life

ความตั้งใจของ เฟิด – คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ ในการสร้างหอพักสีขาวล้วนทรงสี่เหลี่ยมภายนอก ซ่อนโถงทรงเจดีย์ที่แสนจะเซอร์ไพรส์โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมไว้ภายใน ก็คือ การอยากให้บ้านเกิดอย่างอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่แปลกใหม่ที่สะกิดให้ผู้คนเกิดความสนใจและแวะมาเที่ยวชม

เพราะแม้จะได้ชื่อว่าเป็นอำเภอเมืองที่มีพระปฐมเจดีย์ตั้งเด่นเป็นสง่าราวกับองค์ประธานประจำเมือง แต่ตัวจังหวัดนครปฐมกลับกลายเป็นเมืองที่หลายๆ คนขับรถผ่านเลยไป โดยทำอย่างมากก็แค่หันมายกมือไหว้พระปฐมเจดีย์ในชั่วขณะที่รถกำลังแล่นผ่านก็เท่านั้น

NiranApartment
เฟิด – คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์

ดังนั้น ในวันนี้ที่เฟิด ในฐานะฟร้อนต์แมนแห่งวงร็อค Slot Machine ใช้ชีวิตผ่านร้อนหนาวสั่งสมชื่อเสียงและฐานะการงานได้มั่นคงเท่าที่มนุษย์วัยสามสิบบวกคนนึงพึงกระทำ ก็ถึงเวลาแล้วที่เขาจะหันมาสร้างธุรกิจที่มั่นคง ไปพร้อมๆ กับการดูแลสมาชิกในครอบครัว และมองไปข้างหน้าถึงการวางแผนอนาคตของตัวเอง

และ Niran.apartment คือคำตอบอันเป็นนิรันดร์ที่เฟิดสร้างขึ้นบนพื้นที่หน้าบ้านของตัวเอง

NiranApartment

หอพักที่เป็นหอศิลป์ไปในตัว

“เมื่อก่อนผมเดินไปโรงเรียนได้เลย ไม่อย่างนั้นก็ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือเล่นโรลเลอร์เบลด แค่ 5 นาทีก็ถึงโรงเรียนแล้ว” เฟิดเล่าถึงกิจวัตรในการเดินทางไปโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ประถมจนจบมัธยม โดยเขาเกิดและโตในบ้านที่ตั้งอยู่บนถนนทรงพล ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ในระยะแค่ข้ามถนนไม่กี่เลน

NiranApartment

เฟิดมาเริ่มรู้จักการดูแลตัวเองเต็มตัวเอาเมื่อครั้งสอบติดคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาหอบข้าวของเข้ากรุงเทพฯ มาเช่าห้องพักในย่านปิ่นเกล้า จุดเริ่มต้นที่ให้เขาเข้าใจศาสตร์และศิลป์ของการใช้ชีวิตแบบเด็กหอ

“ผมชอบชีวิตเด็กหอในมุมอิสระ เราได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง ได้ตัดสินใจการจะตื่น จะกิน จะนอน จะทำหรือไม่ทำอะไรตอนไหนก็ได้ ไม่มีใครมาห้าม เรามี 24 ชั่วโมงเป็นของเรา จะดีจะเลว จะขึ้นสูงหรือลงต่ำอยู่ที่ตัวเราเอง” เขาย้อนเล่าถึงมิติเด็กหอที่ถูกใจ ก่อนนำความรู้สึกนั้นมาเนรมิตพื้นที่ว่างเปล่าหน้าบ้านให้กลายเป็นหอพักนักศึกษาในแบบที่เขาอยากให้เป็น

NiranApartment

“ถ้าไม่ได้สร้างอพาร์ตเมนต์ พื้นที่ตรงนี้เคยเกือบจะเป็นสนามบอล เพราะคุณพ่อชอบเตะฟุตบอลมาก” เขาเล่าถึงลำดับของโปรเจคท์ที่สมาชิกในครอบครัวหารือร่วมกันว่าควรใช้พื้นที่ว่างหน้าบ้าน ที่อดีตเคยเป็นปั๊มน้ำมันตั้งแต่สมัยรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ มาสร้างอะไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

“แต่คิดไปคิดมา ตัวผมเองชอบอาร์ตมิวเซียม และเดี๋ยวนี้ก็มีโฮสเท็ลเกิดขึ้นเยอะ เลยคิดกันว่าสร้างอพาร์ตเมนต์ดีกว่า เพื่อที่จะได้เป็นสเปซบางอย่างให้จังหวัดด้วย อีกอย่าง ทำเลตรงนี้ก็ใกล้มหาวิทยาลัย ถ้ามองระยะยาวไปถึง 20-30 ปีข้างหน้า เราก็ควรทำธุรกิจที่เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ดีกว่า เผื่อเรามีลูกมีเต้าเองด้วย”

NiranApartment

‘เรา’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวเขาคนเดียว แต่ยังรวมถึง เฟิร์น – นิรินทร์ษฬา ดุรงค์จิรกานต์ น้องสาวที่อายุห่างกัน 3 ปี และสนิทกันราวกับเพื่อนซี้ ทั้งคู่จึงแชร์ไอเดียกันแบบครึ่งต่อครึ่ง ตั้งแต่ตอนที่ ‘นิรันดร์ อพาร์ตเมนต์’ ยังเป็นโปรเจคท์ในอากาศ จนถึงวันตอกเสาเข็ม และต่อเติมตะแกรงแต่ละแผงจนเต็มฟาซาดที่เชื่อมกันจนได้โถงทรงสามเหลี่ยมขนาดยักษ์ อันเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ที่ยากจะลอกเลียน

“เฟิร์นชอบสีขาวและสไตล์มินิมอล ส่วนผมชอบความเซอร์เรียลแบบไซไฟ เลยแชร์ไอเดียกันง่าย เพราะเราเรียนอาร์ตกันมาทั้งคู่ เลยมองเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน”

สำหรับสตูดิโอที่รับหน้าที่สร้างภาพในอากาศให้เป็นจริง ได้แก่ RAD Studios ที่จัดการตกตะกอนแต่ละไอเดียของสองพี่น้องให้อยู่ในสิ่งปลูกสร้างหลังนี้ ทั้งวัตถุประสงค์หลักอย่างการเป็นหอพักนักศึกษา เสริมด้วยมิติของพื้นที่แสดงงานศิลปะ ภายใต้การตกแต่งที่น้อยแต่มากด้วยประโยชน์ใช้สอย และต้องเตะตาด้วยออร่าแห่งโลกไซไฟ

NiranApartment

โดยเฉพาะเมื่อนำมาบวกเข้ากับสัญลักษณ์การจรดสองมือเป็นรูปสามเหลี่ยมในทุกการแสดงสดของนักร้องนำวง Slot Machine ที่สื่อถึงรูปทรงเจดีย์ขององค์ประปฐมเจดีย์ไปในตัว 

ในที่สุด สเปซที่ชื่อ Niran.apartment ก็เสร็จสมบูรณ์ โดยมีหน้าตาเป็นกล่องสีขาวที่ครอบทับโถงทรงสามเหลี่ยมที่ออกมาสวยถูกใจผู้ว่าจ้าง และสร้างความท้าทายให้ผู้รับเหมาอย่างยิ่งยวด

NiranApartment

“กว่าจะสร้างเสร็จก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เพราะสถาปนิกเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เราใช้ผู้รับเหมาเป็นคนในจังหวัดนครปฐม ซึ่งไม่เคยมีสถาปัตยกรรมแบบนี้ที่นี่มาก่อน ก็เลยต้องคุยกันระหว่างทางเยอะ และแม้ผู้รับเหมาจะไม่เคยเจอตึกหน้าตาพิสดารแบบนี้ แต่เขาก็ทำได้และทำดีด้วย ตอนแรกผมกังวลสุดก็ตรงตะแกรงนี่แหละ แต่กลายเป็นว่าตะแกรงไม่มีปัญหาเลย” เฟิดเล่าถึงผลลัพธ์ที่ได้ดั่งใจ ก่อนอธิบายเพิ่มเติมถึงการเลือกใช้ตะแกรงสีขาวล้วนมาเป็นวัสดุในการทำระเบียงกันตก

NiranApartment

“ในเชิงการออกแบบศิลปะ เราอยากให้เกิดการเชื่อมกันระหว่างชั้นของผู้พักอาศัยกับลานกิจกรรมข้างล่าง จึงเลือกที่จะเชื่อมกันด้วยดีไซน์นี้ ที่ทำเป็นโวลุ่มแบบแรนดอมเพื่อความสวยงามด้วย กันตกด้วย และอีกเหตุผลที่เราใส่ดีไซน์เข้าไป คือ เผื่อว่าในอนาคตจะสามารถใช้ตกแต่งเพิ่มเติมได้ในวาระที่มีเทศกาลงานเฉลิมฉลองต่างๆ เหมือนที่ผมบอกว่าผมอยากให้ที่นี่เป็นกึ่งอาร์ตสเปซไปในตัว”

หอพักที่ต่อให้คนที่ไม่ใช่ผู้พักอาศัยก็เข้ามาใช้พื้นที่ได้

เสร็จสิ้นการทำความรู้จักที่มาของโถงตะแกรงทรงสามเหลี่ยม เฟิดพาเราเดินไปดูบริเวณช่องเปิดทรง arch ที่เจาะทะลุไว้อย่างน่าหวาดเสียวแบบไม่มีอะไรกั้น พร้อมเล่าให้ฟังว่ากำลังจะสร้างทางเข้าที่เป็นเหมือนอุโมงค์รูหนอน เชื่อมจากชั้นล่างมาสู่พื้นที่ชั้น 2 ของอาคาร โดยตั้งใจเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนทั่วไปได้เข้ามาทำความรู้จักสเปซแห่งนี้

NiranApartment

“ปัญหาของที่นี่ คือ ความใหม่ ทำให้คนไม่กล้าเข้ามา เขาจะรู้สึกว่าถ้าฉันไม่ได้พักที่นี่ จะเข้ามาได้เหรอ ซึ่งที่จริงแล้วชั้นนี้ (ชั้น 2) เราอยากเปิดเป็นกึ่งคอมมิวนิตี้มอลล์ มีร้านอาหารหรือร้านค้าต่างๆ เพื่อเซิร์ฟคนที่พักที่นี่หรือขาจรก็ยังได้” เขาเล่าถึงปัญหาที่พบเจอหลังจากเปิด Niran.apartment ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ยิ่งเลือกที่จะเปิดแบบ Grand Opening ทันที ไม่มีรอบซ้อม ยิ่งทำให้เขาเข้าถึงการแก้ปัญหาแบบไม่ทันตั้งตัว

“ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาซ่อมบำรุงยิบย่อย เลยทำให้ผมเข้าใจว่าทำไมโรงแรมหรือร้านอาหารใหญ่ๆ เขาถึงต้อง pre-opening หรือ soft opening เพื่อทดสอบระบบเหล่านี้ก่อนเปิดให้บริการเต็มตัว ทุกวันนี้ก็ยังเจอเรื่องของสีหลุด ฝนสาด ซ่อมแซม ปรับพื้น ฯลฯ แต่ก็ไม่เยอะเท่าไร

“ที่จริงแล้วปัญหาที่เคยกังวลคือ เรื่องของคน เช่น การส่งเสียงดัง เพราะผมตั้งใจสร้างที่นี่ให้มีความไพรเวทมากๆ โดยเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน เพราะผมเป็นคนติดห้อง หลังจากทำงานมาเหนื่อยๆ แล้วผมจะไม่ออกไปไหน เลยออกแบบให้ทุกห้องมีบรรยากาศโรงแรมกึ่งคอนโด ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด ที่นี่เงียบ เงียบมากๆ” เฟิดหัวเราะให้กับผลลัพธ์ที่เกินคาด

NiranApartment

และเพื่อเป็นการทำลายความเงียบงัน และทดสอบเสียงอึกทึกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เขาจึงจัดอีเวนต์เปิดตลาดนัดขายของขึ้นกลางลานนิรันดร์ในวันเสาร์-อาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม

“เราลองทำตลาดนัด Niran Market ขึ้น เพื่อให้คนกล้าเข้ามาที่นี่ หน้าตาของงานก็จะคล้ายๆ งานแคทเอ็กซ์โป มีร้านขายของแฮนด์เมดหลายๆ ร้านมาเปิดแผงขายของ เต็มที่ก็น่าจะจุร้านได้ 60 บูธ และจะได้เทสต์เรื่องเสียงด้วยว่า ถ้ามีคนเซ็งแซ่จะไปรบกวนคนที่พักอยู่ในห้องรึเปล่า สามารถอยู่ร่วมกันได้แค่ไหน ผมจะได้กะเกณฑ์เรื่องความถี่ในการจัดงานถูก และจะได้รู้ว่าต้องปรับปรุงตรงไหน เช่น ที่จอดรถน้อยไป จะแก้ไขยังไงต่อดี”

NiranApartment

นอกจากจะเป็นโปรเจคท์ที่เทสต์ระบบแล้ว ตลาดนัด Niran Market อาจนำไปสู่การเติมเต็มพื้นที่เช่าแต่ละห้องภายในบริเวณชั้นสองให้เกิดร้านค้าที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย หรือเกิดเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งใหม่บนถนนทรงพล สมความตั้งใจของเฟิดในอนาคตก็เป็นได้

หอพักที่ดีไซน์ดีเทียบเท่าโรงแรม และอยู่สบายเหมือนบ้าน

จากสเปซสาธารณะ เฟิดพาเราขึ้นไปชมห้องพักแต่ละแบบ โดยแบ่งตามขนาดออกเป็นห้องพักไซส์ S, M และ L ตั้งแต่ชั้น 3 จนถึงชั้น 6 รวมทั้งหมด 72 ห้อง ที่โดยสัณฐานของการออกแบบระเบียงให้ลาดเป็นทรงสามเหลี่ยม ทำให้สัดส่วนของแต่ละชั้นค่อยๆ แคบลง แต่ด้วยการออกแบบพื้นที่ใช้สอยมาเป็นอย่างดี ทำให้ต่อให้เป็นห้องไซส์ S รูปทรงยาว ก็ไม่ทำให้ผู้พักอาศัยรู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด

NiranApartment

ขณะกำลังเข้าชมห้องพักห้องหนึ่ง เมื่อมองออกไปจากระเบียงเห็นวิวหมู่หอพักนักศึกษาที่อยู่มาก่อน Niran.apartment ตั้งซ้อนกันหลายหลังในพื้นที่ขนาดไม่กี่ตารางกิโลเมตร ทำให้เราอยากรู้ถึงมุมมองทางการตลาดของผู้ประกอบการหอพักหน้าใหม่รายนี้

“แม้แถวนี้จะเป็นดงหอพักอยู่แล้ว แต่ก็คิดว่าเรายังมีโอกาส เพราะจำนวนหอพักไม่เพียงพอกับดีมานด์ของนักศึกษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ ที่วิทยาเขตวังท่าพระปิดซ่อม ทำให้นักศึกษาต้องย้ายมาเรียนที่นี่ทั้งหมด” เขาย้ำถึงความมั่นใจในวันนั้นที่มีส่วนทำให้เขาและน้องสาวตัดสินใจวาดภาพโปรเจคท์ของครอบครัวให้เป็นจริง โดยใช้เวลา 2-3 ปีในการก่อสร้าง Niran.apartment จนแล้วเสร็จ

NiranApartment

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่สำคัญพอๆ กับการเพิ่มจำนวนหอพักให้สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษา ก็คือ ความใส่ใจในการตกแต่งห้องพัก ที่เติมเต็มมิติของการอยู่อาศัยให้สามารถเป็นได้ทั้งบ้านอยู่สบาย และโรงแรมดีไซน์ดีในคราวเดียว ด้วยการบรรจงคัดสรรเฟอร์นิเจอร์ทั้งแบบลอยตัวและบิ้วด์อินได้อย่างเหมาะเจาะ การเลือกเครื่องนอน ผ้าม่าน ไปจนถึงสุขภัณฑ์ ที่เนี้ยบทุกกระเบียดนิ้ว

ดังนั้น ราคาเริ่มต้นที่เดือนละ 6,500 บาทไปจบที่หมื่นต้นๆ ของ Niran.apartment จึงเป็นตัวเลขที่บวกมาตรฐานของความใส่ใจเอาไว้แบบเบ็ดเสร็จ

NiranApartment

หอพักที่ยังคงเป็นบ้านของคนทั้งครอบครัว

“นี่ไง บ้านผม” เฟิดชวนให้เราก้มลงมองดูพื้นที่หน้าบ้านของครอบครัวที่มีอาณาเขตติดต่อกับหอพัก ในระยะที่แค่ก้มมองจากระเบียงห้องพักก็เห็นชายคาและสวนหย่อมหน้าบ้านได้ถนัดตา

“อย่างที่บอกว่าผมอยากให้นครปฐมมีอะไรที่น่ามาเที่ยวบ้าง และผมก็รู้สึกว่าความเจริญกับทุนนิยมกำลังเข้ามาที่นี่ในไม่ช้า ดังนั้น ถ้าเราปล่อยที่ตรงนี้ไว้เฉยๆ มันก็เป็นแค่ที่ว่างที่เสียเปล่า ถ้าทำสนามบอลก็สนองนี้ดคุณพ่อแค่คนเดียว เดี๋ยวแม่ว่าง” เขายิ้มคั่นจังหวะการเล่า ก่อนขยายความต่อ

NiranApartment

“ผมเห็นมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่าแล้ว จากที่เขาเคยออกไปทำงาน มีสังคม ไปกินเลี้ยงกับโรตารี่นครปฐมทุกอาทิตย์ แต่พอเกษียณแล้วเหงามาก ผมเลยไม่อยากให้เขารู้สึกเฉาๆ และจากตัวอย่างการทำธุรกิจปั๊มน้ำมันมาตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อที่สุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการ ผมเลยมองไปข้างหน้าไกลๆ ว่า ถ้าวันนึงเราต้องว่างงาน เราจะได้มีอะไรทำ ดังนั้น พอถึงคิวที่ผม ซึ่งตอนนี้มีรายได้มากที่สุดในบ้าน จึงมีหน้าที่ดูแลทั้งครอบครัว พอจะลุกมาทำอะไรได้บ้าง ผมก็อยากลองทำด้วยวิธีของตัวเองดู”

Niran.apartment จึงเป็นเหมือนกิจกรรมใหม่ที่สมาชิกทั้งครอบครัวดุรงค์จิรกานต์ทำร่วมกัน โดยมีคุณพ่อคุณแม่ติดต่อคอนเน็กชั่นดั้งเดิมของชาวนครปฐม เช่น ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้าง พนักงานบริการ ฯลฯ มาช่วยก่อร่างสร้างอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ ส่วนลูกชายและลูกสาวก็เป็นเหมือนทัพหน้า คอยป่าวประกาศและบริการลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้เข้าพักที่นี่ด้วยความรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย เปี่ยมด้วยความสุขอันเป็นนิรันดร์สมชื่อนิวาสสถานที่พวกเขาเลือกที่จะพักพิง

NiranApartment

Niran.apartment ถนนทรงพล อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โทร 083-935-5591 fb.com/Niranapartment