moti Mahal)
Jodhur
ตากัตวิลลา (Takhat Villa)
Jodhur
พิพิธภัณฑ์เปลเด็กในตำหนักจันกิมาฮาล (Jhanki Mahal)

จากประวัติศาสตร์สีเลือด ปรับโหมดเข้าสู่ความตื่นตาตื่นใจภายในตัวพระราชวังอันโอ่โถงงดงามกันบ้าง ด้านในแบ่งเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของมีค่าหลายหมวด เช่น พิพิธภัณฑ์เสลี่ยงโบราณปัลกิกานา ห้องจัดแสดงประทุนหลังช้าง พิพิธภัณฑ์เปลเด็กในตำหนักจันกิมาฮาล พระตำหนักพูลมาฮาลที่งดงามอ่อนช้อยด้วยภาพวาดดอกไม้และเถาไม้ประดับด้วยศิลปะแบบ Ragamala และที่เรายกนิ้วให้ว่าเก๋สุดคือ ตากัต วิลลา (Takhat Villa) ห้องนอนสุดเดิร์นของมหาราชาที่ประดับเพดานด้วยลูกบอลคริสต์มาสวิบวับสลับสี น่าจะเป็นห้องนอนที่ชวนสำราญที่สุดในอาณาจักรก็ว่าได้

Jodhur

Jodhur
สถาปัตยกรรมภายในป้อมเมห์รังกาห์

และบนเมห์รังกาห์ฟอร์ทนี้เองที่เป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดของนครสีฟ้าแห่งนี้ ตอนอยู่ในเมืองเราอาจจะยังรู้สึกงงๆ ว่า โยธปุระเป็นเมืองสีฟ้าตรงไหน แต่พอได้มองลงไปจากป้อมเมห์รังกาห์ถึงค่อยประจักษ์กับสายตาว่า เมื่อบ้านแต่ละหลังที่ทาสีฟ้าบ้างไม่ฟ้าบ้างมารวมเข้าด้วยกัน สามารถเกิดเป็นภาพต่อจิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์แบบของจอดห์ปูร์ นครสีบลู ที่ใครได้เห็นภาพนี้ด้วยตาตัวเองเป็นต้องหลงรักเมืองนี้ไปตามๆ กัน

Jodhur
โยธปุระ เมืองสีฟ้าแห่งราชสถาน

ส่วนเหตุผลที่ชาวบ้านนิยมทาบ้านให้เป็นสีฟ้าก็มีทั้งความเชื่อว่า สีฟ้าเป็นสีของวรรณะพราหมณ์ และด้วยความที่จอดห์ปูร์เต็มไปด้วยประชากรวรรณะพราหมณ์ จึงมีบ้านสีครามกระจายอยู่ทั่วเมือง ส่วนเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า สีฟ้าช่วยสะท้อนความร้อนทำให้บ้านเย็น และในส่วนผสมของสีฟ้าที่มาจากโคบอลต์ยังช่วยกันแมลง อย่างยุงหรือปลวกได้ดีอีกด้วย

Jodhur
อนุสรณ์สถาน Jaswant Thada

ถ้าเป็นที่เอดินเบอระ หลังชมประวัติศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ในปราสาทเอดินเอเบอระจนเสร็จสิ้น คุณสามารถแวะเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวอีกเพียบตลอดสองข้างทาง จนไปจบที่ Palace of Holyroodhouse พระราชวังที่พระนางแมรี่แห่งสก็อตเคยประทับ ซึ่งมีประวัติศาสตร์เข้มข้นหลายฉากเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งตั้งอยู่สุดถนนรอยัลไมล์พอดิบพอดี

โยธปุระเองก็เช่นกัน เมื่อเที่ยวเมห์รังกาห์ฟอร์ทจนทั่วแล้ว ห้ามพลาดการไปเยือนอนุสรณ์สถาน Jaswant Thada เพื่อทำความรู้จักหัวจิตหัวใจของอดีตผู้ปกครองนครหน้าด่านแห่งทะเลทรายแห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้น

Jodhur
ทัชมาฮาลแห่งมาร์วาร์

อนุสรณ์สถาน Jaswant Thada ห่างจากเมห์รังกาห์ฟอร์ทไปเพียง 1 กิโลเมตร ที่นี่ได้รับสมญาว่า Taj Mahal of Marwar (Marwar เป็นอีกชื่อของจอดห์ปูร์ มีความหมายว่า ดินแดนแห่งความตาย) เพราะสร้างขึ้นด้วยหินอ่อนจากแหล่งเดียวกับที่ใช้สร้างทัชมาฮาล และเป็นอนุสรณ์แห่งความรักเช่นกัน แต่เป็นความรักที่ลูกมีต่อพ่อ โดยมหาราชาซาร์ดาได้มีพระประสงค์ให้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1899 เพื่อรำลึกถึงมหาราชาจัสวันต์ ซิงห์ ที่ 2 พระราชบิดาผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือเป็นอย่างสูงจากประชาชน เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มโครงการชลประทาน จึงเหมือนเป็นผู้ประทานชีวิตให้ผืนทรายแห่งนี้ชุ่มชื้นขึ้นมาได้

Jodhur
แหล่งดูนกชั้นดีที่ทะเลสาบ Devkund

แม้พื้นที่โดยรอบจะรายล้อมด้วยกำแพงเมืองทอดยาวไปตามทิวเขาหินทราย ทอเฉดสีส้มไปทั่วบริเวณ แต่วิวของป้อมเมห์รังการ์และเมืองสีฟ้าตรงหน้า ช่างเข้ากันได้ดีกับบรรยากาศของทะเลสาบ Devkund ด้านหน้าอนุสรณ์สถาน Jaswant Thada ที่อุดมไปด้วยนกเป็ดน้ำ นกอพยพ และนกท้องถิ่น ที่ต่างพากันส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ แต่ไม่หนวกหู ช่วยขับกล่อมบรรยากาศที่ดูเหมือนจะร้อนแล้งให้เย็นสบายขึ้นมาทันที

Jodhur
เมืองสีฟ้าตอนพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน

ยิ่งได้ยินเสียงบทเพลงแห่งราชสถานแว่วมาตามลม จากทิศทางที่วณิพกเจ้าของหนวดโง้งเรียวสวย โพกผ้า turban สีสดบนศีรษะ กำลังบรรเลงทำนองเพลงท้องถิ่นจากเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่ชื่อ Ravanahatha ขับกล่อมให้นักท่องเที่ยวได้กำซาบเสน่ห์ของรัฐทะเลทราย เรายิ่งอยากบอกคุณว่า ควรละเลียดเวลาชมพระอาทิตย์ตกดินที่นี่ ทอดอารมณ์หามุมเหมาะๆ นั่งชมม่านสีฟ้าของเมืองโยธปุระค่อยเปลี่ยนสี

จนกว่าดวงอาทิตย์จะหายลับไปจากสายตา.

*สนับสนุนการเดินทางโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย บินตรงสู่ชัยปุระ ตรวจสอบเที่ยวบินและจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com