life

Kiki’s Delivery Service อาจทำให้เด็กๆ อยากเป็นแม่มดน้อยขี่ไม้กวาดท่องโลกกว้าง ทำให้เหล่าวัยรุ่นผู้กำลังสับสนได้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และทำให้ผู้ใหญ่ที่กำลังตั้งตาทำงาน กล้าที่จะลาพักกายเพื่อผ่อนคลายใจ

“ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยเติมเต็มความรู้สึกมั่นใจในตนเองให้กับคนดู โดยเฉพาะกับเด็กสาวทั้งหลายในปัจจุบันที่ยังคงรู้สึกแปลกแยก และสับสนระหว่างความเป็นอิสระและการที่ยังต้องพึ่งพิงผู้อื่นอยู่ นอกจากนั้น ก็หวังว่ามันจะสร้างความบันเทิง และช่วยสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับมิตรภาพด้วยเช่นกัน” ข้อความของ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ The Art of Kiki’s Delivery Service ถึงหลักใหญ่สำคัญที่ต้องการจะสื่อสารออกไปยังคนดูผ่านเรื่องราวการเติบโตของแม่มดน้อยกิกิ

Photo: Kiki’s Delivery Service (1989), Courtesy of Studio Ghibli

Kiki’s Delivery Service เป็นเรื่องราวของ ‘กิกิ’ เด็กหญิงจากครอบครัวแม่มดที่เมื่อถึงวัย 13 ปี จะต้องออกเดินทางไปใช้ชีวิตข้างนอกเพียงลำพังเพื่อค้นหาตัวเอง โดยมี ‘จิจิ’ แมวดำที่พูดภาษาคนกับเธอได้เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง และการเลือกขี่ไม้กวาดมายังเมืองใหญ่ริมทะเลตามที่เคยฝันไว้ เห็นจะเป็นโจทย์ใหญ่ในชีวิตไม่น้อย ความเป็นเมืองใหญ่ มีผู้คนมากมาย การค้นหาตัวเองของเธอจึงมีพื้นฐานอยู่บนการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่และผู้คน พร้อมไปกับการเติบโตขึ้นในฐานะแม่มด หรืออันที่จริงแล้วก็คือ ในฐานะคนหนุ่มสาวอย่างเต็มภาคภูมิ

 

พวกเราทุกคนคือ ‘แม่มดน้อย’

ถึงแม้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างของหนังเรื่องนี้จะมีความแฟนตาซีอยู่ไม่น้อย ทั้งโลกของแม่มดที่ถูกวางพื้นฐานเอาไว้ว่า ต้องออกไปใช้ชีวิตตามลำพังเมื่ออายุครบ 13 ปี การพูดคุยกับสัตว์เลี้ยงข้างกาย ไปจนถึงการขี่ไม้กวาดบินไปบินมาอันเป็นภาพลักษณ์ที่คุ้นชิน แต่เอาเข้าจริงแล้ว เนื้อหาของมันกลับมีความสมจริงและเป็นมนุษย์ที่สุดในบรรดาหนังของสตูดิโอจิบลิทั้ง 4 เรื่องที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ เป็นผู้กำกับในช่วงเวลานั้น (ปี 1989)

ทีนี้เมื่อลองมองข้ามอายุเพียง 13 ปีของตัวละครไป การแยกตัวออกมาจากบ้านเพื่อใช้ชีวิตตัวคนเดียวอาจเปรียบได้กับชีวิตวัยรุ่นของใครหลายๆ คนในช่วงมหาวิทยาลัยที่เริ่มโยกย้ายตัวเองออกมาอยู่หอพัก ควบคู่ไปกับการทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เลี้ยงตน นับว่าเป็นการเริ่มต้นก้าวเดินเพื่อไคว้คว้าหาอิสรภาพให้แก่ชีวิต หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนจะก้าวข้ามสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ทั้งในแง่ของช่วงวัย และมุมมองวิธีคิดต่อสิ่งต่างๆ

Photo: Kiki’s Delivery Service (1989), Courtesy of Studio Ghibli

ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่เป็นการยากเย็นสักเท่าไหร่นักสำหรับหนังเรื่องนี้ที่จะทำให้คนดูบางกลุ่มเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้สร้างพยายามจะสื่อสารออกมา ขณะเดียวกัน การตั้งคำถามของตัวละครกิกิ ที่ว่า “ความถนัดของฉันคืออะไร” ก็นับว่าเป็นคำถามคลาสสิกสำหรับการค้นหาตัวเองของเหล่าวัยรุ่นในสังคมโลกความเป็นจริง

 

เมื่อการสูญเสียคือ ‘จุดเริ่มต้น’ ของการเติบโต

ในแง่ของกลวิธีการนำเสนอ ผู้กำกับเลือกใส่สถานการณ์ชวนปวดหัวให้ตัวละครแบบพอประมาณ ตั้งแต่ฝูงอีกา การสู้กับเวลา และสภาพอากาศ เพื่อให้ได้มาซึ่งความไม่ราบรื่นในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ การที่กิกิยังคงต้องพึ่งพิงผู้อื่นอยู่เสมอ เห็นจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของชีวิตการทำงาน อิสระที่ตัวละครเฝ้าหาจึงกลายเป็นเพียงอิสระทางการเงิน กลับกัน อิสระทางการใช้ชีวิตของเธอนั้นยังคงต้องอิงอาศัยผู้อื่นอย่างจำยอม (ในทางที่ดี)

Photo: Kiki’s Delivery Service (1989), Courtesy of Studio Ghibli

อย่างไรก็ตามหากต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้คือเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร คำจำกัดความที่เหมาะสมคงหนีไม่พ้น Coming of Age หรือ การก้าวผ่านช่วงวัยของตัวละครที่จะเห็นได้หลักๆ จาก 3 องค์ประกอบ

หนึ่งคือ การเติบโตของตัวละครจากเด็กไร้เดียงสาสู่หนุ่มสาวผู้มีประสบการณ์ สองคือ คำพูดที่สื่อถึงสภาวะอารมณ์และจิตใจของตัวละคร ยกตัวอย่างในตอนที่เธอพูดกับจิจิว่า “ฉันคิดว่าฉันผิดปกติ ฉันเจอคนมากมาย ตอนแรกดูเหมือนทุกอย่างก็โอเคดี แต่ว่าจู่ๆ ฉันรู้สึกเหมือนกลายเป็นคนนอก” นำไปสู่ข้อที่สามนั่นคือ การพูดถึงปัญหาที่วัยรุ่นต้องเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับกิกิแล้ว เธอมีท่าทีของอาการ Impostor Syndrome ที่เกิดขึ้นจากความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถ จนนำไปสู่ความกังวลใจ พร้อมๆ กันอาจรวมไปถึงความรู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสถานที่และผู้คน

โดยสิ่งนี้เองที่เป็นต้นตอของภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrom ที่ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เบื่อหน่าย สูญเสียพลังใจ ส่งผลให้เธอไม่ร่าเริ่งเหมือนช่วงเริ่มเรื่อง และจากการที่เธอบอกกับตัวละครหนึ่งว่า ช่วงนี้ไม่ค่อยได้ทำงานแล้ว” หลังจากถูกถามไถ่ถึงความราบรื่นทางการงาน ก็พอจะทำให้คิดได้ว่า เธอเข้าข่ายคนที่กำลังโดนภาวะนี้เล่นงานทางใจอยู่พอสมควร

Photo: Kiki’s Delivery Service (1989), Courtesy of Studio Ghibli

เราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนในช่วงเวลาที่กิกิรู้สึกว่าตนนั้นเริ่มจะสูญเสียพลัง ความรู้สึกแปลกแยกจากการเข้ากับผู้อื่นไม่ได้ การเผชิญหน้ากับความยากลำบากเพียงลำพัง กระทั่งการไม่สามารถพูดคุยกับจิจิ แมวที่เป็นตัวแทนของเพื่อนรักข้างกายได้ มิหนำซ้ำ ไม้กวาดของแม่อันเป็นตัวแทนของการสนับสนุนจากครอบครัวยังมาหักคามือไปเสียอย่างนั้น

ทั้งหมดทั้งมวลจึงไม่ต่างอะไรจากช่วงเวลาอันสบสนงงใจในตัวเองของวัยรุ่นหลายๆ คน ถึงแม้กิกิจะได้รับคำชื่นชมมากมายว่าอายุเพียง 13 กลับสามารถออกมาทำงานด้วยตัวคนเดียวได้ก็ตาม แต่วิสัยทัศน์รอบข้างดูจะมืดบอดไปเสียหมดจนไม่อาจนึกถึงศักยภาพที่ตัวเองมี ถึงอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็คือบททดสอบและอุปสรรคที่หากตัวละครสามารถเผชิญหน้าฝ่าฟันไปได้ นั่นก็เท่ากับว่า เธอได้เติบโตเป็นขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง อาจจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้างระหว่างทาง แต่สิ่งเหล่านั้นคือราคาของการเติบโตที่เธอต้องทำใจยอมรับ และก้าวเดินต่อไป

 

การพักผ่อนคือ ‘ยาใจ’ ในภาวะหมดไฟและไม่เป็นตัวเอง

Photo: Kiki’s Delivery Service (1989), Courtesy of Studio Ghibli

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ วิธีการยืนหยัดอีกครั้งของตัวละคร การให้กิกิได้ลางานพักผ่อน หลีกหนีจากเมืองใหญ่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขาอันสงบเสงี่ยม เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานในเมืองใหญ่นั้นไม่มีทางเลยที่จะไม่ก่อให้เกิดความเครียด การสูญเสียพลังจึงไม่ต่างอะไรจากการสูญเสียความั่นใจ ความสดใส และความเป็นตัวของตัวเอง

หนึ่งในวิธีที่ผู้กำกับเลือกมาใช้คือ การให้กิกิได้ลาพักผ่อน และใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือเยียวยาใจ เพราะหนึ่งในข้อแนะนำทางการแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันและฟื้นฟูจากภาวะหมดไฟ มีข้อหนึ่งที่บอกว่า “เป็นไปได้ให้ลาพักร้อนเป็นระยะเวลาสั้นๆ”

เมื่อพูดถึงเรื่องของการให้ธรรมชาติเยียวยา สิ่งนี้เห็นจะยิ่งตอกย้ำถึงแนวคิดธรรมชาตินิยม (ความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งและเหตุการณ์ทั้งหลายนั้นมีมูลเหตุมาจากธรรมชาติ) ของตัวฮายาโอะพอสมควร เพราะสำหรับคนที่ไม่รู้ วัยเด็กของฮายาโอะนั้นต้องย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในชนบทกับธรรมชาติกลางป่าเขาที่เมืองโทโคโรซาวะ (หลังจากนั้นถูกนำมาใช้เป็นสถานที่ดำเนินเรื่องของ My Neighbor Totoro) เนื่องจากแม่ของเขาที่ล้มป่วยลงด้วยโรควัณโรคกระดูกสันหลัง (Spiral Tuberculosis) นานถึง 9 ปี 

魔女の宅急便 / Kiki’s Delivery Service (1989), Courtesy of Studio Ghibli

กลับมาที่กิกิ เมื่อมองในผลลัพธ์ที่ตัวละครหนึ่งบอกกับเธอในบ้านพักกลางป่าถึงวิธีว่า “การใช้เวทย์มนตร์ก็ไม่ต่างอะไรจากการวาดรูป วันหนึ่งวาดได้ วันหนึ่งวาดไม่ได้ เราก็แค่ทำใจให้โล่ง นอนโง่ๆ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง” ก็มากพอจะสรุปให้เห็นถึงแก่นหลักใจความของวิธีการรักษานี้ที่เห็นจะเป็นไปได้ดีอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง

  • Hayao Miyazaki. The Hopes and Spirit of Contemporary Japanese Girls. http://bitly.ws/M36R
  • โรงพยาบาลเปาโล. เครียดเกินไป ระวัง BURNOUT SYNDROME ภาวะหมดไฟในการทำงาน. http://bitly.ws/M37U
  • ตนุภัทร โลหะพงศธรวิธีดูแลใจของคนวัยทำงาน เมื่อ Impostor Syndrome ทำให้หลงคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่ง. https://becommon.co/life/impostor-syndrome/
  • MasterClassComing-of-Age Movies: What Is the Coming-of-Age Genre?. https://www.masterclass.com/articles/coming-of-age-movies#
  • Arthur Goyaz. My Neighbor Totoro: Why The Mother Is In The Hospital. http://bitly.ws/M38S