life

ความวุ่นวายของเมืองหลวงทำให้บางคนอยากไปใช้ชีวิตแบบพอเพียงในต่างจังหวัด เพราะความเร่งรีบและฟุ่มเฟือยนำมาซึ่งทุกข์และหนี้ก้อนโต

แต่ความจริงคือ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้จำกัดความแค่ ‘ไม่ฟุ่มเฟือย’ หรือต้องลาออกไปปลีกวิเวกปลูกผักเลี้ยงปลาเสมอไป

ในหลวง รัชกาลที่ ๙
ในหลวง รัชกาลที่ ๙

เหมือนที่ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

 

“…พอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

 

เศรษฐกิจพอเพียงเชิงทฤษฎี

เมื่อมองผ่านแว่นตาแบบวิชาการ เว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา ให้รายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงว่า ต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ

1. ความพอประมาณ คือ ความสมดุล ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขัดสน ไม่เดือดร้อนทั้งตัวเองและผู้อื่น

2. ความมีเหตุผล คือ รู้ว่าระดับความพอประมาณที่เหมาะสมกับตัวเราอยู่ในระดับไหน และความระดับความเพียงพอที่เรากำหนดนั้น จะส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร

3. ภูมิคุ้มกัน คือ การเตรียมตัวให้พร้อมกับผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์แวดล้อม เพื่อค้นหาการรับมือที่เหมาะสม

โดยคุณสมบัติทั้งหมด ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ คือต้องมี ‘ความรู้’ ควบคู่ไปกับ ‘คุณธรรม’

 

 

พอเพียงจากทฤษฎีสู่ชีวิตจริง

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยให้สัมภาษณ์ในบทความ เศรษฐกิจพอเพียง หัวใจเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่ Dual Track หนังสือ Toxinomics เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองของเขาว่า

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญา ต้องปรับทั้งวิถีชีวิต เพื่อต้านทานกับความโลภที่ไร้เหตุผล ซึ่งสู้ยากมาก เพราะคนถูกกระตุ้นให้เกิดกิเลสทุกวัน ถ้าสื่อไม่มีโฆษณาก็อยู่ไม่ได้ สื่อเลยต้องป้อนแต่กิเลสตัณหา

“…หลายคนอาจคิดว่า ถ้าพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องกลับมาอยู่อย่างอดออม มันไม่ใช่ แต่รวยตามลำดับขั้น ค่อยๆ สร้างฐานที่มั่น ฝังรากให้มั่นคง จะได้โตอย่างยั่งยืน

“…ผมพูดเสมอ ไม่ได้สอนให้เป็นเทพ ไม่ต้องสมถะมาก ผมยังไม่ทำขนาดนั้น ฐานะผมก็ไม่ได้ยากจนนักหนา อยากขับรถอะไรผมก็ซื้อได้ ใช้ของแพงๆ ก็ได้ แต่ผมเห็นว่าโดยสาระและเหตุผลแล้ว ผมไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น ผมสอนให้พอดี นานๆ ครั้งอยากสนุกบ้าง ถ้ามีเงินพอ ไม่ต้องกู้ยืมใคร จะซื้อของแพงมาใช้บ้างก็เอาเถิด ไม่ต้องสละหมดถึงขนาดจะไปบวช

 

ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ถือร่ม

 

“…ถ้ามีแค่ไหนก็กินแค่นั้น รู้จักอยู่ รู้จักกิน บ้านช่องห้องหอมีแค่นี้ก็อยู่แค่นี้ วันๆ อยู่บ้านกี่ชั่วโมง บ้านผมทุเรศจะตาย มีเงินไหม มี อยากสร้างบ้านไหม อยาก แต่ขี้เกียจ ขี้เกียจรื้อบ้านรื้อช่องขนของ อยู่แบบนี้ก็ไม่เห็นจะทุกข์ สุขไหม ไม่รู้จักว่าความสุขคืออะไร รู้จักแต่สภาวะไม่ทุกข์

“พูดไปก็เหมือนปรัชญา เหมือนศิลปิน แต่นี่คือสัจธรรมของชีวิต”

เป็นสัจธรรมที่ ดร.สุเมธ บอกว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มทำตั้งแต่วันแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ เพียงแต่พระองค์ไม่ได้เปล่งวาจา

 

ในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระราชกรณียกิจ

 

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าประโยชน์สุข ประโยชน์ใดๆ ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ต้องนำมาซึ่งความสุข นี่เป็นจุดที่พอดี ไม่ใช่แสวงหาความมั่งคั่งอย่างไร้ขอบเขตเหมือนทุกวันนี้”

จากคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.สุเมธ ทำให้หวนระลึกถึงพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2541 ที่ว่า

“…คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข…”

 

ในหลวง รัชกาลที่ ๙ คุณทองแดง

 

อ้างอิง:

 

 

FACT BOX

  • ทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานให้กับกลุ่มเกษตรกร ที่ประสบปัญหาการทำเกษตรจากภัยธรรมชาติและปัจจัยภายนอก เช่น ขาดแคลนน้ำ โรคระบาด หนี้สิน ราคาผลผลิตตกต่ำ ฯลฯ โดยใช้หลักการการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำออกเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม (30:30:30:10) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด