life

บนถนนราธิวาส ด้านหลังกำแพงอิฐ มีบ้านหลังใหญ่สองหลังอายุราว 30 กว่าปี ตั้งอยู่ภายใต้ร่มเงาของแมกไม้ มันถูกทำให้แปลกตาขึ้น ด้วยส่วนต่อเติมที่ทำให้อาคารทั้งสองผนึกเข้าหากันเป็นรูปตัวแอล นี่คือออฟฟิศแห่งใหม่ของ Empathy Sauce 

บ้านเก่าของครอบครัว 

ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว ดาว – ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวและนักแสดงละครเวที หรือที่หลายๆ คนคุ้นเคยกับเสียงของเธอในพอดแคสต์ R U OK เพิ่งลาออกจากงานประจำในโรงพยาบาลที่ทำมานานถึง ปี เพื่อมาทำองค์กรเล็กๆ ของตัวเองชื่อ Empathy Sauce ซึ่งให้บริการด้านจิตใจและการบำบัด รวมถึงให้คำปรึกษาและอบรมเชิงปฏิบัติเรื่อง emphathic communication สำหรับใครก็ตามที่มองหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยียวยาจิตใจ หรือองค์กรที่อยากสื่อสารกันด้วยความเข้าใจเพื่อความสัมพันธ์อันดี (อ่านเรื่องราวของ Empathy Sauce เพิ่มเติมได้ ที่นี่)

หลังจากที่เธอหยิบยืมพื้นที่ในบ้านส่วนตัวย่านรามอินทราเป็นออฟฟิศอยู่สักพัก ก็พบว่าคนส่วนใหญ่ที่มาร่วมคลาสไม่ค่อยอยากเดินทางมาในย่านนี้สักเท่าไหร่ เพราะไกลและรถติด เธอจึงตัดสินใจมองหาพื้นที่แห่งใหม่ใจกลางเมือง 

“เราต้องขับรถวันละชั่วโมงครึ่งเข้ามาในเมืองทุกเช้า ขากลับอีกกี่ชั่วโมงก็ไม่รู้ มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเครียดมันสะสมตั้งเท่าไหร่ เลยหาพื้นที่ที่จะลดค่าใช้จ่ายทางด้านจิตใจลงไป และลดการเดินทางซึ่งเป็นการสร้างมลพิษด้วย”

ดุจดาว และ มนต์ – มนต์ วัฒนศิริโรจน์ วิชวลดีไซเนอร์ผู้เป็นสามี จึงตัดสินใจขอพื้นที่ในบ้านของคุณแม่ของมนต์บนถนนย่านนราธิวาสแห่งนั้น ต่อเติมเป็นตึกขนาด ชั้นเพื่อเป็นออฟฟิศแห่งใหม่และรีโนเวตห้องเดิมของมนต์ให้เป็นบ้านใหม่ของทั้งคู่ด้วย 

แรกเริ่ม ดุจดาวอยากให้ชั้นล่างของตึกเป็นที่นั่งรอของผู้มารับคำปรึกษา ก่อนจะขึ้นมาเจอเธอด้านบน มนต์จึงเปลี่ยนด้านล่างให้เป็นร้านกาแฟ SWERB SPECIALTY ที่เขาเองเป็นบาริสต้าด้วยเสียเลย 

“นี่เป็นความฝันของเขาตั้งแต่วัยรุ่น ก่อนหน้านี้เขาเป็นเจ้าของบริษัท light installation ช่วงโควิด-19 งานบันเทิง พวกคอนเสิร์ตมันหยุดชะงัก เลยทำธุรกิจไม่ได้ เขาเลยตัดสินใจเปิดร้านกาแฟข้างล่าง ซึ่งตอบโจทย์เราด้วย และเราก็จะได้ดื่มกาแฟดีๆ ทุกวันด้วย” ดุจดาวเล่าให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี พร้อมยกแก้วกาแฟขึ้นอวด 

เธอนั่งคุยกับเราอยู่บนชั้นสอง ซึ่งเดิมทีแล้วชั้นนี้ตั้งใจให้เป็นออฟฟิศของมนต์ แต่เนื่องจากยังไม่ได้เปิดใช้งานเต็มที่ ดุจดาวเลยมานั่งทำงานเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้างเป็นครั้งคราว โซนด้านหน้าเป็นพื้นที่อเนกประสงค์เอาไว้ทำเวิร์กช็อปหรือประชุมงาน แต่ในตอนนี้ห้องว่างๆ ตรงนั้นถูกเจ้าเหมียว ตัวของบ้านยึดไว้นอนยืดเหยียดเป็นการชั่วคราว  

ดุจดาวเล่าให้เราฟังว่าสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการออกแบบอาคารครั้งนี้คือ ถ้ารู้จุดประสงค์ของการใช้งานชัดเจน ก็จะทำให้การออกแบบราบรื่นขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างตึกและรีโนเวตบ้านหลังเก่านี้ ก็มีความท้าทายอยู่พอสมควร เนื่องจากต้องทำให้ของใหม่อยู่ร่วมกับของเก่าได้อย่างไม่ขัดเขิน 

“เราทำตึกกับบ้านเก่า เลยต้องคำนึงถึงโครงสร้างของบ้านหลังนี้ซึ่งน่าจะมีอายุ 30 ปีแล้วด้วย  ข้อดีคือคุณพ่อสามีเป็นคนออกแบบ จึงพอจะจำได้ว่าตรงไหนเป็นอย่างไรบ้าง เราก็ต้องดูว่าโครงเก่าของบ้านเป็นอย่างไร เสาเก่ารับน้ำหนักได้เท่าไหร่ มันเลยมีการศึกษาของเก่าก่อนที่จะทำของใหม่เติมเข้าไป ทำให้ใช้เวลานานกว่าตึกทั่วไป”

ห้องที่โอบกอด

ออฟฟิศของ Empathy Sauce กินพื้นที่ชั้น ทั้งหมด ความท้าทายอีกหนึ่งอย่างของดุจดาวคือการใส่ความเป็นตัวเองลงไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงผู้มาเยือนก่อนเป็นอันดับแรก แม้เพื่อนๆ หลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือสไตล์ของเธอ แต่รายละเอียดการออกแบบยิบย่อยนั้น เธอเล่าว่าต้องคิดถึงการใช้งานเพื่อให้ตอบรับกับคนที่มารับคำปรึกษาด้วย 

ชั้นนี้แบ่งเป็น ส่วนคือห้องโถงสีน้ำเงินและห้องสำหรับการทำกิจกรรมด้านจิตใจแบบตัวต่อตัวซึ่งเป็นห้องสีขาว ห้องแรกที่ผู้มาเยือนจะได้เห็นคือห้องโถงสีน้ำเงินขนาดใหญ่ ด้านซ้ายเป็นหน้าต่างกระจกใส เพดานสูงทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง พื้นเป็นไม้ที่ยังพอมีอุณหภูมิให้เท้าได้สัมผัสความอบอุ่น ในขณะเดียวกันสีน้ำเงินก็ช่วยให้คนที่เข้ามาเยือนรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกเป็นส่วนตัว 

“ดาวทำงานเรื่อง empathy ซึ่งเป็นเรื่องของสุขภาพจิต เรื่องของความรู้สึก หลายครั้งมันจะมีข้อครหาจากหลายคน ว่ามันฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระและไม่สำคัญ บางคนอาจมองเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ มีธูปหอม มีเทียน แล้วรู้สึกว่าไม่เชื่อมโยงกับสิ่งนี้ ซึ่งเราก็พอจะเข้าใจได้ 

“แต่สำหรับดาว ดาวมองเรื่องจิตใจเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการมีชีวิตที่ดี เราเลยออกแบบให้คนที่มาไม่รู้สึกแปลกแยก 

 “ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ที่ทำงานด้าน empathic communication หรือเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ อยากให้เป็นห้องที่ขรึม สงบ ไม่ฟุ้ง เข้ามาแล้วได้โฟกัสที่ตัวเอง แต่ถ้าไม่ไหวก็มองออกไปข้างนอกได้ เขาควรจะนั่งสักพักแล้วรู้สึกว่านี่เป็นห้องของเขา เป็นที่ที่เขาเหม่อแป๊บนึงแล้วนึกถึงอะไรบางอย่างได้ เข้ามาแล้วมองเห็นตัวเองก่อน รู้จักตัวเองก่อน เหมือนมาถึงแล้วโดนกอด ปลอบใจว่าเราอยู่กันตรงนี้นะ เลยเลือกใช้สีน้ำเงิน” 

ดุจดาวอยากให้ห้องนี้รู้สึกสงบและเต็มไปด้วยกาลเวลา จึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์วินเทจ เธอชอบความรู้สึกที่ว่าของแต่ละชิ้นมีอายุ เวลาที่ได้อยู่ในห้องที่รายล้อมไปด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจจึงรู้สึกเหมือนได้อยู่กับนักปราชญ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ดูเป็นห้องสไตล์วินเทจจัดจ้านจนเกินไป เพราะสิ่งสำคัญคือห้องนี้ต้องมีความจริงจังและใช้งานได้จริง 

“พื้นที่ของเราตั้งอยู่กลางเมือง แล้วเราก็เป็นคนเมืองที่ชินกับการอยู่ในเมือง เวลาพูดถึงเรื่องจิตใจหรือ empathy เราก็จะต้องพูดกับคนเมืองในแบบที่มันซีเรียสได้ เราเป็นคนเมืองที่โผงผาง เราก็มี empathy ได้ อยากให้พื้นที่นี้มันโอบกอดทุกคน 

“อยากให้มันมีความ masculinity ด้วย เพราะอยากให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ชาย ซึ่งเขาอาจเป็นลีดเดอร์และมีพาวเวอร์ในหลายๆ องค์กรรู้สึกว่าถ้ามีเรื่องอะไรเกี่ยวกับจิตใจ ติดขัดเรื่องงาน ต้องการคำปรึกษา หรือต้องการคนซัพพอร์ต ถ้าเข้ามาที่นี่จะไม่รู้สึกว่าอยู่ผิดที่ผิดทาง อยากให้รู้สึกว่าเข้าถึงง่าย สีที่ออกมาเลยดูขรึมๆ หน่อย” 

นอกจากจะเป็นห้องแรกที่โอบกอดผู้มาเยือนไว้แล้ว ห้องนี้ยังเป็นห้องอเนกประสงค์ เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นเคลื่อนย้ายได้ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งาน บางครั้งเปลี่ยนเป็นสเตจซ้อมละครเวทีของกลุ่มเพื่อนๆ เป็นที่ฝึกโยคะ และก็เป็นห้องเรียนของกลุ่มเวิร์กช็อปเล็กๆ ที่มาใช้บริการ Empathy Sauce ในบางครั้ง  

“อยากให้ทุกคนมานั่งเรียนโดยไม่เหมือนมานั่งเรียน เพราะคนเมืองที่มาเรียน มักจะมาเรียนได้ในตอนเย็นและเสาร์อาทิตย์ การเอาตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ในกล่องที่เหมือนห้องเรียนอีก เขาอาจรู้สึกว่าทั้งสัปดาห์มันท่วมท้นมากๆ เลยออกแบบให้เขามานั่งเรียนแล้วเหมือนได้ไปเที่ยว ไปนั่งในที่ที่มันสบาย ให้มันเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพดานเลยต้องสูง นั่งแล้วรู้สึกปลอดโปร่ง รู้สึกว่าไม่โดนอะไรกดทับ ออกแบบมาเพื่อจิตใจโดยเฉพาะ” 

หลังจากรู้สึกสงบจิตสงบใจจากห้องโถงสีน้ำเงินด้านหน้าแล้ว สุดปลายประตูอีกฝั่งจะมีประตูที่เปิดเข้าไปเจออีกห้อง ซึ่งห้องนี้เป็นห้องที่ดีไซน์เรียบกว่าข้างนอก เพื่อไม่ให้คนมาเยือนรู้สึกแปลกแยก เนื่องจากห้องนี้ใช้ทำงานกับผู้คนที่มารับคำปรึกษาหรือทำเวิร์กช็อปแบบตัวต่อตัว 

ก่อนหน้านี้ ห้องในออฟฟิศเก่าเป็นสีเขียวเข้มทะมึน เธอเล่าว่าที่นั่นให้ความรู้สึกขรึมและสงบ อีกทั้งยังช่วยเรื่องการโฟกัสได้เป็นอย่างดี แต่การออกแบบใหม่ครั้งนี้เธอเปลี่ยนมันให้เป็นสีขาวล้วนทั้งห้อง เพราะอยากให้สีขาวเป็นตัวแทนของความว่างเปล่าและไม่ชี้นำความรู้สึกใดๆ 

“อยากให้เป็นพื้นที่ที่ไร้ขอบเขต ลองนึกว่าถ้าเกิดเขาจะนั่งเหม่อ เขาก็จะเหม่อไปได้เท่าที่ใจต้องการ แต่ก็ไม่ได้ขาวโพลนทั้งห้อง เพราะสีขาวมันจะสะท้อนแสงและทำให้แสบตา เราเลยต้องมีสีอื่นๆ ไว้บ้างเพื่อไม่ให้ห้องสว่างจ้าจนเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ชี้นำเขามาก เลยเอาต้นไม้ไปวางข้างในเพื่อให้รู้สึกว่ามันอบอุ่น ปล่อยวาง และรู้สึกถึงความเป็นไปได้” 

เพราะเป็นสีขาวจึงปรับเปลี่ยนได้ง่าย อีกทั้งห้องนี้ยังมีหน้าต่างเปิด-ปิดได้ ทำให้ห้องมืดสนิทได้ และหากลองสังเกต จะเห็นว่าบนเพดานจะมีคานที่เคลือบด้วยอะคริลิค ด้านบนมีหลอดไฟแอลอีดีหลายสี สามารถเปลี่ยนห้องให้เป็นสีต่างๆ ได้หลากหลายอารมณ์ 

“บางคลาสเราเปิดไฟให้ห้องมันเปลี่ยนสีได้ แต่ก็ไม่ได้ทำบ่อยเพราะมันค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เราใช้ในกรณีที่คนที่มาหาเรามีความแข็งแรงทางอีโก้สูง มีความสามารถที่จะอยู่กับตัวเองได้เยอะ และพึ่งพาเราน้อย เพราะเวลาที่ไฟเปลี่ยนสี มันจะพาเราไปที่อื่น ไฟมันจะทำงานกับการรับรู้และตรรกะข้างใน มันถูกเก็บเอาไว้สำหรับคนที่เราพบว่าเขาต้องการอยู่กับความไม่รู้ อยู่กับภาวะนามธรรม เราจะให้เขาได้อยู่ตามลำพังกับแสงไฟ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เจอคนคนนั้น” 

ดุจดาวเล่าต่ออีกว่าอาจเป็นเพราะช่วงที่เปิดบริการตรงกับช่วงที่เกิดโควิด-19 พอดี การบำบัดและกิจกรรมแทบทุกครั้งจึงถูกย้ายไปเป็นแบบออนไลน์เกือบทั้งหมด อีกทั้งด้วยสถานการณ์ที่ย่ำแย่อาจทำให้จิตใจของหลายคนกำลังเหนื่อยล้า และต้องการการซ่อมแซมมากกว่าเสริมสร้าง 

“ถ้าได้ใช้ไฟ เราจะใช้กับคนที่มาเพื่อเสริมสร้าง อย่างไรก็ตาม การมารักษาไม่ได้แปลว่าแย่ เพียงแต่มันเรียกร้องการใช้ภาษาเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์มากกว่าการเสริมสร้าง เพื่อที่กลับบ้านไปแล้ว เขาจะได้จัดการกับสถานการณ์ที่เจอได้ ส่วนใหญ่จะเป็นการคุย หรือทำอะไรที่เน้นแก้ปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็ว ให้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง หากมารักษา เราจะให้เขาอยู่กับเราร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือทำอะไรที่จับต้องได้ เช่น วาดรูปหรือเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ แต่ยังต้องมีเราอยู่ด้วย” ดุจดาวเล่า 

“ที่นี่ไม่ใช่คลินิก” ความตั้งใจของดุจดาวสำหรับการออกแบบ Empathy Sauce คือการทำอย่างไรก็ได้ให้ที่นี่ดูห่างไกลจากคำว่าคลินิกจิตวิทยาแบบเดิมๆ มากที่สุด หรือถ้าเป็นคลินิกที่นี่ก็เป็นคลินิกที่เป็นมิตร ทำให้การรักษาเป็นเรื่องธรรมดา ที่ใครจะเดินเข้ามาก็ได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกกังวล 

“เราตั้งใจให้มันดูพิเศษ แต่ก็ไม่ได้พิเศษจนผลักคนออกไป มันก็เป็นความต้องการลึกๆ ของดาว ว่าเวลาที่เราไปปรึกษาเรื่องจิตใจ ต้องยอมรับว่ามีบางคนที่ยังไม่เปิดกว้างเรื่องนี้ แต่ดาวอยากให้คนที่มาที่นี่รู้สึกว่ามาแล้วเท่ ได้ความรู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ที่โอเค ไม่ใช่เรื่องน่าอาย สามารถพูดได้ว่าฉันไปหาดุจดาวมา ฉันไปทำงานกับตัวเองที่ Empathy Sauce มา 

“การมาปรึกษาใครสักคนเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์สุดๆ และการมองหาตัวช่วยก็ไม่ได้หมายว่าความว่าเราอ่อนแอ” 

 

Empathy Sauce

9/3 นางลิ้นจี่ซอย 4 เขตทุ่งมหาเมฆ แขวงสาธร กรุงเทพฯ 10120

www.empathysauce.com

Facebook : Empathy Sauce

Instagram : empathysauce

โทร. 093 629 6639