การตามหาร้านชาดีๆ สักร้านในญี่ปุ่น คงไม่ใช่เรื่องยากนักสำหรับประเทศที่ประชาชนผูกพันกับชาในระดับจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์
แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน หากจะหาร้านชาในแบบ Old School ที่ละเมียดละไมทุกรายละเอียด ตั้งแต่สถานที่ปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ชา การเก็บเกี่ยวใบชา กระบวนการชง จนถึงขั้นตอนการเสิร์ฟ กระทั่งธรรมเนียมในการดื่ม โดยเฉพาะในย่านที่คึกคักและวุ่นวายอย่าง ชิบูย่า
Shimokita Chaen Oyama คือร้านเล็กๆ ที่แฝงตัวอยู่ในย่านนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ แม้จะอยู่ในจุดที่หลุดจากใจกลางชิบูย่าค่อนข้างไกล เพราะหากลงรถไฟที่สถานีชิบูย่า อาจต้องใช้เวลาเดินเท้าชมเมืองสักพักใหญ่
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแต่อย่างใด (ถ้าคุณเป็นคนชอบเดินชมเมือง) เพราะการลัดเลาะตามตรอกซอกซอย จะทำให้เราเห็นภาพเมืองชิบูย่าในแบบที่ไม่เคยเห็น บรรยากาศสถาปัตยกรรมบ้านเรือนจะชวนให้นึกถึงเมืองสวยๆ แถบอเมริกาหรือยุโรป
แต่ถ้าต้องการความรวดเร็ว แนะนำให้ลงสถานีรถไฟ ชิโม-คิตาซาวา ซึ่งใช้เวลาเดินเท้าไม่ถึง 5 นาทีก็ถึงร้าน
คงจะเป็นธรรมเนียมของร้านในแนว Old School ที่หน้าร้านมักโชว์ความคลาสสิคให้คาดเดาไม่ออกว่าข้างในมีอะไรอยู่ แต่เมื่อเขยิบเข้าไปในระยะใกล้ บรรดาชาสายพันธุ์ต่างๆ ที่เรียงรายอยู่บนชั้น จะช่วยให้เรามองออกทันทีว่านี่คือร้านชา
พื้นที่อันจำกัดในร้านอาจชวนให้รู้สึกว่าที่นี่เป็นร้านขายใบชามากกว่าร้านนั่งจิบชาเก๋ๆ แต่ยังไม่ทันจะคิดอะไรไปไกล “คุณปู่” ชายชราเจ้าของร้านผู้มีรอยยิ้มระบายบนหน้าอยู่ตลอดเวลาก็ทักทายต้อนรับ
หลังที่ค้อมต่ำลง ร่องรอยยับย่นบนใบหน้า บ่งบอกถึงประสบการณ์อันเคี่ยวกรำในชีวิตที่ผ่านมา เรามั่นใจเหลือเกินว่าคุณปู่จะต้องเป็นมืออาชีพด้านชาญี่ปุ่นเป็นแน่ จึงอดไม่ได้ที่จะซักถามประวัติอย่างคร่าวๆ จนได้รู้ว่า คุณปู่มีชื่อว่า คาเกโมโต โอยาม่า (Kagemoto Oyama) เป็น Tea Master ระดับปรมาจารย์ วัย 80 ปี และเปิดร้านชาแห่งนี้มาตั้งแต่ตอนอายุสามสิบ
“นั่นภรรยาของผม” คุณปู่แนะนำหญิงชราหน้าตายิ้มแย้มที่ยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์ “เธออายุ 84 ปีแล้วครับ” จากนั้นก็เชื้อเชิญให้เรานั่งโต๊ะรับแขกที่มีอยู่เพียงโต๊ะเดียวในร้าน กาน้ำร้อนโบราณที่ทำมาจากเหล็กซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้า กำลังหายใจพวยพุ่งเป็นไอ คุณย่าต้อนรับเราด้วยการสาธิตวิธีชงมัทฉะ โดยมีคุณปู่ทำหน้าที่เป็นผู้พากย์ ค่อยๆ อธิบายกรรมวิธีทุกขั้นตอน ตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ เวลาที่ชง ปริมาณชา (โดยมากจะใช้ปริมาณชา 3 กรัม ต่อ 1 ถ้วย) อุณหภูมิน้ำ ฯลฯ ในทุกองค์ประกอบล้วนมีส่วนสำคัญและส่งผลถึงรสชาติของมัทฉะ
เท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่น้ำหนักมือในการคนก็เป็นส่วนที่ต้องใส่ใจ เพราะหากคนเบาเกินไป มัทฉะก็อาจติดกันเป็นก้อน ไม่ขึ้นฟอง ทำให้ดื่มแล้วไม่เนียนละเอียด
คุณปู่เสริมว่า ถ้าหากละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต่อให้มีชาเขียวเกรดพรีเมี่ยมอยู่ในมือ ก็ไม่อาจดึงรสชาติอันเยี่ยมยอดของชาออกมาได้ แน่นอนว่า ชาถ้วยนั้นของเราเป็น Perfect Taste ที่ดึงรส “อูมามิ” ออกมาได้อย่างหมดจด
ระหว่างที่นั่งจิบชาด้วยความเพลิดเพลิน คุณปู่ก็หยิบหนังสือเกี่ยวกับชาเล่มหนึ่งมาเปิดให้ดู ในนั้นมีรูปชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งก็คือลูกชายของเขา ในเวลาเดียวกัน คุณปู่ก็ผายมือให้เราเห็นประกาศนียบัตร สายตาของเขาบ่งบอกความภูมิใจถึงที่มาของรางวัล
อันที่จริง มร.คาเกโมโต โอยาม่า ได้วางมือจากการบริหารร้านชาแห่งนี้ไปแล้ว และส่งไม้ต่อให้ลูกชายทั้งสองคนมาบริหาร โชคดีที่ทั้งคู่เป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น ทั้ง ทากุโระ โอยาม่า (Takuro Oyama) และ ไทเซอิ โอยาม่า (Taisei Oyama) ต่างก็เป็น Tea Master มือรางวัล และได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 12 Tea Master ระดับแถวหน้าของญี่ปุ่น
โดยเฉพาะทากุโระนั้นเป็นที่ร่ำลือในเรื่องการเบลนด์ชาจนมีคาร์แรคเตอร์พิเศษเป็นสูตรเฉพาะของทากุโระ มีจำหน่ายเฉพาะที่ Shimokita Chaen Oyama เท่านั้น นอกจากนี้เขายังนำชาสูตรพิเศษมาสร้างสรรค์เป็นเมนูของหวาน มีไฮไลท์อยู่ที่ ‘คากิโกริ’ หรือน้ำแข็งใส เป็นเมนูเรียกแขกที่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างแห่แหนมาเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอชิม
แม้ว่าในวันนั้น เราจะพลาดเมนูน้ำแข็งใส แต่ที่เราไม่พลาดคือ การนำชาดีๆ จากร้าน Shimokita Chaen Oyama กลับมาย้ำเตือนความทรงจำ ถึงชายชราผู้ที่ทำให้การดื่มชาญี่ปุ่นของเราจากนี้ต่อไป… ไม่เหมือนเดิม
FACT BOX
- คาเฟ่บนชั้น 2: Shimokita Chaen Oyama มีชื่อเสียงในยุคออนไลน์มาจากคาเฟ่บริเวณชั้น 2 มีที่นั่งประมาณ 10 ที่ ขายเมนูของหวานยอดนิยม คากิโกริ ที่มีคนมารอต่อแนวนานเป็นชั่วโมงๆ เพื่อรอชิมความอร่อย ในส่วนของพื้นที่ชั้นล่างที่ทาง Common ไปเยือน เป็น Tearoom เล็กๆ สำหรับขายวัตถุดิบจากชา และอุปกรณ์ชงชา มีพื้นที่เล็กๆ สำหรับให้นั่งชิมชาพอเป็นพิธี
Shimokita Chaen Oyama
ที่ตั้ง: 2-30-2 Kitazawa Setagaya Tokyo
เปิด: 14:00 – 18:00 / เว็บไซต์ https://shimokita-chaen.com
แผนที่