The Writer’s Room
No. 06
ห้องที่มีกำแพงเป็นช่องเก็บแผ่นเสียงของ ฮารูกิ มูราคามิ
นักเขียนผู้ใช้ท่วงทำนองของดนตรีแจ๊สขับกล่อมเรื่องราวในนวนิยายและเรื่องสั้น
บ่ายวันหนึ่งของเดือนเมษายน ปี 1978 ท่ามกลางอากาศอันอบอุ่นในฤดูใบไม้ผลิ
ภายในสนามแข่งขันกีฬาเบสบอล เดฟ ฮิลตัน (Dave Hilton) ยืนจ้องลูกหนังที่กำลังพุ่งเข้าหาตัวอย่างไม่ละสายตา เมื่อได้จังหวะเขาใช้ไม้เบสบอลหวดสุดแรง เสียงกระทบกันระหว่างหนังและไม้ดังสะท้อนก้องไปทั่วสนาม วินาทีนั้นเอง ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเขียนนิยายสักเล่มให้สำเร็จ
ทันทีที่การแข่งขันจบลง เขารีบนั่งรถไฟใต้ดินไปซื้อปากกาหมึกซึมและกระดาษเปล่ามาเก็บไว้ รอจนกระทั่งเลิกงานจากบาร์เล็กๆ ที่ลงขันเปิดร่วมกับภรรยา แล้วค่อยใช้เวลาว่างหลังจากนั้น ซึ่งเหลืออยู่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนฟ้าสาง นั่งเขียนเรื่องราวต่างๆ บนโต๊ะอาหารในห้องครัวตามลำพัง
ก่อนหน้านั้น การทำงานอย่างมนุษย์เงินเดือนไม่เคยอยู่ในหัวของมูราคามิ เมื่อเรียนจบเขาจึงนำเงินเก็บทั้งหมดมาเปิดบาร์แจ๊สชื่อว่า ‘Peter Cat’ ในย่านโคะกุบุนจิ ของกรุงโตเกียว เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและภรรยา
หน้าที่หลักของเขา คือ เสิร์ฟและชงเครื่องดื่มอยู่หลังเคาน์เตอร์ แม้รายได้ของร้านจะไม่ดีนัก แต่เพราะความรักในดนตรีแจ๊ส จึงทำให้เขายืนหยัดเปิดบาร์แห่งนี้ต่อไป
เวลาผ่านไปเกือบ 7 เดือน เมื่อมูราคามิเขียนนิยายเรื่องแรกเสร็จ เขาตั้งชื่อว่า 風の歌を聴け (สดับลมขับขาน) เพื่อสื่อถึงแรงบันดาลใจที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพนักเขียน
มูราคามิเขียนนิยายควบคู่ไปกับการดูแลบาร์แจ๊ส รวมเวลา 3 ปีเต็ม ที่เขาใช้บาร์แจ๊สเป็นสถานที่สร้างสรรค์งานเขียนในช่วงแรก
ระยะหลังมูราคามิกลายเป็นคนดื่มเหล้าบ่อย และสูบบุหรี่จัด เมื่อเขาทบทวนตัวเองจึงพบว่า ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่วาดฝันไว้ เพราะการพยายามทำหลายๆ อย่าง ทั้งๆ ที่ไม่พร้อม เป็นการบั่นทอนความสุขในชีวิต ยิ่งนานวันเข้า มีแต่จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น
หลังจากเปิดร้านมานานถึง 7 ปี เขาตัดสินใจปิดบาร์แจ๊ส แล้วหันไปทุ่มเทให้กับงานเขียนอย่างเต็มที่ เพราะขณะนั้น มูราคามิเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนบ้างแล้ว
อันที่จริงทักษะการเขียนของมูราคามิ เริ่มต้นมาจากพื้นฐานความสนใจวรรณกรรมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะพ่อและแม่ของเขาเป็นอาจารย์ด้านวรรณกรรม สำหรับมูราคามิ การอ่านกลายเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตขึ้นในแต่ละช่วงวัย
มูราคามิหลงใหลวัฒนธรรมตะวันตกมากกว่าสิ่งไหน โดยเฉพาะเพลงและผลงานวรรณกรรมของนักเขียนชาวอเมริกันอย่าง เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) เคิร์ต วอนเนกัต (Kurt Vonnegut) และ ริชาร์ด โบรติแกน (Richard Brautigan)
มูราคามิยังจำได้แม่นว่า สมัยมัธยม เขาเริ่มซื้อนิยายภาษาอังกฤษจากร้านหนังสือมือสองมาหัดอ่าน แม้จะไม่เก่งภาษาอังกฤษเอาเสียเลย แต่เพราะความอยากรู้จึงพยายามอ่านจนจบ เขาชอบความเป็นสากลของวรรณกรรมตะวันตก ซึ่งพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนรู้สึกถึงกันได้ แตกต่างจากวรรณกรรมญี่ปุ่น ที่มักจะยึดโยงอยู่กับความเชื่อเฉพาะกลุ่ม
การอ่านสร้างนิสัยอย่างหนึ่งให้มูราคามิ นั่นคือ การเป็นคนช่างสังเกตและจดจำรายละเอียดที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยไม่ตัดสินหรือใส่ความรู้สึกส่วนตัวลงไป เขาเก็บสะสมสิ่งที่สังเกตเห็นไว้ในความทรงจำ โดยไม่จดบันทึกใดๆ เพราะเขาเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วสิ่งไม่สำคัญจะถูกลืมเลือน เหลือไว้เพียงแต่เรื่องที่มีคุณค่ามากพอให้จดจำ
สิ่งสำคัญที่มูราคามิจดจำได้เสมอ และไม่เคยลืมไปจากสำนึก คือ ความเจ็บปวดจากความรัก มิตรภาพ หรือจากใครสักคนที่ทำให้เขาเจ็บ เพราะความรู้สึกร้าวรานเหล่านี้ คือ วัตถุดิบชั้นดีที่เขามักจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียน
ผลงานของมูราคามิจึงมีลักษณะเฉพาะตัวมาก ซึ่งโดดเด่นด้านการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกที่เก็บลึกอยู่ภายในใจ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว หรือคนต่างรุ่น ต่างช่วงวัย รวมถึงชั่วขณะของคืนวันอันเดียวดายที่แต่ละคนต้องเผชิญอย่างโดดเดียว และชีวิตว่างเปล่าที่รอคอยบางสิ่งบางอย่างมาเติมเต็ม
ชื่อของมูราคามิไม่เคยหายไปจากวงสนทนาของนักอ่านทั่วโลก เพราะเขาเป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ
ทุกๆ วัน เขาจะตั้งใจเขียนงานให้ได้ประมาณ 2 หน้ากระดาษขนาด A4 (เทียบเท่า 10 หน้ากระดาษขนาดหนังสือ) และใช้เวลาอยู่กับงานเขียนไม่เกิน 5 ชั่วโมง ต่อให้รู้สึกว่าอยากเขียนงานไปเรื่อยๆ มากแค่ไหน แต่เขาจะหยุดเขียนแล้วไปทำกิจกรรมอื่นแทน โดยเฉพาะการฟังเพลงแจ๊สที่เขาชอบ
ในห้องทำงานของมูราคามิจึงมีกำแพงที่ทำเป็นช่องสำหรับเก็บแผ่นเสียง ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 10,000 แผ่น หลายๆ ครั้ง เขามักจะเปิดเพลงคลอระหว่างเขียนงานด้วย ดนตรีแจ๊สจึงมีบทบาทอย่างมากในงานเขียนของมูราคามิ เมื่อมีโอกาสเขาจะใส่ชื่อเพลงไว้ในเนื้อเรื่อง หรือบางครั้ง ขณะเขียนงานอยู่เงียบๆ แต่กลับมีดนตรีแจ๊สดังขึ้นมาในหัว เขาจะรีบจับจังหวะและท่วงทำนอง แล้วเขียนเรื่องให้สอดคล้องกับอารมณ์ของเพลง
แม้ว่ามูราคามิจะไม่ชอบจดบันทึก แต่เขาชอบการเขียนงานด้วยดินสอมาก เพราะเป็นความรู้สึกเดียวกันกับระหว่างนั่งฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ ซึ่งเขาได้จดจ่ออยู่กับตัวเอง บนโต๊ะทำงานจึงมีดินสอเหลาแหลมพร้อมเขียนวางไว้เสมอ
ดินสอสีเหลืองทั้งหมดนี้ เขาซื้อไว้ตอนไปเที่ยวที่สหรัฐเมริกา ส่วนภาชนะใสที่เอาไว้ใส่ดินสอ คือ แก้วสกรีนลายหน้าปกอัลบัมของศิลปินแจ๊ส ซึ่งทางร้านขายแผ่นเสียงสั่งทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้ลูกค้าประจำ
ย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 มูราคามิเริ่มฝึกใช้โปรแกรมประมวลผลคำ (Word Processor Program) ในคอมพิวเตอร์เพื่อพิมพ์ต้นฉบับ ก่อนส่งสำนักพิมพ์เขาจึงตรวจทานครั้งสุดท้าย ปรากฏว่าไฟล์บทแรกหายไป เขาเครียดมาก เพราะต้องเขียนขึ้นใหม่ ด้วยความกังวลว่าจะทำได้ไม่ดีเท่าครั้งแรก
หลังจากนั้นทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี จนหนังสือพิมพ์เสร็จ และเตรียมวางขาย แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นความผิดพลาดที่ติดค้างอยู่ในใจของเขา และแล้วความเครียดก็ก่อตัวขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมูราคามิเจอไฟล์ต้นฉบับที่เคยทำหาย เขากลัวว่างานเขียนครั้งแรกจะดีกว่างานที่ได้ตีพิมพ์ ปรากฏว่าสิ่งที่เขียนขึ้นใหม่ดีกว่ามาก
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เปลี่ยนมุมมองมูราคามิต่อการเขียนอย่างที่เขาเองไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ทุกอย่างสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ต่อให้รู้สึกว่า ทำได้ดีหรือสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว แต่ขอให้เชื่อมั่นว่า เราสามารถทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้นได้อีกเสมอ หลักคิดนี้เองกลายเป็นหัวใจสำคัญที่เขาใช้พัฒนางานเขียนมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังทำให้เขาใช้คอมพิวเตอร์เขียนงานอย่างระมัดระวังมากขึ้นด้วย
บนโต๊ะของเขายังมีแก้วใบประจำที่ใช้ใส่กาแฟดื่มระหว่างเขียนงานทุกวัน เป็นแก้วเซรามิคสกรีนลายธงชาติเนเธอร์แลนด์ที่ซื้อไว้ตอนไปเที่ยว สาเหตุที่เขาเลือกลายนี้ เพราะมองเห็นความโดดเด่นบนความเรียบง่าย หากเขาเผลอวางแก้วลืมไว้ที่อื่น มั่นใจได้เลยว่าจะหาเจอแน่นอน
ใต้โคมไฟตั้งโต๊ะยังมีของตกแต่งอื่นๆ อีก เช่น ไม้แกะสลักเป็นรูปเท้าที่มีแมงมุมเกาะอยู่จากประเทศลาว หินอ่อนแกะสลักเป็นตัวแมลงบนใบไม้ และถั่วขนาดยักษ์ที่ทำมาจากกระเบื้อง เขาลืมไปแล้วว่าได้มาจากที่ไหน จำได้แต่ว่าเป็นเครื่องรางของขลัง
นอกจากนี้ บริเวณใกล้กันยังมีตุ๊กตานักกีฬาเบสบอลตั้งอยู่ เป็นรูปปั้นของไรอัน (Ryan) หนึ่งในสมาชิกทีมโตเกียวยาคูลท์สวอลโลวส์ (Tokyo Yakult Swallows) ที่เขาชอบ และเป็นทีมเดียวกันกับ เดฟ ฮิลตัน (Dave Hilton) ผู้ทำให้เขาเริ่มต้นเขียนนิยาย
มูราคามิใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพื่อเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่านักเขียนอาชีพ เขาเชื่อว่าวันหมดอายุของนักเขียนถูกกำหนดให้สิ้นสุดลงเมื่อครบ 10 ปี หลังจากนั้น หากใครยังยืนหยัดและสร้างสรรค์งานเขียนได้อย่างต่อเนื่อง จึงจะเรียกว่าเป็นนักเขียนอาชีพ เพราะการเขียนต้องอาศัยระยะเวลาและการลงมือทำสม่ำเสมอ ในอีกแง่หนึ่ง ถือว่าเป็นการให้เกียรติอาชีพตัวเอง
เคยมีคนถามมูราคามิว่า เขาใช้เวลามากแค่ไหนในการเขียนหนังสือหนึ่งเล่ม เขาตอบว่ามันคือการทำงานคนเดียว สิ่งที่เขาพร่ำบอกตัวเองในทุกๆ วัน คือ ‘One Day at a Time’ ค่อยๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย รักษาจังหวะของการเขียนงาน เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย
ตั้งแต่จำความได้เขาเกลียดวิชาพละมาก แต่เหตุผลที่ทำให้เขาเริ่มต้นออกกำลังกายเพราะต้องเขียนหนังสือ ต่อให้รู้สึกขี้เกียจ หรือเหนื่อยล้าแค่ไหน เขาจะบอกตัวเองว่าแค่ทำอย่างที่เคยทำ และต้องทำอย่างจริงจังด้วย ทุกวันนี้เขายังรักการออกกำลังกายมาก จะต้องวิ่งหรือว่ายน้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในทุกๆ วัน
สำหรับงานเขียน มูราคามิเริ่มต้นด้วยการวางโครงเรื่องทั้งหมด แล้วเขียนทุกอย่างที่พรั่งพรู อยากเขียนอะไร อยากใส่อะไรในเนื้อเรื่อง ทำได้เต็มที่ เมื่อเสร็จเป็นต้นฉบับ เขาจะหยุดพักประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงปรับแก้ต้นฉบับอย่างละเอียด ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน เสร็จแล้วจะหยุดพักต่ออีก 1 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนด เขาจะกลับมาปรับแก้ต้นฉบับอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้เขาจะเน้นเรื่องจังหวะของเส้นเรื่อง ให้มีช่วงหนักและเบาที่สมดุลกัน เพราะถ้าเค้นอารมณ์ตลอดทั้งเรื่อง อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าหนักเกินกว่าจะแบกรับไหว และเลิกอ่านไปในที่สุด เมื่อแก้ไขเสร็จ เขาจะพักยาว เป็นเวลานานพอที่จะลืมเรื่องที่เขียนทั้งหมด
ขั้นสุดท้าย มูราคามิจะส่งต้นฉบับให้ภรรยาและบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน เพื่อนำความรู้สึกและความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับมาปรับแก้ต้นฉบับเป็นครั้งสุดท้าย ขั้นตอนนี้เขาให้ความสำคัญกับความรู้สึกระหว่างเนื้อเรื่องกับผู้อ่าน โดยตั้งใจสร้างจุดเชื่อมโยงให้ได้มากที่สุด เพราะเขาเชื่อว่า ลึกๆ แล้ว ทั้งคนเขียน คนอ่าน และตัวละครในนิยาย ต่างเชื่อมโยงถึงกันและกันได้เสมอ
ดังนั้น กลับไปยังคำถามที่ว่าเขาใช้เวลานานแค่ไหน มูราคามิจึงตอบไม่ได้ เขารู้แค่ว่าความเป็นอิสระ คือ สิ่งสำคัญสำหรับนักเขียน งานเขียนทุกเล่มล้วนเกิดจากการลงมือทำไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยบังคับให้ตัวเองเร่งรีบเขียนงานให้จบภายในกรอบเวลา เขาจึงไม่เคยรับงานเขียนที่สำนักพิมพ์กำหนดวันส่งไว้ชัดเจน
ว่ากันว่าหากใครก็ตามได้อ่านผลงานของมูราคามิ จะเกิดเป็นความรู้สึกเพียงแค่ 2 แบบ คือ ถ้าไม่ชอบ ก็เกลียดไปเลย แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไหน สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกเหล่านั้น บางทีอาจเกิดขึ้นจากเพลงแจ๊ส ตัวละคร ความรู้สึก เหตุการณ์ สถานที่ และการตัดสินใจในงานเขียน ที่สั่นสะเทือนและกระตุ้นเร้าอารมณ์ของผู้อ่าน ให้หวนคิดถึงเรื่องราวในชีวิตจริง ทั้งสิ่งที่จำได้ไม่ลืม สิ่งที่เคยลืมไปแล้ว และสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดเกินกว่าจะจดจำ
ผลงานของมูราคามิครองใจผู้อ่านได้ทั่วโลก เขาเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่ง งานเขียนของเขาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วระดับ Best Seller ในหลายประเทศ หากใครก็ตามยังสงสัยว่าผลงานของมูราคามิทรงอิทธิพลต่อนักอ่านและวงการวรรณกรรมขนาดไหน คำถามนี้ตอบได้ง่ายที่สุด ด้วยการเดินเข้าไปในร้านหนังสือ คุณจะพบชั้นขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยหนังสือที่มีชื่อนักเขียนกำกับบนปกว่า Haruki Murakami เพียงเท่านี้ก็พอจะบอกให้รู้ได้ว่า เขาคือนักเขียนคนสำคัญแค่ไหน
ผลงานเขียนเล่มสำคัญของฮารูกิ มูราคามิ
Norwegian Wood (1987) / ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์กำมะหยี่)
งานเขียนเล่มนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อหนังสือ 1,001 เล่มที่ควรอ่านก่อนตาย เป็นเรื่องราวของ ‘วาตานาเบะ’ ชายหนุ่มผู้มีรักให้กับ ‘นาโอโกะ’ แฟนสาวของเพื่อนสนิทที่จบชีวิตในวัย 17 ปี ด้วยการฆ่าตัวตาย ความสัมพันธ์ของพวกเขา กลายเป็นปมเชือกที่ผูกติดความรู้สึกของกันและกันไว้ ทำให้ใครบางคนฝังใจอยู่กับความสูญเสียในวันวาน จนกระทั่งวาตานาเบะได้รู้จักกับ ‘มิโดริ’ ชีวิตของวาตานาเบะผู้เรียนรู้และเติบโต กับนาโอโกะผู้สับสน จึงดำเนินมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่าอดีตกับอนาคต
The Wind-Up Bird Chronicle (1994) / บันทึกนกไขลาน (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์กำมะหยี่)
หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นนวนิยายเรื่องเอกของมูราคามิ ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘โอกาดะ’ หนุ่มว่างงานกับชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลง แมวที่เลี้ยงอยู่หายไป ไม่นานภรรยาบ้างานก็ทิ้งเขา มีเพียงนกในสวนที่ยังส่งเสียงร้องให้ได้ยินทุกเช้า มูราคามิเล่าเรื่องผ่านบันทึกประสบการณ์ของตัวละครที่เชื่อมโยงกับจินตนาการเหนือจริงและอ้างอิงถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ทั้งหมดทำให้ชีวิตว่างงานของโอกาดะเต็มไปด้วยเรื่องที่คาดไม่ถึง ซึ่งเสียดสีสังคมญี่ปุ่นได้อย่างชวนคิด และเข้าถึงจิตวิญญาณของคนที่รู้สึกว่าชีวิตกำลังหลงทาง
Underground: The Tokyo Gas Attack and the Japanese Psyche (1997) / อันเดอร์กราวด์ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์กำมะหยี่)
หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากงานเขียนเล่มอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนของเช้าวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 1995 สมาชิกของกลุ่มศาสนาโอมชินริเกียวแฝงตัวเข้าไปปล่อยแก๊สพิษภายในขบวนรถไฟใต้ดิน นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนญี่ปุ่นไปตลอดกาล มูราคามิจึงตัดสินใจสัมภาษณ์เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ก่อนนำข้อมูลที่ได้มาร้อยเรื่องเป็นความเรียงขนาดยาว เพื่อสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดในสังคมที่บิดเบี้ยว รวมถึงถ่ายทอดความรู้สึกโศกเศร้าที่พวกเขาไม่มีวันลืม
อ้างอิง
- Haruki Murakami. Haruki Murakami: The Moment I Became a Novelist. https://bit.ly/2WM1m5y
- Penguin Random House. Author: Meet the man behind the works. https://bit.ly/2OTeG44
- Haruki Murakami, นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ, แปลโดย อรรถ บุนนาค และมุทิตา พานิช (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กำมะหยี่, 2560).