ขอสารภาพว่าไม่เคยดู TED Talks สดๆ หน้าเวทีเลย
แต่ชอบดูผ่านเว็บและดู Live ถ้าจะมีสักสื่อไว้ฝึกฟังภาษาสำหรับคนขี้เกียจเข้าห้องเรียน คนไม่ชอบดูหนัง คนไม่ฟังเพลง TED Talks น่าจะเป็นอีกตัวช่วยที่น่าสนใจ
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ตั้งใจมาดู TED Talks สดๆ หน้าเวที เป็น TED Talks เวอร์ชันภาษาไทย และยินดีเดินทางมาไกลถึงปัตตานี เพื่องานนี้ #TEDxPattaniPhiromRd
หลายคนบอกว่า
TED Talks ครั้งนี้แปลกกว่าครั้งไหนๆ
เราไม่รู้เหมือนกันว่า “แปลก” ในความหมายของแต่ละคนคืออะไร
รู้แต่เป็นครั้งแรกในภาคใต้ และเป็นครั้งแรกที่จัด Outdoor ในเมืองไทย
ส่วนเราประทับใจความละเอียดลออในรายละเอียดเล็กๆ ของงาน ที่พอรวมๆ กันแล้ว มันกลายเป็นงาน Talk ที่น่ารักหนักมาก
1.สถานที่จัดงาน
ชื่อ Melayu living แปลกันตรงๆ ว่า “ห้องรับแขกของมลายู” เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ที่กลุ่มสถาปนิก ช่างภาพ และกราฟฟิกดีไซเนอร์ในพื้นที่รวมตัวกัน ปรับบ้านโบราณ 2 คูหา ให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตั้งอยู่บนถนนปัตตานีภิรมย์ ถนนสายหลักของปัตตานี ด้านหลังเป็นแม่น้ำปัตตานี ลักษณะคล้ายเป็น Space สำหรับจัดงานอะไรก็ได้ บรรยากาศสบายๆ อบอุ่น หลงเหลือกลิ่นอายอดีตไม่ทุบสร้างใหม่ กำแพงเปลือยเห็นเนื้ออิฐ บ้างมีตะไคร่จับ รากไทรระโยงระยาง แต่สัมผัสได้ถึงความตั้งใจว่าทำไมถึงคงความเก่าเอาไว้แบบนั้น ตั้งใจเก่าอย่างมีนัยยะ
2. ถุงยังชีพ
เริ่มที่ตัว ถุงหิ้วทำจากผ้าปาเต๊ะ สื่อความเป็นใต้มลายูได้ชัด จากลวดลายเขียนเทียนที่บรรจงวาดลงบนผ้าทีละเส้นจนเต็มผืน ถูกปรับเปลี่ยนเป็นผ้าพิมพ์จากโรงงานแต่ยังคงเอกลักษณ์ลวดลายของผ้าปาเต๊ะไว้ ถุงใบนี้ตัดเย็บโดยกลุ่มแม่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในภาคใต้ เป็นกลุ่มเดียวกับที่เย็บถุงรองเท้าให้รองเท้า Tlejourn : ทะเลจร รองเท้าที่เก็บจากขยะในทะเลโดยกลุ่ม Trash Hero Pattani แล้วนำมาทำเป็นรองเท้าคู่ใหม่ ถุง 1 ใบเล่าได้ตั้งแต่วัฒนธรรมยันระบบเศรษฐกิจ
ในถุงมี น้ำแร่ Mirin 100% น้อยคนจะรู้ว่าที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีแหล่งน้ำแร่บริสุทธิ์ชั้นดี น้ำแร่ธรรมชาติถูกนำมาบรรจุในขวดแก้วพร้อมดื่ม ดื่มเสร็จนำมาเติมน้ำใหม่ได้อีก
แก้วกาแฟจาก แบรนด์เบญจเมธา แบรนด์เซรามิกที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเล่าถึงความเป็นปัตตานี ความเป็นมุสลิมวิถี พร้อมสอดแทรกคำสอนลงในชิ้นงาน การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศ Innovative Craft Award 2014 ของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) และรางวัลด้านออกแบบอีกมากมาย แก้วเซ็ตนี้ผลิตขึ้นใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ตามคอนเซ็ป Blooming หรือเบ่งบาน ดูให้ดีจากมุมบน ถ้าคว่ำแก้วจะเหมือนเกสรดอกไม้ใจกลางกลีบดอก แต่ถ้าหงายแก้ว ก็จะเหมือนกลีบดอกไม้ 2 ชั้นกำลังบาน
3.เวที
สัมผัสได้ถึงการคิดแต่ละเลเยอร์ของเวทีอย่างละเอียด ลองหลับตาแล้วจินตนาการไปพร้อมกัน
เวทีอยู่ใต้ร่มต้นหูกวางต้นใหญ่ มีลมพัดเอื่อยๆ ตลอดเวลา
ต้นหูกวางที่บังแดดแรงเอาไว้ แต่อนุญาตให้แดดส่องผ่านรำไรได้
จุดแดงๆ ไฮไลต์ของเวที TED Talks ทำจากขยะรองเท้าจากทะเลที่นำมาบดทำเป็นแผ่นรองคล้ายจิ๊กซอว์ นับว่าเป็นเวที TED Talks เวทีแรกที่ทำจากขยะนำมารีไซเคิล แล้ววางไว้ในจุดสำคัญที่สุดของเวที
โครงคล้ายหลังคาข้างบน นำเอาสัญลักษณ์สามเหลี่ยมของกลุ่ม Maleyu มาต่อให้คล้ายรังผึ้ง วัสดุคือตะเกียบทั้งที่ใช้แล้วและตะเกียบใหม่มาต่อยึดด้วยหลอดที่ใช้แล้ว เก๋มากๆ
ฉากหลังมีชีวิตที่สุด ไม่ว่าอะไรที่ผ่านมาในแม่น้ำปัตตานีต่างร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานได้หมด เรือกอและ เรือประมงของชาวพื้นเมืองปัตตานี เขียนลวดลายสีสันฉูดฉาด ผสมผสานศิลปะไทย อิสลาม จีน เข้าด้วยกัน ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์น้ำ ประเพณี ศาสนา วรรณคดี ศิลปการแสดงสัตว์หิมพานต์ ภาพทิวทัศน์ ไม่มีภาพคนร้องรำทำเพลง หรือลักษณะที่ยั่วยุกามารมณ์ ตามหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลาม นอกจากนี้มีเรือประมงสมัยใหม่ล่องผ่าน มีคนงานซ่อมเรือ แม้แต่รูป รส กลิ่น เสียง ก็อบอวลอยู่ในฉากนั้น บางช่วงมีเสียงอาซาลดังมาจากมัสยิด บางช่วงเสียงเลื้อยไม้ก็ดังขึ้น เป็นจังหวะของชีวิตผู้คนแถบนี้
4.อาหาร
แม่เจ้าพระคุณ!! แต่ละอย่าง มีความหมายที่คิดแล้วคิดอีกประมาณ 8 ตลบ บางอย่างอิ่มแล้ว พอฟังคนเตรียมอาหารเล่าว่าเขาอยากสื่อสารอะไร ถึงขั้นต้องเดินกลับไปชิมอีกรอบ จริงนะ!! Story ทำให้อาหารน่ากินกลายเป็นอาหารต้องกิน!! จะยกตัวอย่างเท่าที่จำความได้
ของว่างช่วงเช้า ตั้งใจ Mix ความเป็นท้องถิ่นเข้ากับขนมไทย มีขนมผกากรองแบบไทยๆ ขนมปูตูฮาลือบอ เป็นขนมที่สามารถใช้ขมิ้น ขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง มารวมร่างในแผ่นแป้ง คำว่า “ปูตู” หมายถึง แป้ง ส่วน “ฮาลือบอ” หมายถึง เม็ดซัด สมุนไพรที่ใส่ในแป้ง ตัวไส้กลมกลืนกันทั้งกลิ่นเครื่องเทศและกลิ่นสมุนไพรอ่อนๆ รสชาติเผ็ดร้อนนิดๆ หวานกลมกล่อม เติมมะพร้าวขูดโรยหน้าเพิ่มความมันยิ่งขึ้น ยิ่งกินตอนร้อนยิ่งอร่อย และขนมขี้หนู อย่างไทยแต่เลือกใช้สีที่ที่สื่อความหมายถึงพระนามของราชินี 4 องค์ที่เคยครองปาตานีดารุสลาม ซึ่งชื่อของราชินีทั้ง 4 สี คือชื่อเรียกสีในภาษามลายู ได้แก่ กูนิง-สีเหลือง, ฮีเยา-เขียว, บีรู-ฟ้า, อูงู-ม่วง
อาหารกลางวัน เป็นนาซิดาแฆ อาหารพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย มีความหมายตรงตัวว่าข้าวสำหรับคนอนาถา เพราะนาซิดาแฆใช้ทั้งข้าวเจ้า และ ข้าวเหนียวหุงเข้าด้วยกัน แฝงความหมายว่าแม้มีข้าวอย่างละนิดละหน่อยก็นำมาหุงกินได้แล้ว ปิดท้ายด้วยขนมหวานคือลูกเนียง ค่ะ!! อ่านไม่ผิด มีเมนู ลูกเนียงบวด และ ลูกเนียงนึ่งจิ้มมะพร้าว
เป็นของหวานที่มีกรรมวิธีการทำยากมากเพราะต้องทำให้กลิ่นเหม็นพอๆ กับสะตอหายไปก่อน สูตรการต้มลูกเนียงยากมาก สมัยก่อนใช้ขี้เถ้าและตะปูใส่ลงหม้อด้วย สมัยนี้ไม่ต้องใช้ตะปูแล้ว คงเพราะหม้อ และไฟ กระจายความร้อนได้ดี เมื่อก่อนต้มกับปี๊บแทนหม้อ
***ดอกจันไว้เลย อาหารทุกชนิดใช้บรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น ชะลอมไม้ไผ่เล็กๆ ใบตอง ปลอดพลาสติก 100%***
5.หลังจบงาน
มีแก๊ง-สะ-เตอร์ ใช้เรียกกลุ่มคนขับสามล้อรุ่นสุดท้ายของปัตตานีที่มารอรับไปชมเมือง เรานั่งรถลุงสะมะแอ อายุลุงเกือบ 70 ปี ทำอาชีพนี้กว่า 40 ปีแล้ว
เมื่อก่อนเป็นอาชีพเสริม ช่วงมรสุมออกเรือไม่ได้ก็มาปั่นสามล้อ มีคนมาขอซื้อรถแกหลายคนแต่ลุงไม่ขาย ราคาคันนี้ร่วมๆ 20,000 บาท ทักษะการปั่นต้องมี ไม่เช่นนั้นรถจะพลิก พยายามอ้อนวอนลุงว่า เคยมีใครปั่นให้ลุงนั่งไหม หนูปั่นให้นั่งเอาไหม
“ไม่เอา เดี๋ยวพลิก” ลุงตอบ
ขอบคุณจากใจ
อยากขอบคุณคนคิด คนจัด ทีมงาน ที่กล้าทำในทุกๆ เรื่อง ทำให้เห็นชุมชนแห่งไอเดียและการแบ่งปันเบ่งบานเต็มความรู้สึกในพื้นที่ของพวกท่าน
คิดว่า #TEDxPattaniphiromRD น่าจะเป็นโมเดลงาน TED Talks แนวใหม่ให้กับอีกหลายที่ลองคิดงานสร้างสรรค์ในบริบทของพื้นที่ตัวเอง แล้วฉายออกมาให้ผู้ไปเยือนอยากไปรู้จักตัวตนแท้จริงในพื้นที่จริงมากกว่ารู้จักกันผ่านข่าว ซึ่งเป็นข้อมูลชั้นสองที่ไม่อาจฉายภาพความเป็นจริงได้ทั้งหมด