w©rld

“ทุกคนกินข้าวอย่างน้อย 3 มื้อต่อวัน ต้องมีสักครั้งที่เรากินข้าวเหลือ…”

อณุดา ทวัฒ์สิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมกองจัดการกากของเสียและขยะอันตราย ชี้ให้เห็นว่าเศษอาหารที่เรากินเหลือ นำมาซึ่งขยะอินทรีย์ ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาขยะบนโลกใบนี้ 

“เราซื้อของเข้าตู้เย็นแล้วลืมกิน หรือซื้อมาเผื่อไว้แต่ไม่ได้กินและต้องทิ้งไป ในร้านบุฟเฟต์หรือโต๊ะจีน มีอาหารหลากหลายชนิดที่เพียงพอกับทุกคน แต่ถ้ามื้อนั้นจบลงมีอาหารเหลือบ้างไหม คำถามนี้ทุกคนคงตอบกันเองในใจ”

food waste common
(Photo : Too Young to Die)

เพราะในขณะที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้ลดใช้พลาสติกอยู่นั้น ก็ยังมีอีกวิกฤติที่เป็นเหมือนภัยเงียบ คืออาหารเหลือทิ้งอันนำมาซึ่งปัญหา ‘ขยะล้นบ่อ’

แม้จะย่อยสลายได้และมีวงจรชีวิตที่ไม่ยาวนานเท่าพลาสติก แต่การฝังกลบขยะอินทรีย์ที่มีปริมาณมหาศาลในปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อย

ทำความรู้จัก ‘ขยะอินทรีย์’ 

ขยะบนโลกนั้นมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า ‘ขยะมูลฝอย’ ซึ่งสามารถแยกได้ 4 ประเภท ได้แก่ ขยะมูลฝอยทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะอินทรีย์ 

food waste common

ขยะอินทรีย์คือขยะที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ใบไม้ กระดาษ ซากสัตว์ หรือเศษอาหาร แม้ดูเหมือนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าขยะพลาสติก แต่กลับตรงกันข้าม เพราะขยะชนิดนี้มีปริมาณมากที่สุดในบรรดาขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือราวๆ 64 เปอร์เซ็นต์ 

food waste common
(Photo : RONALDO SCHEMIDT / AFP)

แม้ว่าเราจะกำจัดโดยการนำไปรีไซเคิล ฝังกลบ เผาในเตา และวิธีอื่นๆ อย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถกำจัดได้อย่างครอบคลุม ทำให้เหลือขยะที่ตกค้างอยู่กว่า 20 เปอร์เซ็นต์

และนั่นคือบ่อเกิดของวิกฤติขยะล้นบ่อ

food waste common
(Photo : MARIO LAPORTA / AFP)

ก๊าซเรือนกระจก ของสมนาคุณจากบ่อขยะ

ภายในหลุมที่เต็มไปด้วยเศษอาหารและใบไม้เน่าเสียนั้น ส่งผลให้ขยะเกิดการบดและอัดกัน จนทำให้เกิดภาวะการ ‘ย่อยสลายแบบไร้อากาศ (anaerobic decomposition) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์เพียงเล็กน้อย และมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุดและมีอานุภาพรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซ์ถึง 25 เท่า ยิ่งในบ่อฝังกลบอุดมไปด้วยขยะอินทรีย์มากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซเพิ่มขึ้นเท่านั้น 

food waste common
(Photo : Haidar HAMDANI / AFP)

ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่วิกฤติขยะอินทรีย์โดยเฉพาะ ‘ขยะอาหาร’ ยังเกิดขึ้นทั่วโลก 

1 ใน 3 ของจำนวนอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นถูกทิ้งให้เป็นขยะ ยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วกลับยิ่งประสบปัญหานี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสามารถผลิตอาหารได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง เหล่าผลิตผลที่ไม่ได้มาตรฐานจึงต้องถูกทิ้งไป

food waste common
(Photo : ERIC CABANIS / AFP)

สิ่งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการที่โลกจะต้องสูญเสียพลังงานตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการย่อยสลายอย่างเปล่าประโยชน์อีกด้วย

 

ลดปริมาณขยะ เพิ่มวิธีกำจัด

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเร่งแก้วิกฤตินี้ ด้วยการใช้แผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) แบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่

  1. จัดการขยะโดยใช้วิธีผสมผสาน

ส่วนนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลายๆ แบบ โดยการลดก๊าซมีเทนในขั้นตอนการฝังกลบ ลดระยะทางการขนส่งขยะซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังทำการแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะอื่นๆ และนำก๊าซจากบ่อขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้วิธีการฝังกลบแบบกึ่งอากาศซึ่งจะมีออกซิเจนไหลเวียนอยู่ในหลุมช่วยลดกลิ่นเหม็นและทำให้ยอ่ยสลายได้เร็วขึ้น หรือจะเป็นการนำเอาเศษขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ย หมักขยะอินทรีย์แบบไร้อากาศและนำก๊าซที่ได้มาใช้ประโยชน์

  1. ลดปริมาณขยะมูลฝอย

คือการลดไม่ให้เกิดขยะอินทรีย์เพิ่มเติม เช่น การรณรงค์ให้ลดขยะจากครัวเรือน หรือจัดตั้งองค์กรสำหรับรับบริจาคอาหารเหลือทิ้งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

food waste common
(Photo : Kazuhiro NOGI / AFP)

เนื่องจากขยะอินทรีย์จากเศษอาหารกว่า 80 เปอร์เซ็นต์นั้นเกิดขึ้นจากในครัวเรือน นั่นแสดงให้เห็นว่าเราเป็นต้นทางผู้สร้างขยะประเภทนี้ และหากเราคิดจะลดก็จะช่วยเยียวยาวิกฤติครั้งนี้ได้ 

การลดขยะอินทรีย์สามารถเริ่มได้ง่ายๆ ตั้งแต่วินาทีที่เราตัดสินใจซื้ออาหาร เช่น 

  1. ก่อนจะบริโภคอะไรนั้น ตรวจสอบวันหมดอายุสักนิด เพื่อไม่ให้ผลผลิตชิ้นนั้นกลายมาเป็นขยะในภายหลัง
  2. ทำอาหารแต่พอทาน
  3. จัดการแยกเศษอาหารทิ้งให้เป็นสัดส่วน หากมีพื้นที่เพียงพออาจลองทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์จากขยะอินทรีย์ภายในบ้านก็ดีไม่น้อย
food waste common
(Photo : LOIC VENANCE / AFP)

ในหนึ่งวันเราอาจเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ แต่เราแทบจะไม่สามารถเลี่ยงที่จะผลิตขยะอินทรีย์ได้เลย

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวิกฤติครั้งนี้ถึงสำคัญ และต้องการความร่วมมือจากพวกเราทุกคน 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากงานเสวนาด้านสิ่งแวดล้อม Fridays for Future เมื่อ 20 กันยายน ที่ผ่านมา

 

อ้างอิง