life

เป็นที่ทราบกันดีว่าการปฏิวัติซินไฮ่ เมื่อปี 1911 คือการยุติระบอบศักดินาแบ่งชนชั้นในจีน และสร้างสังคมใหม่ในรูปแบบสาธารณรัฐที่มนุษย์ทุกผู้เท่าเทียมกัน (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี)

แต่การปฏิวัติซินไฮ่ จะสำเร็จลงไม่ได้หากปราศจากนายทุน และนายทุนใหญ่ที่สนับสนุนขบวนการพลิกฟ้าคว่ำดิน มิใช่คนแผ่นดินใหญ่ หากแต่เป็นบรรดาเจ้าสัว “หัวเฉียว” หรือคนจีนโพ้นทะเล และคนจีนในดินแดนใต้อาณัติของต่างชาติ เช่นที่เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง

ฮ่องกงถือเป็น Safe Haven ของขบวนปฏิวัติ หากก่อการล้มเหลว พวกแกนนำมักจะหนีมากบดานที่นี่ หากจะเริ่มต้นใหม่พวกเขาจะเริ่มต้นที่นี่ และหากขัดสนเงินทอง ที่นี่มีเจ้าสัว “ผู้รักชาติ” มากมายที่จะคอยเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้

hong kong 1920s
ฮ่องกง ปี 1920s (Photo: rememberingletters.files.wordpress.com)

ในสมัยโบราณ การบริจาคทานในระดับเมกะโปรเจกต์ หรืองานการกุศลที่มีโครงสร้างองค์กร เป็นสิ่งที่แยกสามัญชนที่เป็นคนจนและคนรวยออกจากกัน

เช่น ในสังคมไทย ที่ไพร่และกระฎุมพีมีวิถีชีวิตไม่ต่างกันนัก กับข้าวกับปลาก็ไม่ต่าง เครื่องแต่งกายก็ถูกตีกรอบด้วยกฎหมาย (ห้ามแต่งเลียนชนชั้นสูง) พวกคหบดีจะแสดงความรวยออกมาผ่านการทำทานขนานใหญ่ การจะรู้ว่าใครรวยนั้นไม่ได้ดูที่เรือนหรือเครื่องแต่งตัว แต่ให้ดูว่า เขาตอบแทนสังคมได้มากแค่ไหน ซึ่งบรรดา “เจ๊สัว” (คำเรียกแต่เดิมก่อนจะผันเป็น “เจ้าสัว”) ในยุคเก่าของไทยมักนิยมตั้งโรงทานหรือบูรณะวัดวาอารามเป็นหลัก ด้วยวัดนั้นคือศูนย์กลางของชุมชน

ศาลเซี้ยะอึ้งกง
“ศาลเจ้าเซี้ยอึ้งกง” ในย่านสำเพ็ง สร้างโดยเจ้าสัวติกในสมัยรัชกาลที่ 5 (Photo: @oak_765 | instagram)

ในสังคมจีน มิได้มีกรอบมากมายเท่าสังคมไทย และเจ้าสัวทั้งหลายมีร้อยแปดพันวิธีที่จะเสพสุขเยี่ยงฮ่องเต้ เพียงแต่พวกเขาก็ยังเลือกที่จะแสดงความรวยด้วยการแสดงน้ำใจ สมาคมอาชีพต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมามิใช่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของนายทุนเท่านั้น แต่เพื่อทำงานเพื่อสาธารณกุศลด้วย

องค์กรการกุศลหลายแห่งในจีนเกี่ยวเนื่องกับศาสนา พระเถระหลายท่านเป็นผู้ชักชวนให้เศรษฐีปล่อยวางในทรัพย์ แจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ ส่วนเจ้าสัวใหญ่ๆ บางคนก็เข้าถึงหลักปล่อยวาง “เพราะตายแล้วเอาเงินไปปรโลกไม่ได้” มีแต่เงินในโลกของคนเป็นเท่านั้น ที่่จะมีประโยชน์ต่อคนที่ต้องการมันจริงๆ

ขณะที่แผ่นดินใหญ่ผ่านทุกข์เข็ญอย่างหนักในช่วงสงครามกลางเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองหลังปลดปล่อยโดยพรรคคอมมิวนิสต์ นายทุนจีนในแผ่นดินใหญ่ถูกกำจัดจนสิ้น มิพักจะเอ่ยถึงค่านิยมเรื่องสาธารณกุศลที่สาบสูญไป การกุศลถูกมองว่าเป็นเรื่องของการมอมเมามวลชนด้วยความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นทัศนะที่ไม่ผิดอะไรนัก หากพิจารณาว่า องค์กรการกุศลแต่โบราณของจีนมักยึดโยงกับขบวนการทางศาสนา

ปฏิวัติวัฒนธรรม จีน
การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ ปี 1966 มีเป้าหมายหนึ่งคือมุ่งขจัดทุนนิยม และทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

เช่น Chinese Encyclopedia ฉบับปี 1991 นิยามคำว่า ‘Philanthropy’ เอาไว้ว่า “มีนัยเรื่องศาสนาและความงมงายอย่างมาก เป้าหมายในการทำความดีก็เพื่อความดี …สำหรับคนจำนวนน้อย ถือเป็นการรับความช่วยเหลือแบบงอมืองอเท้าเพียงชั่วคราว …ผลลัพธ์ต่อสังคมยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน”

จากนิยามนี้ แสดงให้เห็นถึงทัศนะของคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่องานการกุศลว่ามีแรงขับเคลื่อนเรื่องความเชื่อ และให้ผลกระพร่องกระแพร่ง ไม่เหมือนรัฐสวัสดิการอันเท่าเทียมของคอมมิวนิสต์ ในสายตาของคอมมิวนิสต์ งานการกุศลเป็นเพียงลัทธิปัจเจกชนและลัทธิวีรบุรุษฉายเดี่ยวที่น่าตำหนิ

แม้จิตวิญญาณของการทำกุศลจะถูกบดขยี้ในแผ่นดินใหญ่ แต่ฮ่องกงยังสามารถรักษาจิตวิญญาณนั้นเอาไว้ได้ เศรษฐีในสาขาอาชีพต่างๆ ยังนิยมบริจาคเพื่อตอบสังคม และเพื่อแสดงตนว่าพวกเขารวยแต่รับผิดชอบ เช่น ลีกาชิง สร้างวัดฉือซ่านอันใหญ่โต เพื่อรับใช้งานศาสนาในฮ่องกง และตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาด้านพุทธศาสน์

ลีกาชิง
ลีกาชิง

ลีกาชิง เชื่อว่า ศาสนามิใช่เป็นที่พักพิงจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนเราสร้างความรุ่มรวยให้เกิดขึ้นกับชีวิตด้วย

วัดฉือซ่าน Tsz Shan Monastery
วัดฉือซ่าน (Tsz Shan Monastery)

นี่คือความหลากหลายของเบื้องหลังความใจบุญของคนมีเงิน

เจ้าสัวบางคนบริจาคเงินไม่อั้นให้กับการสร้างโรงพยาบาลและงานสาธารณกุศล

เจ้าสัวฮ่องกงบางคน เช่น ลีกีทง ช่วยเหลือการปฏิวัติ คงเพราะเชื่อเหมือน ซุนยัตเซนและหลู่ซวิ่น ว่าการรักษาทางการไม่เพียงพอ ต้องเยียวยาความเจ็บป่วยของชาติบ้านเมืองด้วย

และบางคนเชื่อว่าการมอบสิ่งที่ประเสริฐสุด คือชี้ทางสว่างให้กับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะชีวิตที่ไม่ตกเป็นทาสทางวัตถุ

หนังสือ Power and charity: A Chinese merchant elite in Colonial Hong Kong
หนังสือ Power and charity: A Chinese merchant elite in Colonial Hong Kong

Power and charity: A Chinese merchant elite in Colonial Hong Kong เป็นหนังสือที่จะช่วยสร้างความเข้าใจวิธีคิดของเจ้าสัวฮ่องกงกับการกุศล (และการเมืองภายใต้ฉากหน้างานกุศล) ได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะในยุคอาณานิคม แต่ปัจจุบัน ไม่เฉพาะพ่อค้านายวาณิชย์เท่านั้นที่แบ่งปันความรวยให้ชุมชน ดาราใหญ่ในฮ่องกงก็เดำเนินรอยตามเช่นกัน ในยุคที่เศรษฐกิจฮ่องกงขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมบันเทิงมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 ดารานักร้องก็เปรียบดัง “เจ้าสัว” ของศตวรรษที่ 20 และ 21

เฉินหลง Jackie Chan
เฉินหลง

ในช่วง 1 – 2 ปีมานี้ เราจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับนักร้องนักแสดงฮ่องกงที่ทำการกุศลแบบปิดทองหลังพระ หรือไม่ก็มีทัศนะที่น่าทึ่งเกี่ยวกับการสะสมทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่นข่าวที่ เฉินหลง ประกาศจะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้การกุศลตอนที่เขาเสียชีวิตแล้ว โดยไม่ยกเงินสักแดงเดียวให้ลูกชาย แม้ข่าวนี้จะฟังดูแล้วน่าอนุโมทนา แต่ก็มีความน่ากระอักกระอ่วนใจอยู่เรื่องการปฏิบัติต่อลูกชาย และไหนจะท่าทีเย็นชาของเฉินหลงต่อลูกสาวนอกสมรสอีก ทำให้ความใจบุญของเขาถูกมองในด้านลบอยู่ไม่น้อย

กรณีที่โด่งดังที่สุดและไร้มลทินที่สุด เห็นจะเป็นข่าวของ โจวเหวินฟะ

โจวเหวินฟะ
โจวเหวินฟะ

เมื่อประมาณเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากกับกรณีที่โจวเหวินฟะให้สัมภาษณ์กับ The Korean Daily ว่า เขาตั้งใจที่จะมอบทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่า 723 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับการกุศล และบอกว่าภรรยาของเขา (ในฐานะคนถือเงิน) ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ เขาบอกว่า

“ตอนตายแล้วผมเอาเงินไปด้วยไม่ได้ ดังนั้นทำไมถึงไม่บริจาคให้คนที่จำเป็นต้องใช้มันล่ะ”

เขาเสริมว่า

“เงินไม่ใช่ของผม ผมแค่เก็บไว้ชั่วคราว เงินไม่ใช่สิ่งที่จะนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตไม่ใช่การหาเงินมาได้มากแค่ไหน แค่เป็นการธำรงทัศนะต่อชีวิตที่สุขุมและสงบสุขต่างหาก”

หลังจากนั้น สื่อต่างขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวของ โจวเหวินฟะ เพื่อค้นดูว่าเขาคิดแบบนั้นจริงๆ หรือว่าเสแสร้งสร้างภาพ ปรากฎว่าสิ่งที่สื่อค้นพบคือ โจวเหวินฟะใช้ชีวิตเรียบง่ายมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และมีเงินติดกระเป๋าวันละไม่กี่ร้อย รวมแล้วทั้งเดือนเขาใช้เงินแค่ 800 เหรียญฮ่องกง แต่จริงๆ แล้วเขาใช้ไม่ถึงด้วยซ้ำ ส่วนโทรศัพท์ที่ใช้ก็เป็นมือถือโนเกียรุ่นเก่าที่ใช้มานานถึง 17 ปีแล้ว (เขาบอกว่าคนเราไม่ต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารให้มันมากนัก แค่รู้จักฟังเสียงหัวใจก็พอ) สวมเสื้อตัวละ 98 เหรียญฮ่องกง รองเท้าคู่ละ 15 เหรียญ ดูไม่สมกับสถานะของนักแสดงระดับไทคูนที่มีทรัพย์สินเหยียบพันล้าน

โจวเหวินฟะ
(Photo: 8days.sg)
โจวเหวินฟะ
(Photo: mustsharenews.com)
โจวเหวินฟะ
(Photo: 8days.sg)

อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังของโจวเหวินฟะ?

สำหรับคนที่เติบโตมาในช่วงยุคทองของหนังฮ่องกง ภาพลักษณ์ของโจวในฐานะนักแสดง คือตัวเอกในหนังแก๊งสเตอร์หรือการพนัน ราวกับมันคือเงาที่ติดตัวเขามาตลอด  แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Tribute.ca ว่า ที่จริงแล้วเขานับถือพุทธศาสนา และไม่ชอบความรุนแรง แต่ต้องทำเพราะมันเป็นงาน

โจวเหวินฟะ
โจวเหวินฟะ รับบท เสี่ยวหม่า ในภาพยนตร์เรื่อง ‘โหด เลว ดี’

ดูเหมือนว่า เขาจะไม่ใช่ชาวพุทธแต่ในรูปแบบที่วิ่งวุ่นขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือยึดติดในพิธีกรรม ตรงกันข้ามเขาเข้าถึงแก่นที่แท้จริงของพุทธศาสนา นั่นคือการปล่อยวาง

เขาเคยคลั่งไคล้รถโบราณราคาแพง แต่สุดท้ายปล่อยวางขายทิ้งจนหมด บอกว่า “ตัวผมเองก็เก่าพออยู่แล้ว”

เขาบอกกับ 8days.sg ว่า “ผมไม่มีแรงกดดันไม่มีภาระในชีวิต” และ “มันก็เป็นอย่างนั้น เรียบๆ ง่ายๆ แต่คนรอบข้างของผมนั่นแหละที่คิดว่าชีวิตของผมไม่เรียบง่าย”

วิถีชีวิตแบบนี้อาจฟังดูไม่พุทธเลย แต่ที่จริงมันคือจุดสูงสุดของ “พุทธะ” นั่นคือการปลดปล่อยตัวเองจากแรงกดดันที่โลกสมมติขึ้นมา ปลดตัวเองจากการเป็นเจ้าของทางวัตถุ เพราะแทนที่เราจะได้เป็นนายมัน เรากลับเป็นทาสที่ต้องคอยห่วงและกังวลกับสิ่งของเหล่านั้น ไม่เฉพาะแค่รถหรู มือถือแพงๆ แต่ยังรวมถึงเงินหลายพันล้านด้วย

คำว่า “คนเราตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้” ไม่ได้ออกมาจากปากของชาวพุทธเท่านั้น แต่มันคือสัจธรรมแต่ไรมา แม้แต่ในยุคที่ศาสนาพุทธยังไม่เกิด

ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์โลกยุคโบราณคงจะรู้จักจารึก ณ สุสานของพระเจ้าคูรุสมหาราช (ไซรัส แห่งเปอร์เซีย) มหาราชพระองค์นี้คือผู้พิชิตเอเชียเกือบครึ่งทวีป กำชัยไปสิบทิศครอบคลุมทะเลเมดิเตอเรเนียนจรดแม่น้ำสินธุ ผู้คนทุกหนแห่งยอมสวามิภักดิ์ หากพระองค์ปกครองโดยธรรมและปัญญา รัชสมัยแห่งคูรุสไม่เพียงเป็นยุคทองของตะวันออกลาง แต่ยังเป็นช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

สุสานของพระเจ้าคูรุสมหาราช Cyrus king of Persia ไซรัสแห่งเปอร์เซีย
สุสานของพระเจ้าคูรุสมหาราช (Photo: biblehistorycrashcourse)

หากเมื่อสวรรคตลงแล้ว มีจารึก ณ สุสานอย่างถ่อมพระองค์ราวกับประกาศหลักอนิจจังว่า

“ดูก่อน บุรุษทั้งหลาย ผู้สัญจรผ่านมา ข้าคือคูรุส ผู้มอบอาณาจักรอันไพศาลแก่ชาวเปอร์เซีย คือราชันผู้ปกครองอุษาทวีป อย่าได้ขุ่นเคืองยามเห็นสุสานแห่งเรา ซึ่งมีเพียงฝุ่นเถ้าห่มคลุมอยู่เพียงเท่านี้”

ความหมายของจารึกนี้ ก็คือ แม้แต่คูรุสผู้ปกครองโลกกึ่งหนึ่ง สุดท้ายเมื่อตายจากไป ได้เพียงพื้นที่ร่างตนฝังเท่านั้น เข้าทำนอง “ไม่มีใครใหญ่เกินโลง” และป้ายประกาศสุสานของคนๆ หนึ่ง คือคุณูปการที่เขามอบไว้ให้กับโลกนั่นเอง

แผ่นดินอันไพศาลของ คูรุส ก็เหมือนกับเงินทองและชื่อเสียงของโจวเหงินฟะ สักวันหนึ่งมันต้องตกเป็นของคนอื่น เหมือนที่โจวบอกว่า “เงินนี้ไม่ใช่ของที่คุณจะครอบครองไปตลอดกาล วันหนึ่งเมื่อคุณจากไป คุณต้องทิ้งมันไว้ให้คนอื่นได้ใช้ต่อ”

เพราะทรัพย์สินนั้นเป็นของกลาง ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง.