pe©ple

ในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

การโต้ตอบพูดคุยของผู้คนเกิดขึ้นไวกว่าแสง 

หลายครั้งที่การสื่อสารระหว่างกันทำให้เกิดความเครียด ความกลุ้มใจ และอาจทำให้คนเราซึมเศร้าได้แบบที่คาดไม่ถึง

โดม – ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา และนักศึกษาปริญญาโท สาขา Art Psychotherapy ที่ Goldsmiths, University of London มองว่า เมื่อเจอปัญหา หลายคนอาจรู้สึกมืดบอด ไม่สามารถมองทางออกได้ด้วยตัวเอง 

การเข้ารับบริการจิตบำบัดให้คำปรึกษาหรือ counselling therapy อาจเป็นเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ 

เช่นเดียวกับที่เขาตั้งใจช่วยเหลือผู้คนผ่านเพHe, art, psychotherapy 

เพราะเขามองว่า ‘คำพูด’ ‘คำถาม’ และ ‘การรับฟัง’ อย่างเข้าอกเข้าใจ คือ สิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยากันและกันได้ 

becommon จึงชวนโดมมาพูดคุย และเน้นย้ำถึงเรื่องเหล่านี้กันอีกครั้ง

เพื่อให้ทุกคนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้างไม่มากก็น้อย

ทำไมสนใจทำงานเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา 

ผมรู้สึกว่าการเรียนด้านนี้เปิดโลกให้ผมมาก ผมได้เรียนรู้การฟัง การทำความเข้าใจผู้คน การพูดแบบไม่ตัดสินคน ผมได้เรียนรู้เรื่องที่มาที่ไปและความแตกต่างบุคลิกภาพของคน ผมรู้สึกว่าน่าสนใจและเป็นเรื่องน่าสนุก นอกจากนี้ การให้คำปรึกษายังเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยคนอื่นได้อีกด้วย

การทำงานบำบัดจิตใจของแต่ละคนเริ่มต้นอย่างไร

ผมจะเริ่มต้นพูดคุยจากการถามถึงเป้าหมายของแต่ละคน เขาต้องการอะไรจากการพูดคุยครั้งนี้ หรือเรามาตั้งร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าอยากรู้สึกดีขึ้น อยากร้องไห้น้อยลง แล้วเราก็ทำงานด้วยกัน เพื่อไปถึงเป้าหมายตรงนั้นด้วยการพูดคุย หรือเรียกว่า Talking Therapy 

การพูดคุยถึงปัญหาสำคัญอย่างไร

สำคัญครับ มันคือการได้สื่อสารกัน และต้องดูว่าเราสื่อสารกันอย่างไร เช่น ถ้าเรางอนเพื่อน แล้วเราได้สื่อสารกันไหม เราบอกเพื่อนไหมว่าไม่พอใจ เราอยากให้เรื่องราวเป็นแบบนี้มากกว่า เราจะได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น หรือเคสพนักงานในที่ทำงาน 2 คนที่เคยสนิทกัน แต่ช่วงหลังเหมือนมีกำแพง ไม่คุยเล่นกันเหมือนเมื่อก่อน ผมก็จะถามสำรวจไปเรื่อยๆ ว่าสุดท้ายแล้วเขาคิดว่าต้องทำอย่างไร เขาก็บอกว่าต้องคุยกัน ต้องสื่อสาร ถ้าไม่สื่อสารก็ไม่เข้าใจกันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร   

ในวัยที่อายุยังไม่เกิน 30 ปี เมื่อต้องให้คำปรึกษาคนที่มีอายุ หรือมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า มีวิธีการทำงานอย่างไร 

เมื่อก่อนผมก็มีคิดเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะคิดว่าการให้คำปรึกษาปัญหา แปลว่าเราต้องให้คำแนะนำหรือให้วิธีคิดแก่ผู้รับบริการ หรือช่วยแนะแนวอะไรบางอย่างให้เขาเห็นแนวทางในการใช้ชีวิต และถ้าเราอายุเพิ่งยี่สิบกว่าๆ แล้วเจอผู้ใหญ่อายุสี่สิบถึงห้าสิบปีที่เป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เจอโลกมาเยอะกว่า เราจะเอาประสบการณ์อะไรไปแนะนำเขา 

แต่เมื่อได้เรียนรู้และทำงาน ผมพบว่า จริงๆ แล้วการให้คำปรึกษาในฐานะนักจิตบำบัดไม่ใช่การให้คำแนะนำ หรือการบอกว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีสำหรับอีกฝ่าย แต่เราจะนั่งฟังโดยใช้ทักษะหรือทฤษฎีที่เรียนมา ทำให้ผู้รับบริการเข้าใจสิ่งที่เขาเผชิญอยู่มากขึ้น บางครั้งคนเราอาจจะเจอปัญหาแล้วมองอยู่มุมเดียว และอาจมีอคติบางอย่างในใจ หรืออาจมีความรู้สึกบางอย่างรบกวนอยู่ ทำให้คิดต่อไปได้ไม่สุด หรือมองข้ามเรื่องบางเรื่องไป นักจิตบำบัดมีหน้าที่ทำให้เขาเข้าใจ และมองเห็นมุมอื่นๆ รวมทั้งทำความเข้าใจและหาต้นตอของปัญหาร่วมกัน ที่สำคัญคือ พยายามดึงศักยภาพในตัวเขาออกมาให้ได้

คนเราสามารถสำรวจความคิดตัวเองได้ไหม

บางคนสามารถทำได้ บางคนก็อาจจะไม่ได้ทำ ผมคิดว่าการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ค่อนข้างเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย หลายคนทำงานหนักจนไม่มีเวลามานั่งทบทวนตัวเอง บางครั้งอาจจะทบทวนตัวเองแล้ว แต่มีอคติในบางเรื่อง หรือมีความคิดบางอย่างที่สลัดไม่หลุด การหาคนที่เป็นกลางมาช่วยสะท้อนความคิด ช่วยสำรวจตัวตนให้เจออีกพื้นที่ หรือมุมหนึ่งที่ไม่เคยมองเห็น พอเจอมุมมองใหม่ๆ อาจจะเห็นวิธีแก้ไขหรือทางออกก็เป็นได้

ลองสังเกตว่า บางทีมีเพื่อนมาปรึกษา เราก็แนะนำให้ทำแบบนั้น แบบนี้ แต่เพื่อนก็ไม่ทำนะ และยังมาคุยถึงปัญหาเดิมๆ นั่นแปลว่ามีอะไรบางอย่างที่ติดขัด หรือวิธีที่เราแนะนำอาจจะไม่ได้ดีที่สุดสำหรับเขา ถึงแม้ว่าคำแนะนำนั้นจะดีที่สุดในมุมมองของเราก็ตาม ผมพบทฤษฎีจากการเรียนด้านนี้ว่า จริงๆ แล้วคนเราทุกคนรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีสำหรับตัวเอง เราไม่ต้องไปบอกเขา แค่ช่วยไกด์หรือตั้งคำถามให้เขาสำรวจตัวเองมากขึ้น ช่วยสะกิดให้เขาหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง 

ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อเป็นนักจิตบำบัดให้คำปรึกษา

ผมได้เรียนทฤษฎีเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาหรือจิตบำบัดหลายอย่าง นอกจากการเรียนทฤษฎี ก็มีการฝึกปฏิบัติโดยมีที่ปรึกษากำกับดูแล ส่วนการนำไปใช้ต้องดูความคิดของผู้มาใช้บริการก่อนว่าตรงกับทฤษฎีไหน อย่างเช่น CBT (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นการทำจิตบำบัดแบบหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งของทฤษฎีนี้บอกว่า คนเรามีความคิดที่เป็นอัตโนมัติ เมื่อเจออะไรมา จะมีความคิดที่เด้งขึ้นในหัวหลากหลายรูปแบบ ทั้งความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล ความคิดที่เกินจริง เช่นประโยคที่ว่า “ไม่มีใครรักฉันเลย” ผมก็จะถามว่าไม่มีเลยสักคนจริงๆ หรือ ผู้รับบริการก็จะเริ่มคิดว่า ไม่มีใครสักคนตามที่เขาพูดจริงๆ หรือเปล่า หรือ “ฉันเลิกกับแฟน ไม่เหลือใครแล้ว” ผมก็จะถามต่อว่า ไม่เหลือใครเลยหรือ เขาก็จะคิดตามว่า จริงๆ ยังมีเพื่อน ครอบครัว แล้วเราก็ค่อยๆ เริ่มทำงานต่อไปด้วยกัน 

ฟังดูแล้วมีการตั้งคำถามกับผู้รับบริการ

มีทั้งการฟังและการยิงคำถามเพื่อสะท้อนความคิด โดยปกติในชีวิตประจำวัน เราพูดคุยกันโดยโต้ตอบกันไปมา 

เราไม่ค่อยได้ใช้คำถามหรือเปิดพื้นที่ให้ได้คิด หรือได้สำรวจตัวเองกันสักเท่าไร ยกเว้นการทำงานที่ต้องการความเห็นเรื่องแผนการทำงาน แต่ถ้าเป็นปัญหาเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ เงินทอง ครอบครัว เราอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามถึงที่มาของปัญหา แต่ถ้าเราตั้งคำถามแบบที่ได้ฝึกฝนมาทางจิตวิทยา คือ การตั้งคำถามแบบปลายเปิด คำถามที่เป็นกลาง ไม่ชี้นำ เราจะได้เห็นรีแอ็คชั่นของอีกฝ่าย ทำให้เขาหยุดนิ่ง หยุดคิด ที่สำคัญ ช่วยให้เขาได้สำรวจความคิด ความรู้สึก รวมทั้งค้นหาคำตอบและทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ที่สำคัญคือ คนถามต้องรู้ว่าควรถามอย่างไร 

ยกตัวอย่างคำถามแบบปลายเปิดให้ฟังได้ไหม

เช่น มีเพื่อนมาบอกว่าทะเลาะกับแม่ แล้วเราถามว่า “ทะเลาะเรื่องเดิมเหรอ” หรือ “ทะเลาะเรื่องเรียนเหรอ” คำถามเหล่านี้ถือเป็นคำถามปลายปิด เป็นคำถามชี้นำด้วย เพราะเพื่อนแค่บอกว่าทะเลาะกับแม่ แต่เราคิดว่าเป็นเรื่องเดิม เรื่องเรียน คำตอบอาจจะมีแค่ใช่กับไม่ใช่ ซึ่งอาจจะชี้นำไปทางอื่น แต่ถ้าเป็นคำถามปลายเปิด อาจเป็นคำถามว่า “เล่ามาสิ ทะเลาะเรื่องอะไร” เป็นต้น

การเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง

ข้อแรกคือ ต้องฟังให้เป็น ผมคิดว่าพื้นฐานที่จะทำให้เราเป็นผู้ฟังที่ดีได้ คือพยายามเข้าใจคนอื่นในจุดที่เขาเป็น หรือในจุดที่เขายืนอยู่ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะไม่สามารถเข้าใจคนที่มาปรึกษาเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ใช่คนคนเดียวกัน เราผ่านประสบการณ์มาต่างกัน แต่อย่างน้อยต้องทำให้เขารู้สึกว่า เราพยายามเข้าใจเขาอย่างเต็มที่ เพื่อให้อีกฝ่ายพูดเปิดใจกับเรา 

เราจะสามารถแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราเข้าใจเขาได้อย่างไร 

ลองสังเกตดูอารมณ์ของอีกฝ่าย และลองจินตนาการว่าถ้าเราเป็นเขา จะรู้สึกอย่างไร เช่น ถ้าเห็นหน้าของเขาเศร้า และคิดว่าถ้าเราเป็นเขาคงเศร้ามาก เราอาจจะสื่อสารแสดงออกให้เขารู้ด้วยน้ำเสียงที่พูดออกไป หรือจะลองสะท้อนกลับไปก็ได้ว่าระหว่างที่เขาเล่าให้ฟัง เขาดูเศร้าๆ ถ้าเขาบอกว่า ใช่ เขารู้สึกเศร้า นั่นแปลว่า เราเข้าใจเขา แม้ว่าเราอาจจะไม่เข้าใจว่าเขาเศร้ามากแค่ไหน แต่อย่างน้อยเราเข้าใจว่าเขาเศร้ามาก ที่สำคัญอีกอย่างคือ การฟังและพูดโดยไม่ตัดสิน 

การฟังแบบไม่ตัดสินคือการฟังแบบไหน

คือการฟังและมองทุกอย่างให้เป็นกลาง ไม่ใช้ประสบการณ์ของเราไปตัดสินว่าเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี สิ่งดีที่สุดสำหรับเรา อาจจะไม่ใช่สิ่งดีที่สุดสำหรับคนอื่น เรื่องที่ถูกต้องสำหรับเรา ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องสำหรับคนอื่น ชีวิตมีหลายมุมให้มอง 

ยกตัวอย่างสถานการณ์ในที่ทำงาน ถ้าเพื่อนร่วมงานมีปัญหากับเจ้านาย แล้วเราบอกว่า “แกก็แค่เข้าไปคุยกับเจ้านายสิ” การที่ใช้คำว่า ‘แค่’ ไปคุย ถือเป็นการตัดสิน แม้เราจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องง่าย แต่มันอาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา 

เรื่องนี้ฝึกกันได้ไหม

ผมมองว่าการฟังโดยไม่ตัดสินคนอื่น ถือเป็นทักษะที่ฝึกได้ อย่างตัวผมเองก็ผ่านการฝึกมาเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วมันคือการยอมรับ ยอมรับสิ่งที่อีกฝ่ายเป็นโดยไม่มีเงื่อนไข เช่น ถ้ามีคนมาปรึกษาเรื่องทำแท้ง คนเราอาจจะเกิดความรู้สึกว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าเรายอมรับไม่ได้ เมื่อเขามาปรึกษาเรา เราจะเกิดอคติ ไม่ค่อยฟังเขา หรือฟังได้ไม่ดีเท่าที่ควร นี่คือผลจากการที่เราไม่ยอมรับ ซึ่งคนเราก็จะมีเรื่องที่ยอมรับไม่ได้กันบ้าง แต่ถ้าเราฟังอย่างเป็นกลางและยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็นได้ เราก็จะสามารถรับฟังกันได้มากขึ้น

เมื่อฟังโดยไม่ตัดสินแล้ว ต้องมีทักษะอะไรอีก 

การสังเกต ผมจะสังเกตท่าทาง สีหน้า หรือร่างกายเท่าที่เห็นได้ เช่น พูดเรื่องนี้แล้วทำสีหน้าเบ้ ดูครุ่นคิดเยอะ หรือแม้แต่คำพูด ผมก็จะสังเกตและฟังดูว่ามีคำไหนที่หลุดออกมาจากการพูดคุยบ่อยครั้ง เช่น คำว่า “จากลา” หรือคำว่า “ครอบครัว” ผมก็จะสะท้อนกลับไปว่า เราได้ยินคำนี้บ่อยๆ เพื่อให้เขาเกิดการคิดต่อและสำรวจในตัวเองต่อ

ถ้าทุกคนมีทักษะเหล่านี้ที่ว่ามา จะช่วยอะไรในชีวิตไหม

ช่วยครับ ช่วยให้มีความสุขกันมากขึ้น โดยเริ่มจากครอบครัวก่อน ถ้าพ่อแม่ฟังเป็น เข้าใจลูก ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ลูกก็จะกล้าเป็นตัวเอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าครอบครัวหรือพ่อแม่ไม่เข้าใจ ย่อมส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมที่นำไปใช้นอกบ้านด้วย หรือบางคนมาปรึกษาด้วยเหตุผลว่า ไม่รู้จะพูดคุยกับใคร ผมว่าก็น่าเห็นใจนะ มีทั้งเพื่อนและครอบครัว แต่พูดกับใครไมได้เลย พ่อแม่ก็ไม่ฟัง ไม่เข้าใจ แถมอาจโดนด่า ถ้าครอบครัวฟังเป็น หรือเพื่อนฟังเป็น ก็สามารถแบ่งเบาเรื่องในใจคนเราไปได้เยอะ และไม่เกิดความรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว 

ถ้าทุกคนสื่อสารกันได้ดี นักจิตวิทยาจะตกงานไหม

(หัวเราะ) ผมก็อาจจะตกงานนะครับ แต่จากที่เห็นอยู่ผมคิดว่าน่าจะยากสักหน่อย 

เพราะอะไร 

ผมเห็นว่าคนต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น ดูจากสถิติขององค์กรต่างๆ มีคนเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น เราก็พออนุมานได้ว่า อาจจะมีสภาวะอะไรบางอย่างที่ทำให้อัตราตรงนี้สูงขึ้น ซึ่งก็แปลได้ว่า คนน่าจะต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น 

เป้าหมายของการเป็นนักจิตวิทยาของคุณคืออะไร

ผมอยากเปลี่ยนความคิดคนไทยให้การไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และผมอยากทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ทั้งแง่ของความสะดวกและราคา ผมรู้สึกว่าตอนนี้เรื่องการทำจิตบำบัดส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของคนมีฐานะหรือชนชั้นกลาง ผมก็พยายามหาทางอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่รายได้น้อย อย่างคนที่ทำงานใช้แรงงานหรือคนในชุมชนแออัด สามารถเข้าถึงการใช้บริการจิตบำบัดได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องรอโรงพยาบาลรัฐอย่างเดียว 

จากประสบการณ์ของคุณ พอรู้ไหมว่าคนกลุ่มนี้มีโอกาสได้เจอนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดบ้างไหม 

ผมคิดว่าสำหรับพวกเขา เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องไกลตัว เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอาชีพนักจิตวิทยา หรือกลุ่มที่รู้แล้ว พวกเขาก็ไม่แน่ใจว่า นักจิตวิทยาจะช่วยอะไรพวกเขาได้ เขาไม่มีความรู้หรือความเข้าใจว่าการไปนั่งคุยกับคนอื่นจะช่วยอะไรได้ ถ้าเราเครียดแล้วไปปรึกษาเพื่อนยังไม่ดีขึ้น แล้วทำไมนักจิตวิทยาถึงจะมาช่วยให้เขาดีขึ้นได้ ผมคิดว่าเราต้องเริ่มจากการให้ความรู้ก่อนว่าการบำบัดหรือการพบนักจิตวิทยาคืออะไร 

จากประสบการณ์ที่ไปเรียนด้านจิตบำบัดที่ต่างประเทศ คุณมองเห็นอะไรมาบ้าง

ในต่างประเทศเรื่องการพบนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย ไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาล และมีปริมาณที่รองรับผู้ใช้บริการได้จำนวนมาก แต่สำหรับในเมืองไทย บุคลากรที่ทำงานด้านนี้อาจยังไม่เพียงพอ อาจเพราะคนยังไม่ค่อยเข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการทำจิตบำบัดหรือการพบนักจิตวิทยา เมื่อไม่เห็นความสำคัญของวิชาชีพนี้ ก็อาจทำให้รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หรือมองข้ามไป ผมจึงอยากเริ่มเผยแพร่เรื่องเหล่านี้ให้เข้าถึงง่ายและดูเป็นเรื่องใกล้ตัวก่อน โดยตั้งเพจ He, art, psychotherapy ขึ้นมา ผมอยากทำให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิตบำบัดหรือจิตวิทยา แล้วสามารถเอาบางส่วนไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย