“…น้องฝึกงานเป็นคนแนะนำให้เรารู้จักพอดแคสต์รี้ดเดอรี่เมื่อปลายปีที่แล้ว ตอนเราถามว่ามีคนที่อยากสัมภาษณ์เป็นพิเศษไหม เขาก็พูดชื่อนี้ออกมา ตอนนั้นเรายังไม่เคยฟังพอดแคสต์ รู้แค่ว่ารี้ดเดอรี่เป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่เคยเข้าไปดูและได้เห็นผ่านตาจากทวิตเตอร์…
…ฟังรี้ดเดอรี่ตอนแรกคือตอนวรรณกรรมเยาวชนที่ควรกลับไปอ่านซ้ำ จากนั้นก็ฟังมาเรื่อยๆ จนไปซื้อหนังสืออ่านตาม ตอนที่ชอบที่สุดคือวอลเดน ฟังซ้ำหลายรอบ รู้สึกว่าชีวิตมีพลัง มีทางให้ไปต่อ ชอบคอมมูนิตี้แบบนี้ รู้สึกว่าสนุกกว่านั่งอ่านอยู่ในห้องคนเดียวเงียบๆ…”
ค่ำวันนั้นหลังการสัมภาษณ์, บนรถไฟฟ้าใต้ดิน
ฉันลงมือพิมพ์ข้อความยาวเหยียดลงในสมาร์ทโฟนไปเรื่อยๆ อย่างใจจดใจจ่อ จนแทบไม่ได้ยินเสียงประกาศว่าขบวนรถมาถึงสถานีปลายทาง นี่เป็นการเดินเตร็ดเตร่เข้าไปในความคิดของตัวเองเป็นครั้งแรกด้วยการเขียนแบบ free writing เหล่านักเขียนบอกว่าสิ่งนี้เป็นการวอร์มก่อนลงมือเขียนงาน สำหรับบางคนนี่คือการเขียนเพื่อเข้าไปทำความรู้จักกับตัวเองฉันเพิ่งรู้จักสิ่งนี้หลังจากได้สนทนากับ โจ – อนุรุจน์ วรรณพิณ, เน็ต – นัฎฐกร ปาระชัย และ ภวิล เฟย์ เมื่อตอนบ่าย
คนกลุ่มนี้คือผู้ปลุกปั้น Plot โปรเจ็กต์ใหม่ของ Readery ที่จะพาไปสำรวจกระบวนการเขียนแบบ creative writing ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักเขียนกล้าจะลงมือเขียนแล้ว พวกเขายังหวังว่าการเขียนแบบนี้จะทำให้คนเราเข้าใจตัวเองอีกด้วย
ก่อนการสัมภาษณ์, ในห้องนั่งเล่นของบ้าน Readery
ฉันเพิ่งตระหนักได้ว่านอกจากปากกา สมุดจดคำถาม และอุปกรณ์บันทึกเสียงแล้ว ฉันยังพก ‘ความกลัว’ มาเต็มกระเป๋า หลังจากที่ทักทายกันพอสังเขป บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นและดำเนินไปเรื่อยๆ เมื่อได้ฟังเรื่องราวดังกล่าว ฉันรู้ได้ทันทีว่างานสัมภาษณ์ชิ้นนี้คงแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ จึงตัดสินใจปิดสมุดที่เต็มไปด้วยคำถามยาวเหยียดลง และปล่อยให้ตัวเองเดินเตร็ดเตร่ทำความรู้จักกับการเขียน creative writing ไปพร้อมๆ กับพวกเขา
Plot คืออะไร
เน็ต : โปรเจ็กต์ของเราเกิดจากปัจเจก 2-3 คน ที่ชอบสิ่งนี้เหมือนกันแล้วอยากขยายกลุ่มของเราออกไป แต่ก็คิดว่ามันจะขยายไปได้เยอะแค่ไหนกันเชียว
นึกถึงตอนเริ่มทำร้านรี้ดเดอรี่ใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากปัจเจกสองคนเช่นกัน วันหนึ่งเริ่มมีคนรู้จักเรา มันช่วยให้คนกลับมามองหนังสือในอีกรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากๆ แต่มองว่ามันเติมเต็มชีวิตพวกเขาอย่างไรบ้าง ถึงจะทำได้ในสเกลที่ไม่ใหญ่มาก แต่มันก็ทำให้หลายๆ คนหันกลับมาหาหนังสือเล่ม มีบทสนทนาเกี่ยวกับหนังสือเต็มไปหมด รี้ดเดอรี่พอดแคสต์เองมันก็เป็นการขยับจากการเป็นแค่ร้านหนังสือมาเป็นเสียง พูดคุยกันในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น
เรามอง Plot แบบเดียวกัน คือเป็นสิ่งที่เราเชื่อและเป็นไอเดียที่เอาไปใช้และเห็นผลได้ งานของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่เราเชื่อแล้วกระจายมันออกไป นักเรียนในคลาสก็ช่วยกันเอาสิ่งที่เราเชื่อไปสร้างเป็นกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมาอีกกลุ่ม เราคิดว่าพลังของการสื่อสารสามารถทำให้ไอเดียเล็กๆ เริ่มแพร่ออกไปได้โดยที่ไม่ต้องบอกตรงๆ เราไม่ต้องบอกว่าพล็อตคืออะไร ทฤษฎีการเล่าเรื่องคืออะไร แต่มันจะแฝงอยู่ในทุกๆ งานของพวกเขาที่จะเริ่มผลิตออกไปนับตั้งแต่เริ่มรู้จักก้อนความคิดนี้
เฟย์ : พี่โจเคยเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์มาก่อน ส่วนพี่เน็ตเป็นนักอ่านตัวยง ชอบอ่านหนังสือ ชอบวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านั้นและเอามาเล่าต่อในพอดแคสต์ เราเป็นนักเขียนและเคยเป็นกองบรรณาธิการ เราสนใจด้านการเล่าเรื่อง ชอบศาสตร์ของเรื่องเล่าทั้งหมด ไม่ใช่แค่ในหนังและหนังสือนะ แต่รวมถึงพวกพอดแคสต์ หรือแม้แต่การปราศรัยก็ด้วย เลยอยากแชร์ความรู้ที่มีผ่านคลาสที่ออกแบบขึ้นมา
เน็ต : พี่โจมาจากการเขียนบทหนัง เฟย์มาจากการเขียนหนังสือ เราพบว่าความรู้ของนักเขียนนิยายและนักเขียนบทเป็นความรู้คนละชุดกัน แรกๆ เราคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะแต่ละคนมีทฤษฎีการเล่าและการเขียนไม่เหมือนกัน เราเลยเบลนด์การเล่าเรื่องของสองฝั่งเข้าด้วยกัน ให้ออกมาอย่างที่เราอยากให้เป็น
โจทย์ตั้งต้นคือการเขียนนิยายออนไลน์ เราคิดว่าคนเขียนนิยายหลายๆ คนเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนด้วยตัวเอง ไม่เคยได้เรียนเขียนบทหนังมาก่อน เขาน่าจะอยากรู้ทฤษฎีหรือเนื้อหาบางอย่างที่ทำให้เขียนได้ง่ายและเร็วขึ้น
โจ : นอกจากเขียนบทหนังกับนิยาย เรารู้จักการเขียนที่เรียกว่า creative writing หรือการเขียนเพื่อความสุขเฉยๆ จบแล้วไม่ต้องทำอะไรใดๆ แค่เขียนให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เราเรียนและใช้สิ่งนี้มาเกือบ 30 ปี รู้สึกว่ามันเวิร์กกับชีวิต แทนที่เราจะคิดเฉยๆ ให้เราคิดบนกระดาษแล้วความคิดมันจะชัดเจนขึ้น พอเรารู้จักตัวเอง มันจะดีกับเรา
ทำไมตอนนั้นถึงสนใจเรียน Creative writing
โจ : เราอยู่อเมริกามาก่อน เวลาไปนั่งร้านกาแฟจะเจอนักเขียน คนเขียนบท ผู้กำกับ ตากล้อง สามสิ่งที่เขาทำ คือ 1.นั่งเมาท์กัน นั่งประชุม 2.อ่านหนังสือ และ 3.นั่งเขียนอะไรบางอย่าง พอไปชะโงกดู อ้าว ก็ไม่ได้เขียนบทนี่หว่า มันคือการเขียนไดอารี สมัยนั้นเรียกว่าเขียน journal นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจ เลยเริ่มลงคลาสที่เรียกว่า creative writing ถึงรู้ว่ามันมีการเขียนที่ไม่ต้องเอาไปใช้ทำมาหากินก็ได้ เขียนเพื่อความสุขเฉยๆ ก็ได้
เราค่อยๆ เรียนรู้จากนักเรียนของเราด้วย หลายๆ คนประกาศชัดเจนเลยว่าถ้าหนูเรียนวิชาคาแรคเตอร์จบแล้ว หนูจะไม่เอาไปเขียนอะไรทั้งนั้น แค่อยากรู้จักว่าการดูคาแรคเตอร์ในนิยาย ในภาพยนตร์มันเป็นอย่างไร เราคิดว่าก็ได้หว่ะ จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเอาไปทำงานตลอดเวลาก็ได้
เน็ต : creative writing มันไม่ได้ใช้สำหรับงานเขียนเพียงอย่างเดียว เราทำรี้ดเดอรี่พอดแคสต์ ช่วงครึ่งปีหลังมานี้ หลายๆ ตอนเราพูดถึงการเขียนหรือเทคนิคที่มาช่วยให้เราเข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้น เหมือนเราจำลองเป็นคนเขียน แล้วดูว่าเขาวางสตรัคเจอร์ไว้อย่างไร เขาต้องการถ่ายทอดธีมสำคัญอย่างไร ถ้าอ่านแบบคนทั่วไปเราจะอ่านไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอ่านโดยที่รู้ว่านักเขียนคิดอะไรอยู่ มันเหมือนได้เข้าไปอยู่ตรงที่เขาดีไซน์เอาไว้
โจ : อย่างจะมาสัมภาษณ์วันนี้ อาจลองนั่งเขียนแบบ free writing ดูหน่อยว่าฉันควรถามอะไร มากแค่ไหน นานแค่ไหน เหมือนคุยกับตัวเองก่อนที่จะมาคุยกับผู้ถูกสัมภาษณ์ แล้วมันจะทำให้ตัวเองตกตะกอน
ลองนั่งลงนิ่งๆ แล้วคิดกับตัวเองหน่อยว่าต้องการสัมภาษณ์งานชิ้นนี้ไปทำไม มันจะมีประเด็นบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ระดับจิตใต้สำนึกที่เราเองไม่เคยได้นึกถึงมัน โลกใบนี้มีหลายประเด็น แต่ประเด็นไหนล่ะที่เราคอนเน็คกับมัน พอเราได้เขียนแบบ free writing ไปสัก 10 นาที มันอาจจะออกมาเองว่าฉันสนใจประเด็นอะไร นั่นคือการรู้จักตัวเอง การันตีว่างานที่เราอิน มันจะไปคอนเน็คกับคนเฉยเลย เพราะมันมีความรู้สึก มีจิตใจของเราลงไปอยู่ในงานชิ้นนั้น
เฟย์ : สำหรับเรา creative writing คือช่วงวอร์มมือ เป็นช่วงกระบวนการคิด เราเขียนหนังสือมาแบบอ่านหนังสือแล้วก็ถอดความมาเขียนเอง ช่วงแรกๆ ไม่มีใครสอนให้เราเขียนเพื่อฝึกสมอง ฝึกมือ หรือฝึกกระบวนการคิด เราคิดว่า creative writing ไม่ได้ช่วยให้เรามีไอเดียพุ่งพล่าน แต่มันช่วยเรียบเรียงสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราออกมา
เน็ต : มีศัพท์คำหนึ่ง คือคำว่า ramble จริงๆ มันแปลว่าเดินเตร็ดเตร่ คำนี้ถูกเอามาใช้ในกระบวนการเขียน การ free writing มันพาเราเดินเตร่ก่อนจะลงมือทำงานจริง สำหรับเรามันทำงาน 2 แบบ แบบแรกคือ ช่วยคนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สมมุติครูส่งโจทย์ให้ว่าจงเขียนเรื่องน้องที่ไปม็อบ แทนที่จะเจาะไปหาน้องที่อยู่ในม็อบ ramble จะเป็นกระบวนการที่พาเราเดินไปเรื่อยๆ จนไปถึงม็อบ แล้วระหว่างนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นในม็อบก็จะเกิดขึ้นในหัวเรา
อีกแบบสำหรับคนที่เป็นนักเขียนอยู่แล้ว ramble จะช่วยปลดล็อกในวันที่เขียนไม่ออก บางทีถ้าเราจดจ่อแต่เรื่องที่จะเขียน สมองมันก็ตันหมดแล้ว ใครจะไปรู้ว่า ถ้าเราเขียนแค่ว่าวันนี้แดดแรงจังเลย ซีนแดดแรงมันอาจจะไปอยู่ในนิยายเราก็ได้ มันเลยเป็นทั้งกระบวนการเอ็กเซอร์ไซส์และการเตรียมวัตถุดิบไว้ให้เรา
นอกจากจะพาเดินเตร็ดเตร่แล้ว Free Writing ช่วยอะไรอีกบ้าง
เน็ต : มีคลาสหนึ่งของเราที่ชื่อว่า Trust your writer mind เรียกได้ว่าเป็นคลาส 101 ก่อนที่จะไปเรียนคลาสอื่นๆ พวกเราเชื่อว่าก่อนที่จะขยับไปสู่การเขียนหรือการคิดประเภทต่างๆ free writing จะช่วยปลดปล่อยหลายๆ สิ่งไปจากเรา
เราพาไปรู้จักกฎ 7 ข้อของ free writing จะเล่าให้ฟังแบบไม่สปอยล์คลาสคือ ข้อแรกเราคุยกันเรื่องความกลัว หลายๆ คนไม่กล้าเขียน ไม่กล้าปล่อยจีนี่ข้างในตัวให้ออกมาทำงานเพราะเรามีความกลัวเยอะมาก free writing จะเข้ามาทำลายความกลัวนั้นออกไป
บางคนอยากเขียนหนังสือ แต่ไม่เคยทำงานเขียนเสร็จเลยสักชิ้น เพราะยังมีความกลัวหลายๆ อย่างอยู่ เช่น กลัวเขียนไม่จบ กลัวเขียนไม่ออก กลัวว่าถ้าเขียนจบแล้วพิมพ์เป็นเล่มจะไม่มีคนอ่านแล้วเราจะผิดหวัง ความกลัวตั้งแต่ระดับไมโครจนถึงใหญ่สุดมันทำงานกับเราเหมือนกันทั้งหมดคือไม่ให้เราเขียน ความคิดสร้างสรรค์ของเรามันถูกกดไว้ข้างใจ เราไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย คนที่มาเรียนคลาสนี้เหมือนโดนตบหน้าหลายๆ ที ว่าถ้ายังกลัวอยู่ก็กลับบ้านไป ไม่ต้องเขียน
เฟย์ : พี่เน็ต พี่โจพูดบ่อยมากว่าถ้าไม่เขียนก็ไม่เจ็บ แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย
โจ : เรามีเพื่อนเป็นนักวิทยาศาตร์ที่ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ สามารถเลือกเรียนวิทยาศาสตร์อะไรก็ได้ แต่ไม่รู้จะเรียนอะไร เพราะสังคมเลือกให้เรามาตลอด อยู่มาวันหนึ่งต้องเลือกเอง ทำให้สับสนมากจนเกือบตัดสินใจไม่รับทุน สุดท้ายเขานั่งเขียนแล้วพบว่า ฉันคงต้องเรียนสายเจเนติก เพราะมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคที่รักษาด้วยยาไม่ได้ ต้องรักษาด้วยสายดีเอ็นเอ พ้อยท์ของการเขียน free writing คือช่วยให้คนรู้จักตัวเองมากขึ้น
ผลลัพธ์ไม่ได้หมายถึงแค่ผลงาน แต่คือ ‘ผลพลอยได้’ ที่ช่วยให้คนเข้าใจตัวเอง
เน็ต : มีนักเรียนในคลาสถามเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ว่า free writing ต่างจากการเขียนไดอารีอย่างไร การเขียนบันทึกคือการจดสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว การเขียนไดอารีคือตัวเราที่นั่งอยู่ตรงนี้จดลงไป แต่ free writing คือการที่เราไปขุดเอาตัวเราที่อยู่ข้างในมาเขียนอีกที
คนที่เขียนอาจไม่ใช่ตัวเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ แต่อาจเป็นอีกคนที่นั่งอยู่ในตัวเรา เราไม่ได้เป็นคนเดียวที่จับปากกาแล้วเขียน ข้างในตัวเรายังมีอีกหลายคนที่ทำงานกันอยู่ แต่เราไม่ได้ปล่อยพวกเขาออกมา
นี่เลยเป็นกระบวนการที่พาไปทำความรู้จักกับเจ้าตัวที่อยู่ข้างในว่ามีคนไหนบ้างที่สามารถดึงมาเขียนได้ เราต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมเพื่อเข้าไปทำความรู้จักพวกเขา แล้วเราจะเซอร์ไพรส์มากหากได้กลับมาอ่านอีกครั้ง ว่านี่ฉันเขียนออกมาจริงๆ เหรอ ดูเหมือนไสยศาสตร์เนอะ แต่มันคือวิทยาศาสตร์หมดเลย
เฟย์ : เราถูกฝึกให้ทำอะไรแล้วต้องได้ผลงาน แต่สิ่งนี้เป็นการฝึกซ้อม ก่อนที่เราจะไปวิ่งมาราธอน เรายังให้เวลาตัวเองในการฝึกเลย แล้วกับหนังสือหนึ่งเล่มที่จะเขียนออกมา ทำไมเราถึงไม่ให้เวลากับการฝึกบ้าง
เน็ต : การฝึกในความหมายของเฟย์ เหมือนกับการนั่งสมาธิ เราไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อจะเขียนนิยายได้ แต่เรานั่งสมาธิเพื่อตัวเราเองทั้งนั้น กฎหนึ่งข้อในการฝึกเขียน free writing คือห้ามหยุดมือ มันคือการอยู่กับปัจจุบัน คนที่ใช้เวลากับโมเมนต์นี้จะพูดเหมือนกันว่ามันให้ผลลัพธ์คล้ายๆ กับตอนนั่งสมาธิ แล้วตอนหยุดนั่งจะรู้สึกสดชื่นและมีพลัง
ถามว่าทำไมไม่นั่งสมาธิ ลองนึกๆ ดู เวลาไอเดียมันวาบขึ้นมาเวลาเรานั่งสมาธิ เราไม่ได้คว้ามันไว้แล้วมันหายไปจะทำอย่างไร แต่การเขียนไปเรื่อยๆ ถ้าไอมันวาบขึ้นมาขณะที่มือเราเขียนอยู่ก็เป็นการจับมาอยู่บนหน้ากระดาษแล้ว
โจ : แล้วแต่ชอบ ทุกสิ่งคือการอยู่กับปัจจุบันกันคนละแบบไม่ว่าจะเป็นนั่งสมาธิ วิ่ง ว่ายน้ำ เดิน แต่สำหรับพวกเรา การเขียนมันเป็นรูปธรรม มันจับต้องได้และออกมาเป็นตัวอักษร
ทุกคนสามารถเขียนสิ่งนี้ได้ ทุกคนที่อ่านบทความชิ้นนี้อยู่ก็ลองเขียน free writing ได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้อะไรเยอะเลย แค่ใช้สมุด ปากกา หรือจะพิมพ์ในไหนก็แล้วแต่ เขียนโดยที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องอ่าน กฎทั้งหลายแหล่จะวกกลับมาที่กฎข้อแรกข้อเดียวเลยคือห้ามหยุดมือ ลองทำดูเล่นๆ สัก 5-10 นาที คุณจะพบสิ่งนี้ด้วยตัวคุณเอง
ผลลัพธ์ของแต่ละคนจากการฝึกเขียนแบบ Free Writing คืออะไร
เฟย์ : เรากลัวทุกครั้งว่าตัวเองจะเขียนห่วย พอคิดว่าจะออกมาห่วยเราก็จะไม่เขียนหรือเขียนช้ามากๆ เราเลยมาฝึกสิ่งนี้ ฟังดูเหมือนลัทธิเลย แต่ว่าเราทำจริงๆ (หัวเราะ) มีกฎข้อหนึ่งที่ช่วยให้เราสบายใจ คือจงเขียนสิ่งที่กากที่สุดในโลก – Your first draft is shit ถึงห่วยก็ไม่เป็นไร เราก็เขียนไปเรื่อยๆ แล้วพบว่ามันไม่ห่วย เรานั่งทำอะไรอยู่ตั้งนาน
หลังจากฝึกเขียนสิ่งนี้มา เราเพิ่งเขียนเรื่องสั้นซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่เขียนเร็วที่สุดในชีวิตจบไป เราเขียนไปเรื่อยๆ และเขียนเร็วมากๆ ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ในการเขียน 20 กว่าหน้า แล้วเราก็ชอบมันด้วย
โจ : มหัศจรรย์เนอะเรื่องนี้
เฟย์ : แต่ต้องฝึกทุกวัน
เน็ต : โปรดักต์ของเฟย์คืองานเขียน แต่สำหรับเราคือการทำคลาส เราไม่เคยคิดว่าอยู่มาวันหนึ่ง สิ่งที่เราอ่านจะสามารถถูกถ่ายทอดออกไปยังคนอื่นๆ ได้
เราจบวิศวะมา ไม่ได้มองว่าปลายทางของเราคืองานเขียน แต่เราชอบการสร้างกระบวนการ ความสุขของเราคือการทำคลาส เรามีข้อมูลเต็มไปหมด แต่ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาทำให้เป็นบทเรียน ซึ่งเล่าผ่านเซสชัน 4 ชั่วโมง ให้คนจับใจความสิ่งที่เราย่อยมาไปใช้ได้ นั่นอาจช่วยให้เขากล้าเขียนและทำงานให้สำเร็จ หรือเอาทฤษฎีการคิด การเขียนทั้งหมดไปต่อยอดในงานอื่นๆ ได้
มีอีกหลายๆ คลาสที่เราอยากดีไซน์สิ่งที่เราอ่านมา เรียนรู้มา หรือไปคุยกับนักเขียนคนอื่นๆ มาย่อยให้กลายเป็นบทเรียนหลายๆ ชิ้นให้พวกเขา
โจ : โปรดักต์ของเราคือชีวิต เช่น วันนี้ฉันจะออกไปเที่ยวกับเพื่อนหรือจะอยู่บ้านอ่านหนังสือดี แค่ free writing ประมาณ 5 นาที เราก็รู้แล้วว่าควรจะเลือกสิ่งไหนให้กับตัวเอง
อย่างวันนี้จะมาคุยกับ becommon ก็ free writing ก่อนว่าจะคุยอย่างไรดี ต้องไม่ลืมว่าเราจะตอบอะไรก็ได้บนโลกใบนี้ แต่ว่าจริงๆ แล้วเราอยากพูดอะไรบ้าง เลยสกัดออกมาได้ประเด็นว่า free writing จะทำให้เรารู้จักตัวเองในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น ปัญหาของน้องๆ วัย 20-30 ที่เจอกันอยู่ตอนนี้คือเรื่องการรักตัวเอง คนฟังอาจบอกว่าเราได้ยินคำนี้มาชั่วชีวิต แต่คำถามคือรักอย่างไร สำหรับเราการจะรักตัวเองได้ต้องรู้จักและเข้าใจตัวเอง
คนที่มาร่วมคลาสเป็นใคร เขาได้เล่าความคาดหวังให้ฟังบ้างไหม
เน็ต : ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มาร่วมคลาสของเรา ไม่ใช่คนที่อยากเขียนงานเล่มแต่เป็นเจ้าของเพจ เป็นคนเขียนบทความ เป็นคนที่ใช้งานเขียนสื่อสารภายในองค์กร
เรามีคลาส 2 แบบ คือ free writing และ storytelling ซึ่งเป็นการคิดพล็อต คาแรคเตอร์และธีม แม้จะเป็นฝั่งทฤษฎี เราก็ยังเอาพื้นฐานของการ free writing มาใช้ เพราะเราเชื่อว่าการเข้าถึงตัวตนของพวกเขาผ่าน free writing จะช่วยทำให้งานเขียนที่เกิดขึ้นเป็นงานเขียนที่คอนเน็คกับผู้เล่าเรื่องได้ค่อนข้างเยอะ
สำหรับเรามันเหมือนการบำบัด หลายคนบอกว่าวิธีการในคลาสเหมือนไปนั่งคุยกับนักจิตวิทยา บางคลาสคนเขียนแล้วร้องห่มร้องไห้ เราสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร ปรากฏว่ากฎการเขียนทั้ง 7 ข้อ มันช่วยให้เข้าไปสำรวจตัวตนของเรา
นักจิตวิทยามักจะบอกว่าวิธีที่ทำให้เราไปต่อได้คือการย้อนเข้าไปสำรวจเรื่องเล่าที่เราไม่สามารถเผชิญหน้ากับมันได้ สิ่งที่ทำให้เราไม่อยากไปต่อคือความเจ็บปวดในอดีตที่เราไม่สามารถจัดการกับมันได้
กระบวนการเขียนของเราคือการเข้าไปสำรวจกับความทรงจำนี้แล้วเอาออกมาวางตรงหน้า สำรวจว่าเราติดอะไรตรงไหน ทำไมเราถึงไม่อยากคุยเรื่องนี้ การเอามาวางบนหน้ากระดาษ มันหมายความว่าเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นแล้ว ทุกครั้งที่มีเซสชั่นแบบนี้คนจะร้องไห้เพราะได้กลับไปคุยกับตัวเอง
โจ : น้ำตานี่น่าสนใจนะ เราไม่ได้ร้องไห้เพราะเศร้าอย่างเดียว แต่ความรู้สึกมันเหมือนยอดอ่อนที่ค่อยๆ แทงเมล็ดพืชออกมา การเติบโตมันเจ็บปวด แต่วันที่ยอดอ่อนออกมาเจอแสงแดด มันมีความอบอุ่นของการเกิดใหม่อยู่ในนั้น นี่แหละที่เขาบอกว่าคุณสมบัติของการเป็นนักเขียนคือต้องกล้าพูดกับความเจ็บปวดของตัวเอง
เฟย์ : ในพาร์ทของเรา storytelling ช่วยให้เราเห็นโมเมนต์เล็กๆ ของชีวิตว่ามันคือเรื่องเล่า หนังคือการย่อชีวิตมาเล่าภายในสองชั่วโมง
ในคลาสเกี่ยวกับ storytelling เราพูดถึงเรื่อง Hero’s journey ทุกคนต้องก้าวผ่านความกลัวของตัวเองและกระเทาะความเจ็บปวดออกมาก่อน บางคนก็ร้องไห้ออกมา เราออกมาข้างนอกแล้วนั่งคุยกัน พูดถึง Hero’s journey ให้มองเห็นว่าตั้งแต่ที่เขาเดินเข้าบ้านมา มันคืออีกจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ เรากำลังมาเรียนรู้สิ่งใหม่
ตอนนี้มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า inmost cave ซึ่งเป็นการไปเยือนจุดต่ำสุดในชีวิต การผลักประตูออกจากสิ่งนี้ เปรียบได้กับการตาย ฮีโร่ต้องตายก่อน มีชอยส์ฮีโร่ให้ตัดสินใจว่าจะกลับบ้านหรือกลับเข้าไปในคลาส เมื่อไหร่ที่คุณกลับเข้าไปในคลาส มันคือการเกิดใหม่ เขาผลักประตูเข้าไปแล้วหลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนไปเลย เขาเป็นฮีโร่ที่เกิดใหม่และเห็นอะไรบางอย่าง storytelling มันคือชีวิตเราในทุกๆ โมเมนต์
หลังจากเรียนเรื่องนี้จนกระทั่งเป็นผู้ถ่ายทอดออกไป คุณเคยพบกับความรู้สึก ‘เหมือนเกิดใหม่’ บ้างหรือเปล่า
เฟย์ : มีอยู่ครั้งหนึ่งคือเรื่องความไม่เก่ง เราก็เขียนไปว่าไม่เก่ง ไม่เก่ง ไม่เก่งอยู่แบบนั้นแล้วก็ร้องไห้ สุดท้ายเราบอกตัวเองว่าไม่เก่งก็ช่างแม่ง หลังจากนั้นคำว่า ‘ไม่เก่ง’ ก็ไม่อยู่ในหัวเราอีกเลย ก็แค่ทำต่อไป
เน็ต : ขอพูดถึงด้าน storytelling บ้าง เราว่าการเล่าเรื่องหนึ่งเรื่องคือการเข้าไปจัดการไทม์ไลน์ชีวิตของตัวเอง เข้าไปจัดการเรื่องเล่าที่อาจยังเป็นบาดแผลที่ตัวเองซุกเอาไว้ แล้วปลดปล่อยมันออกมา
Hero’s Journey คือทฤษฎีการเล่าเรื่องประเภทหนึ่งซึ่งใช้คาแรคเตอร์เป็นหลัก จุดเริ่มต้นของเรื่องคือมีอะไรบางอย่างพาเขาเข้าไปสู่จุดที่ต้องเข้าใจ เป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ต้องหาทางออก พอเอาทฤษฎีการเล่าเรื่องทั้งหมดมาแปะกับไทม์ไลน์ชีวิตเราเป็นช่วงๆ จะทำให้เรากลับไปสร้างเรื่องเล่าชุดใหม่ให้กับความทรงจำของตัวเอง หลังจากที่ได้สร้างเรื่องเล่าชุดนั้นแล้ว เราก็พร้อมที่จะไปสู่เรื่องเล่าชุดต่อๆ ไป
ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการกับเรื่องเก่าๆ ได้ ชีวิตก็จะติดอยู่กับหนังสือเล่มเก่าเหมือนเดิม
ความจริงแล้วหลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าติดอยู่กับเรื่องเล่าที่ยังจบไม่ลง สิ่งนั้นมาดึงขาเราไว้ แม้อยากจะไปเรื่องใหม่ อยากจะไปเรื่องโรแมนติกคอมเมดี้แล้ว แต่ยังเอาตัวเองไปอยู่ในความโศกเศร้าแล้วก้าวขาไม่ออก
ความเชื่อของเราคือเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปจัดการกับเรื่องเล่าเก่าๆ ของตัวเองได้แล้ว แม้เรื่องนั้นจะยังไม่จบ แค่เราไปปิดบทนั้นเอาไว้ มันก็ทำให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ในชีวิตของเราได้อีกเยอะ ยังมีอีกหลายบทที่รอให้เราไปเปิด ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการกับเรื่องเก่าๆ ได้ ชีวิตก็จะติดอยู่กับหนังสือเล่มเก่าเหมือนเดิม
โจ : ถ้าถามว่าการเขียนลักษณะนี้เปลี่ยนแปลงอะไรเราบ้าง คำตอบคือตลอดเวลา สิ่งนี้คือกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ มันคือการเวียนว่ายตายเกิด แม้กระทั่งร่างกายของเรา อีกสองเดือนผ่านไปเซลล์ทั้งหลายจะเป็นเซล์ใหม่หมดเลย ในทางจิตใจก็เหมือนกัน มันมีการตาย การเกิด มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
บางทีเราอาจกำลังสะกดจิตตัวเองด้วยเรื่องเล่าบางเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเล่าให้ตัวเองฟังซ้ำๆ ว่าเราไม่มีทางประสบความสำเร็จ ว่าเราเป็นคนไม่เก่ง เราแค่ทำความเข้าใจแล้วเล่าเรื่องใหม่ ประตูบานใหม่ๆ ก็จะเปิดให้เรา
creative writing ทำให้เราเข้าใจอยู่ตลอดเวลาว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเรา เช่น วันนี้เราโดนเจ้านายด่าอย่างรุนแรง เจ็บปวดมาก กลับบ้านร้องห่มร้องไห้ มันคือการตายชนิดหนึ่ง วันพรุ่งนี้ยังมีอยู่ วันมะรืนนี้ยังมีอยู่ เราจะตื่นขึ้นมาแล้วเข้าใจว่าที่เจ้านายด่า เราผิดจริงๆ หรือเป็นเพราะอคติของเขา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรชีวิตจะมีบทใหม่รออยู่เสมอ
ช่วงเวลาแบบไหนจะผลักให้คนอยากรู้จักตัวเองขึ้นมา แล้วเริ่มเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจ
เฟย์ : ช่วงแรกทุกคนต้องเริ่มจากตัวเอง อย่างพี่โจ พี่เน็ตเริ่มจากการรู้จักความเจ็บปวดและความกลัว สำหรับบางคนจะเริ่มด้วยการเกิดความรู้สึกแปลกๆ เหมือนกับการเดินทางของคาแรกเตอร์ ที่ในตอนแรกเขาอาจเชื่อในอะไรผิดๆ เมื่อไหร่ที่เกิดความสงสัย เมื่อนั้นก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เช่น บางคนเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง แล้วสู้เพื่อมัน พอเริ่มรู้สึกถึงอะไรแปลกๆ ก็เริ่มคุยกับตัวเองว่าอะไรกันที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ ปกติคนเราคุยกับตัวเองอยู่ในหัว ไม่ได้บันทึกไว้บางทีก็ลืม อาจรู้สึกแปลกๆ อยู่แบบนั้นไปตลอดกาล แต่พอเขียนออกมาเราจะมองเห็นว่าสิ่งที่แปลกคืออะไร แล้วเราจะเชื่ออย่างนั้นต่อไปได้ไหม
โจ : อย่างที่เฟย์เคยบอก ชีวิตคนถูกจำลองให้มาอยู่ในหนังเวลาสองชั่วโมง ยกตัวอย่างเรื่อง The Queen’s Gambit นางเอกเชื่อว่าตัวเองเกิดมาไม่มีใคร แต่ตอนจบนางได้เรียนรู้ว่าความเชื่อนี้มันไม่ถูก มนุษย์ไม่ได้อยู่แค่คนเดียว เราสามารถให้คนอื่นมาช่วยเหลือและไปช่วยเหลือคนอื่นได้ ชีวิตจริงก็เหมือนกัน
นอกจากข้างในตัวเราเอง การเขียนแบบนี้ช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องของคนอื่นได้อย่างไรบ้าง
โจ : เราอ่านหนังสือ เราดูหนังเพื่อที่จะเข้าใจมนุษย์มากขึ้น และเมื่อเราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น เราจะรู้ว่าที่เขาเป็นอย่างนั้นเพราะเขาเจอปัญหาอะไร เขากำลังเรียกร้องอะไรกันอยู่ แล้วพอเราเข้าใจเราก็จะแคร์กันมากขึ้น
เฟย์ : เราสนุกในฐานะนักอ่านที่จะได้เอาทฤษฎีพวกนี้ไปใช้ พออ่านแล้วรู้สึกว่าใช่เลย มีอยู่เล่มหนึ่งชื่อว่า Revenge ของสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ เรื่องเล่าทุกเรื่องเกิดขึ้นจากการที่ตัวละครรู้สึกอะไรแปลกๆ แต่ไม่ยอมรับ แล้วเลือกที่จะไม่เดินออกมา สุดท้ายชีวิตเขาก็ฉิบหาย เรากลับไปอ่านอีกรอบแล้วเอาทฤษฎีของตัวละครมาดู เห้ย จริงด้วยหว่ะ รู้สึกว่าคนเขียนเก่งจัง
เน็ต : เชื่อว่าใครที่ได้เรียนรู้ทฤษฎีการเล่าเรื่องจะเปลี่ยนแปลงไปในแง่การให้เหตุผลกับสิ่งต่างๆ พล็อตเรื่องไม่ใช่พื้นที่สำหรับศิลปะอย่างเดียว แต่มันเป็นพื้นที่ให้ logic thinking ได้ทำงาน การเล่าเรื่องจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับเหตุและผล สมมุติเราเขียนเรื่องหนึ่งโดยไม่สนใจเหตุและผล สิ่งนั้นจะกลายเป็นบทกวี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใส่โครงสร้าง ใส่ตัวละคร ใส่เหตุและผลเข้าไปและอธิบายว่าทำไมตัวละครถึงคิดแบบนี้ เขามีปมอะไรในใจที่ทำให้เลือกใช้คำพูดแบบนี้ออกมา ทุกอย่างคือการประกอบสร้างของเหตุและผลทั้งหมดเลย
สิ่งที่จะเกิดกับคนที่เข้าใจการเล่าเรื่องคือพวกเขาจะไม่รีบตัดสินใคร แต่จะดูก่อนว่าคนคนนั้นเจออะไรมาบ้าง
ในฐานะคนเสพงาน เราดูหนัง ดูซีรี่ส์ อ่านหนังสือ ดูเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในโซเชียล เราจะไม่มีทางเชื่อง่ายๆ จะมองหาเสมอว่าสาเหตุที่เขาพูดสิ่งนี้ออกมามันคืออะไร ประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังคืออะไร ทำไมระยะเวลา 10-20 ปี ถึงทำให้คนที่เคยคิดแบบหนึ่งมาสู่อีกแบบหนึ่งได้
ทุกอย่างมีทฤษฎีการเล่าเรื่องมาซัพพอร์ต ถ้าเรามองเรื่องราวหนึ่งในฐานะผู้สร้าง เราจะเข้าใจว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป สิ่งที่จะเกิดกับคนที่เข้าใจการเล่าเรื่องคือพวกเขาจะไม่รีบตัดสินใคร แต่จะดูก่อนว่าคนคนนั้นเจออะไรมาบ้าง
โจ : สิ่งที่พี่เน็ตบอกมันคือมหัศจรรย์ของเรื่องเล่า เรากำลังใช้เหตุผลไปอธิบายความรู้สึกหรือสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเพื่อที่เราจะได้เข้าใจสิ่งนั้น สมมุติเราเห็นใครสักคนโกรธ หรือแม้แต่เด็กที่ร้องไห้โวยวายบนโต๊ะอาหาร ทุกคนอาจบอกว่าแม่เลี้ยงลูกอย่างนั้น อย่างนี้ เราขีดเส้นใต้อยู่แค่นี้ แต่เมื่อเราได้ดูหนังมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น แล้วเราขุดลึกลงไป มันมีมิติของความโกรธที่ซับซ้อนกว่านั้น แล้วมันจะทำให้เราเข้าใจพวกเขา เราจะไม่รีบจัดจ์ใคร แม้กระทั่งตัวเอง
มีเรื่องเล่าทรงพลังที่ชื่นชอบบ้างไหม
โจ : มันเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาเหมือนกันนะ ถ้าถามว่าชอบหนังเรื่องไหน เมื่อ 10 กับตอนนี้มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ามันเป็นเรื่องที่เราอินอยู่ในตอนนั้น อย่างช่วงนี้ที่ประเทศเรามีเหตุการณ์ทางการเมืองเต็มไปหมด หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองก็ช่วยให้เข้าใจและอินมากขึ้น
พอคุยมาถึงตรงนี้ ทั้งสามคนอาจคิดว่ามันแทบไม่เหมือนคำถามที่เตรียมมาเลย ถือว่าวันนี้เป็นการ Free Writing เดินเตร็ดเตร่ไปกับเรื่องราวของ Plot ได้ไหม
เฟย์ : inmost cave (หนึ่งในวิธีเขียนแบบ Hero’s journey เมื่อตัวเอกของเรื่องเผชิญเหตุการณ์ที่กดดันที่สุดจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง) มันอาจเป็นความรู้สึกที่ว่าฉิบหายแล้ว ไม่เหมือนที่เราเตรียมไว้เลยนี่นา
โจ : ลองย้อนเวลากลับไปเมื่อต้นชั่วโมง เราสัมภาษณ์กันแบบใหม่ เราไม่ได้เตรียมคำถามมาแบบนี้ ไม่ได้เตรียมมุมกล้องมาแบบนี้ การยึดติดคือการทำงานของอีโก้ การเข้าไปสู่เรื่องราวจริงๆ คือการปล่อยไปตามที่มันจะพาเราไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ free writing
เรามักจะกลัวการถูกพาไปในที่ที่เราไม่อยากไป แตะประเด็นที่เราไม่อยากแตะ พาไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ แต่ประเด็นของเราคือถ้าอยากทำงานให้ได้ดี ต้องไม่กลัวที่จะก้าวผ่านตรงนี้ไป แล้วคุณจะเจอสิ่งใหม่ เหมือนบทสัมภาษณ์ใหม่ๆ ที่เราไม่ได้เตรียมกันมาในวันนี้
ติดตาม Plot และ Readery ได้ที่
- แฟนเพจ Plot และ Readery
- เว็บไซต์ readery.co
- Readery Podcast
FACT BOX
- Readery คือร้านหนังสือออนไลน์ที่โจและเน็ต สองผู้บุกเบิกต้องการให้เป็นมากกว่าร้านหนังสือธรรมดา พวกจึงหยิบหนังสือเล่มโปรดมาเล่าสนุกๆ ในรายการ ‘Readery podcast’ ให้ใครก็ตามที่กำลังเหงา เบื่อ เศร้า ได้รู้ว่ายังมีหนังสือดีๆ อยู่เป็นเพื่อนเสมอ