w©rld

คลื่นความร้อนปกคลุมไปทั่วโลก อุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้น 0.8 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี 1880 เป็นต้นมา และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ปัจจุบัน ‘เครื่องปรับอากาศ’ หรือ ‘แอร์’ (Air conditioner) กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับหลายๆ บ้าน

ขณะที่ยอดขายแอร์ทั่วโลกก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว และมีวี่แววว่าความต้องการจะสูงอีกขึ้นในทศรรษข้างหน้า เช่น อินเดีย ที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้ใช้แอร์เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ตลาดเครื่องปรับอากาศกลับกำลังขยายตัวเร็วที่สุดในโลก

air-con common
ภาพจากร้านขายแอร์ในนิวเดลี เมื่อปี 2012 หลังจากเกิดเหตุไฟดับครั้งใหญ่ที่อินเดีย ซึ่งเกิดจากการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์อื่นๆ เป็นจำนวนมหาศาล จนทำให้ไฟไม่เพียงพอ (Photo : RAVEENDRAN / AFP)

 

แต่รู้หรือไม่ว่า ยิ่งเปิดแอร์ดับร้อนมากเท่าไหร่ อากาศก็จะยิ่งร้อนขึ้นเท่านั้น

เพราะอะไร? 

ยิ่งร้อน ยิ่งเปิดแอร์ ยิ่งใช้พลังงาน

ความต้องการซื้อแอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้องผลิตและเปิดแอร์มากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการของผู้ผลิตมาถึงผู้บริโภคล้วนต้องอาศัย ‘พลังงาน’ มหาศาล ซึ่งแหล่งพลังงานส่วนใหญ่ในโลกยังมาจากการเผาฟอสซิล (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ) ที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อากาศร้อนขึ้น

air-con common
ควันพวยพุ่งออกจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหินยูนิเปอร์ เมืองเกลเซนเคอเชน ตอนใต้ของประเทศเยอรมนี (Photo : INA FASSBENDER / AFP)

ปัจจุบันโลกของเราใช้พลังงานไปกับแอร์และตู้เย็นราว 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 100 ล้านตัน

air-con common
สถิติการใช้ไฟฟ้าด้านการความเย็นภายในอาคาร (Photo : The International Energy Agency)

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy) ยังระบุอีกว่า ปริมาณดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปี 2050

air-con common
ชายชาวอิรักกำลังขนแอร์ลงจากรถบรรทุกไปยังร้านแห่งหนึ่งในเมืองคาร์ราดา กรุงแบกแดด ท่ามกลางอุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส ของปี 2015 (Photo : HAIDAR MOHAMMED ALI / AFP)

 

‘สารทำลายชั้นบรรยากาศ’ ที่รั่วไหล 

นอกจากพลังงานมหาศาลจะถูกใช้ไปกับการดับร้อนแล้ว ‘สารทำความเย็น’ ที่ใช้ในการผลิตแอร์ ยังเป็นอีกตัวการที่ทำให้อากาศเลวร้ายลงด้วย

เดิมทีแต่ละบริษัทจะใช้สาร CFCs (Chlorofluorocarbons) และ HCFs (Hydrochlorofluorocarbons) ในการผลิตเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น แต่ภายหลังพบว่าสารชนิดนี้ที่มักรั่วไหลขณะผลิตมีการปล่อยคลอรีนออกมา ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้นำสาร HFCs (Hydrofluorocarbons) มาใช้ทดแทน

air-con common
ปริมาณการใช้สาร HFC (Photo : Climate Institue)

ถึงแม้ HFCs จะปลอดคลอรีนและมีผลต่อชั้นบรรยากาศเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่สารดังกล่าวกลับมีอานุภาพในการดูดความร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1,000 เท่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อากาศร้อนในโลกขึ้น

air-con common
กลางเดือนกรกฎาคม ปี 2013 เด็กหญิงยืนกินไอศกรีมอยู่ข้างๆ พัดลมแอร์ ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในปีนั้นกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าอากาศจะร้อนขึ้นถึง 40 องศา (Photo : PETER PARKS / AFP)

ปัจจุบันหลายบริษัทจึงกำลังเร่งพัฒนาแอร์ที่ปราศจากสารเคมีดังกล่าว และหาสารเคมีที่เป็นมิตรกับโลกมาใช้แทน อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากปี 1987 ที่ประเทศต่างๆ ได้ลงนามใน ‘พิธีสารมอนทรีออล’ ที่ว่าด้วยเรื่องการลดใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศ เพื่อรณรงค์ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งใช้พิธีสารนี้ไปจนถึงปี 2050 และยื่นข้อตกลงให้กลุ่มประเทศสมาชิกลดการใช้สารเคมี HFCs ให้น้อยลง 80 เปอร์เซ็นต์ในอีกสามทศวรรษต่อจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนก็ลงชื่อร่วมด้วยเช่นกัน 

air-con common
เป้าหมายการลดใช้ HFC ที่ระบุใน ‘The Kigali Amendment’ การแก้ไขพิธีสารมอนทรีออลครั้งที่ 1 (Photo : Climate Institue)

ถึงตรงนี้ คงจะเห็นปัญหาแล้วว่า ทำไมยิ่งเปิดแอร์ อากาศถึงยิ่งร้อนขึ้น พอยิ่งร้อนขึ้น ความต้องการซื้อและการใช้แอร์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่หลายองค์กรทั่วโลกต้องหาวิธีในการดับร้อนโดยไม่พึ่งแอร์

เช่น แคมเปญ Cool Biz ในประเทศญี่ปุ่น ที่ให้พนักงานสามารถลาหยุดยาวได้ในหน้าร้อน และอนุญาตใส่กางเกงขาสั้นมาทำงานในเดือนที่มีอากาศร้อน

air-con common
แฟชั่นโชว์คอลเล็คชั่นเสื้อผ้าที่ชวนให้สวมใส่ช่วง ‘Super Cool Biz’ แคมเปญที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมจัดตั้งขึ้นเพื่อคลายร้อนในฤดูร้อนของญี่ปุ่น (Photo : TORU YAMANAKA / AFP)

นอกจากนี้ยังมีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระดับเมืองและประเทศ อย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการเผาฟอสซิล

จะเห็นได้ว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการที่ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจกดรีโมตเปิดแอร์ในวันที่อากาศร้อนจัด แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชากรทุกคนในโลกใบนี้ เพื่อช่วยกันหาทางออกว่า เราจะช่วยลดการเปิดแอร์และอากาศร้อนลงได้อย่างไร

 

อ้างอิง