w©rld

ในสมัยที่วิทยาศาสตร์ไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ มนุษย์รู้จักใช้การสังเกตและจดจำรูปแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เพื่อหาความน่าจะเป็น

‘การทำนายสภาพอากาศ’ ก็เป็นอีกศาสตร์ที่มีผลพวงมาจากกระบวนการนี้

แม้คนเฒ่าคนแก่จะให้คำตอบไม่ได้ว่า ทำไมสิ่งที่พวกเขาทำนายจึงถูกต้อง แต่แน่นอนว่าเบื้องหลังความแม่นยำนั้น มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่

และเราก็สามารถที่จะคาดการณ์สภาพอากาศด้วยตาเปล่าได้เช่นกัน ถ้ารู้จักสังเกตทิศทางลม และก้อนเมฆ

เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะมีฝนตก ลอยเหนือตึกสูงย่านพระราม 4
เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะมีฝนตก ลอยเหนือตึกสูงย่านพระราม 4

รู้จัก ‘เมฆ’ ที่ทำให้เกิดฝน

เมฆในธรรมชาติมีรูปร่าง 2 แบบ คือ เมฆก้อน และ เมฆแผ่น

เราเรียกเมฆก้อนว่า “เมฆคิวมูลัส” (Cumulus) และเรียกเมฆแผ่นว่า “เมฆสเตรตัส” (Stratus)

หากเมฆก้อนและเมฆแผ่นลอยชิดติดกัน เรานำชื่อทั้งสองมารวมกัน และเรียกว่า “เมฆสเตรโตคิวมูลัส” (Stratocumulus)

เมฆสเตรตัส (Stratus) (photo: WEATHER A Golden Nature Guide)
เมฆสเตรตัส (Stratus) (photo: WEATHER A Golden Nature Guide)
Cumulus
เมฆคิวมูลัส (Stratus) (photo: WEATHER A Golden Nature Guide)
เมฆสเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus)
(photo: WEATHER A Golden Nature Guide)
เมฆซีร์รัส (Cirrus) หรือเมฆริ้ว มักเกิดขึ้นในวันที่มีอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม (photo: Wikimedia Commons)

ส่วนในกรณีที่เป็น เมฆฝน จะเพิ่มคำว่า “นิมโบ” (Nimbo) หรือ “นิมบัส” (Nimbus) ซึ่งแปลว่า “ฝน” เข้าไป เช่น เมฆแผ่นที่มีฝนตกเรียกว่า “เมฆนิมโบสเตรตัส” (Nimbostratus) และเมฆก้อนที่มีฝนตกเรียกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” (Cumulonimbus)

เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)

 

กลุ่มเมฆต่างๆ (photo: www.thaiglider.com)

กรณีที่แบ่งตามระดับความสูง เราสามารถแบ่งเมฆได้ 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่

เมฆชั้นสูง (เติมคำว่า Cirro- ที่แปลว่า “ชั้นสูง” ไว้ข้างหน้าคำเรียกชนิดก้อนเมฆ) ยกเว้นเมฆริ้วที่อยู่สูงสุด จะเรียกว่าเมฆ “ซีร์รัส” (Cirrus)

เมฆชั้นกลาง (เติมคำว่า Alto- ที่แปลว่า “ชั้นกลาง” ไว้ข้างหน้าคำเรียกชนิดก้อนเมฆ)

เมฆชั้นต่ำ (เรียกชื่อตามชนิดของก้อนเมฆ เช่น คิวมูลัส-เมฆก้อน สเตรตัส-เมฆแผ่น)

ซึ่งเมฆที่อยู่ใน กลุ่มเมฆชั้นต่ำ เป็นเมฆที่ทำให้เกิดฝน หิมะ ลูกเห็บ และอื่นๆ (เรียกโดยรวมว่า ‘หยาดน้ำฟ้า’) ได้แก่

เมฆสเตรตัส (Stratus): เมฆแผ่นบาง ลอยสูงเหนือพื้นไม่มากนัก เช่น ลอยปกคลุมยอดเขามักเกิดขึ้นตอนเช้า ทำให้เกิดฝนแบบ ‘drizzle’ หรือสายฝนที่พร่างพรมแบบเบาๆ คล้ายไอน้ำ หรือทำให้เกิดหมอก

เมฆสเตรตัส (Stratus)
(photo: WEATHER A Golden Nature Guide)

เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus): เมฆแผ่นสีเทา ทำให้เกิดฝนตกแบบทั่วไป

เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus)
(photo: WEATHER A Golden Nature Guide)

เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus): เมฆก่อตัวในแนวตั้ง พัฒนามาจากเมฆคิวมูลัส ก่อนจะก่อตัวในแนวดิ่ง มีขนาดใหญ่มาก ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือแม้กระทั่งพายุหมุน ถ้าเห็นเมฆชนิดนี้ แนะนำว่าควรรีบหาที่กำบังด่วน!

เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)
(photo: WEATHER A Golden Nature Guide)

ถึงตรงนี้ หากสังเกตเห็นว่ามีเมฆลอยต่ำ ก็ให้สันนิษฐานได้ว่า ฝนน่าจะตกในไม่ช้า…

กลุ่มเมฆชั้นต่ำ คือ เมฆที่ทำให้เกิดฝน
(photo: WEATHER A Golden Nature Guide)

ดู ‘ลม’ ให้เห็นฝน

‘ลม’ เกิดจากหย่อมความกดอากาศ 2 แห่งที่ไม่เท่ากัน โดยจะพัดจากหย่อมความกดอากาศสูงไปต่ำเสมอ

สำหรับเรา (คนไทย) ที่อาศัยอยู่บนซีกโลกเหนือ เมื่อยืนหันหลังให้กับกระแสลมแล้ว หย่อมความกดอากาศสูงจะอยู่ทางขวามือ ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำจะอยู่ซ้ายมือ (ส่วนคนที่อยู่ซีกโลกใต้จะกลับกัน)

กรณีหันหลังให้กระแสลม หย่อมความกดอากาศสูงจะอยู่ทางขวา ส่วนหย่อมความกดอากาศตำ่จะอยู่ทางซ้าย
(photo: WEATHER A Golden Nature Guide)

ฉะนั้น หากสัมผัสได้ว่ามีกระแสลมพัดผ่านจากทางตะวันตก (หรือตะวันตกเฉียงเหนือ) นั่นก็หมายความว่า ณ ขณะนั้น สภาพอากาศเป็นปกตินั่นเอง

แต่ถ้ามีลมพัดแรงจากทิศใต้ และกลุ่มเมฆเคลื่อนตัวจากทางทิศตะวันตก ก็ขอให้รู้ว่า ไม่แน่ฝนกำลังจะมา และจงเตรียมร่มให้พร้อม!

ทิศทางลมมรสุมประเทศไทย (photo: กรมอุตุนิยมวิทยา)

*หมายเหตุ: ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งลมที่ทำให้ฝนตก คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่นำมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนชุกทั่วไป โดยพัดปกคลุมประเทศไทยระหว่าง กลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม

วิธีสังเกต…วันนี้จะอากาศดีหรือมีฝน?

มีข้อสังเกตมากมายบันทึกว่า หากเจอเหตุการณ์ลักษณะต่อไปนี้ อาจทำนายได้ว่า…

วันนี้…อากาศจะดี

– มีลมพัดพัดอ่อนๆ จากทางทิศตะวันตก หรือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

– กลุ่มเมฆลอยสูง

– มีเมฆคิวมูลัส (Cumulus) กระจายตัวอยู่บนท้องฟ้ายามบ่าย ในฤดูร้อน

เมฆคิวมูลัส (Cumulus) ในวันอากาศดี (photo: pixabay.com)

วันนี้…อาจจะมีฝนตก

– เมฆ ซีร์รัส (Cirrus) หรือเมฆริ้ว มีรูปร่างคล้ายขนนก เป็นเมฆอยู่ชั้นสูงสุด รวมตัวเป็นกลุ่มหนาและมีเมฆลอยต่ำอยู่ด้านล่าง

– เมฆคิวมูลัส (Cumulus) ที่เดิมเป็นก้อนปุกปุยเริ่มรวมตัวกันในแนวดิ่ง

– มีลมพัดแรงจากทิศใต้ และกลุ่มเมฆเคลื่อนตัวจากทางทิศตะวันตก

– มีวงแหวนปรากฏขึ้นรอบดวงจันทร์

เมฆซีร์รัส (Cirrus) หรือเมฆริ้ว มักเกิดขึ้นในวันที่มีอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม
(photo: Wikimedia Commons)

เห็นพระจันทร์ทรงกลด ระวังพายุ!?

สาเหตุที่ทำให้เกิดวงแหวนรอบดวงจันทร์ เป็นเพราะแสงสะท้อนจากดวงจันทร์ส่องไปกระทบกับ เมฆซีร์รัส เมฆชั้นสูงซึ่งประกอบขึ้นจากเกล็ดน้ำแข็งขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมหาศาล

เห็นพระจันทร์ทรงกลด ระวังพายุ!?
สาเหตุที่ทำให้เกิดวงแหวนรอบดวงจันทร์ เป็นเพราะแสงสะท้อนจากดวงจันทร์ส่องไปกระทบกับ เมฆซีร์รัส เมฆชั้นสูงซึ่งประกอบขึ้นจากเกล็ดน้ำแข็งขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมหาศาล

แม้เมฆชั้นสูงจะไม่ได้ก่อให้เกิดพายุหรือหยาดน้ำฟ้าต่างๆ แต่การปรากฏตัวของ เมฆซีร์โรคิวมูลัส หรือที่นักเดินเรือฝรั่งเรียกว่า Mackerel Sky (ท้องฟ้าลายเกล็ดปลาแม็คเคอเรล) แสดงให้ถึงความแปรปรวนของแนวปะทะอากาศ

ส่งผลให้เกิดได้ตั้งแต่ฝนพรำๆ ไปจนถึงฝนตกหนัก หรือแม้แต่กระทั่งฝนฟ้าคะนอง

เมฆซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) หรือ Mackerel Sky
(photo: www.flickr.com, Wikipedia)

ภูมิปัญญาโบราณกับการพยากรณ์อากาศ

ชาวนา ชาวเรือ นายพราน รวมไปถึงชนพื้นเมือง ล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า “Weather Lore” คำทำนายสภาพอากาศที่สั่งสมจากประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น

และคำทำนายหลายอย่างก็มีความแม่นยำจนน่าประหลาดใจ

ปี ค.ศ. 1950 เป็นปีที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาบางส่วนถูกพายุหิมะพัดถล่มสูงถึง 145 เซนติเมตร คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 350 ชีวิต นับว่าเป็นวาตภัยที่ร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

ภายหลังในปี ค.ศ. 2010 งานวิจัยฉบับหนึ่งจากคณะภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอคลาบามา เรื่อง “Old Indian Ways’’ of Predicting the Weather: Senator Robert S. Kerr and the Winter Predictions of 1950–51 and 1951–52 ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า

ในปี 1950 นั้นเอง Robert S. Kerr สมาชิกวุฒิสภาพรรคเดโมแครตแห่งสหรัฐอเมริกา ได้มีการส่งจดหมายถึงหัวหน้าชนเผ่าอเมริกันพื้นเมือง (หรือที่รู้จักในนาม ชนเผ่าอินเดียนแดง) เพื่อสอบถามว่า ฤดูหนาวจะมาก่อนกำหนดและอเมริกาจะเผชิญหน้ากับฤดูหนาวที่โหดร้ายหรือไม่?

แม้จะมีรายงานว่า ท่านสมาชิกวุฒิสภาได้รับการยืนยันจากกรมอุตุนิยมวิทยาแล้วว่าอเมริกาจะประสบภัยหนาวครั้งใหญ่แล้วก็ตามที

ผลปรากฏว่า หลายคำตอบที่ถูกส่งกลับมาจากหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ต่างพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “อเมริกาจะประสบกับภัยหนาวที่ทารุณ และจะมีหิมะมากผิดปกติ”

โดยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพยากรณ์มีดังนี้:

เอกสารการตอบกลับถึงท่านสมาชิกวุฒิสภา Robert S. Kerr

“บรรพชนกล่าวไว้ว่า เมื่อสังเกตเห็นใยแมงมุมจำนวนมากปรากฏขึ้นในอากาศ และต้นไม้มีลักษณะอย่างที่เราเห็นเช่น ณ ขณะนี้ รวมไปถึงเปลือกข้าวโพดหนาและหนักขึ้นผิดปกติอย่างที่ปรากฏ นั่นเป็นสัญญาณของฤดูหนาวที่โหดร้าย”—หัวหน้าชนเผ่ามัสคีกี, โอคลาบามา

“พวกเขา [ชนพื้นเมือง] ต่างรับรู้ได้ว่า ฤดูหนาวที่ยากลำบากกำลังจะมาเยือน เพียงแต่พวกเขาไม่ได้อธิบายต่อว่าจะหนักหนาเพียงใด เพียงแค่รู้ว่ามันจะเป็นเช่นนั้น

–ในปีนี้ ท้องฟ้าเกิดความแปรปรวนด้วยเหตุผลบางประการ

และเมื่อใดก็ตามที่ความแห้งแล้งปรากฏ ฤดูหนาวที่เยือกเย็นผิดปกติย่อมตามมา”—สภาชนเผ่าพื้นเมืองอัลบูเคอร์คี, นิวเม็กซิโก

“เมื่อตัวมัสค์แร็ตและบีเวอร์สร้างโพรงที่สูงและใหญ่ผิดปกติ หรือหากพวกสัตว์ป่าตัวอ้วนพีกว่าที่เคย เปลือกไม้หนาผิดสังเกต รวมไปถึงเปลือกข้าวโพด นั่นหมายความว่าฤดูหนาวนั้นจะทารุณ”—ชนเผ่า Chippewa, มินนิโซตา

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์อากาศไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวแปร ทั้งทิศทางลม หย่อมความกดอากาศ ตลอดจนความแปรปรวนที่ไม่ทราบสาเหตุ ฯลฯ

“ตั้งแต่มีการทดลองปรมาณู สารเคมีอาจเข้าไปรบกวนกระแสอากาศและก้อนเมฆ  กลุ่มเมฆที่เคยเห็นได้สูญหายไปจากท้องฟ้า ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถให้คำทำนายที่ดีได้เลย”

คำพูดของผู้เฒ่าท่านหนึ่งแห่งชนเผ่าพื้นเมืองในเขตมิชิแกนได้รับการระบุไว้ในเอกสารฉบับดังกล่าว

เครื่องวิทยุหยั่งอากาศ หรือ ‘Radiosonde’ เป็นเครื่องมือที่ประกอบด้วยเครื่องส่งวิทยุที่ติดไปกับบอลลูน และเครื่องรับสัญญาณวิทยุ เพื่อบอกข้อมูลอุณหภูมิความชื้นของบรรยากาศในระดับต่างๆ
(photo: www.flickr.com)

วิชาการคาดการณ์ดินฟ้าอากาศของชนพื้นเมือง แท้จริงแล้วก็คือการสังเกตและจดจำรูปแบบเหตุการณ์ซ้ำๆ เพื่อหาจุดร่วมและสร้างข้อสรุป โดยอิงกับสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะ ‘เป็นไปตามธรรมชาติ’ ต่อเนื่องมายาวนาน

แต่เมื่อธรรมชาติถูกรุกรานด้วยวิถีชีวิตใหม่ๆ ของมนุษย์ รูปแบบคำทำนายที่เคยใช้ได้ผลก็อาจเริ่มคลาดเคลื่อนไปทีละเล็กละน้อย

คงเหลือแต่หัวใจสำคัญที่ว่า การสังเกตและจดบันทึกเท่านั้น ที่สร้างชุดคำพยากรณ์ที่แม่นยำได้อีกครั้ง.

 

อ้างอิง: