life

The Writer’s Room
No. 05

ห้องที่ต้องมีโต๊ะ 2 ตัวตั้งอยู่คู่กันของ มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood)
นักเขียนผู้ใช้เรื่องแต่งสั่นสะเทือนสำนึก ให้ผู้อ่านริเริ่มเปลี่ยนแปลงสังคม

Photo: Alasdair McLellan (2019) / The Gentlewoman

หากกล่าวถึงวรรณกรรมดิสโทเปีย (Dystopian Novels) ชื่อของ มาร์กาเร็ต แอตวูด มักจะถูกอ้างอิงถึงเสมอ ในฐานะนักเขียนชาวแคนาดา ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้คาดการณ์ถึงโลกดิสโทเปีย หรือ The Prophet of Dystopia ทั้งๆ ที่ตัวเธอเองกลับไม่คิดเช่นนั้น

แม้ว่าผลงานเขียนเล่มสำคัญที่สร้างชื่อให้แอตวูดเป็นนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในแวดวงวรรณกรรม คือ นวนิยายดิสโทเปีย โดยมีแนวทางนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต เป็นภาพสะท้อนสังคมสมมุติที่เลวร้ายเกินกว่าที่โลกแห่งความเป็นจริงจะยอมรับได้ เพราะต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม จำกัดสิทธิ ปิดกั้นเสรีภาพ และลดทอนความเป็นมนุษย์จนหมดสิ้น เพื่อบังคับให้ผู้คนมีชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวและสิ้นหวัง ซึ่งตัวเธอคิดว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องในอนาคตที่ไกลตัว และอาจไม่ใช่สิ่งสมมุติ หรือภาพจำลองเหนือจริง แต่คือความจริงแท้ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน เธอจึงไม่ใช่ผู้คาดการณ์อย่างที่ถูกยกย่อง หากจะเรียกให้ถูกต้องมากกว่า เธอคือนักสังเกตการณ์ในคราบนักเขียน

โลกและสังคมที่บิดเบี้ยวในวรรณกรรมของแอตวูด จึงประกอบสร้างขึ้นมาจากโลกและสังคมที่เธอเห็น รับรู้ และศึกษามาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยวิธีการอ่านและค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยความรู้ประวัติศาสตร์

Photo: https://www.cbc.ca/radiointeractives/cbcbooks/atwood-at-80

ช่วงชีวิตวัยเด็กของแอตวูด เติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติในประเทศแคนาดา เพราะพ่อของเธอเป็นนักวิจัยด้านกีฏวิทยาป่าไม้ (Forest Entomology) ต้องออกสำรวจไปตามพื้นที่ป่าตลอดเวลาเพื่อศึกษาแมลง ที่พักของเธอจึงแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ ทำให้เธอไม่เคยสัมผัสสิ่งให้ความบันเทิงอื่นใด นอกจากหนังสือ

ตั้งแต่แอตวูดจำความได้ เธอเริ่มต้นใช้ชีวิตและเรียนรู้โลกผ่านการอ่าน เธอชอบนิทานพื้นเมืองและเทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์ รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับเรื่องลึกลับ การ์ตูน และหนังสือที่เล่าเรื่องสัตว์นานาชนิดในประเทศแคนาดา

ความสนใจเรื่องสรรพสัตว์ ทำให้แอตวูดในวัย 9 ขวบ เลือกหยิบอ่านหนังสือ Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวลล์ มาอ่าน เพราะหลงคิดว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็ก แต่กว่าจะรู้ตัวว่าเข้าใจผิด การอ่านนำพาเธอถลำลึกเข้าไปอยู่ในโลกใหม่ที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผลงานของออร์เวลล์ คือ หนังสือในดวงใจตลอดกาลของแอตวูด และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญให้เธอสนใจการเขียนเล่าเรื่องในลักษณะเดียวกันกับเขา

แอตวูดเข้าเรียนช้า เธอไปโรงเรียนครั้งแรกตอนอายุได้ 12 ปี แต่หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม เธอรู้ตัวทันทีว่า นักเขียนคืออาชีพเดียวที่เธอใฝ่ฝัน จึงขีดเส้นทางชีวิตให้ตัวเองอย่างแน่วแน่ ถึงขนาดบอกความตั้งใจไว้ในหนังสือรุ่นว่า “to write the great Canadian novel” และเลือกเรียนต่อด้านภาษาอังกฤษ

Photo: Margaret Atwood’s high school yearbook; Clan Call, 1956–1957 edition. via https://jamiebradburnwriting.wordpress.com/2018/01/17/whatever-happened-to-peggy-atwood/

นวนิยายเล่มแรกของแอตวูดที่ได้รับการตีพิมพ์ คือ The Edible Woman (1969) แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นอาชีพนักเขียนบนเส้นทางที่ขรุขระและท้าทาย เพราะหลังจากส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา บรรณาธิการต้องการให้แก้ไขตอนจบ แต่เธอไม่ยอม และช่วยเสนอทางออกที่ง่ายกว่านั้น คือไม่ต้องพิมพ์ ทำให้ต้นฉบับของเธอจึงถูกดองไว้นานถึง 5 ปี ก่อนที่บรรณาธิการจะนำมาพิจารณาใหม่ และตีพิมพ์ภายหลัง

ผู้อ่านส่วนใหญ่รู้จักแอตวูดผ่าน The Handmaid’s Tale (1985) ซึ่งเป็นผลงานเลื่องชื่อที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะนักเขียน เธอตั้งใจเขียนนวนิยายเรื่องนี้เพื่อยกย่อง Nineteen Eighty-Four (1949) ของออร์เวลล์ ซึ่งจุดประกายแรงบันดาลใจให้เธอเริ่มต้นเขียนเรื่องเกี่ยวกับดิสโทเปียด้วยมุมมองของผู้หญิง

แต่สิ่งสำคัญที่ยืนยันความสามารถที่โดดเด่นในอาชีพนักเขียนของแอตวูด คือ Booker Prize หรือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งในวงการวรรณกรรม โดยมอบให้กับวรรณกรรมระดับยอดเยี่ยมที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักร ซึ่งนวนิยายจากปลายปากกาของแอตวูดได้รับรางวัลนี้ถึง 2 เล่ม คือ The Blind Assassin (2000) และผลงานเขียนเล่มล่าสุดอย่าง The Testaments (2019)

Photo: https://people.com/books/margaret-atwood-talks-handmaids-tale-trump-era/

นอกเหนือจากนวนิยาย แอตวูดยังสร้างสรรค์งานเขียนรูปแบบอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเสมอ ทั้งเรื่องสั้น บทกวี สารคดี หนังสือสำหรับเด็ก บทบรรยายในวิทยุ บทละครโทรทัศน์ บทวิจารณ์ รวมถึงเป็นบรรณาธิการให้หนังสือเล่มอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

แอตวูดใช้ชีวิตแบบนักเขียนอาชีพ การทำงานของเธอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญต่อขั้นตอนสร้างสรรค์งานของเธอ

เมื่อถึงเวลาเขียนงาน แอตวูดจะใช้ดินสอเขียนทุกอย่างที่เธอคิดลงแผ่นกระดาษ เหตุผลที่เธอไม่ใช้ปากกาเพราะว่า หากปากกาหมึกหมดหรือตัวแตกขึ้นมา เธอจะไม่สามารถเขียนได้อย่างลื่นไหล แต่ถ้าเป็นดินสอ ต่อให้ไส้หักระหว่างเขียน หรือเขียนจนหัวดินสอทู่ เธอเพียงใช้เวลาไม่กี่วินาทีเหลามันให้กลับมาแหลมเหมือนเดิมได้อย่างง่ายดาย และสามารถเขียนงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัด 

Photo: MasterClass (2019). Margaret Atwood Teaches Creative Writing. Yanka Industries Inc.

ส่วนเหตุผลที่แอตวูดไม่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดเริ่มต้นงานเขียน เพราะเธอคุ้นชินกับการเขียนด้วยมือมากกว่า ทักษะการใช้เครื่องพิมพ์ดีดของเธอยังเข้าขั้นแย่ แม้ว่าเคยพยายามฝึกพิมพ์สัมผัสอยู่บ่อยครั้ง แต่แป้นพิมพ์ต้องอาศัยทั้งความเร็ว พร้อมกับจังหวะลงน้ำหนักของนิ้วให้ตรงกับตัวอักษร ผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นความเจ็บปวดบริเวณปลายนิ้ว ซึ่งบวมพองเพราะแรงกดซ้ำๆ เธอจึงใช้เครื่องพิมพ์ดีดในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น สำหรับพิมพ์เรื่องราวทั้งหมดที่เรียบเรียงด้วยดินสอเสร็จแล้ว เพื่อรวมเป็นต้นฉบับเอาไว้ส่งต่อสำนักพิมพ์

Photo: Isolde Ohlbaum (1984) via https://www.thetimes.co.uk/article/margaret-atwood-has-nominated-the-12-women-who-are-shaping-our-future-lgv27c0b3

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือถังขยะ ความสำคัญของถังใบนี้ไม่ได้เอาไว้ทิ้งขี้ดินสอ แต่มีไว้ทิ้งก้อนกระดาษที่แอตวูดตั้งใจขยำแล้วโยนใส่ เพราะสิ่งที่เขียนไปไม่ตรงกับสิ่งที่ใจต้องการ ถังขยะจึงเป็นเหมือนเพื่อนของนักเขียน เธอยังเชื่อด้วยว่า ความล้มเหลว ความผิดหวัง หรือความไม่ประสบความสำเร็จ คือ สิ่งแน่นอนที่นักเขียนต้องเผชิญ ก้อนกระดาษในถังจึงไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เพียงแค่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และหมั่นเขียนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเป็นนักเขียนอาชีพ ไม่มีทางลัดอื่นใดนอกจากลงมือเขียน 

บนโต๊ะเขียนงานของแอตวูด ยังต้องมีพจนานุกรมและหนังสืออธิบายการใช้คำและรูปประโยค (Thesaurus) วางอยู่ใกล้ๆ ด้วย เธอยอมรับว่าแม้จะร่ำเรียนมาด้านภาษาอังกฤษ แต่เธอสะกดคำผิดเป็นประจำ

ห้องทำงานในช่วงแรกๆ จึงมีเพียงโต๊ะเปล่าที่เอาไว้นั่งเขียนต้นฉบับ เพราะส่วนใหญ่เธอมักจะเขียนงานระหว่างโดยสารเครื่องบิน หรือไม่ก็ตอนอยู่ในห้องพักของโรงแรม

Photo: https://lithub.com/on-the-occasion-of-margaret-atwood-day-here-are-some-photos-of-her-over-the-years/

หลังจากนั้นเมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทสำคัญกับอาชีพนักเขียน แอตวูดยังคงเริ่มต้นวางเค้าโครงเรื่อง และร่างต้นฉบับด้วยลายมือเช่นเดิม แต่ในขั้นตอนท้ายสุด เธอเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์แทน เพราะเธอรู้สึกสบายใจมากกว่า อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เธอเจ็บนิ้วเหมือนตอนที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีด

เธอเปรียบเทียบระหว่างการเขียนด้วยลายมือในอดีตกับการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันว่า เมื่อก่อนไม่มีคำสั่ง Cut (ตัด) Copy (คัดลอก) และ Paste (วาง) สิ่งที่เธอจะทำเมื่อต้องการแก้ไขต้นฉบับที่เขียนไว้ด้วยลายมือ คือ ใช้กรรไกรตัดกระดาษแผ่นนั้นออกเป็นส่วนๆ เพื่อนำมาเรียงลำดับการเล่าเรื่องใหม่ แล้วใช้เทปใสติดกระดาษแต่ละชิ้นเข้าด้วนกัน

Photo: Peter Bregg / White Pine Pictures via https://www.hollywoodreporter.com/news/margaret-atwood-documentary-lands-at-hulu-1248239

เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน แอตวูดจึงปรับปรุงห้องของเธอใหม่ที่มีโต๊ะ 2 ตัวตั้งอยู่คู่กัน ตัวหนึ่งเป็นโต๊ะโล่งๆ สำหรับเขียนงาน อีกตัวหนึ่งติดตั้งสายอินเทอร์เน็ตสำหรับเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เพื่อค้นคว้าข้อมูล แต่ในความเป็นจริง เธอชอบนอนเขียนงานกับพื้นมากกว่า เพราะมันสบายกว่านั่งกับโต๊ะมาก

การทำงานเขียนของแอตวูดก็ไม่เหมือนกับนักเขียนคนอื่น เธอไม่ได้เขียนงานทุกวัน สำหรับเธองานเขียนไม่นับเป็นกิจวัตรด้วยซ้ำ จึงไม่เคยกำหนดตายตัวว่าแต่ละวันต้องเขียนงานให้ได้กี่ชั่วโมง เธอรู้ว่าการเป็นนักเขียนอาชีพไม่ใช่เรื่องง่าย จริงอยู่ว่าต้องอาศัยวินัย ความอดทน การทำอย่างต่อเนื่อง และการครุ่นคิดกับเรื่องเดิมๆ คนเดียว แต่เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าคิดไม่ออก เขียนต่อไม่ได้ เธอจะหยุดเขียนแล้วเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นแทน

แอตวูดเชื่อเสมอว่างานเขียนที่ดีเกิดจากพื้นฐานการอ่านที่สั่งสมมามากพอและหลากหลาย เธอจึงแนะนำหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับคนที่ต้องการเป็นนักเขียนอาชีพ คือ เทพปกรมัน เทพนิยาย ตำนานพื้นบ้าน พระคัมภีร์ไบเบิล และนิทานสอนใจ เพราะหนังสือเหล่านี้มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าใหม่ หรือเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนยุคต่อมาสร้างสรรค์งานเขียน

Photo: MasterClass (2019). Margaret Atwood Teaches Creative Writing. Yanka Industries Inc.

ผลงานของเธอเอง ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องสิทธิสตรี การล่าอาณานิคม และสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้น ก่อนเขียนเรื่องเธอจะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ราวกับการทำวิทยานิพนธ์ เพราะเธอต้องแน่ใจก่อนว่าสิ่งที่รู้คือข้อมูลที่ถูกต้อง ในทางตรงกันข้ามหากศึกษาข้อมูลไม่มากพอ แล้วยังกล้าเขียนเรื่องอิงประวัติศาสตร์ออกไปแบบผิดๆ ผลที่ได้รับ อาจเป็นจดหมาย เมล หรือข้อความในโซเชียลมีเดียที่นักอ่านเขียนมาตำหนิ เลวร้ายกว่านั้นอาจถูกด่าว่าโง่

ครั้งหนึ่งแอตวูดเคยได้รับจดหมายจากนักอ่าน ซึ่งกล่าวหาว่าวิธีการทำเนยที่เธอบอกเล่าไว้ในวนิยายเรื่องหนึ่งนั้นไม่ถูกต้อง แต่เธอมั่นใจในข้อมูลที่ค้นคว้ามาอย่างรัดกุม จึงตอบกลับไปว่า ความจริงที่ควรรู้ยิ่งกว่า คือ วิธีการทำเนยมีทั้งหมด 13 แบบต่างหาก

Photo: Margaret Atwood Young (2018) via https://www.academy.ca/2018/special-award-spotlight-margaret-atwood/margaret-atwood-young/

แอตวูดยังเป็นผู้คิดค้น LongPen หรือปากกาประดิษฐ์ที่อาศัยระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้เธอสามารถเซ็นชื่อหรือเขียนข้อความลงหนังสือจากระยะไกล เรียกอย่างง่ายๆ คือ เป็นปากที่แจกลายเซ็นได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าตัวเธอจะอยู่ที่ไหนบนโลก

Photo: https://blog.longnow.org/02007/11/20/longpen-makes-short-work-of-distance/
Photo: https://www.flickr.com/photos/headtale/166069516

จนถึงตอนนี้ (กรกฎาคม 2020) แอตวูดเขียนนวนิยายรวมทั้งหมด 18 เล่ม ผลงานของเธอมักเล่าเกี่ยวกับผู้หญิง และใช้ผู้หญิงเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง เพราะเธอสนับสนุนสิทธิสตรี และต่อสู้เพื่อผู้หญิงโดยใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือสื่อสาร โดยเชื่อมโยงความสนใจของผู้อ่านเข้าด้วยกัน เพื่อกระตุ้นเร้าความรู้สึกว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของทุกคน ทั้งๆ ที่ทั้งหมดคือเรื่องแต่ง (Speculative Novel)

แอตวูดไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนนวนิยายแคนาดาเรื่องเยี่ยมอย่างที่เธอเคยมุ่งมั่นและวาดฝันเส้นทางอาชีพของตัวเอง เพราะเธอสำคัญกว่านั้น แอตวูดคือนักเขียนนวนิยายเรื่องเยี่ยมของโลก เรื่องแต่งของเธอสั่นสะเทือนสำนึกของผู้อ่าน และจุดประกายให้ผู้คนริเริ่มลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีกว่าในโลกความเป็นจริง

ความตั้งใจสุดท้ายของแอตวูดหลังจากลาโลกนี้ไป เธอจะตีพิมพ์นวนิยายของตัวเองเล่มสุดท้ายในปี 2114 โดยเธอจะไม่เปิดเผยเรื่องราวใดๆ และปล่อยวันล่วงเลยผ่านไปจนว่าจะถึงเวลานั้น

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของมาร์กาเร็ต แอตวูด

The Handmaid’s Tale (1985) / เรื่องเล่าของสาวรับใช้ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์)
นวนิยายแนวไซไฟดิสโทเปีย (Dystopian Science Fiction) นำเสนอเรื่องราวของโลกอนาคตในปี 2195 ผ่านประสบการณ์ชีวิตและคำบอกเล่าของสาวรับใช้คนหนึ่ง เธอถูกบังคับไม่ให้มีชื่อเป็นของตัวเอง แต่ถูกเรียกด้วยชื่อของเจ้านายผู้ครอบครองแทนว่า ‘ออฟเฟร็ด’ (Offred) หมายถึง เธอเป็นของเฟร็ด เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เมืองกิเลียดที่เธออาศัยอยู่ ปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยกลุ่มคนคลั่งศาสนาหัวรุนแรงที่ยกย่องค่านิยมชายเป็นใหญ่ ซึ่งแบ่งแยกชนชั้นและกำหนดบทบาทหน้าที่ใหม่ให้ประชากรอย่างเข้มงวด เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จำนวนหนึ่งจึงถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จนหมดสิ้น คงไว้เพียงความสามารถในการตั้งครรภ์เพื่อผลิตประชากรให้ชาติอย่างเดียว หากสาวรับใช้บกพร่องในหน้าที่ คือ ไม่สามารถให้กำเนิดทารกได้ สังคมจะตราหน้าว่าเป็นคนบาปและไร้ค่า พวกเธอจะถูกส่งตัวไปทำงานหนักในคุกแทน และตายไปอย่างเงียบเชียบ นวนิยายเล่มนี้จึงทำหน้าที่สะท้อนประเด็นสิทธิ เสรีภาพ และบทบาทของผู้หญิงได้อย่างคมคาย จนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคม

The Blind Assassin (2000) / มือสังหารบอด (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์)
นวนิยายในรูปแบบบันทึกคำสารภาพ ที่ซ้อนเรื่องราววิพากษ์การเมืองและสังคมในนวนิยายอีกชั้นหนึ่ง เพื่อย้อนระลึกถึงเรื่องราวชีวิตวกวนผกผัน และความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับความตาย ซึ่งเชื่อมโยงกันอยู่ภายในความสัมพันธ์ต้องห้ามของคน 3 คน คือ ‘ไอริส’ ‘ลอรา’ และ ‘อเล็กซ์ โธมัส’ โดยฉากหลังของเหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ไปจนถึงช่วงเรืองอำนาจของฮิตเลอร์ รวมระยะเวลามากกว่า 80 ปี ไอริส และ ลอรา เป็นพี่น้องในครอบครัวชนชั้นสูงของตระกูลเชสที่กำลังจะตกอับ พวกเธอเติบโตและใช้ชีวิตภายในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของรัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา จนกระทั่งเข้าสู่วัยแรกแย้ม ทั้งคู่ได้พบกับ ‘อเล็กซ์ โธมัส’ และตกหลุมรักชายคนเดียวกันในที่สุด แต่เขาคือหนุ่มผู้ยึดถืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์และต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากร นวนิยายเล่มนี้จึงถ่ายทอดความรักใคร่ ความลับซ่อนเร้น ความคับแค้น และความปรารถนาช่วงชิง ผ่านมุมมองและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแต่ละตัว ที่ทับซ้อนและตัดสลับกันไปมาอย่างมีชั้นเชิง เพื่อนำไปสู่ความกระจ่าง และบทสรุปในตอนท้าย

The Testaments (2019) / คำให้การจากพยานปากเอก (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์)
นวนิยายภาคต่อของ The Handmaid’s Tale เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น 15 ปีให้หลัง เมื่ออาณาจักรกิเลียดถึงคราวเสื่อมอำนาจและล่มสลาย ผ่านบันทึกและคำให้การของผู้หญิง 3 คน ซึ่งพวกเธอคือผู้ถูกกระทำ เพราะเคยตกเป็นเบื้ยล่างของอำนาจความเป็นชาย คนแรกคือ ‘ลิเดีย’ สาวรุ่นป้า อดีตผู้นำความเชื่อศาสนา เธอรับหน้าที่ฝึกฝนหญิงสาวให้กลายเป็นเครื่องจักรผลิตทารก ระหว่างนั้นเอง เธอจึงแอบเขียนบันทึกที่บอกเล่าข้อมูลสำคัญและความลับเบื้องหลังไว้ทั้งหมด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง คนที่สองคือ ‘แอกเนส’ หญิงสาวจากตระกูลที่เพียบพร้อม เธอเกิดและเติบโตในกิเลียด ทำให้เป็นคนเคร่งครัดในกฎระเบียบ แต่เธอกำลังจะถูกจับคลุมถุงชน ซึ่งเป็นข้ออ้างของแม่เลี้ยงที่ต้องการกำจัดเธอให้พ้นไปจากบ้าน หลังรู้ความจริงว่าเธอเป็นลูกของหญิงรับใช้ คนสุดท้ายคือ ‘เดซี่’ เด็กสาวผู้เป็นเสมือนจิ๊กซอร์ชิ้นสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน นำไปสู่การเปิดเผยความจริงบางอย่าง ถึงแม้ว่านวนิยายเล่มนี้จะใช้กลวิธีเล่าเรื่องที่แตกต่างจากเล่มแรกอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงทำหน้าที่ส่งเสียงสะท้อนแทนผู้หญิงทุกคนไว้อย่างหนักแน่นเช่นเดิม

อ้างอิง