“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”
บทกลอนจากคำประพันธ์ของสุนทรภู่วรรคนี้ ดูจะใช้ได้ดีกับอาชีพการงานของ มาร์ค คอร์ท (Mark Court) ช่างเขียนชาวอังกฤษ ผู้ใช้ทักษะในการวาดเส้นตรงด้วยพู่กันเพียงอย่างเดียวก็หาเงินได้เดือนละหลายแสนดอลลาร์ และเป็นเพียงคนเดียวในโลกที่ประกอบอาชีพนี้
เพราะเส้นตรงที่เขาบรรจงวาดนั้นปรากฏบนยนตรกรรมระดับโลกอย่างโรลส์–รอยซ์ (Rolls-Royce) รถหรูที่มีถิ่นกำเนิดในแดนผู้ดีประเทศอังกฤษ ซึ่งมากด้วยตำนานและความเฉพาะเจาะจงอันถือเป็นที่สุดในทุกด้าน
ไม่เฉพาะคุณสมบัติของผู้ที่สามารถครอบครองโรลส์–รอยซ์ได้เท่านั้นที่จะต้องผ่านเกณฑ์หลายข้อ แต่ยังรวมถึงช่างฝีมือผู้มีส่วนร่วมในการประกอบรถโรลส์–รอยซ์แต่ละคัน ที่ต้องเป็นหนึ่งในใต้หล้าเช่นกัน
และคอร์ท ในฐานะช่างเขียนเส้นรอบคันรถ (Coachline) คือหนึ่งในนั้น หน้าที่ของเขามีเพียงอย่างเดียว คือ การบรรจงขีดเส้นตรงรอบตัวรถเพียงเส้นเดียวเท่านั้น โดยมีข้อแม้ประการเดียว คือ ห้ามทำงานผิดพลาดโดยเด็ดขาด
เพราะ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของโรลส์–รอยซ์ รายละเอียดทุกส่วนของยนตรกรรมแต่ละคันจึงต้องเป็นงานทำมือที่พิถีพิถันไร้ที่ติเท่านั้น อาทิ เบาะภายในรถยนต์ที่ต้องใช้หนังจากวัวกระทิงที่ดีที่สุดที่เลี้ยงในพื้นที่สูงเท่านั้น เพื่อไม่ให้หนังมีการยืดหรือมีรอยแมลงกัด และผ่านกระบวนการตัดเย็บด้วยมือนาน 17 วัน
และกว่าจะได้สีรถที่เงาวับราวกระจกตามมาตรฐานของแบรนด์ ต้องผ่านการเคลือบสีอย่างน้อย 5 ชั้นโดยหุ่นยนต์ และสำหรับบริเวณที่เข้าถึงยากจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงสีที่มีทักษะสูงคอยดูแล โดยรวมแล้ว กระบวนการเคลือบสีตัวถังโรลส์–รอยซ์แต่ละคันใช้เวลา 7 วัน และใช้สีมากกว่า 100 ปอนด์
วิศวกรผู้เชี่ยวชาญของโรลส์–รอยซ์ 14 คน ต้องทำหน้าที่ทดสอบประสิทธิภาพรถ วันละ 16 คัน 365 วันต่อปี ที่แม้จะเป็นความรับผิดชอบเสริมจากปริมาณงานปกติ แต่พวกเขาก็ยินดีรับหน้าที่ผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สุดยอดรถยนต์ระดับโลกแบรนด์นี้
นอกจากนี้ ช่างศิลป์ของโรลส์–รอยซ์อุดมด้วยผู้คนจากหลากสาขาอาชีพ เช่น ช่างแต่งหน้า ช่างสัก ช่างทำเสื้อผ้าเพื่อการทหาร อดีตผู้ผลิตกล่องเก็บเอกสารที่เรียกว่า Red Box ของรัฐสภาอังกฤษ
รวมถึงอดีตช่างเขียนป้ายชื่อผับที่กระจายอยู่ทั่วเกาะอังกฤษอย่าง มาร์ค คอร์ท ที่รับหน้าที่ขีดเส้นข้างตัวถังรถยนต์ให้เป็นเส้นตรงที่คมกริบ งานเดียวที่มีเขาเท่านั้นที่โรลซ์–รอยส์ไว้วางใจ
อุปกรณ์ที่อยู่ในมือคอร์ทมีเพียงแปรงพิเศษทำจากขนกระรอก โดยเขาจะทาแป้งไว้บนนิ้วเพื่อให้สามารถลากมือได้อย่างลื่นไหล จะได้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ออกมาคือเส้นตรงที่มีความสม่ำเสมอ และมีความกว้าง 3 มม. ไม่มีผิดเพี้ยน
คอร์ทใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงต่อรถยนต์หนึ่งด้าน แต่ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ทั้งชีวิตจากการวาดภาพและชื่อบนป้ายให้กับผับต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน
ความรับผิดชอบในขั้นตอนสุดท้ายของการประกอบรถยนต์โรลส์–รอยซ์ ที่ราคาอย่างต่ำคันละสิบล้านบาท ที่ไม่มียางลบวิเศษใดๆ ช่วยแก้ไขร่องรอยที่อาจเกิดจากความผิดพลาดในการลงเส้นได้ ย่อมเป็นงานที่สร้างแรงกดดันมหาศาล ดังนั้น แนวคิดในหัวของช่างเขียนจึงสำคัญไม่แพ้ฝีมือ
“ผมมองว่านี่เป็นเพียงรถยนต์คันหนึ่งที่ผมต้องวาดเส้นรอบคันให้เฉียบตรง ถ้าผมมัวแต่ไปกังวลว่าใครเป็นเจ้าของรถคันนี้ หรือรถคันนี้กำลังจะถูกส่งมอบไปที่ไหน จิตใจผมคงกระวนกระวายและไม่สามารถทำงานนี้ให้สำเร็จได้ สิ่งที่ต้องทำขณะลงเส้นคือ ตัดทุกอย่างออกจากหัวและลงมือทำสิ่งที่ต้องทำ”
ที่สำคัญคือ คอร์ทเกลียดวันหยุดสุดสัปดาห์เข้าไส้ และแทบไม่เคยลาพักร้อนเลย เพราะเมื่อกลับมาทำงาน เขาต้องเริ่มโฟกัสใหม่ทั้งหมด
“แค่หยุดสุดสัปดาห์ก็แย่พอแล้ว เพราะผมต้องกลับมาตั้งสมาธิใหม่เพื่อให้สามารถวาดเส้นตรงสุดจะตรงได้อีกครั้ง” ช่างเขียนผู้ไม่อยากวางแปรงระบายความในใจ
ในแต่ละปีจะมีฤดูกาลที่โรงงานผลิตรถยนต์โรลส์–รอยซ์ที่กู้ดวูด (Goodwood) ต้องหยุดพัก เพื่อเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับผลิตโรลส์–รอยซ์รุ่นใหม่ เมื่อถึงเวลานั้น คอร์ทจะเดินทางไปยังหลากหลายสถานที่ทั่วโลกตามแต่ความประสงค์ของลูกค้าเรียกตัวเขาไปวาดภาพบนรถยนต์โรลส์–รอยซ์ให้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคอร์ทจะได้แสดงฝีมือมากกว่าการขีดเส้นตรง เพราะลูกค้าเรียกร้องทั้งลวดลายดอกไม้ หัวม้า อักษรย่อชื่อเฉพาะ ไปจนถึงอีกหลากหลายลวดลายนามธรรมตามต้องการ
นอกจากนี้ คอร์ทยังได้รับเชิญให้ไปแสดงความสามารถเฉพาะตัวตามงานนิทรรศการต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
คอร์ทร่วมงานกับโรลส์–รอยซ์ตั้งแต่ปี 2003 โดยช่างเขียนป้ายชื่อผับเดินเข้าไปสมัครงานด้วยตัวเองทันทีที่รู้ข่าวว่าจะมีโรงงานรถยนต์มาตั้งอยู่ในชนบทไม่ไกลจากหมู่บ้านของเขา
“สำหรับผม งานนี้เป็นการปรับเอาทักษะที่ผมมีในตัวอยู่แล้วมาใช้กับรถยนต์ความยาว 6 เมตร แค่นั้นเอง”
คอร์ทพูดเหมือนง่าย ทว่ารถยนต์ยาว 6 เมตรที่เขาเอ่ยถึงนั้น ถ้าเป็นโรลส์–รอยซ์ รุ่นแฟนธอม (Phantom) สนนราคาจะอยู่ที่ 500,000 ดอลลาร์ หรือ 16,555,000 บาทเลยทีเดียว
ทักษะการวาดเส้นในแบบที่คอร์ทเชี่ยวชาญใช่จะหาได้ง่ายๆ ดังนั้น ก่อนที่เขาจะได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบหน้าที่นี้จึงต้องผ่านการทดสอบความสามารถเสียก่อน คอร์ทถูกส่งตัวไปเยอรมนีเพื่อพบ เอียน คาเมรอน (Ian Cameron) หัวหน้าทีมออกแบบโรลส์–รอยซ์ภายใต้สังกัดบีเอ็มดับบลิว (ฺBMW) ที่เพิ่งซื้อกิจการโรลส์–รอยซ์ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น โดยในวันนั้น คาเมรอนโชว์ฝีมือวาดเส้นโค้ชไลน์ให้คอร์ทชมเป็นขวัญตา
“สถานการณ์ประมาณว่า “คุณวาดเส้นได้เนี้ยบแบบผมไหม?” ซึ่งคนอังกฤษผู้หยิ่งทะนงตนอย่างผมทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว” คอร์ทเล่าความหลังอย่างตรงไปตรงมา
จากนั้น คอร์ทถูกพาไปยังโรงงานประกอบมอเตอร์ไซค์ BMW ซึ่งเป็นแผนกเดียวของบริษัทที่ยังคงอาศัยการวาดเส้นด้วยมือ คอร์ทแสดงทักษะบนปลายฝีแปรงบนตัวถังรถมอเตอร์ไซค์ได้อย่างน่าทึ่ง และรับหน้าที่นักวาดเส้นโค้ชไลน์บนโรลส์–รอยซ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบัน คอร์ทเริ่มมองหาช่างฝีมือคนต่อไปที่จะมารับหน้าที่นี้ต่อจากเขา ก่อนหน้านี้เขาเคยฝึกฝนลูกชายให้รับช่วงต่อ แต่สุดท้ายลูกชายของคอร์ทก็ล้มเลิกความตั้งใจ โดยยอมหันหลังให้รายได้เดือนละหกหลัก แล้วผันตัวไปรับผิดชอบแผนกงานไม้ในโรงงานของโรลส์–รอยซ์แทน
“เวลาไม่คอยท่า ผมเองก็ไม่มีวันที่จะเป็นหนุ่มขึ้นได้ ดังนั้น ต้องมีใครสักคนก้าวมารับหน้าที่นี้ต่อไป” ชายผู้ไม่เคยอยากวางฝีแปรงมองโลกตามความเป็นจริง
อ้างอิง
- Pete Valdes-Dapena. His only job – Painting the pinstripes on Rolls Royces.https://cnn.it/3HOyBLu
- Peng. เปิด 32 เรื่องราวที่ไม่ธรรมดาเกี่ยวกับรถยนต์ Rolls-Royce.https://bit.ly/3r4cwmi
- Sean Evans. From the Phantom IV’s First Owners to Hyper-Powered Plane Engines, 15 Things You Didn’t Know About Rolls-Royce. https://bit.ly/3HPmmyf