ถ้าเราเห็นนิชิมุระหลังเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส ตอนที่กำลังสะบัดแปรงแต่งหน้าอย่างฉวัดเฉวียน เราคงนึกไม่ถึงว่าอีกบทบาทของเขาคือพระผู้เผยแผ่ศาสนาพุทธ
โคะโดะ นิชิมุระ (Kodo Nishimura) เป็นชาวญี่ปุ่นที่เป็นทั้งพระ เมคอัพอาร์ติส และนักกิจกรรมเพื่อ LGBTQIA+ เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อปรากฏตัวในซีรีย์ Queer Eyes ทางเน็ตฟลิก ด้วยบทบาทที่หลากหลายและชวนให้ตั้งคำถามกับพุทธศาสนาในยุคใหม่ ทำให้เขาเป็นที่พูดถึงและได้รับเลือกจากนิตยสาร TIME ให้เป็น TIME’s Next Generation Leaders 2021 หรือ เป็นบุคคลผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม และมีพลังเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น
เราขอชวนมาทำความรู้จักกับนิชิมุระ ผ่านความจริง 6 ข้อ ที่จะทำให้รู้ว่า ทำไมเขาถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงและเขย่าวงการศาสนาในญี่ปุ่นได้มากมายขนาดนี้
1.
โตมาในวัดแต่ไม่เคยอยากเป็นพระ
นิชิมุระเกิดและเติบโตในรั้ววัดประจำตระกูลที่มีอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ในเมืองโตเกียว พ่อของเขาเป็นนักบวชของศาสนาพุทธนิกายโจโด (Jodo Shinshu) ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งที่มีผู้คนนับถืออย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น นิกายนี้ไม่แบ่งชนชั้นระหว่างพระกับฆราวาส นักบวชจึงมีภรรยา ทำงานประจำ และใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป
นิชิมุระคลุกคลีกับพิธีกรรมแบบชาวพุทธมาตั้งแต่จำความได้ แต่เขาไม่เคยนึกอยากบวชเป็นพระเหมือนพ่อแม้แต่น้อย เขาจำได้ว่าตอนเด็กๆ เขาชอบดูการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์มากและอยากมีผมยาวสลวยแบบนั้นบ้าง จึงไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องต้องโกนหัวเพื่อบวชเป็นพระ
2.
นิยามตัวเองว่าเป็น ‘Gender-gifted’
นิชิมุระพบว่าตัวเองมีแรงดึงดูดระหว่างผู้ชายด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก เขาเล่าว่าจิตใจของเขาเป็นทั้งเพศหญิงและเพศชายผสมปนเปกัน นิชิมุระเพิ่งมานิยามตัวเองภายหลังว่าเป็น ‘Gender-gifted’ ซึ่งหมายถึง การแสดงออกทางเพศเป็นได้มากกว่าชายและหญิง
กว่าที่นิชิมุระจะเรียนรู้ ยอมรับ และเปิดเผยตัวตนให้สังคมได้รับรู้นั้นไม่ง่ายเลย เพราะตอนที่เขายังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายในญี่ปุ่น นิชิมุระพยายามปกปิดเรื่องเพศของเขาและเก็บมันเป็นความลับอย่างเงียบเชียบ ไม่แสดงออกให้ใครรู้ เพราะกลัวว่าจะถูกเพื่อนรังแก
3.
แต่งหน้าเพราะค้นหาตัวตน
เมื่ออายุครบ 18 ปี นิชิมุระตัดสินใจไปเรียนต่อที่ Dean of College ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ที่นั่นทำให้เขาพบกับผู้คนที่มีความหลากหลาย บางคนมีผมสีบลอนด์ บางคนร่างกำยำ บางคนผอมเพรียว แต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นที่จดจำ ยกเว้นเขา
ตอนนั้นนิชิมุระไม่มั่นใจในตัวเองเลย เพราะมองว่าตัวเองไม่โดดเด่น ตัวเล็ก และมีตาชั้นเดียว นิชิมุระจึงเริ่มฝึกแต่งหน้า โดยเน้นที่ดวงตาของเขาให้ดูพิเศษขึ้น และทำให้เขาเริ่มมั่นใจขึ้น พอแต่งหน้าเก่ง เขาก็ลองแต่งหน้าให้เพื่อนๆ ดูบ้าง เมื่อเห็นว่าเพื่อนมีความมั่นใจและมีความสุขจากฝีมือการแต่งหน้าของเขา นิชิมุระเลยตั้งใจจะเป็นเมคอัพอาร์ติสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เขาเรียนต่อที่ Parsons School of Design ในนิวยอร์ก ได้ทำงานแต่งหน้าอย่างที่ฝันไว้ เขาแต่งหน้าให้นักแสดงและนักร้องชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คริสตินา มีเลียน (Christina Milian) แอนดรูว์ แวนวินการ์เดน (Andrew VanWyngarden ) อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเมคอัพปังๆ ของผู้เข้าประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์สและมิสยูเอสเอ ทำให้เขาเคยมีโอกาสแต่งหน้าให้กับ ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น ตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศไทยในปี 2019 อีกด้วย
4.
กลับบ้านมาบวช เพราะอยากหาคำตอบให้ชีวิตผ่านพุทธศาสนา
นิชิมุระใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกานาน 7 ปี ระยะทางจากโตเกียวถึงนิวยอร์ก ทำให้เขาย้อนมองกลับไปที่บ้านเกิดอีกครั้ง แล้วเริ่มเห็นความงดงามของพุทธศาสนาในแบบที่เขาไม่เคยเห็นเลยเมื่อครั้งยังเด็ก จากผู้ที่ปฏิเสธจะเป็นนักบวชมาตลอด เขาเริ่มตั้งคำถามว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน และพุทธศาสนาได้เติมเต็มชีวิตอย่างไร นิชิมุระจึงตัดสินใจกลับบ้านเพราะอยากศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
“ฉันค้นพบเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง และมั่นใจมากขึ้นว่าฉันเป็นใคร เชื่อในอะไร ฉันตั้งคำถามมากมาย เช่น ทำไมเราควรทำดีต่อผู้อื่น ทำไมเราถึงมีชีวิตอยู่ ความหมายของชีวิตคืออะไร และฉันอยากเรียนรู้คำตอบจากศาสนาพุทธ”
สิ่งแรกที่นิชิมุระในวัย 24 ปี ทำเมื่อกลับถึงบ้าน ไม่ใช่การเริ่มศึกษาศาสนา แต่เป็นการเปิดเผยรสนิยมทางเพศให้ครอบครัวรับรู้ก่อน และเขาก็ต้องประหลาดใจ เมื่อพ่อผู้เป็นทั้งพระและศาสตราจารย์ด้านพระพุทธศาสนาเปิดใจยอมรับในตัวตนของเขาได้ และยังบอกให้เขาใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้อีกด้วย
นิชิมุระตัดสินใจจะบวชเป็นพระหลังจากวันนั้น อย่างไรก็ตาม ตัวตนทางเพศยังเป็นสิ่งที่ทำให้เขากังวลใจ เพราะเขาเห็นว่านักบวชมีแต่ผู้ชาย เลยไม่แน่ใจว่าตัวเองจะบวชได้หรือไม่ แต่หลังจากไปปรึกษาปรมาจารย์ด้านพุทธศาสนา เขาก็ได้คำตอบที่น่ายินดีกลับมาว่าศาสนาพุทธนิกายโจโดนั้นยินดีต้อนรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เชื้อชาติใดก็บวชเป็นพระผู้เผยแผ่ศาสนาได้ นั่นทำให้นิชิมุระมั่นใจในเส้นทางนี้มากขึ้น
5.
เป็นทั้งพระ เมคอัพอาร์ติส และนักกิจกรรมเพื่อ LGBTQIA+
นิชิมุระปฏิบัติทางธรรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 2 ปี จนได้บวชเป็นพระเต็มตัว โดยหลังจากนั้น เขายังทำงานเมคอัพอาร์ติสและเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อ LGBTQIA+ ไปพร้อมกัน
เขาบินไป-กลับญี่ปุ่น-อเมริกาเพื่อทำหน้าที่ของทุกบทบาท แม้ว่าทั้งพระและเมคอัพอาร์ติสจะดูเป็นบทบาทที่สวนทางกัน แต่สำหรับนิชิมุระแล้ว เขาทำทั้งหมดควบคู่กันไปได้ โดยเชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือการทำให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจกับการดำรงอยู่ ทั้งด้านภาพลักษณ์และจิตใจ
“ฉันกำลังแหกกรอบทัศนคติที่คนมีต่อพระ พุทธศาสนาถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นพระสามารถทำงานอื่นๆ ได้ ฉันเคยเห็นพระบางคนเป็นหมอ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นนักวิชาการ การแสดงออกทางพุทธศาสนาจึงมีความหลากหลาย ในขณะที่เราเผยแผ่หลักคำสอนเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ความสุขและสามัคคีเหมือนกัน”
แม้ในบริบทสังคมญี่ปุ่นจะเปิดกว้างให้นักบวชทำงานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยได้ แต่นิชิมุระยังไม่เคยเห็นใครที่เป็นทั้งเมคอัพอาร์ติสและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม LGBTQIA+ เขาจึงมีความกังวลเล็กน้อยในตอนแรก ว่ามันอาจจะดูแปลกเกินไปสำหรับสังคมญี่ปุ่น แต่ภายหลังเขาก็ตั้งใจว่าจะใช้โอกาสที่ตัวเองแตกต่าง เป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQIA+ ในญี่ปุ่นไปด้วย
6.
ใส่ส้นสูงกับสบงแล้วทรงพลัง
แม้ว่าตอนที่ฝึกปฏิบัติเป็นเวลา 2 ปี นิชิมุระจะทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด แต่ตอนนี้เขาค้นพบวิถีการเป็นพระในแบบตัวเองแล้ว เขาค่อนข้างยืดหยุ่น และไม่เคร่งครัดกับกิจของสงฆ์สักเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าการทำแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นกิจวัตร อาจเป็นการจำกัดความสามารถในการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ซึ่งปัจจุบัน สิ่งที่เขาทำเป็นประจำมีเพียงการนั่งสมาธิเพื่อทำให้ตัวเองพบความสมดุลในจิตใจ
ในวันปกติที่วัด นิชิมุระมักจะแต่งหน้าอ่อนๆ ในชุดนักบวช เพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิของตัวเองในการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่เขาก็ยินดีกับการแต่งหน้าจัดจ้าน ใส่ต่างหูแวววับ และสวมรองเท้าส้นสูง แม้จะยังสวมชุดของนักบวชนี้อยู่ก็ตาม
“ในฐานะที่เป็นพระ ผู้คนมักจะให้ความสนใจกับสิ่งที่เราพูดมากขึ้น เรายังไม่เห็นพระญี่ปุ่นที่แต่งหน้าหรือใส่รองเท้าส้นสูงสักเท่าไหร่นัก ฉันจึงต้องการใช้บทบาทนี้ เน้นย้ำความจริงที่ว่าเราสามารถเป็นใครก็ได้ที่ต้องการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะหรืออาชีพ”
“ฉันต้องการให้คนรู้ว่าการเป็นพระ ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างเคร่งครัด เพราะมันเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและได้ทำในสิ่งคิดว่าถูกต้อง การมีความสุขมันสำคัญกว่าพิธีกรรมและกฎเกณฑ์ การได้ทำในสิ่งที่ฉันรักทำให้ฉันอยากสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้รู้ว่าพวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้”
“ฉันเป็นพระที่ใส่ส้นสูงได้ คุณก็เป็นในแบบที่คุณอยากเป็นได้”
อ้างอิง
- ARIA CHEN. ‘I Am Both Ancient and Trendy.’ He’s a Buddhist Monk, a Makeup Artist and an LGBTQ Activist. https://bit.ly/3jBWAmN
- Marie Scarles. This Buddhist Life: Kodo Nishimura. https://bit.ly/3Ck7SDE
- BEH LIH YI. Buddhist monk and makeup artist seeks LGBTQ equality in Japan. https://bit.ly/2ZpYEaK