life

ไม่ต้องนั่งรถไฟ ขึ้นเครื่องบิน หรือขับรถขึ้นเหนือล่องใต้ข้ามคืน แค่ออกจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 40 นาที ก็มีเรือกสวน ทุ่งนา สวนสมุนไพร และคลองสวยน้ำใสให้ไปเยี่ยมชมได้ทุกสุดสัปดาห์ 

พื้นที่แห่งนั้นตั้งอยู่ที่บ้านคลองสอง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 

ตลอดสองฝั่งคลองสายไม่ใหญ่ (แต่สะอาดและติดอันดับคลองสวยน้ำใสระดับประเทศมีกิจกรรมให้เรียนรู้มากมาย อาทิ ศูนย์เรียนรู้สมุนไพร ศูนย์เรียนรู้การปลูกกุ้ยช่ายขาว ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือน ศูนย์เรียนรู้การทำขนมไทย จุดพายเรือ จุดดูนกกระจาบสีทอง ฯลฯ 

เรียกว่าใครใคร่ทำกิจกรรมใดก็แวะใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจกันได้ตามอัธยาศัย แต่สำหรับครอบครัวไหนที่มีสมาชิกตัวน้อยที่อยู่ในวัยกำลังเรียนรู้ แนะนำให้มาเช็คอินที่ แลนด์แล็บ (LandLab) ที่เดียวก็สามารถพิชิตทุกกิจกรรมได้ครบจบภายในวันเดียว 

landlab

เพราะแลนด์แล็บเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรวิทยาศาสตร์ ขนาด 8 ไร่ ที่บรรจงหยอดกิจกรรมที่เหมาะกับการเรียนรู้สำหรับเด็ก และช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้สนุกกันแบบยาวๆ จนหมดวันไม่รู้ตัว 

แลนด์แล็บเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยเกิดจากไอเดียของ แม่เก๋ – กุสุมาวดี กรองทอง หรือที่เด็กๆ เรียกว่าครูเก๋ ที่อยากเปลี่ยนบ้านเกิดของตัวเองให้เป็นพื้นที่วิ่งเล่นสำหรับเด็ก 

แรงบันดาลใจสำคัญ คือ อยากให้มีพื้นที่วิ่งเล่นสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะลูกเรา” แม่เก๋เล่าเอาไว้ในคลิปแนะนำแลนด์แล็บบนเว็บไซต์ 

landlab
เก๋ – กุสุมาวดี กรองทอง 
ผู้ก่อตั้ง LandLab

โชคดีที่ไม่ต้องไปหาสนามหญ้ากว้างใหญ่ที่ไหนไกล เพราะแม่เก๋เองก็เติบโตมาในถิ่นบ้านคลองสองตั้งแต่เล็กจนโต จึงคุ้นเคยกับการเล่นว่าวในที่ลมดี มีทักษะในการทรงตัวเดินบนขอนไม้ข้ามคันนา และรู้ว่าพืชผักท้องถิ่นชนิดไหนเอามาทำอะไรกินแล้วอร่อย เธอจึงอยากย้อนเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาแบ่งปันส่งต่อให้ครอบครัวอื่นๆ ได้มีความสุขเรียบง่ายโดยทั่วกัน 

และแทนที่จะเปิดเป็นคาเฟ่หรือร้านอาหารที่มีวิวท้องทุ่งเป็นอาหารตา แม่เก๋กลับเลือกที่จะทำห้องแล็บวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่มีท้องฟ้าเป็นหลังคา และใช้ผลิตผลตามธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการทดลอง 

landlab

เราเชื่อมั่นว่าถ้าเรามีวิธีคิดและกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นโดยมีทั้งเหตุผลและธรรมชาติมาหล่อเลี้ยง ทำให้ความสุขเกิดขึ้นจากภายใน” แม่เก๋เล่าถึงสมมติฐานที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าสัมฤทธิ์ผลจริง 

เมื่อตกลงใจได้แล้วว่าจะเปลี่ยนท้องนาเป็นห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ แม่เก๋ผู้มีอาชีพหลักเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อการเรียนการสอนให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมานานกว่า 15 ปี จึงจับมือกับนักวิชาการอิสระด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอาหารและการแปรรูปอย่างอาจารย์สุทธิพงษ์ พงษ์วร และอาจารย์ราม ติวารี ผู้เชี่ยวชาญประจำสถานบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมประจำแต่ละฐานการเรียนรู้ โดยจะเปลี่ยนกิจกรรมทุก 3 เดือน 

landlab

landlab

กิจกรรมที่นี่จะเป็นแบบวันเดย์ทริป โดยช่วงเช้าทำ กิจกรรมและบ่ายอีก กิจกรรม เริ่มจาก Sci in the Garden ให้เด็กๆ ไปเก็บดอกไม้มาทำการทดลองวิทยาศาสตร์ ต่อด้วย LabZa ให้คุณยายมาช่วยสอนทำขนม เช่น เอามะม่วงมาทำมะม่วงซอร์เบต์ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องไอศกรีมว่าทำไมถึงเย็น ทำไมถึงแข็งตัวเป็นไอศกรีมได้ อยากรู้ก็ต้องช่วยกันเก็บมะม่วงมาช่วยกันพิสูจน์ด้วยการลองทำให้รู้ จากนั้นช่วงบ่ายจะเป็น LabChick ให้เด็กๆ เข้าไปให้อาหารไก่และเก็บไข่ในเล้า กับ LabFish ชวนเด็กๆ ลองยกยอด้วยตัวเอง เพื่อจับปลามาดูการหายใจทางเหงือกของปลา เป็นต้น 

landlab

landlab

ทุกกิจกรรมที่ว่ามานี้จะมีเรื่องของวิทยาศาสตร์ผสมอยู่ จึงเป็นที่มาของคำว่า วิทยาศาสตร์กลางทุ่ง เราเลยออกแบบสัญลักษณ์ของแลนด์แล็บเป็นหลอดทดลองที่มีบ้านเราอยู่ข้างในนั้น” แม่เก๋เล่าพลางพาพวกเราเดินสำรวจแล็บธรรมชาติที่มีเหล่านักทดลองตัวน้อย และผู้ช่วยทำการทดลองอย่างคุณพ่อคุณแม่กระจายกำลังกันทำการทดลองตามฐานต่างๆ อย่างสนุกสนาน 

landlab

พื้นที่โดยรอบนี้ถือเป็นฐานการเรียนรู้ทั้งหมด โดยพ่อแม่จะเป็นทีมซัพพอร์ท ส่วนลูกๆ เป็นคนลงมือทำ โดยจะมีทีมงานพาเด็กๆ ไปเดินในสวนเพื่อเก็บดอกไม้มาทดลอง เช่น เก็บมะนาวมาทำการทดลองให้ไฟของหลอด LED ติด เริ่มจากการชวนคุย ตั้งคำถามให้เด็กรู้สึกว้าว แล้วสุดท้ายก็มาทดลองต่อวงจรด้วยกัน พร้อมกับการอธิบายถึงสารที่เป็นกรดความเปรี้ยวในมะนาวที่เป็นสื่อให้วงจรไฟฟ้าทำงานเหมือนในถ่านไฟฉาย” แม่เก๋อธิบายอย่างออกรส 

landlab

แม่เก๋พาเราเดินข้ามคันนาลัดไปสู่แปลงดอกไม้ อีกหนึ่งฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืน ที่ไม่ควรรีบร้อนเดินผ่านไป แนะนำให้ละเลียดเวลาอยู่นิ่งๆ ในบริเวณนี้นานสักหน่อย เพื่อให้ผีเสื้อบินมาทักทาย 

เมื่อมาถึงฐานนี้ เราจะบอกให้คุณพ่อคุณแม่ช้าลงหน่อย เพราะบางทีหากเรารีบเกินไปก็จะมองไม่เห็นหรอกว่ามีผีเสื้ออยู่ แต่ถ้าเรานิ่ง แล้วมอง เราจะเห็นผีเสื้อตัวนั้นสีไม่เหมือนกับตัวนี้ เพราะเราอยากจะชวนให้คุณพ่อคุณแม่เล่นแล้วเรียนรู้ไปพร้อมกันกับลูก”  

และหากโชคดีไปกว่านั้น อาจได้เห็นนกกระจาบสีทองบินวนเวียนทำรังอยู่แถวนั้นเป็นอีกหนึ่งของขวัญจากท้องทุ่งภาคกลาง 

landlab

landlab

ไฮไลท์ที่เด็กๆ ชอบทุกคนก็คือ การได้เข้าไปในบ้านพี่ไก่” แม่เก๋เล่าถึงกิจกรรมที่เป็นเหมือนพระเอกของที่นี่ ที่เปรียบเสมือนด่านทดสอบความกล้าของเด็กๆ ไปในตัว 

เริ่มจากให้ข้าวเปลือกในมือก่อน ซึ่งก็จะมีทั้งเด็กที่กลัวและกล้า สำหรับเด็กที่ยังไม่กล้าในครั้งแรก ถ้าเราสร้างแรงจูงใจให้เขาเริ่มตัดสินใจแล้วลอง เช่น ให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยประคอง เชื่อไหมคะว่ามีเด็กบางคนเข้าไปรอบที่สอง รอบที่สาม จากที่ตอนแรกไม่กล้าเลย 

landlab

จากนั้นก็จะให้เก็บไข่ไก่คนละ 4 ฟอง เพื่อนำไข่กลับบ้านด้วยและเพื่อนำมาทดลองหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยกัน โดยเราจะตั้งคำถามไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เช่น ทำไมไข่ไก่ถึงเป็นวงรี พอเขาได้สัมผัสรูปทรงของไข่ก็มาคุยกันเรื่องโครงสร้างของแรงว่าทรงรีช่วยทำให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้นในเชิงสถาปัตยกรรม 

จะเห็นได้ว่าแค่ไข่ไก่ ถ้าเรามีเรื่องที่จะอธิบาย เด็กก็จะไปต่อได้อีก รวมถึงครอบครัวด้วย โดยเราจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง คือ แจกเชือก ฟาง หรือถุงให้เด็กๆ ขึ้นไปบนบ้านต้นไม้กับพ่อแม่ แล้วช่วยกันออกแบบว่าจะโยนไข่ลงมาจากที่สูงยังไงไม่ให้ไข่แตก พ่อแม่ลูกก็จะต้องทำงานด้วยกันเป็นทีม เกิดผลลัพธ์เป็นการแข่งขันสนุกๆ ของแต่ละครอบครัว” เสียงหัวเราะของสมาชิกแต่ละบ้านที่ดังแทรกมาเป็นระยะๆ แทนคำตอบได้เป็นอย่างดี 

landlab

พวกเราทีมงานเองที่ช่วยกันทำงานนี้ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เด็กๆ ช่วยสอนเราว่าเราต้องใจเย็นกับเขานะ หรือเราควรปล่อยให้เขาได้ลองทำในสิ่งใหม่บ้าง เช่น ล่าสุดมีคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเดินบนไม้ข้ามคลอง ซึ่งอาจจะเป็นความท้าทายของเด็กยุคนี้ แต่จริงๆ แล้วคนรุ่นเราอาจจะคุ้นเคยกับการเล่นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว เราเองจึงรู้สึกดีที่ได้นำบรรยากาศแบบนี้กลับมา 

ยังมีฐานการเรียนรู้อีกหลายจุดที่แม่เก๋และทีมงานแลนด์แล็บเตรียมพัฒนาต่อยอดพื้นที่ห้องทดลองแห่งนี้ให้ขยายขอบเขตความรู้และความสนุกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเมื่อเราเดินมาถึงริมบึงที่มีเรือให้พายเล่น หรือจะแค่โปรยอาหารเลี้ยงปลาและเป็ดห่านก็สนุกแล้ว แม่เก๋ชี้ให้เรามองยังพื้นที่สวนปลายบึงไกลสุดสายตา 

landlab

ในอนาคตเรากำลังจะพัฒนาต่อจุดตามเส้นรอบวงกลม ทำแพเชื่อมไปฝั่งโน้นให้เด็กเล่น เพราะพื้นที่ข้างหลังยังมีต้นไม้โบราณอีกเยอะมากที่เราอยากทำกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เพิ่ม”  

นอกจากแลนด์แล็บจะเป็นห้องทดลองสำหรับสมาชิกในหลายๆ ครอบครัวแล้ว แม่เก๋ยังใช้พื้นที่แห่งนี้ทำการทดลองส่วนตัว เพื่อค้นหาคำตอบที่เธอตั้งคำถามไว้ในใจ 

ที่นี่ยังเป็นแล็บทดลองการใช้ชีวิตของตัวเก๋เองที่ครั้งนึงเราเคยมีประสบการณ์ของการเป็นลูกหลานชาวนา แล้วไปใช้ชีวิตในเมือง วันนึงเมื่อเราตั้งใจกลับมาทุ่งนาเพื่อใช้ชีวิตแบบเดิม เราจะทำด้วยมิติแบบไหน 

landlab
แม่เก๋ กับ ต้น – ศุภโชค โอภาสะคุณ
พร้อมด้วยโอดะและเรียวมะ พร้อมรับแขกทุกวันเสาร์-อาทิตย์

และทั้งหมดนี้ก็คือมิติที่เธอออกแบบและทดลองทำมานานกว่าสามปี โดยจะยังคงต่อยอดไปอีกเรื่อยๆ อาทิ การปรับพื้นที่ด้านหน้าติดริมถนนเปิดเป็น LandLab Drip Cafe ที่ ต้น – ศุภโชค โอภาสะคุณ (สามีของแม่เก๋) ผู้ประกาศข่าวประจำช่องไทยรัฐทีวีสลัดเสื้อสูทแล้วสวมผ้ากันเปื้อนเป็นบาริสตาทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ คอยดริปกาแฟรสชาติดีเสิร์ฟให้คุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะหนีร้อนมาพึ่งความเย็นจากเครื่องปรับอากาศให้ฉ่ำใจ รวมถึงใครที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมกับแลนด์แล็บ แค่อยากชิลกับอาหารและเครื่องดื่มแล้วเดินชมบรรยากาศท้องทุ่งก็สามารถมาใช้บริการในโซนคาเฟ่ได้เช่นกัน 

มิติทั้งหมดนี้ นอกจากจะเป็นคำตอบที่แม่เก๋ค้นหาจนเจอแล้ว อาจเป็นต้นแบบให้อีกหลายๆ คนที่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้รับแรงบันดาลใจในการดีไซน์วิถีชีวิตในแบบของตัวเองก็เป็นได้ 

landlab

หลังจากทัวร์แลนด์แล็บจนทั่ว เรามาหยุดพักยังแคร่ใต้ต้นมะกอกที่มีเบาะให้นั่งเอนหลังพักสายตา มองไปฝั่งนึงเห็นทุ่งนา หันมาอีกฝั่งก็เห็นบึงเย็นใจ 

มีเด็กๆ หลายคนชอบปีนมะกอกต้นนี้มากจนติดใจขอซื้อกลับบ้าน เพราะปีนง่ายและปีนสนุกมาก นี่ก็เป็นวิธีคิดของเด็กที่ทำให้เรายิ้มได้” รอยยิ้มของแม่เก๋บ่งบอกว่าการไม่อนุญาตให้ตัวเองมีวันหยุดพักผ่อนในวันเสาร์อาทิตย์มานาน 3 ปีเต็ม คือ ความสุขที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม 

บางอาทิตย์มีเด็กเข้ามากอดเราแล้วบอกว่าพรุ่งนี้จะมาอีก ซึ่งเราไม่รู้จะตีมูลค่าความรู้สึกตรงนั้นยังไง” เจ้าของห้องทดลองวิทยาศาสตร์กลางทุ่งทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม 

LandLab 

บ้านคลองสอง ตำบลทวีวัฒนา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 

www.landlabth.com/ 

Facebook : LandLabTH 

Instagram : Landlab 

โทร 082 461 5987