life

ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ในปี 2020 แล้วนั้น ออกจากบ้านตัวเปล่าอาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

common ขอชวนมาเตรียม ‘ชุดยังชีพ’ เมื่อต้องออกไปเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ที่กำลังระบาดทั่วเมือง มาดูกันว่าเราควรพกอะไรติดตัวกันบ้าง ?

เจลแอลกอฮอล์, สบู่ล้างมือ

วิธีหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสที่ดีที่สุดคือ ‘การล้างมือ’ เพราะเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้จากมือที่ไปสัมผัสดวงตา ปาก และจมูก ดังนั้นจึงควรล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วยเจลล้างมือแอลกอฮอล์หรือถูด้วยสบู่เป็นระยะเวลาประมาณ 20 วินาที 

เราควรล้างมือตอนไหนบ้าง ? 

  • เมื่อไอหรือจาม 
  • เมื่อสัมผัสผู้ติดไวรัส
  • ก่อน หลัง และขณะทำอาหาร
  • ก่อนกินข้าว
  • หลังจากเข้าห้องน้ำ
  • เมื่อรู้สึกได้ว่ามือสกปรกอย่างเห็นได้ชัด
  • หลังสัมผัสกับสัตว์หรือมูลสัตว์

ข้อควรระวัง : เจลล้างมือที่ฆ่าเชื้อโรคได้ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป

 

กระดาษทิชชู่

กระดาษทิชชู่นั้นสำคัญไม่แพ้กับหน้ากากอนามัย เพราะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี เมื่อจามหรือไอ ให้ใช้ทิชชู่ปิดปากกับจมูกเอาไว้ เพื่อป้องกันไวรัสแพร่กระจาย 

 

หน้ากากอนามัย

เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งในร่างกายได้ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือละอองเสมหะ หน้ากากอนามัยจึงเป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกจากผู้ป่วย และป้องกันไม่ให้คนปกติติดโรคจากทางจมูกและปากได้ 

สำหรับประชาชนทั่วไปควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ ส่วนผู้ป่วยหรือมีอาการไอและจาม ควรใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส

ข้อควรระวัง

  • ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และสบู่ทุกครั้งก่อนจะหยิบหน้ากากมาใส่
  • ใส่หน้ากากให้คลุมจมูกและปาก กดลวดด้านบนให้กระชับไม่ให้เหลือช่องว่างระหว่างใบหน้า
  • ไม่ควรใช้มือสัมผัสหน้ากากโดยไม่จำเป็นขณะที่ใส่อยู่
  • เมื่อถอดออกให้จับด้านนอกแล้วดึงออก
  • สำหรับหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียว เมื่อใช้เสร็จให้ทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด

ตรวจสอบแหล่งซื้อหน้ากากอนามัยแบบเรียลไทม์ ได้ที่ Crowdsource พิกัดหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ

 

ช้อน-ส้อม กระบอกน้ำ 

คติ ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ ยังใช้ได้เสมอสำหรับการป้องกันโรคระบาด ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น 

ช้อน-ส้อม และแก้วน้ำของสาธารณะอาจไม่สะอาดมากพอ พกช้อน-ส้อม ตะเกียบ ขวดน้ำของตัวเองใส่กล่องหรือห่อผ้าให้มิดชิด ติดกระเป๋าไว้หยิบใช้ได้ทุกเมื่อ

ภาพประกอบ : อุษา วิเชียรศิลป์

อ้างอิง