w©rld

ในขณะที่ใครหลายคนกำลังทำงานอย่างน่าเบื่อหน่ายรอเวลาเลิกงานอย่างใจจดใจจ่อ แต่ที่ออสเตรเลีย Tiffany Schrauwen พนักงานบริษัท Versa กำลังฝึกท่าแบ็คแฮนด์อยู่ที่คอร์ดเทนนิส

Jon Freeman เซลล์แมนส่งของ อายุ 33 ปี บริษัท Pursuit Marketing กำลังใช้เวลาอยู่กับลูกชายอายุ 2 และ 5 ขวบ

พวกเขาไม่ได้อู้งาน แต่บริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่มีนโยบายทำงานเพียงแค่ 4 วันต่อสัปดาห์และมีเวลาเลิกงานที่เร็วขึ้นที่สำคัญค่าจ้างก็ไม่ได้ลดตามลงไปด้วย

(Photo: pexels.com)

หลังจากบริษัท Perpetual Guardian อสังหาริมทรัพย์ในนิวซีแลนด์ได้ประกาศให้การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นนโยบายบริษัทไปเมื่อปี 2018 และได้พบว่าความสามารถในการผลิตไม่ได้น้อยลงไปเลย แถมการเป็นอยู่ของพนักงานก็ดีขึ้นด้วย

ความสำเร็จที่โด่งดังไปทั่วโลกนี้ทำให้บริษัทและองค์กรอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงโครงสร้างเวลาในการทำงานกันอีกครั้ง

(Photo: pexels.com)

บริษัทการตลาดดิจิทัล Versa ในออสเตรเลียได้ทดลองทำงานเพียง 4 วันมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีและเห็นผลได้ดีทั้งด้านประสิทธิภาพในการทำงานและด้านคุณภาพชีวิตของพนักงาน

ส่วน Pursuit Marketing ซึ่งเป็นบริษัทที่ Jon Freeman ทำงานเป็นเซลล์แมน อยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของเมืองกลาสโกว์เริ่มปรับชั่วโมงการทำงานเมื่อปี 2011 ให้มีชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ 8.45 ถึง 5 โมงเย็นในวันจันทร์ถึงพฤหัส ส่วนวันศุกร์จะมีเวลาการทำงานที่สั้นลง โดยมีเวลาเลิกงานที่ 3.30 น. และในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 บริษัทได้สังเกตว่าการทำงานน้อยลงสามารถเพิ่มการขายได้มากกว่าทำงานเต็มเวลาประมาณ 17%

ในการประชุมสหภาพการค้าในสหราชอาณาจักรเกาะบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์มีความสนใจอย่างมากในการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แม้แต่ร้านฟาสต์ฟู้ด Shake Shack ในสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อกระฉ่อนเรื่องเวลาการทำงานที่ยาวนาน ยังประกาศที่จะทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่ตึงตัว

(Photo: wikimedia commons)

รวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการเคร่งเครียดในการทำงานก็ยังเรียกร้องให้หยุดในวันจันทร์หลังจากมีสถิติการฆ่าตัวตายและปัญหาสุขภาพจิตที่มาจากการทำงาน

เอ๊ะ! หรือว่าเราควรทำงานแค่ 4 วันกันนะ?

ถ้าในหนึ่งสัปดาห์ (ที่ไม่ใช่เสาร์อาทิตย์) เลือกหยุดได้หนึ่งวัน คุณจะเลือกวันไหน?

ส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของ Jarrod Haar ศาสตราจารย์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ ที่ได้สัมภาษณ์พนักงานที่ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ พบว่าส่วนใหญ่วันพุธมักจะเป็นวันหยุดที่พนักงานชื่นชอบมากที่สุด

(Photo: pexels.com)

“การหยุดในวันพุธนั่นแปลว่าคุณจะได้กลับมาทำงานวันพฤหัสบดีอย่างสดชื่น และนี่ทำให้คนรู้สึกทำงานออกมาได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” Harr กล่าว

บริษัทซอฟต์แวร์ Monograph ในซานฟรานซิสโกก็มี “วันหยุดกลางสัปดาห์” เช่นกัน

“หยุดกลางสัปดาห์จะทำให้สมองได้รีเซ็ตหลังจากเจองานที่ยากลำบาก และสามารถกลับมาทำงานวันพฤหัสได้โดยมีกำลังใจที่จะเดินหน้าทำงานต่อ” Amaya ผู้ก่อตั้งบริษัท Monograph อธิบาย

(Photo: pexels.com)

Kath Blackham ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท Versa บอกว่า นโยบาย “หยุดวันพุธ” ได้นำไปใช้เมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว ตั้งแต่ตอนนั้นรายได้ของบริษัทในออสเตรเลียก็เพิ่มขึ้น 46% และได้กำไรเพิ่มเกือบ 3 เท่า “อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าเพราะมีวันหยุดเพิ่ม ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นเพราะบริษัทมีชื่อเสียงเรื่องการทำงานที่ดีอยู่แล้ว”

Tiffany Schrauwen พนักงานที่ Versa บอกว่า การที่ได้หยุดกลางสัปดาห์ทำให้พนักงานได้จัดการตารางเวลาของตัวเองใหม่ โดยจะทำงานบางอย่างให้เสร็จก่อนที่จะหยุดในวันพุธ และกลับมาเริ่มต้นทำใหม่ในวันพฤหัสบดีอย่างสดชื่น นอกจากนี้ยังสังเกตเห็นได้ว่า พนักงานจะพูดคุยไร้สาระกันน้อยลง และมีสมาธิกับงานมากขึ้น

(Photo: pexels.com)

“เราทุกคนอยากได้วันหยุด และถ้าอยากให้มีวันหยุดในพุธต่อไป เราก็ต้องทำทุกอาทิตย์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

ลดชั่วโมงการทำงาน ใช่ว่าจะได้ผลทั้งหมด

Perpetual Guardian บริษัทจัดการอสังหาริมทรัพย์ของนิวซีแลนด์เป็นที่แรก ๆ ที่ประกาศการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ถึงแม้จะพบว่าไม่มีการสูญเสียประสิทธิภาพการผลิต วันลาป่วยลดลงและการเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้น แต่บริษัทก็ต้องสูญเสียพนักงานบางคนที่ไม่สามารถปรับตัวกับการทำงานที่มีความยืดหยุ่นนี้ได้

ธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาต้องกลับไปทำงาน 5 วันเช่นเดิมเพราะไม่สามารถสู้บริษัทอื่นได้

บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในเมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ทดลองให้พนักงานทำงานวันละ 6 ชั่วโมงและพบว่า แม้ว่าคนจะลาป่วยน้อยลงและความสามารถในการผลิตงานเพิ่มขึ้น แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างพนักงานมาทำงานช่วงที่ขาดคนมากขึ้น

(Photo: pexels.com)

3 ใน 4 ของพนักงานอยากจะทำงานน้อยกว่า 5 วัน ตามรายงานวิจัยของสถาบัน The Workforce Institute ที่ได้สำรวจ 8 ประเทศ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Kronos Incorporated

ในท้ายที่สุดรายงานดังกล่าวไม่สนับสนุนการทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ว่าจะเหมาะกับทุกคน Joyce Maroney ผู้อำนวยการบริหารของสถาบัน The Workforce Institute เผยกับ HuffPost ว่า “เพราะฉันคิดว่าแค่วิธีการเดียวไม่สามารถที่จะเหมาะกับทุกคนได้”

แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่มีความสามารถสูง เธอคิดว่านายจ้างควรเปิดรับความคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะกับอาชีพที่เหมือนกับว่าบ้านไม่มีจริง “ความรับผิดชอบของเจ้านายคือการได้ความชัดเจน อะไรคือสิ่งที่เราได้จากการทำสิ่งนี้ เราจะช่วยผู้คนสร้างสมดุลสุขภาพร่างกายและความต้องการออกจากงานด้วยเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตได้อย่างไร” โดยเฉพาะ ‘แซนวิชเจนเนเรชัน’ ที่ต้องวางแผนดูแลลูกๆ และพ่อแม่ที่เริ่มแก่ลง

(Photo: pexels.com)

การเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่

ในช่วงยุคศตวรรษที่ 20 การทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์เป็นผู้ริเริ่มให้มีวันหยุดสุดสัปดาห์ในปี 1926 จาก 6 วันเหลือ 5 วันหรือเหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยหวังว่าการผลิตจะเพิ่มมากขึ้น

(Photo: historycrunch.com)

ต่อมา จอห์น เมนาร์ด เคย์นส์ นักเศรษฐศาสตร์ได้ตั้งทฤษฏีไว้เมื่อปี 1930 ว่าอีกไม่นานเวลาในการทำงานก็จะลดลงเหลือเพียงแค่ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

ซึ่งในตอนนี้ทั่วทั้งโลกลดชั่วโมงการทำงานลงเรื่อยๆ นั่นก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าทฤษฎีของ จอห์น เมนาร์ด เคย์นส์ (หรือเปล่านะ?)

ทุกสิ่งเปลี่ยน เมื่อเปลี่ยนชั่วโมงการทำงาน

Rae Cooper

Rae Cooper ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเพศและการว่าจ้างงาน มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุว่า “ในช่วงที่อายุ 30 ต้นๆ ผู้หญิงพร้อมที่จะมีลูกและครอบครัว ระยะเวลาการทำงานที่ไม่มีความสมดุลจะทำให้ที่ทำงานสูญเสียผู้หญิงเหล่านั้นไป เพราะเราไม่มีทางเลือกให้พวกเธอเป็นทั้งแม่และผู้ทำงานที่มีประสิทธิภาพ”

Andrew Barnes ซีอีโอและเจ้าของ Perpetual Guardian บอกว่าการเปลี่ยนตารางงานสามารถช่วยแก้ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ได้ด้วย เขาบอกว่า 1 ใน 5 ของพนักงานทั้งหมดกำลังจะเผชิญกับความเครียด และการทำงาน 4 วันก็เป็นการแก้ปัญหานี้ ซึ่งก็ส่งผลต่องบสำหรับค่ารักษาพยาบาล

“พ่อแม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ต้องออกไปขับรถในช่วงโมงเร่งด่วนนั่นก็จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน”

แล้วคุณล่ะ ถ้าเลือกได้อยากทำงานกี่วันต่อสัปดาห์.

(Photo: pexels.com)

อ้างอิง: