w©rld

ในโลกนี้มี ‘โบราณสถาน’ ซ่อนอยู่ทั่วทุกมุมเมือง

หนึ่งในนั้นคือ อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส ที่มีอายุมากกว่า 800 ปี ซึ่งถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2562

digital preservation
(photo: Fabien Barrau / AFP)

อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันครั้งนั้นกลายเป็นฝันร้ายของหลายคนและทำให้ ‘Digital Preservation’ หรือการเก็บรักษางานโบราณสถานแบบดิจิทัลกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.​ชาวี​ บุษยรัตน์ อาจารย์​ประจำคณะ​สถาปัตยกรรม​ศาสตร์​และการผังเมือง​ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์​ คือหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

3D architecture

“จุดประสงค์หลักของงานคือ การเก็บข้อมูลที่มีคุณค่าเพื่อใช้ในอนาคต เพราะเราไม่มีทางรู้ได้ว่าโบราณสถานอันเก่าแก่เหล่านี้จะถล่มหรือถูกทำลายเมื่อไหร่

“โบราณสถานบางแห่งอาจพังลงมาเพราะภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ หรืออาจได้รับผลกระทบจากสงครามและก่อการร้ายที่เราไม่เคยคาดคิด”

การเก็บข้อมูลโบราณสถาน นอกจากการใช้งานในอนาคตแล้ว อ.ชาวี ยังตั้งใจนำข้อมูลเหล่านั้น ‘เผยแพร่’ ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย เพื่อรับรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานให้มากที่สุด

โบราณสถานไม่ควรถูกเก็บไว้บนหิ้งหรือถูกแช่แข็งในฐานะของเก่า เราต้องทำให้สัมผัสได้จริง”

อ.ชาวี มองว่านี่คือหัวใจของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณ ที่ศาสตร์ด้าน Digital Preservation จะช่วยได้

คำถามคือ Digital Preservation คืออะไร และทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญต่องานอนุรักษ์

‘Digital Preservation’ อนุรักษ์ของเก่าด้วยศาสตร์ด้านดิจิทัลในโลกสมัยใหม่

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อ.ชาวี​ เดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน ‘Digital Preservation’ ที่ประเทศฝรั่งเศส และพบว่าการศึกษาด้านนี้ต้องใช้ศาสตร์หลากหลายแขนงประกอบกัน

“การเรียนด้านนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการอนุรักษ์อาคารโบราณสถาน ซึ่งต้องใช้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและโบราณคดีควบคู่กัน รวมทั้งด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ด้วย อย่างห้องแล็บที่ผมเคยทำงานที่ฝรั่งเศส ต้องอยู่ภายใต้ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

การทำงานด้านอนุรักษ์โบราณสถานในรูปแบบดิจิทัล ต้องใช้ เทคโนโลยี 3D scanner เพื่อเก็บข้อมูลตัวอาคารในรูปแบบสามมิติ ซึ่งเป็นกล้องที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเครื่องวัดระยะถนน  

digitall preservation

digital preservation
กล้อง 3D scanner อุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลแบบดิจิทัล

เมื่อหันกล้องไปทางตัวโบราณสถาน เลเซอร์จากในกล้องจะค่อยๆ กวาดเก็บข้อมูลรอบอาคาร เหมือนการสแกน

หลังจากนั้นเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Photogrammetry’ คือการเปลี่ยนรูปภาพอาคารหรือสถาปัตยกรรมที่ถ่ายให้เป็นรูปภาพเสมือนจริง ซึ่งส่วนนี้จะใช้อัลกอริทึมในคอมพิวเตอร์ช่วยสร้างให้เป็นภาพสามมิติ

3D architecture

แม้ฟังดูเหมือนว่าเทคโนโลยีกำลังเข้ามาดิสรัปต์อาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถาน แต่แท้จริงแล้ว งานด้านนี้ต้องใช้ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงมีมากกว่าคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรกล

“ในขั้นตอนสุดท้าย เราต้องผนวกองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเข้าไปด้วย เพราะเลเซอร์ที่ยิงเข้าไป ไม่สามารถสแกนภายในอาคารที่มองไม่เห็นด้วยตา เช่น บริเวณใต้ฝ้าหลังคา หรือมุมหลบต่างๆ ส่วนนี้จึงต้องใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรมมาช่วยทำให้สมบูรณ์มากขึ้น เราไม่สามารถพึ่งพาคอมพิวเตอร์ได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์”

3D architecture

‘การเก็บข้อมูลโบราณสถาน’ สำคัญอย่างไรต่องานอนุรักษ์

การทำงานอนุรักษ์โบราณสถานมี 3 ขั้นตอนหลัก คือ

  1. ‘เก็บรักษา’ (Preservation) คือ ดูแลไม่ให้อาคารเสียหายมากกว่าเดิม
  2. ‘ซ่อมแซม’ (Restoration) คือ การซ่อมแซมเพื่อไม่ให้พังทลาย
  3. ‘สร้างใหม่’ (Reconstruction) คือ การสร้างใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ บางครั้งต้องมีการย้ายสถาปัตยกรรมโบราณจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งข้อมูลดิจิทัลที่เก็บไว้มีประโยชน์ในทุกด้าน

3D architecture

เช่นเดียวกับกรณีของโบสถ์น็อทร์-ดามที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งสามารถซ่อมแซมได้เพราะมีการเก็บข้อมูลไว้แล้ว

ที่ผ่านมา อ.ชาวี ได้มีส่วนร่วมในการทำงานอนุรักษ์โบราณสถานหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือโบราณสถานระดับโลกอย่าง ‘Château Comtal’ ที่ตั้งอยู่เมือง Carcassonne ซึ่งเป็นเมืองอัศวินยุคกลาง และยูเนสโกยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกในปี 1997

digitall preservation
ปราสาท Comtal อันเก่าแก่ ตั้งอยู่ในเมืองการ์กาซอน ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ. 1997 (photo: https://farm9.staticflickr.com)
digital preservation
ภาพตัวอย่างการเก็บข้อมูลโดยใช้กล้อง 3D scanner สแกนตัวปราสาท Château Comtal (photo: http://www.map.cnrs.fr)
digital preservation
(photo: http://www.map.cnrs.fr)
digitall preservation
ภาพ 3D ของปราสาท Comtal ที่ทางอ.ชาวีและทีมงานสร้างขึ้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนการเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ (photo: http://www.map.cnrs.fr)

และ สุสานฮ่องเต้เฉียนหลง’ หนึ่งในมหาราชของจีน ซึ่งรอบหลุมศพของกษัตริย์พระองค์นี้มีอักขระที่สลักเรื่องราวและพระราชกรณียกิจต่างๆ จารึกไว้

“สุสานของเฉียนหลงฮ่องเต้มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สลักด้วยภาษาทิเบตและเป็น

อักษรสันสกฤต ซึ่งผมต้องทำงานกับนักภาษาศาสตร์ และไล่ถอดตัวอักษรเพื่อแปลความหมาย”

digitall preservation
อักขระภาษาทิเบตและสันสกฤตที่สลักเรื่องราวและพระราชกรณียกิจต่างๆ ในสุสานของเฉียนหลงฮ่องเต้ ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้กระบวนการ digital preservation (photo: http://www.map.cnrs.fr)
digital preservation
ขั้นตอนการแสดงข้อมูลที่เก็บได้จากสุสานเฉียนหลงฮ่องเต้ (photo: http://www.map.cnrs.fr)

แปรรูป 3 สถาปัตยกรรมเก่าแก่ของไทยให้กลายเป็นดิจิทัล

เร็วๆ นี้ ผลงานล่าสุดของ อ.ชาวี คือการนำศาสตร์ Digital Preservation เก็บข้อมูล ‘ล็อบบี้ของโรงแรมดุสิตธานี ก่อนถูกทุบทิ้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

digitall preservation
ภาพการเก็บข้อมูลล็อบบี้โรงแรมดุสิตธานีก่อนถูกทุบทิ้ง โดยกล้อง 3D scanner (photo: http://www.tds.tu.ac.th)

“ผมมีโอกาสได้เข้าไปเก็บข้อมูลแบบดิจิทัลให้ทางโรงแรมดุสิตธานี โดยเน้นเก็บเฉพาะส่วนล็อบบี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโรงแรม อาจมีการนำข้อมูลตรงนี้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างอาคารใหม่ ทำให้สถาปนิกที่ออกแบบทำงานได้เร็วขึ้น รู้ถึงตำแหน่งและสัดส่วนเดิม เช่น ฝ้าเพดาน ตัวเสา”

digitall preservation
ทางทีมงานเน้นเก็บสถาปัตยกรรมเสาและฝ้าเพดาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของโรงแรมดุสิตธานี (photo: http://www.tds.tu.ac.th)

นอกจากนี้ ยังมี ชุมชนพาณิชยกรรมเก่าวังกรด’ ที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นชุมชนจีนริมน้ำอันเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองไทย

digitall preservation
‘ชุมชนพาณิชยกรรมเก่าวังกรด’ มีบ้านไม้โบราณที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์หลายหลังคาเรือน (photo: http://entertain.enjoyjam.net)

“เมื่อก่อนชาวจีนอาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำ มีเรือขนขึ้นสินค้าแถวนี้มากมาย ถือเป็นชุมชนโบราณที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่เมื่อมีการตัดถนนหลบชุมชน ผู้คนก็หายไปเพราะหันไปใช้ถนนเส้นหลัก ทำให้ชุมชนเริ่มเก่าและมีหนุ่มสาวน้อยลงเรื่อยๆ เพราะย้ายไปทำงานต่างถิ่นกันหมด เหลือแต่คนแก่กับเด็ก ทางการเคหะแห่งชาติเห็นว่าพวกบ้านเก่า บ้านไม้โบราณมีความสวยงาม จึงอยากเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ และเผยแพร่ให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าในพื้นที่ของเขา”

digitall preservation
ภาพตัวอย่างการเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ของชุมชนบ้านวังกรด ถูกเก็บรักษาและเผยแพร่ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์แบบเสมือนบนเว็บไซต์ (photo: http://www.tds.tu.ac.th)
digitall preservation
ภาพแผนที่ชุมชนวังกรดแบบ 3D ที่สร้างให้เห็นชุมชนแบบ 360 องศา (photo: http://www.tds.tu.ac.th)

อ.ชาวี ยังทำงานให้ อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ในโปรเจกต์วัดศรีชุม’ ศาสนโบราณในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อทำข้อมูลสำหรับจัดการท่องเที่ยว

digital preservation
วัดศรีชุม หนึ่งในศาสนโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองไทย (photo: https://thailandtourismdirectory.go.th)

“การทำงานเก็บข้อมูลโบราณสถานที่วัดศรีชุม เราเริ่มต้นจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลก่อน และพบกำแพงที่มีอุโมงค์ลับไต่องค์พระขึ้นไปบนยอดหลังคาได้ ซึ่งทางวัดไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ในอุโมงค์มีภาพสลักเป็นชาดกโบราณมากกว่า 50 ภาพ ถือเป็นภาพสลักจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยถูกค้นพบในเมืองไทย นอกจากนี้ยังพบรอยพระพุทธบาทและหลักศิลาจารึกหลักที่ 2 ด้วย

digitall preservation
ข้อมูลวัดศรีชุมแบบเชิงลึกที่ถูกเก็บไว้และเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัล (photo: http://www.tds.tu.ac.th)
digitall preservation
(photo: http://www.tds.tu.ac.th)

“ทั้งหมดนี้ถือเป็นสมบัติและองค์ความรู้ของชาติ เราเป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูลออกมาและสร้างเป็นดิจิทัลมีเดียเพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้เข้าถึง ซึ่งเราต้องทำการสำรวจวิธีการเผยแพร่ที่ดีที่สุดด้วย

“สำหรับผม การศึกษาเรื่องโบราณสถานถือเป็นการทำงานเพื่อคนทั้งชาติหรือทั้งโลกก็ว่าได้”

digital preservation

เพิ่มคุณค่าสถาปัตยกรรมโบราณด้วยการ ‘ไม่แช่แข็ง’ ความรู้ และ ‘อยู่ร่วมกัน’

หลังจากเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีต่างๆ หน้าที่สำคัญของคนทำงานด้าน Digital Preservation อีกประการ คือ การเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ให้คนทั่วไปตระหนักถึงคุณค่าของโบราณสถานอันเก่าแก่

3D architecture

การอนุรักษ์โบราณสถานไม่ได้ทำงานแค่ดูแลรักษาสถาปัตยกรรม ทีมงานจะทำการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ออกสู่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม การนำเสนอคุณค่าของอาคารของโบราณสถานมีวิธีการนำเสนอได้หลากหลายแบบ เช่น สื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์ สื่ออินเตอร์แอคทีฟพวก VR หรือ AR

digital preservation

“เด็กวัยรุ่นสมัยนี้สนใจเรื่องโบราณสถานกันเยอะครับ แต่ทำอย่างไรให้พวกเขาเข้าถึงได้ง่าย”

แม้ปริมาณสถาปัตยกรรมโบราณในเมืองไทยจะมีจำนวนมากไม่แพ้ต่างประเทศ แต่จากประสบการณ์ของ อ.ชาวี พบว่า บ้านเขาและบ้านเรามีการจัดการโบราณสถานที่แตกต่างกัน

“จริงๆ แล้วโบราณสถานควรอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องทำให้อาคารเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของสถาปัตยกรรมโบราณ

มิวเซียมสยาม หนึ่งในสถาปัตยกรรมโบราณอันทรงคุณค่า ปัจจุบันถูกปรับปรุงและเปิดให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้งาน โดยจัดเป็นอาคารสำนักงานของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

“อย่างที่ประเทศฝรั่งเศสมีจำนวนโบราณสถานไม่ต่างจากบ้านเรา แต่เขามีการบริหารจัดการที่น่าสนใจ คือ เปิดให้ผู้คนได้เข้าไปสัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโบราณสถาน เช่น ปรับปรุงในบริบทเดิมให้เป็นบ้านเรือนให้คนได้เข้าไปอยู่อาศัย เป็นร้านกาแฟ คือหาประโยชน์จากโบราณสถานเหล่านี้ คำว่า ‘อนุรักษ์’ ของเขาเปิดกว้างกว่าเมืองไทยมาก

“เราไม่ควรยกพวกสถาปัตยกรรมโบราณเก็บไว้เหนือหัว มิฉะนั้นคนจะไม่รู้สึกถึงคุณค่า เพราะไม่เคยเข้าไปสัมผัส เราควรเปิดให้ผู้คนใช้ประโยชน์จากโบราณสถาน ทำให้คนรู้สึกอินว่ามีผลต่อชีวิตของเขา เป็นเพื่อนเขา

“และรู้สึกว่าโบราณสถานเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน”.

ขอขอบคุณ มิวเซียม สยาม เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ

อ้างอิง: