อ่านเมื่อไหร่ไม่รู้ ขอซื้อไว้ก่อน
เป็นเหมือนกันไหม รู้สึกอดใจไม่ไหวขึ้นมาทันทีเมื่อเห็นหนังสือน่าอ่าน
เล่มนี้ออกใหม่ เล่นนั้นของนักเขียนคนโปรด เล่มโน้นติดอันดับขายดี ซึ่งความอยากครอบครองหนังสือทั้งหมดนี้ บ่อยครั้งกลับยุติลงได้ด้วยการซื้อ
นั่นหมายความว่า เราตั้งใจซื้อหนังสือเพื่อความสบายใจของตัวเอง โดยไม่ทันได้สนใจด้วยซ้ำว่า หลังจากซื้อมาแล้ว จะมีโอกาสหยิบหนังสือขึ้นมาเปิดอ่านเมื่อไหร่ รู้ตัวอีกทีเราอาจไม่ได้เป็นแค่นัก(อยาก)อ่าน แต่ยังเป็นนักดองหนังสือตัวยงด้วย
คำว่า ดอง จึงสื่อถึงการซื้อหนังสือจำนวนมากมาเก็บไว้เฉยๆ หรือเพื่อรอโอกาสอ่านในอนาคต ซึ่งอาจยาวนานเป็นสัปดาห์ เดือน ปี หรือหลายสิบปี โดยในภาษาญี่ปุ่นมีคำเฉพาะเอาไว้ใช้เรียกพฤติกรรมลักษณะนี้ว่า ซึนโดะคุ (Tsundoku)
อันที่จริง การดองหนังสือไม่ใช่ปัญหาสำคัญอะไร เพราะถือเป็นความพึงพอใจส่วนตัวของนักอ่านเท่านั้น เพียงแต่ว่า หนังสือจำนวนมากที่กองรวมกันเป็นตั้งๆ อาจทำให้นักขยันดองหลายคนต้องการเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ เพื่อจัดการกับบรรดาหนังสือมหาศาลเหล่านี้
becommon ได้รวบรวมเคล็ด(ไม่)ลับที่น่าสนใจ สำหรับเป็นทางเลือกให้นักดองหนังสือนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง ด้วยความหวังว่า วิธีการต่อไปนี้จะช่วยทำให้ทุกคนมีเวลามากกว่าหยิบหนังสือมาอ่าน และไม่ใช่แค่ในฐานะนักขยันอ่าน แต่ยังเป็นผู้แบ่งปัน และนักเรียนรู้ตลอดชีวิต
หยุดซื้อหนังสือเพิ่มทันที ถึงแม้ว่าวิธีหักดิบแบบนี้เท่ากับการทำร้ายความรู้สึกของนักดองหนังสือ แต่ถ้าหากต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็ต้องทำใจให้แข็งเข้าไว้ อย่าอ่อนไหวต่อความอยากเหมือนที่เคยเป็น ขืนไม่หักห้ามใจ สุดท้ายจะกลับไปสู่วังวนเดิมๆ นั่นคือมีหนังสือใหม่มาดองเพิ่ม
จัดสรรเวลาที่ดีสำหรับการอ่าน ตกลงกับตัวเองว่าต้องจัดสรรเวลาอ่านหนังสือเป็นประจำทุกวัน โดยระบุรายละเอียดเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น จะอ่านหนังสือเวลาไหน เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ หรือแบ่งเป็นจำนวนบท หรือหน้าแทนก็ได้ เพื่อสร้างวินัยการอ่านและกำจัดข้ออ้างที่ว่าไม่มีเวลาอ่านหนังสือ
ออกจากบ้านให้ถือเล่มโปรด เวลาไปไหนมาไหน เช่น ไปทำงาน หรือไปเที่ยว ให้เลือกหนังสือที่ชอบหรือสนใจสักเล่มสองเล่ม แล้วพกติดกระเป๋าไว้ด้วยเสมอ เผื่อหยิบขึ้นมาอ่านเล่นฆ่าเวลา โดยเฉพาะขณะเดินทาง ระหว่างรอนัดหมาย หรือหลังจากทำกิจกรรมอื่นๆ เสร็จ เวลาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวันเหล่านี้ ทำให้สามารถอ่านหนังสือได้หลายหน้า
หนังสือยิ่งมีประโยชน์เมื่อถูกส่งต่อ หากหนังสือที่ดองไว้มีจำนวนมากมายจนคิดว่าอ่านไม่ไหวหรือไม่อยากเก็บไว้ต่อ ให้คัดเลือกหนังสือเป็น 2 กลุ่ม คือ อยากอ่าน และรู้สึกเฉยๆ แล้วนำหนังสือกลุ่มหลังไปแบ่งปันหรือบริจาคให้คนที่ต้องการอ่าน อาจต่อให้เพื่อน ห้องสมุดสาธารณะ สถานศึกษา สถานที่รับบริจาค หรือไม่ก็นำหนังสือเข้าร่วมแคมเปญ The Book Fairies ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ทำให้การอ่านสนุกขึ้นได้
จดบันทึกข้อค้นพบที่ได้เรียนรู้ การอ่านและการเขียนเป็นทักษะพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกัน แต่สิ่งที่ได้จากการอ่านจะคงอยู่ในความทรงจำเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะลืมไปในที่สุด จึงจำเป็นต้องอาศัยการเขียนด้วยลายมือ รวมถึงการพิมพ์ เข้ามาช่วยบันทึกข้อคิดหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือแต่ละเล่ม คล้ายกับทำสัญญาส่วนตัวในรูปแบบบันทึกการอ่าน เพื่อเตือนตัวเองว่าการอ่านคือสร้างโอกาสพัฒนาตัวเอง สำคัญที่สุดคือทำให้สามารถหยิบหนังสือจากกองดองขึ้นมาอ่านอย่างกระตือรือร้น
อ้างอิง
- Cami Rosso. What your stacks of unread books say about you. https://bit.ly/36uZ806
- Tom Gerken. Tsundoku: The art of buying books and never reading them. https://bbc.in/3ioq4kE