“นี่คือเวลาที่เราต้องทบทวนเกี่ยวกับวิถีชีวิต การกิน และการใช้วัสดุต่างๆ”
คารีนา กูลด์ (Kaarina Gould) ผู้บริหารสถาบันวัฒนธรรมแห่งฟินแลนด์ (Finnish Cultural Institute) พูดถึงที่มาของโปรเจค Zero Waste Bistro หรือร้านอาหารที่ไม่ก่อขยะและมลพิษ
ร้านอาหารแห่งนี้จึงปฏิเสธทุกสิ่งที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัตถุดิบที่เป็นของท้องถิ่นและออร์แกนิก โต๊ะ เก้าอี้ จานชาม หรือแม้กระทั่งตัวร้าน ต่างทำมาจากวัสดุรีไซเคิล
“เราต้องการสร้างอนาคตที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป ด้วยการลดขยะและช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม”
สถาบันวัฒนธรรมแห่งฟินแลนด์จึงรวบรวมนักออกแบบ วิศวกร สถาปนิก มาร่วมกันคิดสร้างร้านอาหารแห่งอนาคตจนได้ Zero Waste Bistro ร้านอาหารหน้าตาเก๋ไก๋ที่เปิดให้บริการช่วงเวลาสั้นๆ ในงาน WantedDesign Manhattan ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับการออกแบบชื่อดังที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19-22 พฤษภาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา
ถึงแม้ Zero Waste Bistro จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว แต่ผู้สร้างสรรค์ตั้งใจว่า หากนี่คือไอเดียที่ ‘ใช่’ อนาคตก็อยู่ที่นี่แล้ว
มาดูกันว่าในร้านแห่งอนาคตชื่อ Zero Waste Bistro มีไอเดียอะไรซ่อนอยู่บ้าง
ก่อนจะเข้าไปในร้าน Zero Waste Bistro แวะมาทำความรู้จักแนวคิด Zero Waste หรือ ‘ขยะเหลือศูนย์’ กันก่อน
Zero Waste เป็นแนวคิดที่พูดกันมาตั้งแต่ปลายยุค 90s เมื่อปริมาณขยะเริ่มสร้างปัญหาให้กับโลก
หลักการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การนำสิ่งของต่างๆ กลับมาแปรรูปใช้ใหม่ให้มากที่สุด ลดปริมาณขยะเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด กินและใช้สินค้าที่ใช้ซ้ำได้อย่างพอดี และทุกกระบวนการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แล้วร้าน Zero Waste Bistro ทำอะไรบ้าง?
ร้านสร้างจากกล่องนม
ผนังและตัวร้านสีฟ้าดีไซน์เก๋ไก๋ที่สะท้อนถึงสไตล์การออกแบบของฟินแลนด์ ล้วนประกอบขึ้นจากแผงรีไซเคิลที่ทำจาก ‘Tetra Pak’ หรือวัสดุที่นิยมใช้ทำกล่องนม
หากมองจากระยะไกล เราจะเห็นสีสันแสนสวย แต่เมื่อเดินเข้าไปมองใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าในสีสันเหล่านั้น มีบาร์โค้ดหรือข้อความของบรรจุภัณฑ์ซ่อนอยู่
สำหรับคนที่สนใจแผงรีไซเคิลนี้ ขอบอกว่าผลิตจริง ขายจริง และหาซื้อได้ แต่คงซื้อยากหน่อย เพราะบริษัท ReWall ผู้ผลิตอยู่ที่รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา
เฟอร์นิเจอร์และของใช้จากพลาสติกรีไซเคิล
คำว่า ‘พลาสติก’ อาจดูไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่โต๊ะ จาน ชาม ถาด ฯลฯ ในร้านแห่งนี้ผลิตขึ้นจากวัสดุพิเศษชื่อ ‘Durat’ ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล
ความพิเศษของพลาสติกชนิดนี้คือ มันสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ 100%
อาหารแต่ละเมนูใช้วัตถุดิบออร์แกนิกในท้องถิ่น
อาหารทุกจานที่เสิร์ฟในร้านจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ที่สำคัญต้อง ‘ออร์แกนิก’ นั่นคือเป็นวัตถุดิบที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมีในทุกกระบวนการผลิต) แม้แต่เมล็ดพันธุ์ก็ต้องไม่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม เรียกว่าทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติเท่านั้น
“เรามุ่งเน้นที่ความยั่งยืน” เชฟลูก้า บารัค (Luka Balac) ผู้สร้างสรรค์เมนูในร้าน Zero Waste Bistro พูดถึงแนวคิดเบื้องหลังจานอาหาร
“เราใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างเมนูอาหารที่ ‘อร่อย’ ที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่น”
ถึงแม้ร้าน Zero Waste Bistro จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว และเหลือเพียง ‘แนวคิด’ ในการสร้างร้านอาหารที่ดีต่อโลก
แต่อย่างน้อยแนวคิดนี้ก็ไม่สูญเปล่า เพราะได้นำเสนอ ‘ความเป็นไปได้’ ใหม่ๆ ในการทำร้านอาหาร
และมากกว่านั้นอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ผ่านมาเห็น นำไปต่อยอดและปรับใช้กับการงานและกิจการของตัวเองในอนาคต.
อ้างอิง:
- Emma Loewe. Zero Could Zero-Waste Restaurants Be The Future Of Fine Dining?. https://www.mindbodygreen.com/articles/nolla-zero-waste-restaurant
- fubiz. Linda Bergroth Wins Sustainability Award at Frame Awards With Zero Waste Bistro. http://www.fubiz.net/en/2019/03/15/linda-bergroth-wins-sustainability-award-at-frame-awards-with-zero-waste-bistro/
- FRAMEawards. Zero Waste Bistro, New York. https://www.frameawards.com/winners/329922-zero-waste-bistro
- Dan Howarth. Zero Waste Bistro installation provides circular-economy model at WantedDesign. https://bit.ly/2kAUrc2
- Environnet. แนวคิดการจัดการขยะมูลฝอยของนานาประเทศ. http://www.environnet.in.th/archives/3695