life

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ‘ซอมบี้’ ปรากฏตัวขึ้นในภาพยนตร์ ซีรี่ส์ หนังสือ และบทเพลง การแพร่พันธุ์อันสยดสยองนั้นมักชวนให้จินตนาการว่า หากวันหนึ่งโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ ‘ซอมบี้ระบาด’ เราจะรับมืออย่างไร ?

ดูเหมือนวันนี้ประชากรโลกกำลังกลายเป็นตัวละครในหนังซอมบี้เสียเอง เพราะ ‘ไวรัส’ ที่ระบาดหนักกำลังคืบคลานเข้ามากัดกินพวกเราไปทีละคนอย่างรวดเร็ว 

แม้ไม่ได้มีฉากเลือดสาดเหมือนในหนัง แต่เรื่องนี้ก็ชวนผวาไม่ต่างกัน เพราะในชีวิตจริงเรามองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าใครกำลังตกเป็นเหยื่อของไวรัสชนิดนี้

เรากำลังพูดถึง ‘ไวรัส COVID-19’ ที่ระบาดหนักจนต้องถูกบันทึกไว้บนม้วนฟิล์มของปี 2020 ไปตลอดกาล 

ชั่วโมงเร่งด่วนยามเย็นของฮ่องกง ประชาชนยังคงกังวลและสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไวรัส COVID-19 4 มีนาคม 2563 (Photo : Vivek Prakash / AFP)

‘ไวรัสนิรนาม’ ความรุนแรงลำดับ 8

Disease X : เป็นไวรัสที่แพร่ระบาดอย่างหนักระหว่างประเทศ มีที่มาจากเชื้อโรคที่เราไม่รู้จักและทำให้เกิดโรคร้ายในมนุษย์

ปี 2018 องค์การอนามัยโลก ได้เพิ่ม ‘โรค X’ ที่มีความรุนแรงลำดับที่ 8 ลงในลิสต์โรคระบาด ขณะนั้นยังเป็นโรคที่ไม่ระบุชื่อเพราะมันยังไม่เคยระบาดขึ้นจริง

หลังจากพบโรคปอดบวมปริศนาที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้ ‘โรค X’ เผยตัวตนว่าเป็นน้องใหม่สายพันธุ์ที่ 7 ของตระกูลโคโรนาและเป็นลูกพี่ลูกน้องกับโรคซาร์สที่เคยคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 800 ชีวิต เมื่อ 17 ปีที่แล้ว 

นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเชื้อไวรัสนี้อย่างเป็นทางการว่า ‘2019-nCoV’ หรือ ‘COVID-19’ ตามวันเวลาที่ค้นพบคือปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ไวรัสกำลังแพร่พันธุ์อย่างแข็งขันเข้าไปสิงสถิตย์อยู่ในเซลล์ของมนุษย์จนสร้างความโกลาหลไปทั่วโลก

16 กุมภาพันธ์ 2020 แพทย์ 2 คนกำลังพูดคุยกันในโรงพยาบาลที่อู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ตอนกลางของจีน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นเป็น 1,770 รายในจีน และมีผู้เสียชีวิต 105 คน (Photo : STR / AFP)

‘โคโรนา’ เป็นไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษามาอย่างยาวนาน ในประเทศไทยเองที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก็ทำการศึกษาไวรัสโคโรนาในค้างคาวมาเป็นเวลาถึง 15 ปี

นั่นทำให้ประเทศเรามีเครื่องมือเฉพาะสำหรับตรวจจับไวรัสชนิดนี้ และจากการนำเอารหัสพันธุกรรมของไวรัสนิรนามจากผู้ป่วยชาวจีนคนแรกในประเทศไทยไปเทียบกับรหัสจากธนาคารพันธุกรรมโลก ก็ทำให้พบเชื้อที่ตรงกับเชื้อในค้างคาวมงกุฏที่พวกเขาศึกษาถึง 90% และยังตรงกับเชื้อที่ตรวจพบในคนไข้ปอดบวมที่อู่ฮั่น 100%

 

ไวรัสคืออะไร

Friedrich Loeffler และ Paul Frosch นักชีววิทยาชาวเยอรมันได้ค้นพบเซลล์ขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย จนได้ฉายาว่า ‘สารล่องหน’ หลังการค้นพบครั้งนั้นพวกเขาเรียกมันว่า ‘ไวรัส’ ซึ่งหมายถึง ‘เป็นพิษ’ ในภาษาละติน

ไวรัส เป็นสารเล็กๆ ที่ประกอบด้วย DNA หรือ RNA ที่เป็นสารระบุพันธุกรรมเพียงเท่านั้น โดยปกติแล้วตัวมันเองไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานหรืออาหารก็สามารถอยู่รอดได้ แต่เมื่ออยากดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ไวรัสจะเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์ของมนุษย์ ทำการจำลองตัวเองขึ้นมาโดยอาศัยการหยิบยืมพลังงานจากเราเพียงน้อยนิด สิ่งนี้เรียกว่า ‘การแพร่พันธุ์’

ไวรัสมีทั้งอันตรายและไม่อันตราย แม้ในตัวเราเองก็มีไวรัสที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เช่น อีสุกอีใส แต่ไวรัสที่น่ากลัวคือไวรัสที่เคยอาศัยอยู่ในสัตว์และแพร่ข้ามสายพันธุ์มายังมนุษย์ ก่อนจะทำให้เกิดการระบาดจากคนสู่คนได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และนั่นเป็นต้นเหตุแห่งปรากฏการณ์ ‘โรคระบาด’

ทีมแพทย์กำลังย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ไปที่โรงพยาบาลในอู่ฮั่น เมื่อ 24 กุมภาพันธ์มีการอนุญาตให้บางคนออกจากที่เมืองถูกกักกันได้ (Photo : STR / AFP)

นอกจากจะแพร่ไปได้อย่างง่ายดายแล้ว ไวรัสยังมีอานุภาพทำลายปอดของมนุษย์อย่างรุนแรง ในปี 2017 โรคปอดบวมได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2.56 ล้านคนทั่วโลก (รายงานจาก Institute for Health Metrics and Evaluation แห่งมหาวิทยาลัย University of Washington)

ดังนั้น การระบาดของไวรัสอาจพรากชีวิตมนุษย์ไปคราวเป็นล้านๆ เช่นเดียวกับปี 1981 ไข้หวัดสเปน (Spanish Influenza) ได้กวาดเอาชีวิตผู้คนไปราวๆ 40 – 50 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

 

‘อู่ฮั่น’ บ้านเกิดของ COVID-19

ต้นปี 2020 ท่ามกลางเสียงอึกทึกของการเฉลิมฉลองศักราชใหม่ ไม่ทันมีใครสังเกตเห็นว่าไวรัสนิรนามได้เริ่มปฏิบัติการย่องเข้าไปอยู่ในร่างกายมนุษย์อย่างเงียบๆ 

ผู้ป่วยรายแรกมาโรงพยาบาลด้วยอาการมีไข้สูง ไอแห้งๆ และหายใจไม่ออก ครั้งนั้นทีมแพทย์สันนิษฐานว่าเป็นเพราะไข้หวัดใหญ่ แต่ผลเอ็กซเรย์ก็ชวนให้ตื่นตกใจเมื่อพบอาการปอดบวมที่ไม่ทราบสาเหตุ

คนไข้คนที่สอง คนที่สาม และคนต่อๆ ไปทยอยเข้ามารับการรักษาด้วยอาการเดียวกัน จากการซักประวัติอย่างละเอียดทำให้พบว่าแต่ละคนล้วนใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ที่ ‘ตลาดหัวหนาน’ (Huanan) แหล่งขายส่งอาหารทะเลสดและเนื้อสัตว์เปิบพิศดาร

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ด้านนอกตลาดขายส่งอาหารทะเล ‘หัวหนาน’ ในเมืองอู่ฮั่น ต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Photo : Hector RETAMAL / AFP)

หลังจากที่นำไวรัสในร่างกายผู้ติดเชื้อไปเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่มีอยู่ นักวิจัยค้างคาว Shi Zhengli จากสถาบัน Wuhan Institute of Virology ก็ระบุได้ว่านี่เป็น ‘ไวรัสโคโรนา’ ที่ตรงกับรหัสพันธุกรรมของค้างคาวเกือกม้า (Rhinolophus affinis) ถึง 96% 

 

‘ค้างคาว’ ผู้หยิบยื่น และ ‘มนุษย์’ ผู้น้อมรับ

แพทย์สันนิษฐานว่าผู้ติดเชื้ออาจได้สัมผัสกับกับค้างคาวซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์ป่าที่วางขายในตลาดแห่งนั้น 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า 70% ของไวรัสที่ระบาดในโลกช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้นมีต้นกำเนิดจากสัตว์ ไวรัสจะไม่เป็นอันตรายกับสัตว์อย่างค้างคาว แต่กลับกันเมื่อพวกมันเข้ามาอยู่ในร่างกายมนุษย์อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ผู้โดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ สวมหน้ากากป้องไวรัส (Photo : Mladen ANTONOV / AFP)

อาจกล่าวได้ว่า ‘เป็นมนุษย์เองที่พาไวรัสเข้ามาระบาดในหมู่พวกเรา’

ไม่ว่าคนเราจะล่าสัตว์ป่าเพื่อนำบริโภคหรือเลี้ยงดู ก็ถือเป็นการเข้าไปแทรกแซงระบบนิเวศให้ผิดเพี้ยน เขย่าห่วงโซ่อาหารให้เปลี่ยนไป

นั่นจึงเป็นที่มาของการแพร่ระบาดข้ามสายพันธุ์อันร้ายแรงที่พร้อมจะกวาดเอามนุษย์ไปให้เรียบเป็นหน้ากลอง

 

รับมือด้วยการเป็นมนุษย์ที่แข็งแรง

ไวรัสสามารถแพร่จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ผ่านสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือละอองเสมหะ และสามารถติดต่อผ่านทางเยื่อบุดวงตา โพรงจมูก และช่องปากได้ 

ท่ามกลางการระบาดครั้งยิ่งใหญ่นี้ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้ 

ทีมแพทย์สวมชุดป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 (Photo : STR / AFP)

ล้างมือบ่อยๆ – โดยใช้สบู่ถูเป็นเวลาประมาณ 20 วินาที หรือใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป และไม่ใช้มือสัมผัสดวงตา จมูก และปาก

กินอาหารปรุงสุก – ปรุงอาหารให้สุกก่อนทานเสมอ และงดทานเนื้อสัตว์ป่า

หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด – ไม่ไปสถานที่ที่คนไปรวมตัวกันเยอะๆ และไม่คลุกคลีกับผู้มีอาการป่วยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ 

ไม่ใช้ภาชนะสาธารณะ – ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หากเป็นไปได้พกช้อน-ส้อม และขวดน้ำเล็กๆ ติดตัวไว้เสมอ

สวมหน้ากากอนามัย – ช่วยป้องกันสารคัดหลั่งอันเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อไวรัสได้ 

ตรวจตราตัวเอง – หากมีอาการไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจเหนื่อยหอบ มีประวัติเดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน เคยสัมผัสแหล่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือแหล่งของสัตว์ป่าที่เป็นพาหะนำโรค อย่างค้างคาว ให้รีบพบแพทย์โดยทันที 

แพทย์สวมชุดป้องกันไวรัสอย่างหนาแน่นกำลังวัดอุณหภูมิของชายคนหนึ่งที่โรงพยาบาลในอู่ฮั่น (Photo : Hector RETAMAL / AFP)

นี่เป็นเพียงข้อปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของการป้องกันตัวเองจาก COVID-19 คือ ‘รักษาร่างกายให้แข็งแรง’ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และกินอาหารที่มีประโยชน์ 

เมื่อร่างกายแข็งแรงก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง ติดเชื้อได้ยาก แม้ติดเชื้อก็อาจไม่อันตรายถึงชีวิต เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ เพราะหลายคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือเป็นผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันไม่ได้แข็งแรงเท่าวัยหนุ่มสาว  

 

แล้ว ‘ไวรัส’ จะจากเราไปในที่สุด

ข่าวร้าย คือ การอุบัติขึ้นของโรคระบาดที่รุนแรงแต่ละครั้งมักพรากชีวิตผู้คนไปราวๆ 2-3% อาจดูเป็นตัวเลขที่น้อยนิด แต่หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมหาศาลก็หมายความว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ส่วนข่าวดี คือ ‘ไวรัสจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม’ โดยมี 2 สาเหตุที่ทำให้ไวรัสค่อยๆ อันตรธานหายไปคือ ‘การพัฒนาสายพันธุ์ของไวรัส’ ที่ตัวมันเองจะค่อยๆ อ่อนแอลง จนหมดความร้ายแรงไปในที่สุด สาเหตุต่อมาคือ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) ที่แข็งแรงขึ้น กล่าวคือเมื่อไวรัสระบาดอย่างหนัก มนุษย์เราก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านไวรัสพวกนี้ เมื่อภูมิคุ้มกันของคนส่วนใหญ่แข็งแรงขึ้น ก็ทำให้เชื้อหยุดการแพร่ระบาดไปยังผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำได้ 

แม้ว่าในที่สุดมันจะจากพวกเราไป
แต่ COVID-19 จะพรากชีวิตไปจากโลกใบนี้เท่าไหร่นั้น ก็ไม่อาจคาดเดาได้เลย 

 

ติดตามการเคลื่อนไหวของโคโรนาแบบเรียลไทม์ได้ที่ Coronavirus COVID-19 Global Cases by Johns Hopkins CSSE

graphic : อุษา วิเชียรศิลป์

อ้างอิง