life

The Writer’s Room
No. 11 

ห้องธรรมดาที่ตั้งโต๊ะหันเข้าหาบานหน้าต่างของแอลิซ มุนโร
นักเขียนรางวัลโนเบล ผู้ฉายภาพชีวิตสามัญของมนุษย์ผ่านเรื่องสั้นร่วมสมัย

Photo: Alice Munro (2013) / Nobel Prize

วินาทีที่แอลิซ มุนโร (Alice Munro) จับปากกาจรดกระดาษเพื่อลงมือเขียนเรื่องสั้นสักเรื่อง คงไม่ต่างจากศัลยแพทย์มือนิ่งผู้กำลังถือด้ามมีดแหลมคมอย่างมั่นคงเพื่อเริ่มต้นผ่าตัดรักษาคนไข้

สาเหตุที่เปรียบเทียบเช่นนี้ก็เพราะว่า มุนโรมีคุณสมบัติเหมือนกับศัลยแพทย์ทุกคนพึงมี นั่นคือสายตาที่เฉียบแหลมเหมือนนกอินทรี (an eagle’s eye) มองเห็นฉากชีวิตที่ทุกคนรู้สึกและสัมผัสได้ ใจที่เข้มแข็งราวหัวใจของราชสีห์ (a lion’s heart) เพราะเธอเด็ดเดี่ยว แน่วแน่อย่างมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งอื่นใดที่เข้ามารบกวนใจ และมือที่อ่อนโยนเสมอมือของสตรี (a lady’s hand) เธอเรียบเรียงคำให้กลายเป็นเรื่องอย่างปราณีตราวกับประดิษฐ์งานฝีมือ ต่างกันแค่ มุนโรเป็นนักเขียนที่ถือปากกาต่างด้ามมีดเพื่อบรรจงเขียนเรื่องสั้นอย่างเงียบเชียบและสันโดษ

ครั้งยังเป็นเด็ก มุนโรชอบอ่านหนังสือตั้งแต่จำความได้ เทพนิยายของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) คือหนังสือเล่มโปรดของเธอ แต่หลังจากได้อ่านเรื่องเงือกน้อย (The Little Mermaid) ซึ่งจบลงด้วยความเศร้าและความตาย เป็นความรู้สึกที่หนักหนาเกินกว่าจะรับได้ ถึงขนาดต้องออกมาเดินวนไปมานอกบ้านอยู่พักใหญ่ จนทำให้เธอคิดได้ว่าควรเปลี่ยนตอนจบ

นโรขณะอายุประมาณ 2 หรือ 3 ขวบ
Photo: Photograph courtesy Alice Munro

มุนโรจึงตั้งใจเขียนอย่างสุดฝีมือ แต่งเรื่องให้เงือกน้อยได้รับในสิ่งที่ปรารถนาแต่ต้องแลกมาด้วยความรู้สึกเจ็บปวดชั่วชีวิต เพราะเธอไม่ได้คิดเพ้อฝันถึงความสุขสมหวังทุกประการ แต่มองถึงเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นบนความเป็นไปได้มากกว่า ความได้ดั่งใจในความไม่ได้ดั่งใจนี้เอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้มุนโรสนใจการเขียน แล้วงานเขียนของเธอก็มักจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรมมากกว่าสุขนาฏกรรม

พ่อของมุนโรเป็นเจ้าของฟาร์มสุนัขจิ้งจอกและตัวมิงค์ บ้านของเธอจึงซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางป่าในพื้นที่ห่างไกลของเมืองวิงแฮม รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา เธอไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะรอบตัวของเธอมีแต่ความว่างเปล่าและต้นไม้ที่ยืนต้นสูงชันคล้ายเป็นกำแพงปิดกั้นเธอจากโลกภายนอก

บ้านกลางป่าสนที่มุนโรใช้ชีวิตอยู่ในวัยเด็ก 
Photo: https://www.thestar.com/entertainment/2013/10/20/where_alice_munro_found_her_stories.html

กิจการฟาร์มไม่สู้ดีนัก แม้ว่าเปลี่ยนมาเลี้ยงไก่งวงแทน แต่ธุรกิจยังคงขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้พ่อของมุนโรเครียดจนล้มหมอนนอนเสื่อและป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ห้วงเวลานั้นเอง เธอต้องเผชิญหน้ากับความจริงอีกมุมของชีวิต ทั้งความยากแค้น ความหวั่นวิตก ความเปลี่ยนแปลง ความไม่มั่นคง ความเป็นอื่น และความตาย ทั้งหมดสร้างความเจ็บปวดที่ไม่ปรากฏบาดแผลให้มุนโร

เธอไม่ฟูมฟายหรือดิ้นทุรนทุราย เธอเลือกเฝ้ามองทุกชีวิตและทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่รอบตัวอย่างพินิจพิเคราะห์ เธอเป็นนักสังเกตการณ์ผู้ซื่อตรง เพราะมองดูทุกอย่างด้วยสายตาที่ไม่ตัดสินว่าดีหรือเลว

Photo: http://historyofliterature.com/235-alice-munro-the-love-of-a-good-woman-2/

นอกจากผลลัพธ์ของภาพที่เห็นตรงหน้า เธอยังมักจะตั้งสมมุติฐานถึงที่มาที่ไปประกอบ การคิดเช่นนี้ทำให้มุนโรเข้าใจในท้ายที่สุดว่า ทั้งหมดคือเรื่องราวชีวิตของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งเหนือธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายได้ เพียงแต่คนเรามักจะละเลยไม่สนใจและมองข้ามผ่านไป

ภายในบ้าน ที่ประจำของมุนโรวัย 11 ปี คือโต๊ะไม้ธรรมดาที่ตั้งหันหน้าเข้าหาบานหน้าต่าง เธอนั่งอยู่ตรงนั้นแล้วมองออกไปให้ไกลที่สุด เพื่อกลั่นกรองชีวิตของผู้คนรอบข้างที่เธอเฝ้าดูมาตลอด ก่อนจะกลับมาอยู่กับตัวเองแล้วเขียนเป็นเรื่องราวสั้นๆ นั่นหมายความว่า มุนโรเริ่มเขียนเรื่องสั้นมาตั้งแต่วัยรุ่น

โต๊ะและพิมพ์ดีดเครื่องแรกของมุนโร เธอมอบให้พิพิธภัณฑ์ (North Huron Museum) เก็บรักษาและจัดแสดง 
Photo: https://twitter.com/dean_frey/status/1016724104362188801/photo/1

มุนโรอาศัยทักษะภาษาจากความรู้ด้านวารสารศาสตร์และภาษาอังกฤษที่ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ (University of Western Ontario) แม้ว่าจะเรียนไม่จบ เพราะออกกลางคันมาแต่งงานก่อน แต่เธอสามารถเลือกใช้ถ้อยคำเพื่อทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์ได้อย่างโดดเด่น มุนโรนิยมใช้คำง่ายและสั้นกระชับ เพราะเธอต้องการเชื่อมโยงทุกคนด้วยเรื่องราวจากประสบการณ์ ความคิด และความรู้สึกร่วมกันบางอย่างของผู้คน โดยเฉพาะความรักและการสูญเสีย

คำพูดและประโยคในเรื่องสั้นของมุนโรจึงอาจเป็นมีดด้ามคมทั้งทุ้งกระแทกสำนึกรู้ต่อชีวิตและเสียดแทงใจในคราวเดียวกัน ดังตัวอย่างข้อความนี้

ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคำโกหกใดที่แรงกล้าเท่ากับคำโกหกที่เราพูดกับตัวเอง และโชคร้ายที่เราต้องคอยพูดคำโกหกนั้นต่อไป เพื่อกลั้นสิ่งโสมมไว้ไม่ให้สำรอกออกมา ปล่อยให้สิ่งนั้นกลืนกินเราทั้งเป็น
— สุดชีวิต, หน้าที่ 249 (สำนวนแปลโดย อรจิรา โกลากุล)

เรื่องสั้นเรื่องแรกของมุนโรซึ่งได้รับการตีพิมพ์ คือ The Dimensions of a Shadow ในปี 1950 ระหว่างที่เธอเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หลังจากมีครอบครัว เธอไม่ได้ทิ้งงานเขียน แต่ด้วยบทบาทภรรยาและแม่ ทำให้เธอต้องรับผิดชอบงานในครอบครัวมากขึ้น ประกอบกับช่วงนั้นสามีของเธอเปิดร้านหนังสือชื่อ Munro’s Books (ปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการมุนโรจึงหาทางออกโดยพยายามจัดสรรเวลาใหม่ 

Photo: https://www.lavozdegalicia.es/noticia/fugas/2019/08/16/genial-alice-munro-vuelve-contar-vida/0003_201908SF16P6991.htm

มุนโรไม่เคยคิดว่าตัวเธอเองจะใช้ชีวิตอย่างนักเขียนอาชีพ ที่วันๆ เอาแต่นั่งเขียนงานเป็นหลักโดยไม่ต้องสนใจใคร เพราะชีวิตของเธอในแต่ละวันต้องรับผิดชอบงานหลายอย่าง ทั้งทำงานบ้าน เตรียมอาหาร พาลูกๆ ไปส่งที่โรงเรียน ก่อนจะกลับมาช่วยดูแลกิจการร้านหนังสือของสามี เธอมักจะทำเพื่อคนอื่นก่อนเสมอ เมื่อมีเวลาเหลือเธอจึงอุทิศให้กับการสร้างสรรค์งานเขียนในรูปแบบเรื่องสั้น เพราะไม่ได้มีเวลามากเพียงพอสำหรับทุ่มเทเขียนเรื่องยาวเป็นนวนิยาย ด้วยเวลาที่มีอย่างจำกัด บางครั้งเธอนั่งเขียนงานที่โต๊ะเตรียมอาหารในห้องครัวด้วยซ้ำ 

Photo: https://cn.nytimes.com/slideshow/20131010/t10nobel-ss/en-us/#2

ห้องสำหรับนั่งเขียนงานของมุนโรจึงไม่ได้มีอะไรแปลกตาหรือชวนให้รู้สึกตื่นเต้น เป็นห้องธรรมดาที่มีโต๊ะไม้ที่หันเข้าหาหน้าต่าง และโคมไฟตั้งโต๊ะเผื่อไว้สำหรับนั่งเขียนเรื่องตอนกลางคืน ข้างๆ โต๊ะมีชั้นวางหนังสือและนิตยสารเก่า ส่วนมากเป็นหนังสือเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ที่อธิบายหลักไวยากรณ์และการใช้คำ รวมถึงพจนานุกรมอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง 

Photo: https://cn.nytimes.com/slideshow/20131010/t10nobel-ss/en-us/#3

ด้านบนสุดของชั้นหนังสือเป็นที่วางถ้วยรางวัล เมื่อมุนโรได้รับมา เธอมักจะตั้งรวมกันไว้อย่างเรียบง่ายที่สุดในจุดๆ เดียว ซึ่งไม่ใช่จุดดึงดูดสายตาด้วยซ้ำ เพราะเธอไม่เคยหลงทนงตนจนคิดว่าการเขียนเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาโดยไม่ต้องพยายาม สำหรับมุนโรการเขียนจึงเป็นผลลัพธ์ของความตั้งใจและการเรียนรู้อย่างหนัก เป็นความพยายามสุดความสามารถที่ไม่มีวันสิ้นสุด

นอกจากนี้ ผนังด้านหนึ่งของห้องยังมีภาพของมุนโรติดไว้เกือบเต็มพื้นที่ ทั้งหมดเป็นภาพจากหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่เธอตัดออกมาจากตัวเล่ม มุมนี้เองเป็นเพียงจุดเดียวของห้องที่บอกใบ้กลายๆ ว่า เจ้าของของห้องคือมุนโร

Photo: https://cn.nytimes.com/slideshow/20131010/t10nobel-ss/en-us/#4

มุนโรไม่ต้องการห้องที่สวยหรู เพราะความสวยหรูไม่ได้ช่วยให้เธอเขียนเรื่องสั้นได้เท่ากับการขบคิดถึงชีวิตของผู้คนและตนเอง เธอมักจะดำเนินเรื่องโดยใช้บรรยากาศของเมืองอันห่างไกลในประเทศแคนาดาเป็นฉากหลัง และสร้างตัวละครหลักเป็นเพศหญิงช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่เด็กถึงแก่ชรา ทั้งหมดอ้างอิงถึงความคุ้นเคยจากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอ 

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า มุนโรเริ่มเขียนเรื่องสั้นช่วงวัยรุ่น เธอมักจะส่งต้นฉบับที่เขียนเสร็จแล้วไปตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ จนกระทั่งปี 1968 มุนโรในวัย 37 ปี ได้รับโอกาสตีพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชื่อ Dance of the Happy Shades และได้รับรางวัล Governor General’s Award ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านวรรณกรรมของประเทศแคนาดา หลังจากนั้น มุนโรได้ออกหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มต่อๆ มาเป็นระยะ แต่เธอไม่เคยรู้สึกพึงพอใจในผลงานของตัวเองว่าดีเด่นที่สุด ตรงกันข้ามเธอกลับรู้สึกว่ายังเขียนงานได้ไม่ดีพอตลอดเวลา

ดังนั้น กว่าจะสำเร็จเป็นเรื่องสั้นหนึ่งเรื่อง เบื้องหลังที่ไม่มีใครรู้คือกระดาษกองใหญ่ที่เธอจงใจขยำและโยนทิ้งจำนวนนับไม่ถ้วน สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอตระหนักว่าการเขียนไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

Photo: http://literature.zoranstudio.nl/featured-shortstory/alice-munro/

มุนโรได้รับการยกย่องว่าเขียนเรื่องสั้นได้ละเอียดอ่อนแต่เนื้อเรื่องกลับหนักแน่นในตัวเอง เพราะเผยให้เห็นความจริงซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในใจมนุษย์ รวมถึงปลุกเร้าอารมณ์จนเกิดความขัดแย้งขณะอ่าน เพราะไม่อาจปักใจเชื่อเนื้อเรื่องได้อย่างสนิทใจ ทำให้เรื่องสั้นของมุนโรได้รับการจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่ม Bildungsroman หมายถึงแนววรรณกรรมที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตและกระบวนการเติบโตด้านจิตใจ จิตวิทยา และศีลธรรม ผ่านการเรียนรู้ของตัวละคร

การอ่านเรื่องสั้นของมุนโรแบบรวดเดียวจบจึงไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมนัก เพราะควรใช้เวลาอ่านอย่างเนิบช้า เพื่อเข้าถึงจังหวะอารมณ์หนักเบาของความเป็นมนุษย์ที่เธอตั้งใจแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง เมื่ออ่านจบจะเกิดคำถามปลายเปิดในใจที่ชวนให้คิดต่อ

Photo: https://www.svd.se/hogmod-dod-och-atra-i-efterlangtad-sjalvbiografi

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งปรากฏชัดเจนในผลงานเรื่องสั้นของมุนโรคือ เธอให้ความสำคัญกับตัวละครผู้หญิงมากที่สุดเสมอ และยึดโยงชีวิตของตัวละครกับบริบทของสังคม ประวัติศาสตร์ และเพศ ทำให้เธอได้รับคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า เธอเป็นเฟมินิสต์ (feminist) ใช่ไหม

มุนโรเคยตอบว่า แม้เธอจะไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน แต่เธอยืนยันว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ ซึ่งผลงานเขียนของเธอได้พูดแทนอย่างครบสมบูรณ์แล้ว และนักเขียนก็ไม่ใช่อาชีพที่สงวนไว้สำหรับเพศชายเท่านั้น

เมื่อเข้าสู่บั้นปลายชีวิต มุนโรประกาศว่าเธอต้องการเกษียณจากอาชีพนักเขียนในเดือนมิถุนายน 2013 เป็นความตั้งใจยุติการเขียนงานที่ทำมาค่อนชีวิต เพราะต้องการใช้เวลาที่เหลืออยู่ร่วมกับครอบครัวที่เธอรัก ตลอดชีวิตของมุนโร จึงสร้างสรรค์ผลงานเขียนรวมทั้งหมด 14 เล่ม

Photo: Alice Munro (2013) / Nobel Prize

ในปีเดียวกันขณะมุนโรนับถอยหลังถึงช่วงเวลาที่เธอจะได้หยุดพัก เธอกลับได้รับสิ่งที่ตัวเองไม่แม้กระทั้งนึกฝัน เพราะคิดเสมอว่าไม่มีทางจะเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเธอ

ก่อนหน้านัุ้นโทราบว่าตัวเองได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาให้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม แน่นอน เธอไม่คิดว่ารางวัลนี้จะคู่ควรกับเด็กสาวชาวแคนาดาผู้เอาแต่เฝ้าสังเกตโลกภายนอกผ่านบานหน้าต่างเพื่อที่เขียนเรื่องสั้น เพราะที่ผ่านมารางวัลนี้มอบให้กับนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบนิยายมากกว่า แต่เธอคิดผิด 

Photo: Sheila Munro (2013) / The Nobel Foundation

มุนโรในวัย 82 ปี คือสตรีลำดับที่ 13 ผู้ได้รับการยกย่องว่าสร้างคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติผ่านวรรณกรรมในฐานะ ‘Master of the Contemporary Short Story’ หรือ บรมครูด้านเรื่องสั้นร่วมสมัย

ทุกวันนี้มุนโรขีดเส้นจบให้กับอาชีพนักเขียนที่เธอรักอย่างสมบูรณ์แบบ เธอวางปากกาลงไว้บนโต๊ะ ปล่อยให้เรื่องสั้นที่เธอเขียนสั่นสะเทือนใจของผู้อ่านอย่างอิสระ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่งอย่างสามัญ 

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ แอลิซ มุนโร

Lives of Girls and Women (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1971)
นิยายเพียงเล่มเดียวของมัวโรในรูปแบบกึ่งอัตชีวประวัติแต่กลับไม่ใช่ความจริง บอกเล่าเรื่องราวชีวิตเด็กสาวผู้อาศัยอยู่ในย่านชานเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดาช่วงยุค 1940 เมื่อเธอเติบโตขึ้นเป็นผู้หญิงในเวลาต่อมา ประสบการณ์ชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบตัวจึงมอบบทเรียนสำคัญให้เธอเข้าใจว่า ทุกอย่างมีทั้งมุมสว่างที่แสงส่องไปถึง และมุมมืดมิดที่เงาดำบดบังบางสิ่งไว้ โดยเฉพาะความเป็นผู้หญิงที่เธอกำลังเรียนรู้

Hateship, Friendship, Courtship, Loveship, Marriage (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2001)
รวมเรื่องสั้น 10 เรื่อง ที่นำเสนอชีวิตทุกข์ยาก มิตรภาพ ความงาม และความรักตั้งแต่ผลิบานจนถึงโรยราของผู้หญิง ซึ่งแต่ละคนมีหน้าที่ บทบาท และความรับผิดชอบแตกต่างกันไป ผลงานเขียนเล่มนี้โดดเด่นด้วยกลวิธีเล่าเรื่องที่ชวนให้ผู้อ่านนึกย้อนระลึกไปถึงความทรงจำตลอดช่วงชีวิต ทำให้เข้าถึงตัวละครผู้หญิงราวกับว่าพวกเธอคือคนที่รู้จักในชีวิตจริง หรืออาจไม่ต่างกับชีวิตจริงของใครบางคน

Dear Life (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2012)
สุดชีวิต (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์บทจร)
ผลงานเขียนเล่มสุดท้ายของมุนโร ก่อนที่เธอจะตั้งใจเกษียณอายุจากอาชีพนักเขียน เล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้น 14 เรื่อง โดยเธอตั้งใจเขียนเรื่องสั้นสุดท้ายทั้ง 4 เรื่องเป็นปัจฉิมบท เสมือนบทส่งท้ายในฐานะนักเขียน ซึ่งถ่ายทอดออกมาในรูปแบบอัตชีวประวัติในเชิงความรู้สึกที่ผูกโยงกับชีวิตในชนบทและวัยเยาว์ที่บางเบาแต่ส่งสารบางอย่างได้อย่างลึกซึ้ง

 

อ้างอิง