รถ SAAB 900 สีแดง แล่นไปรอบๆ เมืองฮิโรชิมา แสงไฟถนนสาดเข้ามาในรถทำให้เกิดเงาวูบไหวเป็นจังหวะ บรรเทาความเงียบเหงาไปจนสิ้น ทำให้คนขับและผู้โดยสารเริ่มต้นบทสนทนากันอีกครั้ง
รถเป็นพาหนะปิดทึบ ชวนอึดอัด แต่ในขณะเดียวกันก็แล่นไปได้เรื่อยๆ อย่างอิสระ มวลภายในรถซึ่งแตกต่างจากสถานที่ไหนๆ บางครั้งก็ทำให้คนกล้าเปิดอกพูดความในใจต่อกัน
ริวสุเกะ ฮามากุจิ (Ryusuke Hamaguchi) หลงใหลมวลบรรกาศในรถมาเสมอ จึงทำให้เขาตัดสินใจติดต่อฮารุกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนระดับตำนาน เพื่อนำงานเขียน ‘Drive my car’ จากหนังสือรวมเรื่องสั้น Men without Women ของเขามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์
ไม่ใช่เพราะมาจากเรื่องสั้นของมุราคามิเพียงเท่านั้น แต่เป็นเพราะบทภาพยนตร์อันลุ่มลึกแบบหาตัวจับได้ยากของฮามากุจิด้วยเช่นกันที่ทำให้ Drive My Car เป็นหนังคุณภาพอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การรับชม ก่อนที่จะพิสูจน์ตัวเองด้วยรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และรางวัลภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมจากออสการ์ครั้งที่ 94
ริวสุเกะ ฮามากุจิ เป็นชาวโตเกียวโดยกำเนิด หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว เขาทำงานในวงการหนังโฆษณาช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียว (Tokyo University of Art) ซึ่งเป็นเวทีแรกๆ ที่ฮามากุจิได้อวดฝีมือทำภาพยนตร์
มีคลาสหนึ่ง เขาได้เรียนกับ คิโยะชิ คุโระซะวะ (Kiyoshi Kurosawa) ผู้กำกับหนังสยองขวัญชื่อดังในญี่ปุ่น ตอนนั้นคุโระซะวะจัดประกวดเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Solaris ของนักเขียน สตาญิสวัฟ แลม (Stanislaw Lem) ขึ้นมา ฮามากุจิก็เข้าร่วมและคว้าชัยชนะจากการแข่งขันครั้งนั้นไป เขาชอบงานชิ้นนั้นของตัวเองมาก อีกทั้งยังได้รับคำวิจารณ์ที่ดีด้วย แต่น่าเสียดายที่คงหาดูไม่ได้ เพราะเรื่องนั้นฉายดูกันเองแค่ในหมู่นักศึกษา เพื่อสงวนลิขสิทธิ์ให้กับนิยายต้นฉบับ [ ภายหลัง ในปี 2020 ฮามากุจิและและคุโระซะวะได้โคจรกลับมาพบกันในภาพยนตร์เรื่อง Wife of Spy (2020) ]
ฮามากุจิก็ปิดฉากบทบาทนักศึกษาอย่างสวยงามด้วย ภาพยนตร์ตัวจบเรื่อง Passion (2008) ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มเพื่อนวัย 20 ปลายๆ ที่กลับมาพบกันอีกครั้ง และแต่ละคนพบว่าตัวเองได้เข้าไปพัวพันกับเรื่องรักสามเศร้า เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่เล่าเรื่องความหวั่นไหวในชีวิตผู้ใหญ่ตอนต้นได้อย่างเฉียบขาด จนได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Tokyo Filmex
หลังจากที่ฮามากุจิเรียนจบ ในปี 2011 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น จุดศูนย์กลางอยู่ในเมืองโทโฮคุ ฮามากุจิจึงชักชวนโค ซากาอิ (Ko Sakai) เพื่อนของเขาไปยังที่เกิดเหตุเพื่อสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต เก็บภาพความเสียหาย และถ่ายทำออกมาเป็น Tohoku Documentary Trilogy (2011 – 2013) สารคดีไตรภาคชิ้นแรกของเขา
สารคดีเรื่องยาว ทำให้ฮามากุจิได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ มากมาย รวมถึงวิธีเล่าเรื่องผู้ประสบภัยในสารคดี ครั้งนี้เขาไม่ได้นำเสนอเรื่องราวของแต่ละคนในมุมของการเป็นผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังเล่าเรื่องในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งด้วย เขาจดจำวิธีนี้มาใช้กับนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่อๆ โดยไม่ได้กำหนดว่านักแสดงจะต้องแสดงอะไร แต่ฮามากุจิจะพยายามดึงสิ่งที่นักแสดงสามารถแสดงออกมาให้ได้มากที่สุด และให้เหมาะสมกับแต่ละคนด้วย
เมื่อฮามากุจิพบแนวทางของตัวเองอย่างชัดเจน เขาจึงอวดฝีมืออีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Happy Hour (2015) ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มเพื่อนหญิงวัย 30 ปลายๆ ในเมืองโกเบ
เพื่อให้ทุกคนสนิทสนมอย่างสมจริง ฮามากุจิจึงใช้เวลาถึง 6 เดือนในการเวิร์กช็อป เพื่อให้นักแสดงเล่นออกมาเหมือนไม่ได้แสดง ซึ่งวิธีการของเขาคือให้แต่ละคนนั่งอ่านบทซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพูดได้อย่างอัตโนมัติและเป็นธรรมชาติ
ฮามากุจิจะนั่งฟังเสมอและไม่ขอให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ต้องพูดแบบเดิมจนจำได้ขึ้นใจ จนท้ายที่สุดฮามากุจิสามารถจับน้ำหนักดัง-เบาของแต่ละคนได้ และรับฟังไปมากกว่าเสียงที่เปล่งออกมา หากใครเคยดูภาพยนตร์ของฮามากุจิหลายๆ เรื่อง คงรู้สึกได้เหมือนกันว่าภาพยนตร์ของเขานั้นโดดเด่นที่ ‘บทสนทนา’ ของตัวละคร
ในปี 2021 ระหว่างที่ฮามากุจิรอคำตอบจากมุราคามิอย่างใจตดใจจ่อ เขาก็พอมีเวลาเขียนบทภาพยนตร์สั้นในโปรเจ็กต์ใหม่ ซึ่งกว่าที่มุราคามิจะตอบกลับ เขาก็เขียนเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 เรื่องพอดี จนกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง Wheel of Fortune and Fantasy (2020) ที่รวมหนังสั้น 3 เรื่องที่มีลายเซ็นฮามากุจิชัดเจนเอาไว้
‘Magic’ เป็นเรื่องของนางแบบสาวคนหนึ่ง ที่แฟนใหม่ของเธอดันเป็นแฟนเก่าของเพื่อนสนิท ‘Door wide open’ เป็นเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่แอบมีชู้และต้องการช่วยชู้แก้เผ็ดอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยการทำให้อาจารย์เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่หลังจากที่ได้คุยกันจนยืดยาว เรื่องราวก็เปลี่ยนไป ‘Once Again’ คือเรื่องราวของเพื่อนสนิทที่กลับมาเจอกันที่บ้านเกิด แต่ท้ายที่สุดแล้วบทสนทนาชวนสับสนของตัวละครก็พาทั้งสองไปยังบทสรุปที่ไม่มีใครคาดคิด
ในเรื่องแรกมีฉากหนึ่งที่ตัวละครนั่งรถคุยกันอยู่นาน ซึ่งตอนถ่ายทำก็ไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่ฮามากุจิกำลังทำเรื่อง Drive My Car ทั้งสองเรื่องนี้แสดงถึงความหลงใหลบทสนทนาบนรถของฮามากุจิได้เป็นอย่างดี
เขาเผยว่าเขามีความทรงจำกับรถมากมาย เมื่อครั้งที่ได้ไปแมนแฮตตัน เขานั่งแท็กซี่กลับที่พักและก็ตระหนักได้ว่า ‘รถ’ นั้นเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้คนเราพูดคุยกัน แม้ว่ารถเป็นพื้นที่ปิด มีความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่เปิดรับและเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ จึงทั้งเป็นส่วนตัวและเป็นสาธารณะ ทำให้หลายคนสบายใจที่จะพูดออกมา ฮามากุจิหลงใหลบทสนทนาในรถบ้าง นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจเรื่องสั้นของมุราคามิ
แนวทางการดัดแปลงเรื่องสั้นมาเป็นภาพยนตร์ของเขาแตกต่างจากคนอื่นๆ ตรงที่ฮามากุจิพยายามขยายช่วงพูดคุยสั้นๆ นั้นให้ยืดยาวขึ้น มีพื้นที่ให้ตัวละครได้พูด คิด และรับฟังกันไปเรื่อยๆ บนรถที่ค่อยๆ แล่นไปบนถนน
Drive My Car เป็นเรื่องของยูซุเกะนักเขียนบทละครเวทีที่สูญเสียภรรยาของเขาไปกะทันหัน สองปีต่อมาเขาได้ไปทำละครเวทีที่เมืองฮิโรชิมา เขาได้พบกับ ‘มิซากิ’ เด็กสาวเงียบขรึมที่คอยขับรถรับ-ส่ง
ระหว่างทางจากที่ SAAB 900 สีแดงขับวนไปในเมืองนั้นทั้งสองได้สนทนากัน และบทสนทนานั้นก็ค่อยๆ ทำให้ทั้งคู่เปิดเผยปมในใจของตัวเองออกมาทีละนิด จนกระทั่งยอมรับและแก้ไขมันได้ในที่สุด เพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไป
มีฉากหนึ่งที่ยูซุเกะต้องกำกับละครเวที ที่มีนักแสดงต่างชาติทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ จีน หรือแม้แต่นักแสดงที่ใช้ภาษามือ เมื่อมีคนจากหลากหลายชาติมานั่งอ่านบทละครเรื่องเดียวกันคนละภาษา โดยที่ไม่มีใครเข้าใจกันเลยสักคนนั้น ในมุมมองของผู้ชมคงแปลกเอาการ
แต่เมื่อกลับมาดูแนวทางกำกับของฮามากุจิตั้งแต่เรื่องแรกๆ แล้วล่ะก็ เขากำลังท้าทายตัวเองมากขึ้น และพยายามแสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างหนังในแบบฉบับของเขาอย่างชัดเจน
ฮามากุจิได้แรงบันดาลใจเรื่องการสื่อสารหลากภาษามาตั้งแต่เด็ก ตอนที่เขาไปเรียนภาษาที่อเมริกาแล้วทุกคนในห้องต่างสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นเขากลับพบว่าพอมีภาษาเป็นสื่อกลางแล้ว คนฟังอาจสนใจแต่คำพูดมากเกินไป จนลืมพยายามรับฟังสิ่งที่อยู่นอกเหนือเสียงที่เปล่งออกมา เช่น สีหน้า ท่าทาง อารมณ์ขณะพูด
ฮามากุจิเชื่อว่าแม้ว่าเราจะฟังผ่านเสียง แต่เราทำความเข้าใจคนอื่นมากกว่านั้นได้ด้วยการสื่อสารผ่านภาษากาย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนซึมซับจากกันและกันได้ในชีวิตประจำวัน ที่เขาให้นักแสดงท่องบทไปเรื่อยๆ ก็เพราะอยากให้พูดได้แบบอัตโนมัติ และหลังจากนั้นทุกคนก็จะสามารถสื่อสารโดยทลายกำแพงทางภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ และนั่นคือนิยามของบทสนทนาที่แท้จริงของฮามากุจิ
วัย 43 ปีของฮามากุจิ สำหรับวงการภาพยนตร์นั้นพูดถึงเขาในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ แต่สำหรับฮามากุจิแล้วปีนี้เป็นปีที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ เป็นปีที่เขาเปล่งประกายมากที่สุด ยิ่งไปกว่ารางวัลมากมายที่ได้รับคือตอนนี้ผู้คนจดจำภาพยนตร์ของเขาได้
และยังจดจำเขาไว้ในฐานะผู้กำกับที่สร้างบทสนทนาในหนังได้ละเมียดละไมที่สุดคนหนึ่ง
อ้างอิง
- David Hudson. Ryusuke Hamaguchi: “This Is How We Live Our Lives”. https://bit.ly/3wV3H0V
- David Ehrlich. ‘Drive My Car’ and ‘Wheel of Fortune and Fantasy’ Filmmaker Ryusuke Hamaguchi Explores the Upside of Getting Lost in Translation. https://bit.ly/3DxnmWk
- TOMRIS LAFFLY. Drive My Car Director Ryûsuke Hamaguchi Likes Things to Be a Little Mysterious. https://bit.ly/3DsDTdO