pe©ple

ทุกวันนี้ ผู้คนลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพกายกันมากขึ้น

แต่ในมุมของสุขภาพจิตกลับสวนทาง เพราะโรคซึมเศร้าเข้าแทรกแซงชีวิตของคนเราได้ง่ายขึ้น  

หลายคนกำลังมองหาทางออก แต่ยังไม่เจอ เพราะไม่มีเข็มทิศหรือไกด์นำทาง

ปัท-ปรัชญพร วรนันท์ นักศิลปะบำบัดรุ่นใหม่ จึงอยากใช้ ‘ศิลปะบำบัด’ มาเป็นยาวิเศษ ช่วยพาคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้เดินทางไปค้นพบทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

art therapist art therapy

“หน้าที่ของนักศิลปะบำบัดคือ การทำให้คนคนหนึ่งมองเห็นความเป็นไปได้ในชีวิต และรับรู้ว่าชีวิตมีทางเลือกใหม่ๆ มีเส้นทางให้เลือกเดินหลายเส้นทาง โดยผ่านกระบวนการทางศิลปะบำบัด”

หลังจากจบการศึกษาศิลปะบำบัดจากหลายสถาบัน และฝึกฝนการนำศิลปะมาใช้ในการบำบัดจนมากประสบการณ์

ปัทเปิดสตูดิโอส่วนตัวที่ชื่อว่า Persona เพื่อสร้างพื้นที่ (ปลอดภัย) สำหรับคนที่ต้องการปลดปล่อยเรื่องราวและประสบการณ์เลวร้ายของตัวเอง รวมทั้งบุคคลที่สนใจกระบวนการศิลปะสำหรับการดูแลตนเองจากภายในและมองหาแรงบันดาลใจในชีวิต

ครั้งนี้ปัทชวนมาพูดคุยและทำความรู้จัก ‘ศิลปะ’ ในแง่มุมของการ ‘บำบัด’

เพื่อพิสูจน์ว่าศิลปะเยียวยาได้ทุกสิ่งจริงๆ

art therapist art therapy

1.

ศิลปะช่วยชีวิตเรา

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ปัทหันมาสนใจศิลปะบำบัด เกิดขึ้นจากการวาดรูปในวัยเด็ก เมื่อเธอพบว่า ทุกครั้งที่วาดรูป อารมณ์สับสนในใจจะคลายลง คล้ายถูกระบายลงบนภาพ

“ตั้งแต่สมัยเด็กที่ใช้เวลาอยู่คนเดียว เราก็เหมือนเด็กทุกคนที่อยากมีเพื่อน อยากมีใครสักคนคอยแชร์เรื่องต่างๆ บางทีเราไม่รู้จะจัดการกับอารมณ์สับสนและเรื่องต่างๆ อย่างไร และเมื่อได้วาดรูปบ่อยๆ ทำให้ปัทรู้สึกว่าศิลปะช่วยชีวิตเรา ทำให้เราสนใจในจุดนี้”

art therapist art therapy

2. รู้จักศิลปะบำบัด

การเรียนศิลปะบำบัดมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน

ปัทเล่าว่าศิลปะบำบัดที่เธอเรียนมา เป็นศิลปะบำบัดแนว integrative และ expressive art therapy

ความแตกต่างคือ integrative จะเน้นการสำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นกับอดีตของเราและส่งผลกระทบกับปัจจุบันอย่างไร

ในขณะที่ expressive เน้นกระบวนการที่ทำให้ตระหนักรู้ในปัจจุบัน ละทิ้งอดีตที่ไม่จำเป็น และเฉลิมฉลองกับช่วงเวลาที่เรามีในตอนนี้

ซึ่งแต่ละแบบมีการทำงานที่แตกต่างกันไป และมีเหตุผลในการเลือกสื่อศิลปะแตกต่างกันไป

art therapist art therapy

ศิลปะบำบัดแตกต่างจากการทำงานศิลปะทั่วไปอย่างไร

ในตอนแรกปัทคิดว่าศิลปะบำบัดเป็นการทำความเข้าใจช่วงที่คนกำลังวาดภาพ หรือเป็นการเรียนเพื่อดูนิสัยคนผ่านภาพวาด แต่เมื่อศึกษามากขึ้น ปัทพบว่า ศิลปะบำบัดเป็นศาสตร์ที่มากกว่าการวาดรูป

“ศิลปะบำบัดเป็นการเรียนรู้วิธีการเดินทางกับคนที่เราทำงานด้วย เมื่อเราเห็นภาพวาดหรือสิ่งที่เขาสร้าง เราต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็น ซึ่งทุกอย่างมีความหมายในแบบฉบับของตัวเอง และคนที่สร้างงานศิลปะคือคนที่ให้ความหมายได้ดีที่สุด ไม่ใช่ตัวนักบำบัด นักศิลปะบำบัดจะไม่ตีความผลงานของคนอื่น การทำงานศิลปะบำบัดเป็นไปในแนวการเฝ้าดูและพิจารณาสิ่งต่างๆ ไปพร้อมๆ กับคนที่รับการบำบัดมากกว่า”

คนที่สร้างงานศิลปะคือคนที่ให้ความหมายได้ดีที่สุด ไม่ใช่ตัวนักบำบัด นักศิลปะบำบัดจะไม่ตีความผลงานของคนอื่น

art therapist art therapy

ศิลปะบำบัดแตกต่างจากการ ‘วาดรูป’ คลายเครียดอย่างไร

“สิ่งสำคัญของศิลปะบำบัดคือกระบวนการ ไม่เน้นผลงาน เราไม่ได้ต้องการสร้างงานศิลปะสวยงาม และต้องมี ‘การพูดคุย’ มีการสื่อสารหรือการใช้คำพูด มีการเล่าเรื่อง งานศิลปะที่สร้างขึ้นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เราต้องมาสำรวจดูว่ามีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่ หรือมีความสัมพันธ์อะไรกับสิ่งที่คนคนนั้นสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสี รูปร่าง เส้นสาย ต้องมีการพูดคุยกัน บางภาพวาดที่เราเห็นว่าสวย ดูผ่อนคลาย แต่แท้จริงแล้วแต่ละภาพอาจมีเรื่องราวที่คาดไม่ถึงอยู่ในภาพ”

บางภาพวาดที่เราเห็นว่าสวย ดูผ่อนคลาย แต่แท้จริงแล้วแต่ละภาพอาจมีเรื่องราวที่คาดไม่ถึงอยู่ในภาพ

art therapist art therapy

3.

หน้าที่ของนักศิลปะบำบัด

ปัทเล่าว่า หน้าที่ของนักศิลปะบำบัดคือ การทำให้คนคนหนึ่งมองเห็นความเป็นไปได้ในชีวิต และรับรู้ว่าชีวิตมีทางเลือกใหม่ๆ มีเส้นทางให้เลือกเดินหลายเส้นทาง

เพราะว่าหลายครั้ง คนเราอาจตกอยู่ในภาวะมืดหม่น มองไม่เห็นแม้แต่ทางออก ทุกด้านปิดหมด ศิลปะบำบัดจะเข้ามาช่วยจัดการ

“นักศิลปะบำบัดช่วยค้นหาวิธีเทกระจาดทุกอย่างในชีวิตออกมาดู และเมื่อคนเรารู้สึกเบาขึ้น จะมองเห็นแสงสว่างขึ้นมาในชีวิต รวมถึงการสร้างและดูแลความรู้สึก บรรยากาศให้ผู้ที่ทำงานด้วยรู้สึกปลอดภัยพอที่จะแสดงความรู้สึกต่างๆ ได้”

นักศิลปะบำบัดช่วยค้นหาวิธีเทกระจาดทุกอย่างในชีวิตออกมาดู และเมื่อคนเรารู้สึกเบาขึ้น จะมองเห็นแสงสว่างขึ้นมาในชีวิต 

art therapist art therapy
Persona สตูดิโอแบบส่วนตัวที่ปัทสร้างขึ้นให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ร่วมกิจกรรมศิลปะบำบัด

4.กระบวนการศิลปะบำบัด

การเข้าร่วมกระบวนการศิลปะบำบัดมีขั้นตอนหลายขั้นตอน

ปัทยกตัวอย่างให้ฟังว่า โดยปกติคนที่มารับบริการศิลปะบำบัดจะเข้ามาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ทั้งหมดรวม 12 ครั้ง เป็น 1 คอร์ส การทำงานในขั้นตอนนี้เราไม่ได้ทำงานคนเดียว จะมีซูเปอร์ไวเซอร์ที่เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคอยซัพพอร์ท ส่วนเรื่องของข้อมูลทุกอย่างจะเป็นความลับของนักบำบัดและซูเปอร์ไวเซอร์เท่านั้น หากเป็นเคสที่จำเป็นต้องนำส่งต่อโรงพยาบาล เจ้าของข้อมูลจะรับทราบ ต้องขออนุญาตและมีลายเซ็นเป็นทางการ

art therapist art therapy

คนที่เข้ามารับบริการศิลปะบำบัด มักเจอปัญหาอะไร

“มีหลายแง่มุม แต่โดยพื้นฐานเป็นเรื่องครอบครัว อาจจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับครอบครัวมาก มีการจากลา หรือเป็นมุมมองที่คิดว่าโตแล้วต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาใครไม่ได้ หรือเมื่อเกิดปัญหาไม่เห็นทางอื่น แต่ว่าเรื่องที่เชื่อมโยงกันส่วนใหญ่คือ ความรู้สึกว่าโลกนี้น่ากลัวหรือโดดเดี่ยวเกินไป หลายคนที่เข้ามารับบริการเป็นคนที่ไม่มีกำลังใจมารองรับ และไม่รู้วิธีการจัดการกับความเศร้า”

art therapist art therapy
การสร้างสรรค์ศิลปะเป็นการบำบัดความเครียดและเป็นวิธีบันทึกความทรงจำอย่างหนึ่งของปัท

มีวิธีการเลือกสื่อศิลปะในการบำบัดให้แต่ละคนอย่างไร

“ถ้าคนที่อยากทำศิลปะบำบัดรู้ว่าตัวเองอยากใช้สื่อไหน ก็ให้เขาทำไปเลย เช่น การวาดภาพ ดนตรี การเล่นทราย ปั้นดิน แต่ถ้าเขาไม่รู้หรือไม่แน่ใจ นักศิลปะบำบัดต้องเป็นคนที่ช่วยเลือกแต่ส่วนใหญ่ปัทจะให้เลือกเอง

เพราะเป็นการสื่อว่า คนเรามีทางเลือกในชีวิต

art therapist art therapy

บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งศิลปะ ทำให้ไม่กล้าทดลองศิลปะบำบัด มีวิธีทำความเข้าใจกับเขาอย่างไร

“บางคนอาจมีทัศนคติที่ว่าคนวาดรูปเก่งเท่านั้นถึงจะวาดรูปได้ ด้วยระบบการศึกษาที่ถูกปลูกฝังมา เราก็จะพยายามทำให้เขาเข้าใจว่าการทำศิลปะบำบัดไม่ต้องใช้ทักษะและไม่ต้องการความสวยงาม ไม่มีการประเมินให้คะแนน เพราะเราไม่ได้ต้องการสร้างผลงานศิลปะ ปัทคิดว่าความงามในสายตาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นทุกคนทำงานศิลปะของตัวเองได้ และเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้ศิลปะเข้าถึงง่ายด้วย”

ความงามในสายตาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นทุกคนทำงานศิลปะของตัวเองได้

art therapist art therapy
Marble Printmaking กิจกรรมศิลปะบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย

ลองยกตัวอย่างกระบวนการทำศิลปะบำบัด

“สำหรับการทำบำบัดแบบกลุ่ม ปัทจะคิดโจทย์ก่อน อาจเป็นการทำความรู้จักกันผ่านภาพหรือเล่าอารมณ์ความรู้สึกของเราในวันนี้ ปัทจะเตรียมชุดภาพวางกองกระจายบนโต๊ะหลายภาพ และให้ผู้ร่วมกิจกรรมเลือกขึ้นมาหนึ่งใบ แล้วเล่าให้ฟังว่าภาพนี้มีความหมายอะไรสำหรับตัวเขา และถามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งการตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทำให้เราเดินทางร่วมกันได้ดี ดังนั้นเราจะต้องเตรียมโครงสร้างของคำถาม เพื่อให้ไปถึงสิ่งที่ต้องการ นักศิลปะบำบัดจึงเหมือนเป็นนักตั้งคำถามด้วย”

การตั้งคำถามสำคัญอย่างไรต่อกระบวนการทำศิลปะบำบัด

“‘การตั้งคำถาม’ ช่วยปะติดปะต่อและเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ

สมมติผู้เข้าร่วมเลือกภาพวาดภาพหนึ่งและให้เขาเล่าเรื่องราวในภาพให้ฟัง แล้วปัทสังเกตเห็นว่า ภาพเต่าตัวหนึ่งอยู่ไกลจากกระต่าย แล้วกระต่ายล้อมรอบไปด้วยมดเต็มไปหมดเลย ปัทอยากรู้ว่าสัตว์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่าง รู้จักกันไหม คำถามเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้มาบำบัดได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง และเรื่องเล่าเหล่านี้คือเรื่องราวของเขาเอง

ดังนั้น การตั้งคำถามจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการทำศิลปะบำบัด ซึ่งจะค่อยๆ ลงลึกแบบตรงๆ หรือทำให้เราเห็นมุมมองหลายมุม”

art therapy art therapist

นอกจากทักษะการตั้งคำถาม นักศิลปะบำบัดที่ดีควรมีทักษะอะไรอีก

“ทักษะที่สำคัญของงานบำบัดคือ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ จริงๆ แล้วการตั้งคำถามเป็นแค่กระบวนการหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญคือการฟังที่ลึกซึ้ง รวมทั้งการอยู่กับปัจจุบันร่วมกับคนที่เราทำงานด้วย เรื่องนี้ก็สำคัญมากๆ เพราะว่าการบำบัดเริ่มต้นขึ้น เมื่อเรารู้ว่ามีใครสักคนฟังเรา และรับรู้ถึงความเจ็บปวดของเรา มันคือความเห็นอกเห็นใจ (empathy)”

การบำบัดเริ่มต้นขึ้น เมื่อเรารู้ว่ามีใครสักคนฟังเรา และรับรู้ถึงความเจ็บปวดของเรา

‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ คือการฟังแบบไหน

“เป็นการฟังแบบรู้สึกตัว ฟังอย่างเชื่อมโยง และรู้ตัวเองว่าเราอยู่กับผู้ใช้บริการ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจประสบการณ์ที่เขาเจออย่างแท้จริง แต่การฟังอย่างลึกซึ้งจะทำให้เขารู้สึกว่า เราอยู่กับเขา เรื่องราวของเขาถูกได้ยินและรับรู้ เวลาทำการบำบัดถือเป็นช่วงเวลาของผู้รับบริการ ไม่ใช่เวลาของเรา ดังนั้นเราต้องไม่หลุดคิดเรื่องอื่น ปล่อยไหลไม่ได้ ภาษากายก็สำคัญมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องฝึกฝนเช่นกัน”

การฟังอย่างลึกซึ้งจะทำให้เขารู้สึกว่า เราอยู่กับเขา เรื่องราวของเขาถูกได้ยินและรับรู้

art therapist art therapy

ชีวิตทำงานของนักศิลปะบำบัด

ในฐานะนักศิลปะบำบัด เมื่อปัทรู้สึกเครียด วิธีบำบัดตัวเอง คือ การ ‘เขียน’

“ปัทจะเขียนเขียนไหลไปเรื่อยๆ เหมือนพูดกับตัวเอง เพื่อเล่าเรื่องที่อัดแน่นอยู่ในใจ อาจเขียนผิดเขียนถูกบ้าง เขียนไม่ทันความคิดตัวเองบ้างก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็ช่วยได้ อย่างการชกมวย เป็นการนำพลังงานที่ไม่ต้องการออกไป ทำให้เกิดบาลานซ์ หรือบางครั้งปัทเอาสีมาใส่ในกระดาษแล้วบี้ด้วยพู่กัน พร้อมจินตนาการว่า เราเอาทุกอย่างที่ไม่ต้องการบี้ลงไป เพื่อไม่ให้ตกค้างอยู่ในตัวเรา ทำให้รู้สึกโล่งสบายมากขึ้น”

สุดท้ายแล้ว การเรียนและการทำงานกับ ‘ศิลปะ’ ให้อะไรกับตัวเอง

“สำหรับปัท ศิลปะให้ความประหลาดใจเยอะมาก นำเราไปสู่สิ่งที่ไม่รู้หลายอย่าง เปรียบเสมือนครูที่ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง และให้ความรู้สึกปลอดภัย ให้ความรู้สึกของความเป็นเด็ก เพราะเด็กทุกคนชอบสีสัน เมื่อเราเติบโตขึ้นและมีโลกอื่นเข้ามาแทรก เราอาจลืมช่วงเวลาที่สนุกกับการวาดรูปไป

ลืมว่าสมัยเด็กแค่มีสีกล่องเดียวก็มีความสุขที่สุดแล้ว”.

art therapist art therapy

Fact Box

  • ปัท-ปรัชญาพร วรนันท์ จบการศึกษาที่คณะครุศาสตร์ เอกศิลปะ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ หลังจากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อสาขา Master of Arts in Applied Imagination in the Creative Industires ที่ Central Saint Martins College of Art and Design ประเทศอังกฤษ เมื่อพบว่าตัวเองหลงใหลในศาสตร์ศิลปะบำบัด จึงตัดสินใจเรียนต่อโปรแกรม International Program of Art Therapy in Thailand โดย Canadian International Institute of Art Therapy ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งศึกษาศาสตร์ด้านนี้อย่างจริงจังในระดับปริญญาโทที่ The Institute for Arts in Therapy & Education สาขา  Integrative Arts Psychotherapy ที่ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกสาขา Intermodal Expressive Arts Doctoral Program ที่ The European Graduate School ประเทศสวิตเซอร์แลนด์