life

The Writer’s Room
No. 04

ห้องสะสมความทรงจำในบ้านหลังเล็ก ของโรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl)
นักเขียนและนักเล่าเรื่องแห่งยุคสมัย ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กทุกคนรักการอ่าน

Photo: Ronald Dumont (1971) / Daily Express

โรอัลด์ ดาห์ล เป็นนักเขียนชาวเวลส์เชื้อสายนอร์เวย์ผู้ร่ำรวยประสบการณ์ชีวิต

ในวัยเยาว์ เขาคือเด็กชายช่างคิดชอบสังเกต ผู้เผชิญหน้ากับการสูญเสียพี่สาวและพ่อ รวมถึงเรื่องราวขื่นขมจากผู้ใหญ่ใจร้าย ในวัยหนุ่ม เขาคือวีรบุรุษนักบินผู้ผ่านศึกสงครามมาอย่างโชกโชน ในวัยผู้ใหญ่ เขาหมุดหมายชีวิตของตัวเองด้วยอาชีพนักเขียน และในวัยชรา เขาคือคุณปู่ใจดีผู้เป็นที่รักของเด็กๆ นักอ่านทั่วโลก

ผลงานเขียนที่โรอัลด์สร้างสรรค์ จึงล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจในชีวิต โดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งการเติบโตในวัยเด็ก ตั้งแต่เรื่องราวเล็กๆ ที่เขาเห็นเป็นประจำอยู่ทุกวัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ทั้งผู้คนที่ผ่านเข้ามาให้เขาได้รู้จัก และเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงมุมมองของเขาไปตลอดกาล

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre

สิ่งต่างๆ ที่โรอัลด์เคยประสบและพบเจอ คือ ความทรงจำฝังใจที่กลายเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว ซึ่งเขาไม่ได้เพียงแค่หวนคิดถึงเรื่องราวในวันวานเท่านั้น แต่เขายังคัดเลือกความทรงจำบางช่วงตอนของชีวิตจริง ซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าที่มีความหมายสำหรับการเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ มาจุดประกายเป็นงานเขียนสำหรับเด็กๆ โดยเขาเองไม่เคยหลงลืมว่าเด็กทุกคนชอบความสนุกสนาน จึงแต่งเติมเรื่องราวเหนือจินตนาการรวมเข้าไว้ด้วยเสมอ

ตลอดชีวิตของโรอัลด์ ถึงแม้ว่าเขาได้สร้างสรรค์งานเขียนไว้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่บทความลงหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย สารคดี บทภาพยนตร์ บทละครเวที ไปจนถึงรายการโทรทัศน์ แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้โรอัลด์มากที่สุด ถึงขนาดได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเล่าเรื่องสำหรับเด็กที่ยอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20 คือ วรรณกรรมเด็กและเยาวชน ทั้งหมด 17 เรื่อง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นงานเขียนระดับคลาสสิก ที่ครองใจจากนักอ่านรุ่นเยาว์

Photo: National Archives, Netherlands

เอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้งานเขียนของโรอัลด์โดดเด่นและไม่เหมือนใคร คือ การร้อยเรียงเนื้อเรื่องและสร้างตัวละครเฉพาะแบบ ที่ผู้อ่านต่างวัย (โดยเฉพาะผู้ใหญ่) ไม่คิดว่าจะพบได้ในหนังสือสำหรับเด็ก เพราะเขามักนำเสนอมุมมองที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหว แต่เคลือบแฝงอารมณ์ขันที่ตลกร้าย การประชดประชัน และการต่อกรกับผู้ใหญ่นิสัยไม่ดี รวมถึงจงใจเขียนบทสรุปของเรื่องให้มีการหักมุมอย่างคาดไม่ถึง เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้จักตั้งคำถามต่อการกระทำของตัวละคร และคิดใคร่ครวญถึงผลที่ตามมา เป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจหลักคุณธรรมที่เขาตั้งใจสอดแทรกไว้ได้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า คุณแม่ของโรอัลด์ชอบเล่านิทานพื้นบ้าน ตำนานปรัมปรา และเทพนิยายนอร์ส (Norse Mythology) ให้เขาฟังทุกคืนก่อนนอน เธอยังสร้างนิสัยรักการอ่านให้โรอัลด์ตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาชอบอ่านหนังสือและวรรณกรรมจากนักเขียนชื่อดัง ทั้งรัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) ผู้เขียน The Jungle Book (เมาคลีลูกหมาป่า) ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) ผู้เขียน Oliver Twist และ วิลเลียม เมกพีซ แธคเคอเรย์ (William Makepeace Thackeray) ผู้เขียน The Vanity Fair

การฟังและการอ่านทำให้โรอัลด์รู้จักสร้างตัวละครที่ไม่ใช่คนปกติและคิดค้นสิ่งของวิเศษ ส่วนลักษณะนิสัยน่ารังเกียจของตัวละครอย่างผู้ใหญ่ใจหิน หรือเด็กดื้อจอมตะกละ และหลักคิดที่เป็นคติสอนใจ เขาได้มาจากคนรอบตัวทั้งสิ้น ทั้งประสบการณ์ในโรงเรียนประจำที่มีกฎระเบียบเคร่งครัด การออกเดินทางไปทำงานกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในต่างแดนช่วงวัยรุ่น และการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักบินประจำเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre

แต่จุดเริ่มต้นในอาชีพนักเขียนของโรอัลด์ เกิดขึ้นขณะเขาเป็นทูตทหารอยู่ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 1942 จากการร้องขอของ ซี. เอส. ฟอเรสเตอร์ (C.S. Forester) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง โดยต้องการให้โรอัลด์ช่วยเขียนเล่าประสบการสู้รบเพื่อนำมาตีพิมพ์ลงนิตยสารรายสัปดาห์ The Saturday Evening Post ซึ่งมีค่าตอบแทนเป็นเงิน 900 ดอลลาร์สหรัฐ ในปีเดียวกับเขาได้เขียนเรื่องสั้นอีกหนึ่งเรื่องโดยแบ่งลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร Cosmopolitan ผลงานของเขามีนักอ่านติดตามอ่านจำนวนมาก จนต้องรวมเล่มในปีถัดมาในชื่อ The Gremlins (1943) ถือเป็นผลงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือลำดับแรกของโรอัลด์

เมื่อโรอัลด์รู้ตัวว่าการเขียนทำให้เขามีความสุขจากการได้ทำในสิ่งที่รัก ในปี 1954 เขาจึงตัดสินใจกลับมาลงหลักปักฐานที่เมืองบัคคิงแฮมเชอร์ (Buckinghamshire) ประเทศอังกฤษ ภายในบ้านอันเงียบสงบพร้อมกับครอบครัว บริเวณหลังบ้านเป็นลานหญ้ากว้างใหญ่ เขาต้องการสร้างบ้านหลังเล็กๆ (hut) เพื่อนั่งเขียนงานเงียบๆ คนเดียว ตามอย่างนักเขียนคนโปรด ซึ่งเป็นความประทับใจส่วนตัว หลังจากได้ไปเยี่ยมบ้านของ ดีแลน โธมัส (Dylan Thomas)

Photo: Ian Cook / Time Life Pictures
Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre

บ้านหลังขนาดกะทะรัดนี้ คือ จุดกำเนิดงานเขียนมหัศจรรย์สำหรับเด็กๆ ซึ่งสร้างขึ้นโดยวอลลี ซอนเดอร์ส (Wally Saunders) เพื่อนสนิทของโรอัลด์ ด้วยโครงสร้างง่ายๆ ไม่ซับซ้อนทำให้เขาใช้เงินก่อสร้างไปเพียง 80 ปอนด์ นอกจากนี้ เขายังปูอิฐเป็นทางเดินเชื่อมกับบ้านหลังใหญ่ เมื่อสร้างเสร็จ โรอัลด์จึงนำเก้าอี้นั่งสบาย โต๊ะ และชั้นวางของเข้ามาไว้ภายหลัง

Photo: https://www.walesonline.co.uk/lifestyle/nostalgia/gallery/dahl-7754645

โรอัลด์เจาะหลังเก้าอี้ให้เป็นรูขนาดใหญ่ เพื่อลดแรงกดบริเวณกระดูกสันหลัง ไม่ให้เกิดอาการปวดจากการนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ รวมถึงให้ไอความร้อนจากฮีตเตอร์ส่งมาถึงด้านหลัง เป็นวิธีสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย หากต้องนั่งเขียนงานในช่วงฤดูหนาว

แต่ละวัน เขาจะตื่นแต่เช้าตรู่ แล้วเดินมาที่บ้านหลังเล็ก พร้อมถือกระติกกาแฟและแก้วสำหรับเอาไว้ดื่มระหว่างเขียนงาน เมื่อเข้ามาภายใน เขาจะวางของบนโต๊ะก่อนนั่งลงที่เก้าอี้ตัวนุ่ม จากนั้นหยิบผ้าสักกะหลาดลายสก๊อตสีเขียวและน้ำเงินขึ้นมาห่ม พร้อมกับวางเท้าบนกระเป๋าเดินทางหนังใบใหญ่ ข้างๆ เก้าอี้มีม้วนกระดาษลังที่เขาทำขึ้นเอง เอาไว้รองกระดานไม้อัดที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเองเหมือนกัน เพื่อให้ได้องศาพอเหมาะสำหรับเขียนงาน

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre

ทุกครั้งก่อนเริ่มเขียน โรอัลด์จะหยิบแว่นตามาใส่ แล้วใช้แปรงขนาดเล็กปัดเศษยางลบที่หลงเหลืออยู่บนกระดานออกให้หมด บนพื้นของห้องจึงมักจะมีเศษยางลบจำนวนมากตกอยู่ และเหลาดินสอให้แหลมด้วยกบเหลาดินสอไฟฟ้า 

โรอัลด์ยังเป็นคนถือความเชื่อเรื่องโชคลาง เขาไม่ชอบเลขคี่ เพราะเชื่อว่าเป็นจำนวนอัปมงคลที่จะนำพาเรื่องไม่ดีเข้ามาในชีวิต เขาจึงเลือกใช้ดินสอที่มีความเข้มระดับ HB ทั้งหมด 6 แท่งสำหรับเขียนงาน ต้องไม่ขาดและไม่เกินมากไปกว่านี้ โดยใส่ไว้ใน Toby Jug หรือถ้วยเซรามิกที่ทำเป็นรูปร่างคน 4 แท่ง ส่วนบนแผ่นไม้อัดที่ใช้เขียนงาน นอกจากยางลบ แผ่นกระดาษมีเส้น แปรงปัดเศษยางลบ จะมีดินสอ 2 แท่งวางไว้เสมอ แม้ว่าเขาจะใช้เขียนจริงๆ เพียงแท่งเดียวก็ตาม

Photo: Roald Dahl Museum (2016) https://twitter.com/roalddahlmuseum/status/741575720393138176
Photo: Roald Dahl Museum (2016) https://twitter.com/roalddahlmuseum/status/741575720393138176

ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็นดินสอด้ามสีเหลืองของแบรนด์ Ticonderoga เท่านั้น ก็เพราะว่าเป็นความรู้สึกคุ้นชินของโรอัลด์ ซึ่งเขาเคยหยิบจับใช้เขียนงานตลอดระยะเวลาที่เป็นทูตทหารในสหรัฐอเมริกา

ทุกๆ วัน โรอัลด์ยังกำหนดเวลาเขียนงานเป็นจำนวนคู่ คือ วันละ 4 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นช่วงเช้า 2 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มตั้งแต่สิบโมงเช้าไปจนถึงเที่ยงวัน จากนั้นเขาจะพักกินข้าวกับครอบครัว และทำสิ่งอื่นๆ ต่อ เช่น อ่านหนังสือ แล้วค่อยกลับมาเขียนงานในช่วงบ่ายอีก 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาบ่ายสี่โมงถึงหกโมงเย็น

ระหว่างเขียนงานโรอัลด์จะปิดผ้าม่าน เพื่อป้องกันแสงแดดไม่ให้ส่องผ่านกระจกหน้าต่างเข้ามาในบ้าน แล้วอาศัยแสงสีส้มจากโคมไฟแทน

โรอัลด์ใช้เวลาเขียนเรื่องสั้นหนึ่งเรื่องอย่างต่ำ 6 เดือน เขามักจะแก้ไขงานเขียนของตัวเองซ้ำๆ จนกว่าจะรู้สึกพอใจ โดยขั้นตอนสุดท้ายที่บอกได้ว่างานเขียนของเขาสมบูรณ์แล้ว คือ การอ่านออกเสียงได้อย่างลื่นไหล เมื่อเขียนเสร็จ เขาจะส่งต่อไปให้ เควนทิน เบลค (Quentin Blake) ซึ่งเป็นศิลปินชาวอังกฤษเพียงคนเดียวที่เขาไว้วางใจในฝืมือให้ช่วยสร้างสรรค์ภาพประกอบ เพราะชื่นชอบผลงานเป็นการส่วนตัว

นอกจากนี้ โรอัลด์ยังเสพติดการสูบบุหรี่อย่างหนัก เขาชอบบุหรี่แบรนด์ Dunhill มาก ระหว่างวันเขาสูบบุหรี่แทบจะตลอดเวลา เขม่าควันจากยาเส้นจึงเปลี่ยนสีผนังภายในห้องให้กลายเป็นสีซีเปีย (Sepia) หรือสีเทาอมน้ำตาลเข้ม

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre

บนผนัง ยังเต็มไปด้วยภาพถ่ายของครอบครัว โปสการ์ดที่เขาชอบ และข้อความจากจดหมายที่คนใกล้ชิดและเด็กๆ เขียนถึง นอกจากนี้ ยังมีการ์ดคริสต์มาสที่เขาเคยได้รับมาจากบุรุษไปรษณีย์ชื่อ วิลลี วอนก้า (Willy Wonka) สมัยทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างตัวละครที่ใช้ชื่อเดียวกันในวรรณกรรมเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory (1964) (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อ โรงงานช็อคโกแล็ตมหัศจรรย์)

ส่วนบนโต๊ะ มีของที่ระลึกแปลกๆ จำนวนมากวางไว้ ซึ่งเขาเก็บสะสมมาเรื่อยๆ ตลอดชีวิต เพราะของทุกชิ้นคือส่วนหนึ่งของความทรงจำที่เขาไม่อาจตัดใจทิ้งไปได้ เช่น เศษกระดูกไขสันหลังและกระดูกสะโพกของตัวเองจากการผ่าตัดบริเวณหลังรวม 6 ครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาปวดหลังเรื้องรัง

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre
Photo: Roald Dahl Museum (2017) https://twitter.com/roalddahlmuseum/status/831794270663299072/photo/1

ลูกบอลที่ทำมาจากฟอยล์อลูมิเนียมสีเงินเหลือทิ้งจากห่อช็อกโกแลต เครื่องบินจำลองขนาดเล็กทำจากทองแดง และโอปอล แร่หินที่ได้มาจากเด็กน้อยคนหนึ่ง ขณะเขาเดินทางไปพบปะแฟนหนังสือที่ประเทศออสเตรเลียในปี 1898 ซึ่งเป็นอัญมณีที่สื่อความหมายถึงความรักและความหวัง

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre
Photo: Parentshaped (2016) www.parentshaped.co.uk

บนชั้นวางของ โรอัลด์วางกรอบรูปขนาดใหญ่ไว้ชั้นบนสุด เป็นภาพของพ่อและพี่สาวที่ด่วนจากไป ตั้งแต่เขายังเด็ก ส่วนชั้นอื่นๆ เขาจะวางกระดาษและหนังสืออ้างอิงสำหรับประกอบการเขียนเผื่อไว้ ซึ่งเป็นหนังสือ 2 เล่มที่เขาหยิบมาเปิดดูบ่อยที่สุด คือ Roget’s International Thesaurus และ The Penguin Dictionary of Quotations and The Synonym Finder

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre

ความเงียบคือสิ่งที่โรอัลด์ต้องการมากที่สุดขณะเขียนงาน เขาจึงหลอกลูกๆ ว่าในบ้านหลังเล็กมีหมาป่าอาศัยอยู่ ทำให้ไม่มีใครกล้าแม้กระทั่งเข้าใกล้บ้านหลังนี้เลย

โรอัลด์สร้างสรรค์งานเขียนเป็นเวลาเวลา 35 ปี ภายในห้องเล็กๆ ที่อบอวลไปด้วยความทรงจำที่เขาเก็บสะสมไว้ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตอย่างสงบในปี 1990 ด้วยวัย 74 ปี

ผลงานเล่มสุดท้ายที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ คือ The Roald Dahl Diary 1997 ก่อนหน้านี้ยังมีอัตชีวประวัติของเขาอีก 3 เล่ม คือ Boy: Tales of Childhood (1984) (ฉบับแปลภาษาไทย ชื่อ เด็กชายโรอัลด์ ดาห์ล) โดยเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็ก Going Solo (1986) (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อ บินเดี่ยว) บอกเล่าประสบการณ์วัยหนุ่มเมื่อครั้งเป็นนักบิน และ The Wonderful Story of Henry Sugar and Six More (1977) (ฉบับแปลภาษาไทย ชื่อ เรื่องแรก) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มต้นเป็นนักเขียน

หลังจากเขาเสียชีวิต บ้านหลังเล็กก็ถูกทิ้งร้างไว้ในสภาพเดิม ของทุกอย่างยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม จนกระทั่งในปี 2011 ทาง Roald Dahl Museum and Story Centre ตัดสินใจย้ายของทุกชิ้นภายในบ้าน แม้กระทั่งเศษกระดาษ และเศษยางลบที่ตกอยู่บนพื้น เพื่อนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยภัณฑารักษ์ได้เก็บข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งของของแต่ละชิ้น เพื่อรักษาสภาพและบรรยากาศในห้องทำงานของโรอัลด์ไว้ให้เหมือนเดิมและสมบูรณ์แบบมากที่สุด

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre
Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre
Photo: Parentshaped (2016) www.parentshaped.co.uk

ครั้งหนึ่ง โรอัลด์ได้เขียนไว้ในหนังสือ Roald Dahl’s Book of Ghost Stories (1983) (ฉบับแปลภาษาไทย ชื่อ ชั่วโมงผี) ว่า สำหรับเขา หนังสือเด็กคือสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง ซึ่งต้องไม่ใช่แค่จูงใจให้ติดตาม และมีความสนุกแบบนิยายสำหรับผู้ใหญ่ แต่หนังสือเด็กต้องทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือ สอนให้เด็กชอบการอ่าน

ความตั้งใจของโรอัลด์เป็นจริงเสมอมา เพราะผลงานของเขาเป็นที่รักของคนทุกวัย หากใครก็ตามมองหาหนังสือสักเล่มที่แนะนำให้เด็กๆ รู้จักการอ่าน หนังสือของโรอัลด์ควรค่าแก่การหยิบยื่นให้เด็กทุกคน

Photo: The Roald Dahl Museum and Story Centre

ที่มากไปกว่านั้น เรื่องราวของโรอัลด์ ยังทำหน้าที่เป็นมากกว่ากุญแจที่ช่วยให้เด็กๆ เปิดประตูสู่โลกแห่งหนังสือและจินตนาการ แต่อาจเป็นการเปิดโอกาสที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กคนหนึ่งไปตลอดกาล ด้วยการเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า การอ่าน

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของโรอัลด์ ดาห์ล

Fantastic Mr. Fox (1970) / คุณจิ้งจอก (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ)
เรื่องราวแสนวุ่นวายที่เริ่มต้นจากการกระทำอันอุกอาจของ ‘คุณจิ้งจอก’ เพราะเขาตัดสินใจหาเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว ซึ่งอาศัยอยู่ในโพรงใต้ดิน ด้วยวิธีขโมยไก่ เป็ด ห่าน และเหล้าแอปเปิ้ลไซเดอร์จากฟาร์มของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เมื่อถูกจับได้ เจ้าของฟาร์มฐานะร่ำรวยทั้ง 3 คน จึงรู้สึกโกรธและโมโหมาก ประกอบกับนิสัยเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด ทุกคนจึงร่วมมือกันหาทางกำจัดคุณจิ้งจอกและครอบครัว เพื่อหวังคืนความสงบสุขให้กับทุกฟาร์มอีกครั้ง เนื้อเรื่องตลอดทั้งเล่มนอกจากจะสร้างเสียงหัวเราะและความสนุกผ่านสารพัดวิธีแก้เผ็ดที่แต่ละคนใช้โจมตีและปกป้องฝ่ายของตัวเองแล้ว ยังนำไปสู่บทสรุปที่ชวนให้ผู้อ่านคิดและตั้งคำถามต่อการกระทำสุดโต่งของตัวละคร แล้วชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘ความถูกต้อง’ และ ‘ความถูกใจ’ ก่อนตัดสินว่า อะไรคือทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้

The BFG (1982) / ย.จ.ด. (ยักษ์ใจดี) (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ)
เป็นเรื่องราวของยักษ์ผู้เรียกตัวเองว่า BFG ซึ่งย่อมาจาก The Big Friendly Giant เขาต่างจากยักษ์ทั่วไป เพราะเป็นยักษ์แก่ที่ใจดีสมชื่อ เขาอ่อนโยน สุภาพ และถ่อมตน แต่ที่สำคัญคือไม่กินมนุษย์เป็นอาหาร แถมยังชอบเข้าไปในเมืองเพื่อเก็บฝันดีใส่ขวด แล้วไปมอบให้กับเด็กๆ ที่นอนหลับอยู่ในเวลากลางคืน จนกระทั่งวันหนึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเด็กหญิงกำพร้าชื่อ ‘โซฟี’ ตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วเห็น ‘ย.จ.ด.’ เข้าโดยบังเอิญ เธอจึงโดนจับไปยังดินแดนยักษ์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยเพื่อปกป้องเมืองของเธอจากยักษ์ชั่วร้ายกินคน ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าประทับใจที่เกิดขึ้นจากมิตรภาพระหว่างเด็กหญิงตัวเล็กและยักษ์ใหญ่ใจดี

Matilda (1988) / มาทิลดา นักอ่านสุดวิเศษ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ)
เป็นเรื่องราวของ ‘มาทิลดา’ เด็กหญิงอัจฉริยะผู้หัดอ่านหนังสือด้วยตัวเองตั้งแต่ 3 ขวบ ทำให้เธอรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ ในวัยเพียง 4 ขวบ เธอมักจะเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดสาธารณะ เพราะพ่อแม่ของเธอเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ทั้งบ้านจึงมีหนังสือเพียงเล่มเดียว ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เธอชอบยังเป็นเรื่องไร้สาระในสายตาของพ่อและแม่ เมื่อถึงวัยเข้าเรียน เธอจึงเป็นเด็กฉลาดเฉลียวและเป็นเด็กที่น่าเห็นใจของ ‘ครูฮันนี่’ ด้วย ต่างจากครูใหญ่ของโรงเรียนผู้มองว่าเด็กๆ คือที่รองรับอารมณ์ แต่เรื่องราวกลับตาลปัตรไปกันใหญ่ เมื่อพ่อของเธอคดโกงจนต้องพาครอบครัวหนีปัญหา บทสรุปของเรื่องจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ามาทิลดาใช้ความสามารถของเธอเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งหมดได้อย่างไร แต่สื่อให้เห็นถึงความสำคัญอันแสนวิเศษของการอ่านหนังสือมากกว่า

อ้างอิง