มองโลกใบเดิมในมุมใหม่ ผ่านภาพถ่ายมุมสูงที่ไม่ใช่แค่เปิดโลกในมุมต่าง
แต่ยังเปิดกว้างทางความคิด และเปิดประสบการณ์ให้ได้รู้จักชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่บนความเปลี่ยนแปลงจากวิกฤตโควิด-19 ภาพทั้งหมดนี้จึงเป็นเสมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปของชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับพื้นที่สักแห่งบนโลกที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน
หนทางแห่งการเริ่มต้น
สภาพการจราจรของเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ในมณฑลหูเป่ย (Hubei) ประเทศจีน เริ่มหนาแน่นไปด้วยรถยนต์จำนวนมากที่ออกมาวิ่งบนท้องถนนอีกครั้ง หลังจากทางการได้ยกเลิกคำสั่งปิดเมืองที่ดำเนินมากว่า 2 เดือน เมื่อผู้คนในเมืองกลับมาใช้ชีวิตปกติ เมืองที่เคยหยุดนิ่งและหลับใหลจากโรคระบาดจึงกลับฟื้นและคืนสู่ชีวิตใหม่อีกครั้ง
ระยะปลอดภัย
เมื่อท้องฟ้าโปร่ง และมีแสงแดดจัด คนจำนวนมากจึงพากันมาที่สวนสาธารณะโดโลเรส (Dolores Park) ในมหานครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อนอนอาบแดด นั่งปิกนิก และทำกิจกรรมกลางแจ้งกันอย่างคึกคัก ถึงแม้ว่าทุกคนจะต้องอยู่ภายในพื้นที่เล็กๆ ของเส้นวงกลมสีขาว เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างคนอื่นๆ ที่มาพักผ่อนก็ตาม เพราะนั่นไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการพักผ่อนอยู่แล้ว
อาหารว่าง
ลานหน้าศาลากลางประจำเมืองเมืองดอร์ทมุนด์ (Dortmund) เยอรมนี มีโต๊ะอาหารหลากหลายรูปแบบมาจัดวางไว้ นี่ไม่ใช่เทศกาลอาหาร แต่เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของผู้คนที่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ เพื่อเรียกร้องให้ทางการรับรู้ถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยความหวังว่าร้านอาหารของพวกเขาจะสามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในเร็ววัน
คลื่นลมสงบลง
เก้าอี้สีแดงเด่นที่มองเห็นได้แต่ไกลเหล่านี้ ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบบนหาดทรายริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมืองเทลอาวีฟ (Tel Aviv) ประเทศอิสราเอล เพื่อคืนความสดใสและความมีชีวิตชีวาให้กับชายหาดนี้อีกครั้ง แต่ทุกอย่างกลับเงียบเหงาเหมือนเดิม มีเพียงเสียงคลื่นกระทบฝั่งที่ดังไม่เป็นจังหวะ นอกจากคลื่นลมที่สงบลงแล้ว คงไม่มีใครรู้หรอกว่าวันต่อไปจะเป็นอย่างไร
ราวกับว่าปกติดี
ถึงแม้ว่าทางการของฮ่องกงจะประกาศข้อบังคับว่า ห้ามรวมตัวกันเกิน 4 คน แต่บรรยากาศบริเวณชายหาดแห่งหนึ่งกลับคลาคล่ำไปด้วยผู้คนหนาตา เหมือนกับว่าทุกอย่างในชีวิตปกติดี
ศิลปะการต่อสู้
Fridays for Future หรือกลุ่มนักเขียนในเมืองเอสเซน (Essen) ประเทศเยอรมนี ที่นัดกันหยุดเรียนทุกวันศุกร์ เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้นำโลก นักการเมือง และรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ได้นำป้ายรณรงค์ที่แต่ละคนทำขึ้นมาเรียงต่อกันเป็นข้อความใหม่ว่า ‘ต่อสู้กับทุกวิกฤต’ เพื่อส่งต่อกำลังใจให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ รวมถึงย้ำเตือนภารกิจเปลี่ยนแปลงโลกที่พวกเขาทุกคนทุ่มเทกันมาตลอด
ภาพ-พา-ยล
จากลานโลงกว้างแห่งหนึ่งในเมืองมาร์ล (Marl) ประเทศเยอรมนี ที่เขียวชอุ่มไปด้วยหญ้าต้นเล็กๆ กลับกลายเป็นลานจอดขนาดใหญ่ที่เปิดให้ทุกคนขับรถเข้ามาจับจองพื้นที่ว่าง เพื่อรอชมภาพยนตร์ร่วมกันหลังแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เมื่อไม่สามารถตีตั๋วดูหนังในโรงภาพยนตร์ได้เหมือนเดิม วัฒนธรรมร่วมสมัยที่เกือบหมดลมหายใจอย่าง Drive-in Theatre จึงกลับฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
พื้นที่ (ใช้) ชีวิต
ทุกประเทศทั่วโลกต่างรณรงค์ให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่สำหรับคนที่ไม่มีบ้านให้อยู่ พวกเขาควรทำอย่างไรต่อไป ทางการของมหานครซานฟรานซิสโกจึงจัดสรรพื้นที่หน้าศาลากลางให้ผู้ไร้บ้านพักพิงชั่วคราว โดยตีเส้นเว้นระยะห่างทางสังคม และมอบถุงยังชีพให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยจากเชื้อโรค
สวนสงัด
สวนสนุกทั่วโลกจำเป็นต้องปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับสวนสนุกกัวนาบาร่า (Guanabara Park) ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองเบโลโอรีซอนชี (Belo Horizonte) ของประเทศบราซิล เมื่อไร้ผู้คน จากสวนสนุกจึงกลายเป็นสวนสงัด ราวกับว่าเหตุผลที่ทุกอย่างต้องหยุดนิ่งลง เป็นเพราะมนต์ของปีศาจที่มาขโมยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มแห่งความสุขของที่แห่งนี้ไป
ฉากสุดท้ายของชีวิต
ร่างไร้ลมหายใจที่เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมาก ถูกวางเรียงรายเต็มพื้นที่ เพื่อรอฝังลงสุสาน (Parque Taruma Cemetery) ในเมืองมาเนาส์ รัฐอามาโซนัส ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง และกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของประเทศบราซิล ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ความตายไม่เคยเอ่ยถามให้ต่อรองเวลา นี่คือการสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะคงอยู่ในสำนึกของผู้ที่ยังมีลมหายใจ