life

เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายทั้งที หากสิ่งที่ตกลงมาขณะฝนฟ้าคะนอง กลับไม่ใช่ ‘หยดน้ำ’ อย่างที่ควรจะเป็น

แล้วสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ทั้งลูกเห็บหรือหิมะด้วย แต่เป็นสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตน่าฉงน อย่างปลา กบ พืชผล และพลาสติก นี่จึงเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ เพราะไม่มีทางที่สิ่งเหล่านี้จะขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าได้เอง

Photo: Historia, n.d., Shutterstock

เพื่อความอยู่รอด สัตว์น้ำทุกตัวต้องอาศัยอยู่ในน้ำ ส่วนพืชผักแต่ละต้น ต่างก็มีรากหรือส่วนที่หยั่งลึกอยู่ในดิน ที่สำคัญบรรดาสิ่งของที่เราใช้สอยในชีวิตประจำวัน ล้วนมีน้ำหนักมากกว่าอากาศทั้งสิ้น

ความเป็นจริงที่ขัดแย้งกันอยู่ในหัว ระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า กลายเป็นตัวกระตุ้นให้บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาต้นสายปลายเหตุ เพื่อไขทุกข้อสงสัยให้กระจ่างว่า อะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ประหลาดทั้งหมดนี้?

 

มีอะไรในน้ำฝน ตอนที่ 3
สิ่งแปลกปลอมระดับต้องสงสัย
‘ไมโครพลาสติก สัตว์ และสิ่งของต้องสงสัย’

ผู้คนจำนวนไม่น้อยในอดีตเคยเชื่อว่า ที่ใดก็ตามบนโลกใบนี้ หากปราศจากมนุษย์แล้วล่ะก็ (หมายความว่า มนุษย์ยังไม่ได้รุกล้ำเข้าไปอยู่อาศัย หาประโยชน์ หรือตักตวงทรัพยากร) พื้นที่ตรงนั้นจะยังคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้ ราวกับเป็นอัญมณีบริสุทธิ์ที่ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาทำให้แปดเปื้อน

จนกระทั่งเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เมื่อพลาสติกได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นวัสดุหลักที่มนุษย์เลือกใช้ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ ความเชื่อข้อนี้จึงค่อยๆ ถูกลบเลือนด้วยน้ำมือมนุษย์โดยที่ทุกคนไม่ทันได้รู้ตัว และในท้ายที่สุด ก็ถูกลบล้างจนหมดสิ้นด้วยหลักฐานการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์

ทัศนียภาพเทือกเขาร็อกกี ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา
Photo: Mostovyi Sergii Igorevich, n.d., Shutterstock

บนเทือกเขาร็อกกี ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่สวยงามแห่งหนึ่งของโลก ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 4,401 เมตร และชันมาก ยิ่งทำให้มั่นใจว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนจะมาอาศัยอยู่ได้ มีเพียงธรรมชาติหนึ่งเดียวเท่านั้น คอยทำหน้าที่สรรค์สร้างทุกสรรพสิ่งบนเทือกเขาให้หมุนเวียนและเปลี่ยนผันไปตามวัฏจักร

ในปี 2017 คณะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยประจำสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey หรือ USGS) ได้ลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ ทั่วรัฐโคโลราโดเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำฝนมาศึกษาปริมาณก๊าซไนโตรเจน แต่พวกเขากลับพบสิ่งแปลกปลอมรวมอยู่ด้วย นั่นคือ ‘ไมโครพลาสติก’ ต่างรูปแบบและสีสัน มีทั้งเศษพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อย เส้นใยพลาสติก และไมโครบีดส์ หรือพลาสติกเม็ดกลมขนาดจิ๋วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.5 มิลลิเมตร

ตัวอย่างไมโครพลาสติกที่พบ
Photo: Gregory Wetherbee, Austin Baldwin, James Ranville, 2017, USGS

สิ่งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลใจมาก เพราะหนึ่งในจุดที่พวกเขาเลือกเก็บตัวอย่างน้ำฝนมานั้น ตั้งอยู่บนเทือกเขาร็อกกี แสดงว่าในบรรยากาศมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนเข้าขั้นวิกฤต ไม่เว้นแม้แต่ในเขตอนุรักษ์ แล้วไมโครพลาสติกขึ้นไปอยู่บนฟ้าได้อย่างไร?

ต้นทางของไมโครพลาสติกคือพลาสติกที่เราเคยใช้กันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งถุงก๊อบแก๊บ ขวดน้ำ ยางรถยนต์ บรรจุภัณฑ์ เชือกไนลอน เสื้อผ้า หรืออะไรก็ตามที่ผลิตมาจากพลาสติก ซึ่งถูกทิ้งขว้างเป็นขยะตามแหล่งน้ำธรรมชาติ นานวันเข้าแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมากระทบจะยิ่งทำให้พลาสติกเปราะและแตกออกเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ส่วนไมโครบีดส์ เป็นเม็ดพลาสติกที่บริษัทผู้ผลิตสังเคราะห์ขึ้นใหม่เพื่อใส่ไว้ในโฟมล้างหน้า เจลอาบน้ำ แชมพู และยาสีฟัน เพราะเชื่อว่าช่วยขจัดเซลล์เก่าและขัดผิวหน้ารวมถึงผิวฟันให้สะอาดได้ ไมโครบีดส์จึงมีลักษณะแข็ง ไม่ละลายน้ำ และย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ 

ไมโครบีดส์สีแดงที่ผสมอยู่ในแชมพู
Photo: KYTan, n.d., Shutterstock

ปลายทางของพลาสติกเหลือใช้ เมื่อไม่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีหรือเข้าสู่กระบวนการนำกลับไปใช้ใหม่ ก็จะกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ตกค้างอยู่ตามธรรมชาติ เพียงแค่ลมบางเบาพัดผ่าน อนุภาคเล็กจิ๋วของไมโครพลาสติกขนาดต้องส่องดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ด้วยกำลังขยาย 40 เท่าถึงจะมองเห็น ก็ปลิวขึ้นสู่ฟ้า ลอยเคว้งอยู่บนชั้นบรรยากาศ รอเวลาจนกว่าฝนจะตก จึงร่วงหล่นลงมาอีกครั้งพร้อมกับหยดน้ำ

อีกงานศึกษาที่ยืนยันปรากฏการณ์นี้ได้ คือ ข้อค้นพบของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่รวมกันเก็บตัวอย่างน้ำฝนภายในเขตคุ้มครองธรรมชาติฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ทั้งหมด 11 เขต เป็นเวลาติดต่อกันนาน 14 เดือนเต็ม พวกเขาพบว่า บนพื้นที่ทุกๆ หนึ่งตารางเมตร จะมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากับฝนโดยเฉลี่ย 132 ชิ้น

ตัวอย่างไมโครพลาสติกที่พบ
Photo: Janice Brahney, 2020, Utah State University

หลังจากคำนวณและวิเคราะห์ผลการศึกษาอย่างละเอียด แจนีซ บราห์นีย์ (Janice Brahney) หัวหน้าวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ (Utah State University) จึงคาดการณ์ความเป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในแต่ละปี หากนำไมโครพลาสติกในน้ำฝนเฉพาะบริเวณเก็บตัวอย่างมารวมกัน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพียง 6% ของสหรัฐอเมริกา จะได้ปริมาณมหาศาลมากกว่า 1,000 เมตริกตัน หรือเทียบเท่าขวดน้ำพลาสติกราว 300 ล้านขวด

แม้แต่หิมะที่ตกในทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) หรือขั้วโลกใต้ ก็ยังปนเปื้อนไมโครพลาสติกไม่ต่างกัน เพราะว่าทั้งหิมะและน้ำฝน คือ ผลลัพธ์สุดท้ายของการควบแน่นของไอน้ำในชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า หยาดน้ำฟ้า (precipitation) ซึ่งแปรเปลี่ยนรูปแบบไปตามอุณหภูมิและลักษณะภูมิอากาศ ก่อนตกลงมาสู่พื้นผิวโลกเบื้องล่าง

ตัวอย่างไมโครพลาสติกที่พบ
Photo: Alex R. Aves et al., 2022, University of Canterbury

เมื่อโลกของเรามีไมโครพลาสติกอยู่ทุกหนทุกแห่ง จึงไม่มีทางที่มนุษย์คนไหนจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากน้ำมือของตัวเองไปได้ เพราะไมโครพลาสติกไม่ใช่แค่สิ่งแปลกปลอมที่อยู่รอบตัวเรา แต่ยังหลุดรอดเข้ามาเป็นสิ่งตกค้างภายในร่างกายได้ด้วย

ในปัจจุบัน ยังไม่มีผลการศึกษาใดที่พิสูจน์ได้แน่ชัดว่า เมื่อไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง แต่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ปักใจเชื่อว่า หากร่างกายมีไมโครพลาสติกสะสมอยู่มากเป็นเวลานาน เนื้อเยื่อจะอักเสบและระบบอวัยวะจะทำงานบกพร่องจนเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยบางอย่าง

นอกจากไมโครพลาสติก ยังมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่ตกลงมาพร้อมฝน โดยเฉพาะบรรดาสัตว์และสิ่งของต้องสงสัย

เพราะตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่อารยธรรมโบราณเป็นต้นมา ต่างมีบันทึกทั้งข้อเขียนและภาพวาดที่กล่าวอ้างถึงฝนประหลาดนี้ในแง่มุมเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องศาสนาและอำนาจเหนือธรรมชาติว่าเป็นเหตุอาเพศทำให้เกิดโรคระบาด

ภาพจากหนังสือที่รวบรวมเหตุการณ์ประหลาด ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1557
Photo: Prodigiorum ac Ostentorum Chronicon, Public domain

แต่คนแรกที่พยายามลบล้างความงมงายแล้วหาความเป็นเหตุเป็นผลให้ปรากฏการณ์ฝนตกลงมาเป็นสัตว์ คือ กาอิอุส ปลีนิอุส แซกุนดุส (Gaius Plinius Secundus) หรือ พลินีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) นักปรัชญาและนักธรรมชาติวิทยาชาวโรมัน ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 โดยเขียนอธิบายไว้ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Naturalis Historia) ว่าปลาและกบที่ตกลงมากับฝนนั้นไม่ใช่สิ่งลี้ลับ แต่เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ

ภาพจำลองของพลินีผู้อาวุโส Photo: Mary Evans Picture Library Ltd, age fotostock via Britannica
หน้าหนึ่งของ Natural History ฉบับคัดลอกด้วยมือ Photo: The British Library via Britannica

ส่วนคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นหลังจาก อังเดร มารี แอมแปร์ (André-Marie Ampère) นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกการศึกษาไฟฟ้าช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้แสดงท่าทีสนใจปรากฏการณ์นี้ โดยตั้งสมมุติฐานว่า คงมีแต่แรงลมเท่านั้นที่พัดเอากบจากที่หนึ่งไปตกอีกที่หนึ่งได้

จนในที่สุด เมื่อนักวิทยาศาสตร์ยุคต่อมาได้พัฒนาความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา หรือวิทยาศาสตร์ของบรรยากาศและปรากฏการณ์ของอากาศอย่างเป็นระบบมากขึ้น จากข้อสังเกตที่เคยคาดคะเนถึงความเป็นไปได้ จึงกลายมาเป็นข้อเท็จจริงที่อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์

สาเหตุที่ทำให้สัตว์ พืชผล รวมทั้งสิ่งของขนาดเล็กที่ไม่หนักมากตกลงมาจากฟ้าพร้อมน้ำฝนได้ คือ ทอร์นาโดหรือพายุลักษณะอื่นๆ ที่ก่อตัวขึ้นในแหล่งน้ำก่อนพัดขึ้นฝั่ง เพราะแรงหมุนของพายุจะทำหน้าที่เสมือนเครื่องดูดฝุ่นรอบทิศทางขนาดยักษ์ อะไรก็ตามที่อยู่ใกล้เส้นทางที่ทอร์นาโดเคลื่อนผ่าน ย่อมถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในเกลียวพายุ ขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่เกิดฝนฟ้าคะนอง จนกว่าทอร์นาโดจะอ่อนกำลังลง สิ่งที่เคยถูกพายุดูดจึงร่วงหล่นคืนสู่พื้นผิวโลกตามแรงโน้มถ่วงพร้อมน้ำฝน

ทอร์นาโดในพื้นที่หนึ่งของสหรัฐอเมริกา
Photo: Minerva Studio, n.d., Shutterstock

แม้จะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อไปหน่อย เพราะโอกาสเกิดขึ้นมีไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นบางสิ่งอยู่ผิดที่ผิดทาง ถึงอย่างนั้น แต่สัตว์และสิ่งของที่ดูไม่มีพิษภัยเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เสมอ หากบังเอิญตกลงใส่ส่วนไหนก็ตามของร่างกาย เพราะแค่จินตนาการว่าของบนชั้นวางตกใส่หัว ก็รู้สึกเจ็บขึ้นมาทันที และคงไม่ดีแน่ๆ หากมีสิ่งแปลกปลอมที่มากับฝนตกใส่หัวของเรา

ในเมื่อเราไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น จึงควรหลบฝนอยู่ในที่ร่มเพื่อความปลอดภัย

 

อ้างอิง