life

บ่ายวันจันทร์ (24 มิ.ย.) ที่ผ่านมา common ได้ร่วมฟังบทสนทนาปัญหาร่วมสมัยของคนรุ่นเก่า-ใหม่ และไขข้อข้องใจโดยพระไพศาล วิสาโล ซึ่งตัวร้ายในเรื่องส่วนใหญ่หนีไม่พ้น ‘โซเชียลมีเดีย’

แต่มันคือตัวร้ายที่แท้จริงแน่หรือ?

แม้จะเกิดและเติบโตในยุคสมัยที่ต่างกัน แต่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ (สรกล อดุลยานนท์) และเคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ต่างก็ยืนยันว่าทุกคนมีปัญหาความทุกข์ในยุคสมัยและวัยของตัวเอง คำถามที่คับข้องใจจึงพรั่งพรู เมื่อพูดคุยได้สักพักจึงเห็นว่าปัญหาต่างๆ มีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน

ปัญหาข้อ ๑

เสียงที่ดังก้องคับใจจนไม่เหลือพื้นที่ให้เสียงใคร

“ถ้าสมมติ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ มานั่งตรงนี้แล้วอยากช่วยปัญหาบ้านเมือง ท่านจะเทศน์เรื่องอะไร”

คำถามแรกจากหนุ่มเมืองจันท์เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย ก่อนพระอาจารย์จะตอบอย่างครอบคลุมว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองที่คนมีความอดทนต่อความเห็นต่างน้อยลงทุกวัน สิ่งสำคัญคือการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เปิดใจให้กว้าง ไม่ใช่แค่ความเห็นต่างทางการเมือง แต่หมายรวมไปถึงศาสนา เพศ วัย ประสบการณ์ ฯลฯ และไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจเท่านั้นที่ควรมีคุณสมบัตินี้ หากแต่เป็นเราทุกคน

สาเหตุที่คนมีความอดทนต่ำนั้นเป็นเพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้จักคนที่เห็นต่าง การพูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากเดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะโฆษณาฝังหัวตัวเองด้วยโซเชียลมีเดีย เราอยู่ในห้องที่มีแต่เสียงของเราและเสียงคนที่คิดเหมือนเรา (echo chamber) สิ่งที่สะท้อนกลับมาจึงไม่แตกต่างอะไรเลย มีเพียงข้อมูลชุดเดิมไหลวนปนเปจนมองไม่เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ

เราฟังแต่สิ่งที่ตรงกับใจ สอดคล้องกับความคิด เพื่อยืนยันอคติของตน ขนาดคนธรรมดายังได้ยินแต่เสียงตัวเอง แล้วนับประสาอะไรกับคนที่มีอำนาจ?

ปัญหาข้อ ๒

ความงมงายของคนรุ่นใหม่ในโลกด้านเดียว

ในฐานะที่คลุกคลีกับคนรุ่นใหม่และเรียกได้ว่าอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน เคนจึงอยากให้พระอาจารย์แนะแนวทางคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่ใจร้อน คอมเมนต์เร็วและแรง (มีการตั้งข้อสังเกตว่าคนรุ่นก่อนก็อาจจะเป็นเช่นกันแต่เห็นได้น้อยกว่า เพราะส่วนมากนิยมส่งเป็นข้อความส่วนตัว) 

ท่านตอบว่าคนรุ่นใหม่ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน หากไม่เสพข่าวจากแหล่งที่หลากหลาย เพราะการใช้โซเชียลมีเดียทำให้เรามีโอกาสมองโลกด้านเดียว รับฟังแต่สิ่งที่ยืนยันความถูกต้องของตัวเองพร้อมดิสเครดิตอีกฝ่าย ก่อให้เกิดความรู้สึกขุ่นข้องรุนแรง

ถ้ามองในแง่ศาสนา พระพุทธเจ้าได้แสดงหลักกาลามสูตรไว้นานแล้ว ซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วยหลักความเชื่อโดยไตร่ตรองให้ดีก่อน อย่าเชื่อเพียงเพราะเสียงเล่าลือที่ฟังตามกันมา เพราะมันเข้ากับความคิดอคติของเรา หรือเพราะผู้พูดเป็นครู ผู้มีอำนาจ แม้กระทั่งตำราต่างๆ นานา เห็นแล้วก็อดถอนหายใจไม่ได้ ที่หลักแห่งความเชื่อสิบอย่างนี้มีมาเป็นพันๆ ปีแล้ว แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังมีคนงมงายตามๆ กันอยู่

ปัญหาข้อ ๓

โซเชียลมีเดียกับความขัดแย้งในนามของความดี

คำด่าทอที่ถล่มทลายภายในเสี้ยววินาที ผุดขึ้นผุดลงบนหน้าจอตลอดเวลา ดูเหมือนความเร็วของเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มความเร็วของความขัดแย้งไปด้วย แต่ลืมไปแล้วหรือว่าปัญหาความขัดแย้งในสังคมมีมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว (หากลืมคงไม่แปลกเพราะมันมีมานานจนเราเองก็จำไม่ได้เหมือนกัน)

ในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามา สาเหตุของความขัดแย้งอย่างหนึ่งที่พระอาจารย์สังเกตเห็น คือการยึดติดในความดี จนความดีนั้นทำให้เราทำชั่วเสียเอง เราต่างคิดว่าความคิดเราถูกต้อง และพยายามจะรักษามันไว้ ส่วนความคิดคนที่แตกต่างกลับผิดเพียงเพราะเขามีชุดความดีคนละชุด 

“เราสามารถฆ่ากันได้ในนามความดี” นี่คือความแปลกและน่าหดหู่ของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่กล่าวขานตัวเองว่าสัตว์ประเสริฐ ไม่ใช่แค่การฆ่าทางกายเท่านั้น ในปัจจุบันมีการฆ่าโดยประณาม ทำร้ายจิตใจด้วยข้อความที่พิมพ์กันสนุกนิ้ว เพราะคิดว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นคิดหรือทำไม่ถูกต้อง หารู้ไม่ว่าการด่าคนอื่นเสียๆ หายๆ ที่ทำอยู่ก็ไม่ได้ถูกต้องไปกว่ากันเลย

คำสอนหนึ่งของ พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก ที่พระอาจารย์ไพศาลพูดถึงคือ “ความดีของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดมันไว้ มันก็ผิด” อันที่จริงความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันไม่ควรกลายร่างเป็นความแตกแยกที่สร้างความรู้สึกเกลียดชังขึ้นมา

ปัญหาข้อ ๔

ร่องรอยออนไลน์ อดีตที่ตามไล่ล่าและหลอกหลอนคุณได้ทุกเวลา

คงเคยเห็นข้อความแย้งยาวเหยียดที่คอมเมนต์ต่อกัน ยาวราวจะเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อพิสูจน์ว่าความคิดตนถูกยิ่งกว่าใคร ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนออกมาคอมเมนต์เพราะต้องการประกาศตัวตน (Ego) ว่าวิจารณ์เก่ง ฝีมือดี 

แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เราทำบนโลกออนไลน์มีราคาที่ต้องจ่าย มีผลกระทบที่ต้องเจอ เราอาจไม่ได้รับเลือกเข้าทำงาน หรือไม่ได้วีซ่าตามที่ต้องการขอ เพียงเพราะบางโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่ยากจะกลบเกลื่อน เพราะฉะนั้นบางเรื่องเงียบไว้จะดีกว่า

ปัญหาข้อ ๕

เวลาของเรากำลังถูกกลืนกิน

ยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตหลายคนต้องใช้คำว่า ‘พึ่งพา’ โซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ทำมาหากิน เรียนรู้ พูดคุย พักผ่อน จนทำให้เวลาหมดไปอย่างรวดเร็ว

พระอาจารย์กล่าวให้คิดว่า สมัยนี้เวลากับความสนใจกลายเป็นเรื่องเดียวกัน สื่อจึงพยายามดึงความสนใจของผู้คน เพิ่มลูกเล่นให้เสพติดและใช้เวลากับมันนานที่สุด เช่น เฟซบุ๊กใช้ลูกเล่นให้ผู้ใช้งานรีเฟรชหน้าหลักเองด้วยการสไลด์หน้าจอเพื่อให้รู้สึกมีส่วนร่วม คล้ายๆ กับหลักการของเครื่องสล็อตแมชชีนที่ผู้เล่นต้องดึงคันโยกเองทุกครั้งเมื่อต้องการเล่นในแต่ละตา จนกระทั่งทำให้เราติดในที่สุด

วิธีแก้ง่ายๆ (แต่ทำไม่ง่าย) คือเราควรแบ่งเวลาและจุดประสงค์ให้ชัดเจนว่าจะใช้โซเชียลเพื่ออะไร เป็นระยะเวลาเท่าไร และพยายามไม่ออนไลน์ตลอดเวลา เนื่องจากจะทำให้คอยพะวงกับข้อมูลที่พร้อมเด้งขึ้นมาใหม่เสมอ 

ปัญหาข้อ ๖

วงจรริษยาแบบ ‘เขาสุข-เราทุกข์’

“เซ็งการเมืองโว้ย” และเซ็งอีกหลายเซ็งที่เราชอบบ่นเพื่อปลดปล่อยความเครียดออกมาให้คนได้รู้ แต่ความเครียดอีกอย่างที่คนมักไม่เห็น หลบซ่อนอยู่ข้างใน ค่อยๆ กัดกินเราไปเรื่อยๆ และมันเกิดจากการเปรียบเทียบชีวิตเรากับคนอื่น ว่าทำไมถึงไม่ดีอย่างเขา ไม่ได้ไปเที่ยวที่นั่น กินข้าวที่นี่ ในโลกออนไลน์ที่มีแต่โพสต์ชีวิตดีๆ ทำให้หลายคนลืมไปว่าความทุกข์ก็เป็นสิ่งปกติที่ทุกคนต้องเผชิญ

ขนาดความสุขยังทำให้เราทุกข์ได้ แล้วความทุกข์จะเหลืออะไร เอาเข้าจริงดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นแรงกระตุ้นได้หมด เมื่ออยากลดแรงกระตุ้น เราจึงต้องลดเวลาเผชิญสิ่งเร้าพวกนั้น 

ลองปิดโทรศัพท์สักพัก แล้วอยู่กับความเป็นจริงตรงหน้า บางทีคุณอาจค้นพบว่ามันจริงกว่าภาพลวงตาในจอหลายต่อหลายเท่า

ปัญหาข้อ ๗

หลุมดำความสัมพันธ์ ปัญหาครองโลก

คำถามอีกข้อที่ทุกคนรอคำตอบ คือ ปัญหาของแต่ละยุคสมัยคืออะไร?

ถึงวัยจะแตกต่าง สถานภาพจะไม่เหมือน แต่ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าคือเรื่อง ‘ความสัมพันธ์’

ไม่ว่าจะครอบครัว พ่อแม่ ลูก คู่รัก เพื่อนร่วมงาน ทุกความสัมพันธ์ย่อมมีปัญหาของมัน อาจเพราะผู้คนมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น แต่ด้วยช่องว่างระหว่างกันทำให้เราไม่เข้าใจ ผลพวงจากโซเชียลมีเดียทำให้คนห่างใกล้ขึ้น คนใกล้ห่างขึ้น เวลาที่จะใช้ด้วยกันเลยถูกเจียดไปให้เจ้าเครื่องสี่เหลี่ยมจนแทบหมด 

ความเครียดจากการทำงานที่วัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ต้องเผชิญ บ่อยครั้งก็มาจากปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้า ยิ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง ก็ยิ่งทำให้เกิดความแตกต่าง และแม้คนแต่ละรุ่นจะพยายามปรับตัวเข้าหากัน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ทุกวันนี้เรามักยึดมั่นอัตลักษณ์ตัวเองจนทนไม่ได้ต่อความแตกต่างทางศาสนา สีผิว การเมือง และอื่นๆ แทนที่เราจะสร้างกำแพง เราควรหันมาสร้างสะพานก้าวข้ามอัตลักษณ์ของตน และเปิดใจเรียนรู้คนอื่นให้มากขึ้น

ปัญหาข้อ ๘

‘ตัวตน’ เปลือกทุกข์แห่งยุคสมัย

โลภ โกรธ หลง ยังคงเป็นแก่นของทุกข์ในทุกยุคสมัยไม่เคยเปลี่ยน แต่สิ่งที่ต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดคือ สมัยนี้เรามีปัญหาเรื่องตัวตนสูงกว่าเมื่อก่อนมาก ความต้องการของหลายๆ คนเริ่มเปลี่ยนจากหาเงินทองเป็นหาตัวเอง เมื่อความเป็นปัจเจกของคนพุ่งสูงขึ้น โซเชียลมีเดียก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้คนเหล่านั้นประกาศตัวตน สร้างสถานภาพผ่านโลกออนไลน์เพื่อตอบสนองตัวตนบางอย่าง พระอาจารย์กล่าวว่า “ของแบบนี้สร้างได้เร็ว แต่ก็หมดเสน่ห์เร็ว” 

ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างตัวตนในโลกเสมือนอาจเคลือบแฝงมายาคติผิดๆ ติดมาโดยไม่รู้ตัว

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าโซเชียลมีเดียนี่มันร้ายเหลือหลาย แต่รู้สึกไหมว่าจริงๆ มันเป็นเพียงเครื่องมือมากกว่า เหมือนกับดาบสองคมอย่างที่คนเขาว่า 

สุดท้ายแล้วผู้ที่มีอำนาจพอจะหยิบมันมาทำร้ายกัน คือเราเองต่างหาก.