เชื่อว่าหลายๆ คน ที่เป็นนักอ่านตัวยง คนเคยผ่านตาผลงานของนักเขียนระดับโลกชาวญี่ปุ่นอย่าง ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) กันมาบ้าง
มูราคามิคือนักเขียนผู้เป็นเสมือนศาสดาของความเหงา เพราะผลงานเขียนของเขามักจะบรรยายถึงความเปราะบางของชีวิตและความสัมพันธ์ จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ หากนักอ่านวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน จะเลือกใช้ผลงานของเขาเป็นเหมือนหลุมหลบภัย เพื่อเยียวยาการแตกสลายในบางช่วงเวลาของชีวิต
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1992 มูราคามิในวัย 43 ปี ได้ตีพิมพ์ผลงานเขียนเรื่อง South of the Border, West of the Sun หรือฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ซึ่งเป็นนิยายที่บอกเล่าถึงความเป็นไปของชีวิตและความรักของตัวละครอายุ 37 ปี แต่ความน่าสนใจในนิยายเรื่องนี้อยู่ตรงที่มีเนื้อหาย่อหนึ่งกล่าวถึง Hysteria Siberiana
ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงอาการเจ็บป่วยในโลกสมมุติที่มูราคามิประดิษฐ์ขึ้นมา แต่ผู้อ่านหลายคนกลับรู้สึกว่า ความเจ็บป่วยนี้สมจริงราวกับมันกำลังเกิดขึ้นอยู่ในชีวิตของพวกเขา ซึ่งเป็นช่วงชีวิตวัยกลางคนที่เต็มไปด้วยความสับสนและความรู้สึกว่างเปล่าภายในใจ
ลองจินตนาการว่าคุณเป็นชาวนาอยู่ตัวคนเดียวบนทุ่งกว้างแถบไซบีเรียที่แวดล้อมด้วยความหนาวเย็นเพราะมีหิมะปกคลุมเกือบตลอดปี แม้จะมีฤดูร้อนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ลึกลงไปใต้พื้นดินก็ยังคงเป็นน้ำแข็งอยู่ดี ไม่มีไม้ยืนต้นสูงใหญ่คอยให้ร่มเงา มีแต่พืชล้มลุกต่ำเตี้ยและไม้พุ่มขนาดเล็กเท่านั้น ความพยายามจากการหว่านเมล็ดพันธุ์หวังให้ต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในวันข้างหน้าจึงไร้ผล และถือเป็นเรื่องไร้สาระสูงสุดหากยังขืนขึงดันทุรังทำเช่นนี้เรื่อยไป
แสงอาทิตย์ในตอนเช้าปลุกคุณให้ตื่นขึ้นเพื่อออกจากบ้านไปทำนา เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่ตำแหน่งเหนือหัวของคุณพอดี ก็พักกินข้าว เสร็จแล้วทำนาต่อ จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังตกดิน คุณกลับเข้าบ้าน นอนหลับพักกายที่เหนื่อยล้าก่อนจะตื่นขึ้นมาอีกครั้งในวันต่อไป
ชีวิตคุณวนเวียนไปตามการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ เป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า พร้อมกันกับที่บางสิ่งบางอย่างภายในตัวคุณค่อยๆ ตายจากไป ตัวคุณกลวงโบ๋ ทุกอย่างรอบตัวไร้ความหมาย ชีวิตไร้ค่า แล้วคุณก็ตายจากไปโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทั้งหมดนี้คืออาการของ Hysteria Siberiana ที่แสนจะทรมาน เจ็บปวด สิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตที่เหลืออยู่ดี
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ว่า มีผู้อ่านจำนวนหนึ่งคิดเชื่อมโยงอาการของ Hysteria Siberiana เข้ากับชีวิตของตนเองที่เป็นอยู่ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกเขาคิดเช่นนั้น อาจเกิดขึ้นจาก Midlife Crisis หรือ วิกฤตวัยกลางคน ซึ่งถือเป็นความเจ็บปวดของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
และถ้าอายุเฉลี่ยหรือเวลาทั้งหมดที่คนหนึ่งคนจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้คือ 75 ปี ดังนั้น วิกฤตวัยกลางคนจึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 35 ถึง 50 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องประสบกับภาวะวิกฤตนี้เสมอไป
ในปี ค.ศ. 1965 เอลเลียต ฌาคส์ (Elliott Jaques) นักจิตวิทยาชาวแคนาดา ได้บัญญัติคำว่า Midlife Crisis จากการศึกษาและตั้งข้อสังเกตถึงพัฒนาการของชีวิตแต่ละช่วงวัย เขาพบว่าโดยปกติแล้วเมื่อถึงวัยกลางคน ชีวิตจะประสบกับ Midlife Transition หรือการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ
ผู้ใหญ่ที่สามารถรับมือกับชีวิตช่วงนี้ได้ก็จะดำเนินชีวิตต่อเป็นปกติ ขณะที่ผู้ใหญ่อีกหลายคนกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะช่วงวัยกลางคนทำให้เกิดความคิดใคร่ครวญถึงความตายและเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่อย่างจำกัดจากสภาพร่างกายที่เริ่มสึกหรอและเสื่อมถอยตามอายุที่มากขึ้น ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป เกิดปัญหาสุขภาพ เริ่มมีโรคประจำตัว รวมถึงมีความเครียดสะสม และความกดดันจากสิ่งรอบตัว เช่น การงาน ครอบครัว เพื่อน ความสูญเสีย การโหยหาความสำเร็จ ความภูมิใจในชีวิต ไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ มองหาเป้าหมายของชีวิตไม่เจอ จนเกิดเป็นความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุขในที่สุด
ข้อมูลที่สามารถยืนยันความจริงในเรื่องนี้ได้คือ ผลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิต โดย National Bureau of Economic Research ซึ่งพบว่า ผู้คนจาก 149 ประเทศมีความสุขในชีวิตน้อยที่สุด เมื่ออยู่ในช่วงอายุ 39 ถึง 57 ปี หรือช่วงที่ชีวิตเข้าสู่วัยกลางคน หากให้แต่ละคนสมมติชีวิตเป็นเส้นกราฟ จะพบว่ามีรูปร่างคล้ายตัวยู (U)
เพราะว่าวัยเด็กของคนส่วนใหญ่เป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด สนุกสนานได้เต็มที่ ชีวิตเต็มไปด้วยความฝันและความหวัง เมื่อเริ่มโตขึ้นระดับกราฟจะค่อยๆ ตกลง เพราะชีวิตเริ่มมีบทบาทและหน้าที่ มีเรื่องมากมายเข้ามาให้คิดมากขึ้น ต้องรับมือและแก้ไขปัญหาที่ถาโถม ทำให้ชีวิตไม่เป็นไปตามที่เคยหวังไว้ ความสุขเริ่มลดน้อยลง ความทุกข์เข้ามาแทนที่ ความรู้สึกเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
เช่น การเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงาน ปัญหาความสัมพันธ์ ภาระและความรับผิดชอบในชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวซึ่งต้องดูแลทั้งลูกในวัยเด็กและพ่อแม่ในวัยชรา ทุกอย่างอาจเกิดขึ้นพร้อมกันจนชีวิตไม่สามารถจัดการกับเรื่องไหนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ เกิดเป็นความรู้สึกสับสน ท้อแท้ และมีความคิดบางอย่างที่บั่นทอนจิตใจของตัวเอง ซึ่งถ้าปล่อยไว้ย่อมทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด จึงจำเป็นต้องจัดการความรู้สึกของตัวเอง ต่อสู้กับทุกอุปสรรคที่กำลังประสบอยู่ บางเรื่องอาจขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ จากจุดที่ต่ำที่สุดของตัวยู ชีวิตจะเริ่มแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้ดีขึ้น เกิดเป็นความรู้สึกภูมิใจที่ตนสามารถกอบกู้ชีวิตจนก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดมาได้ เหมือนกับกราฟที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นเรื่อยๆ
ในความเป็นจริง วิกฤตวัยกลางคนเป็นเหมือนภาพจำลองปัญหาของการมีชีวิตที่ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะ มัวแต่หวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต และวิตกกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเอาชนะและต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง ช่วงเวลาที่ชีวิตเกิดวิกฤตจึงไม่จำเป็นว่าต้องเป็นช่วงวัยกลางคน
การยอมรับความจริงในสิ่งที่ตัวเองเป็น ตัวเองมี คือก้าวแรกที่จะนำพาชีวิตให้เดินหน้าออกไปจากวิกฤตที่จมปลักอยู่ได้ จากนั้นทำความเข้าใจตัวเองเสียใหม่ เพราะการเข้าใจสิ่งที่ชีวิตประสบอยู่ จะช่วยให้มีสติตระหนักรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต และสามารถมองหาวิธีการแก้ไขหรือจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ถ้าปัญหานั้นมีผลต่อคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว การขอคำปรึกษาให้ช่วยคิดและไตร่ตรองเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อการตัดสินใจอย่างรอบคอบและลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด การมีคนช่วยคิดช่วยแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือคนอื่นๆ ที่ขอคำปรึกษาได้ เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ จะทำให้เกิดความอุ่นใจว่าไม่มีใครอยู่ตัวตนเดียว ไม่มีใครโดดเดี่ยวบนโลกใบนี้
แม้ว่าวิกฤตวัยกลางคนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจนทำให้เกิดความรู้สึกไปในทางที่แย่ลง แต่ผู้ใหญ่หลายคนกลับไขว่คว้าจังหวะชีวิตช่วงนี้สร้างโอกาสให้ตัวเองริเริ่มทำสิ่งใหม่ เรียกอย่างเข้าใจง่ายคือ การหาอะไรทำ เพื่อไม่ให้ใช้ชีวิตว่างเปล่าเกินไปจนรู้สึกเบื่อ
บางคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ ด้วยการออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่ชอบ ลงวิ่งมาราธอน บางคนเป็นอาสาสมัครใช้ความสามารถที่ตนมีเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นและสังคม บางคนเริ่มต้นเรียนรู้โลกกว้างโดยการออกเดินทางไปยังที่แปลกใหม่ เข้ากลุ่มชมรมที่สนใจ หรือเลือกเรียนภาษาใหม่ เพราะไม่มีใครแก่เกินเรียนรู้
จากชีวิตที่มืดสลัวในจุดหมายไม่ต่างจากชาวนาบนทุ่งกว้างแถบไซบีเรีย เปลี่ยนเป็นชีวิตมากความหมายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ผู้ใหญ่หลายคนค้นพบชีวิตในมุมใหม่ และความสุขในมุมต่างจากช่วงวัยกลางคนซึ่งอาจไม่เคยคิดฝันมาก่อน
ไม่ว่าวัยไหน คงไม่มีใครสักคนอยากมีชีวิตเป็นเหมือนชาวนาบนทุ่งกว้างแถบไซบีเรีย และถ้าชีวิตนี้จะต้องเจอกับวิกฤตวัยกลางคน ขอจงอย่ากลัวที่จะเผชิญความจริง เพราะการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งธรรมดาสามัญของชีวิตที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อเติบโต
แม้ว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะสร้างความเจ็บปวดสักเพียงไหน แต่เชื่อได้เลยว่าความเจ็บปวดนั้นจะมอบบทเรียนสำคัญให้ชีวิต และทำให้ชีวิตมีความหมายกว่าที่เคย