ทุกวันนี้ หากเราอยากได้ดินสอ สมุดโน้ต หรือปากกาสักแท่ง คงไม่พ้นเดินเข้าห้าง และตรงไปยังแผนกเครื่องเขียน
แต่ถ้าย้อนไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนในช่วงรัชกาลที่ 5 ผู้คนต่างเดินทางมาร้าน ‘โมฮำมัด’ ร้านขายเครื่องเขียนชื่อดังที่ทันสมัยและโมเดิร์นที่สุดในยุคนั้น
เมื่อเกือบหนึ่งศตววรษที่แล้ว ร้านโมฮำมัดเป็นร้านแขกมุสลิม ดาวูดีโบห์ราจากอินเดีย ตั้งอยู่ในย่านเก๋ไก๋ที่สุดในประเทศไทย อย่างถนนเจริญกรุง
แม้เวลาหมุนผ่านไป สภาพบ้านเมืองถูกปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ด้าน เจริญกรุงที่เคยเป็นย่านเมืองใหม่ กลับกลายเป็นเมืองเก่าสุดคลาสสิก
ร้านขายเครื่องเขียนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งนี้ ยังคงตั้งอยู่ ณ ย่านเดิมและดำเนินกิจการโดย ปรียา โมราศิริ ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเธอเก็บรักษาปากกา สมุด อุปกรณ์ศิลปะ และคลังอุปกรณ์เครื่องเขียนที่เป็นมรดกตกทอดจากปู่และพ่อของเธอ
ของในร้านหลายชิ้นมีอายุมากกว่าปรียา และอีกหลายชิ้นเก่ากว่าเกือบหนึ่งร้อยปี
ที่นี่จึงไม่ใช่แค่ร้านขายเครื่องเขียนธรรมดา หากแต่เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้ผู้หลงรักเครื่องเขียนเข้ามาจับจ่าย และต้อนรับผู้หลงใหลอดีตเข้ามาชื่นชมสมบัติอันล้ำค่าของเธอที่บางชิ้นอาจมีหลงเหลือเพียงชิ้นเดียวในเมืองไทย
‘โมฮำมัด’ ร้านเครื่องเขียนในตำนานแห่งแรกของเมืองไทย
เมื่อช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มุลลา ฮะซันอะลี กะรีมยีโมรา ครูสอนศาสนาแห่งนิกายดาวูดี โบห์รา จากเมืองบอมเบย์ (มุมไบ) ปู่ของปรียา เดินทางมายังเมืองไทยและเปิดโรงพิมพ์และผลิตสมุดของตัวเอง
และเขาเห็นว่า เมื่อมีสมุด ก็ควรใช้คู่กับปากกา ปี พ.ศ.2466 เขาจึงตัดสินใจเปิดร้านขายเครื่องเขียนที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ริมถนนเจริญกรุง ใกล้แยกสะพานถ่าน ซึ่งปีนั้นเป็นช่วงที่การเขียนเริ่มเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันในหมู่ชนชั้นกลางในพระนคร
มุลลา ฮะซันอะลีฯ เป็นคนชอบของทันสมัย เครื่องเขียนทั้งหมดในร้าน จึงเป็นของใหม่สุดโมเดิร์นส่งตรงมาจากอังกฤษและเยอรมนี โดยส่งมาทางเรือ
“สมัยช่วงปลายรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ยังไม่มีร้านขายเครื่องเขียน มีแต่โรงพิมพ์ และเมื่อเปิดร้านขายเครื่องเขียน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อุปกรณ์เครื่องเขียนที่ขายดีที่สุดในยุคนั้นคือพวกแฟ้มและสมุดบัญชี ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครใช้งานแล้ว เพราะเอกสารทุกอย่างถูกเก็บไว้เป็นไฟล์ในคอมพิวเตอร์
“นอกจากนี้ พวกกระดาษพิมพ์ดีดก็ขายดีมาก และพวกสมุดเก็บเหรียญ เก็บแสตมป์ ก็ขายดีเช่นกัน”
ปรียาเล่าเรื่องที่ได้รับการบอกต่อจากพ่อของเธอ และเสริมว่า สมัยเธอเป็นเด็ก ร้านโมฮำมัดหัวกระไดไม่เคยแห้ง
“เมื่อมาถึงรุ่นคุณพ่อ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ที่ร้านคึกคักมากๆ คนเข้าออกร้านตลอดเวลา มีการขายส่งเยอะมาก”
ที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านขายสมุด ปากกา ดินสอ ยางลบ แต่ยังมีอุปกรณ์ศิลปะจำหน่ายด้วย
“เมื่อก่อนอาจารย์จากเพาะช่างและศิลปากรจะมาซื้อสี พู่กัน ผ้าใบวาดรูปกันเยอะ ศิลปินแห่งชาติบางท่านก็มาซื้อของที่ร้านเราด้วย”
อีกหนึ่งเรื่องราวที่ปรียาและครอบครัวภูมิใจคือ กรมศิลปากรติดต่อเข้ามาที่ร้านโมฮำหมัด เพราะพบสติกเกอร์โลโก้ร้านบนเฟรมผ้าใบของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งถูกส่งไปซ่อมที่กรมศิลปากร
แต่เมื่อโลกออนไลน์ขยายพรมแดนกว้างกว่าโลกออฟไลน์ รวมทั้งห้างสรรพสินค้าที่มีทุกอย่างให้เลือกสรร ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเก่าแก่หลายเจ้า รวมทั้งร้านในตำนานอย่างโมฮำมัด
“ช่วง 10 ปีมานี้ ธุรกิจเริ่มถดถอย มีร้านสะดวกซื้อเข้ามามากขึ้น คุณจะซื้อปากกาหรือดินสอก็เดินเข้าไปซื้อได้เลย นอกจากนี้ยังมีห้างสรรพสินค้าที่มีทุกอย่างให้เลือกสรรทุกอย่างในที่เดียว มีที่จอดรถสะดวกสบาย หลายคนก็คงไม่ต้องมาซื้อเครื่องเขียนที่ร้านของเราแล้ว
“แต่เราก็สู้มาตลอด สิ่งที่เราแตกต่างจากร้านขายเครื่องเขียนทั่วไปคือ เราขายเครื่องเขียนยุคก่อนที่สมัยนี้หาไม่ได้หลายอย่าง เช่น ขวดน้ำหมึก ปากกาคอแร้ง คลิปหนีบกระดาษโบราณ กระดาษเขียนจดหมายแบบเก่าๆ ที่เขียนหมึกซึมแล้วไม่ซึม ซึ่งเรานำเข้าจากยุโรปทั้งหมดและเก็บรักษามานานมาก”
พิพิธภัณฑ์เครื่องเขียนที่เก็บสมบัติล้ำค่าอายุเกือบร้อยปี
หนึ่งในสาเหตุที่ปรียายังสู้รักษาธุรกิจของครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้คือ ความรักในเครื่องเขียน ซึ่งเธอรู้สึกกับมรดกเหล่านี้เหมือนญาติสนิท
“เราผูกพันกับเครื่องเขียนเหล่านี้มากๆ เราเห็นวิวัฒนาการของสิ่งเหล่านี้มาตลอด เทรนด์เครื่องเขียนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เราชอบที่ได้เห็นหลายอย่างพัฒนา ใช้งานได้สะดวกสบายขึ้น แต่เวลาไปเดินแผนกเครื่องเขียนในห้างแล้วเห็นของใหม่ๆ เราจะรู้สึกภูมิใจที่เรามีของต้นฉบับหรือของโบราณกว่า
“ส่วนตัวชอบปากกาคอแร้งมาก ชอบความรู้สึกที่จุ่มแล้วเขียน มันให้อารมณ์เนิบช้า เขียนเร็วไม่ได้ ต้องค่อยๆ เขียนอย่างบรรจงทีละตัวๆ ใช้สมาธิในการเขียนสูงมาก ทำให้เราต้องคิดเมื่อต้องการเขียนมากขึ้น
นี่เป็นหนึ่งในเสน่ห์ของเครื่องเขียน”
แม้ในร้านขายเครื่องเขียนโมฮำมัดในยุคนี้จะมีการซื้อขายบางตากว่าสมัยก่อน แต่ยังมีผู้คนที่โหยหาอดีต แวะเวียนไปจับจองและจับจ่ายเครื่องเขียนหายาก เพื่อนำมาใช้งานและสะสม เพราะของบางรายการมีเหลือเพียงหนึ่งถึงสองชิ้นเท่านั้น
“เราไม่ได้สั่งของเข้ามาใหม่แล้ว เราขายเฉพาะของเก่าตั้งแต่รุ่นคุณปู่และคุณพ่อ หลายคนมาซื้อเครื่องเขียนที่ร้านเราเป็นของสะสมเก็บไว้ แต่หลายคนก็นำไปใช้จริง
“จริงๆ แล้วที่นี่เหมือนเป็นร้านขายของเก่าหรือของโบราณนะ อยากให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสด้วยตัวเอง เราจึงไม่ค่อยได้ทำโปรโมทร้านทางโซเชียลมีเดีย”
ระหว่างพูดคุยและเดินเล่นดูเครื่องเขียนเก่าสุดคลาสสิกรอบร้าน คุณปรียาต้องสลับไปต้อนรับแขกที่เข้ามาทักทายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบางคนเป็นลูกค้าประจำ หลายคนเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านร้านไปมา
“เรามีแฟนคลับหลากหลายรุ่น ตั้งแต่เด็กๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่วัย 70-80 ปี ซึ่งชอบมาซื้อปากกาคอแร้งและกระดานชนวน หลายคนก็เข้ามาให้ประสบการณ์ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนด้วย”
เรื่องราวที่ปรียาได้สัมผัสจากการดูแลโมฮำมัดต่อจากปู่และพ่อมานานกว่า 20 ปี ทำให้เธอไม่เคยคิดจะปิดกิจการลงในรุ่นที่ 3
“ในอนาคตเราก็อยากทำพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว เก็บรักษาและจัดแสดงเครื่องเขียนโบราณให้คนเข้าชม เรารู้สึกสนุกทุกครั้งที่มีคนเข้ามาพูดคุย ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน
“เรามีความสุขมากกับการดูแลกิจการที่นี่ เพราะรักเครื่องเขียนพวกนี้มากๆ”.
ร้านโมฮำหมัด ตั้งอยู่เลขที่ 60 ถนนเจริญกรุง ใกล้สี่แยกเฉลิมกรุง เบอร์โทรศัพท์ 089-6896445