life

ภาษาที่สองทำให้ทุกอย่างดู ‘ซอฟต์’ ลง

เคยสังเกตไหมว่าเวลาเราได้ยินคำหยาบภาษาอื่น เรามักไม่ค่อยรู้สึกกระทบกระเทือนใจเท่าไร แม้จะรู้ความหมายของมันก็ตาม หรือบางทีแม้กระทั่งตัวเราเองก็หลุดคำสบถเหล่านั้นออกมาด้วยความชินปาก 

สำหรับคนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ และเรียนภาษาที่สอง (หรืออาจจะมากกว่านั้น) คงเคยได้ยินคำหยาบของภาษานั้นๆ มาบ้าง ในที่นี้เราจะขอยกตัวอย่างภาษาอังกฤษให้นึกตามกันง่ายๆ

หากใครชอบเพลงสากลอาจเคยได้ยินได้ฟังเพลงที่มี F Word รัวๆ หรือไม่ก็คำหยาบอื่นๆ และบ่อยครั้งเราก็เสพเพลงพวกนั้นจนคุ้นหู บางเพลงถึงกับใช้คำหยาบมาตั้งเป็นชื่อเลยทีเดียว เช่น Bitch Better Have My Money / Fuckin’ Perfect หรือแม้แต่ซีนอินดี้อย่าง Who The Fuck Are Arctic Monkeys? 

แต่เคยคิดไหมว่าถ้าเพลงพวกนั้นเปลี่ยนเป็นภาษาไทย คุณจะยังเสพมันด้วยรอยยิ้มอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจอยู่หรือเปล่า เป็นไปได้ว่าต้องมีขมวดคิ้วกันบ้างถ้าเจอชื่อเพลงที่มีคำว่า ‘โคตร’ ‘แม่ง’ ‘ฉิบหาย’ (และอีกหลายๆ คำที่ บ.ก. คงไม่ให้เขียนลงในนี้)

เราจะมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยคำว่า ‘Emotional Distance’

ความเหินห่างทำให้ไร้อารมณ์ร่วม

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เรื่อง ‘ผลกระทบทางอารมณ์จากภาษาที่สอง’ นี้ เราไม่ได้คิดเอาเอง แต่มีการวิจัยออกมาแล้ว โดยรองศาสตราจารย์ Catherine Caldwell-Harris ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบอสตัน

Catherine Caldwell-Harris

เธอกล่าวว่า ภาษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก การที่เราเติบโตมากับภาษาใดภาษาหนึ่ง จึงทำให้วัฒนธรรมบางอย่างของภาษานั้นพ่วงมาด้วย 

และแน่นอนว่าภาษาที่ติดตัวเรามาเหมือน ‘กาวตราช้าง’ แบบนั้น เมื่อเอามาเทียบกับภาษาใหม่ที่เพิ่งแปะเข้าไปภายหลังด้วย ‘กาวลาเท็กซ์’ ความเข้มข้นทางอารมณ์เวลาพูดจึงต่างกัน ทำให้คนที่พูดสองภาษา (Bilingual) รู้สึกว่าการสบถด้วยภาษาที่สองนั้นทำได้ง่าย และสะเทือนอารมณ์น้อยกว่ามาก

ยกตัวอย่าง เช่น คนญี่ปุ่นที่ออกจะนอบน้อมและสุภาพ พวกเขาไม่ชอบการด่าทอเอามากๆ เมื่อถึงคราวต้องด่า หลายคนจึงหันมาใช้คำด่าภาษาอังกฤษแทน หรือจะเป็นวัฒนธรรมการบอกรักที่ไม่ค่อยนิยมทำกัน พวกเขาก็สามารถพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นก่อน แล้วจึงสลับภาษาลงท้ายประโยคว่า “love ya” ได้อย่างไม่เคอะเขิน

ว่าง่ายๆ คือ ภาษาที่สองให้อิสระในการพูดอะไรก็ตามที่พวกเขาพูดในภาษาแม่ของตัวเองได้ไม่ถนัด เพราะอารมณ์หรือวัฒนธรรมบางอย่างที่แฝงอยู่ในคำนั้นๆ

มองตาก็รู้ใจ

ถ้ายังไม่เชื่อกัน งั้นเราขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งการทดลองโดย Wilhelmiina Toivo กับโปรเจคจบปริญญาเอกของเธอ 

โดยเธอให้กลุ่มทดลองดูภาพและคำสะเทือนอารมณ์ที่เป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นใช้เครื่องวัดรูม่านตา ผลปรากฏว่ารูม่านตาขยายใหญ่เมื่อเห็นคำกระตุ้นเหล่านั้น (แหงล่ะ)

แต่! ผลที่ว่านี้กลับน้อยลงในคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง

อิสระของเรา ใช้เสียให้คุ้ม

ถึงแม้ว่าภาษาที่สองจะทำให้เรามีอารมณ์ร่วมน้อยลง ทว่ามันก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าภาษาที่สองให้อิสระในการพูดโดยไม่ทำให้เรากระทบกระเทือนใจมากนัก ข้อจำกัดในการพูดจึงลดลง หลายคนใช้ประโยชน์จากตรงนี้ในการพูดคุยถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Trauma) หรือเรื่องที่อัดแน่นด้วยอารมณ์อื่นๆ

รู้แบบนี้แล้ว ถ้าทะเลาะกับคนที่พูดภาษาที่สองเดียวกัน อาจจะลองคุยด้วยภาษานั้นแทนก็ได้นะ เพราะมันเป็นการลดแรงปะทะที่ดีเลย

โปรดระวังวัฒนธรรมต่างระดับ

อย่างที่รู้กันว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ เมื่อเราใช้ประโยชน์จากภาษาที่สองได้ เราก็ควรระวังไม่ให้เกิดโทษเช่นกัน

ด้วยวัฒนธรรมและอารมณ์ร่วมที่ต่างกันในแต่ละภาษา จึงควรระวังเวลาสบถ ร้องเพลง หรือพูดคุยอะไรก็ตาม ให้อยู่ในบริบทที่เหมาะสมของภาษานั้นๆ 

“เพราะบางอย่างที่เราไม่รู้สึก ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่รู้สึกเหมือนกันหมด”

 

อ้างอิง: