w©rld

ใครคือ 7 บุคคลธรรมดาเจ้าของผลงานแห่งชีวิตอันน่าทึ่ง จนทำให้พวกเขาได้รับการจารึกใบหน้าบนธนบัตรของประเทศบ้านเกิด

คำว่า คนธรรมดา ในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในชนชั้นปกครอง ไม่ได้เป็นกษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือผู้นำทางการเมืองของประเทศใดๆ

เป็นก็แต่บุคคลสามัญผู้สร้างผลงานอันทรงคุณค่า ตามแต่ที่ประเทศบ้านเกิดจะเล็งเห็นความสำคัญ และยกย่องให้พวกเขาเหล่านั้นปรากฏโฉมบนธนบัตร เพื่อเป็นการให้เกียรติสูงสุด

นักวิจัยแบคทีเรีย นักปีนเขา นักเขียน สถาปนิก ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ บุคคลผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนเงินตราของประเทศใดบ้าง 

Becommon คัดเลือก 7 บุคคลธรรมดาบนธนบัตรมาช่วยสะกิดให้ครั้งหน้าของการเดินทาง คุณอาจต้องใส่ใจธนบัตรในมือมากขึ้น อย่างน้อย ลองทำความรู้จักคนบนธนบัตรใบนั้นก็ยังดี

Japan banknote

คนไทยน่าจะคุ้นเคยกับการจับจ่ายด้วยธนบัตรใบละ 1,000 เยนเป็นอย่างดี เพราะญี่ปุ่นคือจุดหมายยอดนิยมอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวไทย 

แต่น้อยคนที่จะรู้จักผู้ชายบนแบงค์พันเยนคนนี้ ทั้งๆ ที่ โนงุจิ ฮิเดโยะ ถือเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแบคทีเรียที่เป็นผู้ค้นพบเกี่ยวกับโรคซิฟิลิส และพัฒนาวัคซีนต่อต้านไข้เหลืองที่ระบาดหนักในแอฟริกาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ผลงานยิ่งใหญ่เกิดจากจุดเริ่มต้นที่ใหญ่ยิ่งไม่แพ้กัน เพราะเด็กชายยากจนจากชนบทอันห่างไกล ปักธงในใจว่าโตขึ้นจะต้องเป็นหมอให้ได้ ก็จากแขนซ้ายของเขาที่พิการหงิกงอจากอุบัติเหตุไฟคลอกในวัยเด็ก จนกระทั่งเขาได้รับความช่วยเหลือจากหมอฝีมือดี ที่ช่วยผ่าตัดแยกนิ้วมือให้กลับมาใช้งานได้

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ โนงุจิ ฮิเดโยะ มานะบากบั่นจนก้าวไปเป็นแพทย์นักวิจัยระดับโลก และในฐานะชายผู้อยู่บนธนบัตรฉบับละ 1000 เยน มาตั้งแต่ ค.ศ. 2004

NZ banknote

วันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 นอกจากจะเป็นวันที่เอ็ดมุนด์ ฮิลารี นักสำรวจและนักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์ และเทนซิง นอร์เกย์ ลูกหาบชาวเชอร์ปา สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จแล้ว ยังเป็นวันเดียวกับวาระครบรอบการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 

เอ็ดมุนด์และคณะสำรวจจึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความพยายามและความสำเร็จในครั้งนี้ 

เขาจึงเป็นที่รู้จักในฐานะคนธรรมดาที่เขยิบฐานะขึ้นเป็น “เซอร์ เอ็ดมุนด์” 

เอ็ดมุนด์ได้รับเกียรติอีกครั้งในปี ค.ศ. 1992 ด้วยการปรากฏโฉมบนธนบัตร 5 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังมีความมุมานะในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทาย

สมดังวาทะของเขาที่ว่า “ผมไม่ใช่คนที่เก่งเป็นพิเศษ แต่เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความขยัน อดทน และเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่ทำ”

Mexico banknote

แม้ไม่ได้เป็นวีรสตรี แต่ทันทีที่เอ่ยชื่อ ฟรีดา คาห์โล ร้อยทั้งร้อยย่อมรู้จักหรือเคยได้ชื่อศิลปินหญิงชาวเม็กซิกันคนนี้ ไม่ผ่านทางภาพยนตร์เรื่อง Frida (2002) ก็จากชื่อเสียงของตัวฟรีดาเองที่เข้มข้นด้วยเรื่องราวน่าสนใจในแต่ละขวบปีของชีวิต

เธอคือยืนหนึ่งเรื่องการต่อสู้ ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัว และความมุ่งมั่นในการเป็นศิลปินในยุคที่ศิลปะยังคงเป็นเรื่องของผู้ชาย และผู้หญิงควรอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน 

แต่ฟรีดาก็ได้พังขนบทั้งหมดลงเสียสิ้น จนในที่สุด เธอได้ปรากฏโฉมบนธนบัตรฉบับ 500 เปโซ ที่เริ่มใช้งานตั้งแต่ ค.ศ.2010 โดยมีฉากหลังเป็นภาพเขียนที่ชื่อ The Love Embrace of the Universe, the Earth (Mexico), Myself, Diego and Señor Xólotl หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเธอ

แต่ที่สุดแล้ว ฟรีด้าก็ได้ใช้เพียงพื้นที่ด้านหลังธนบัตร ด้านหน้าของแบงค์ 500 เปโซ ปรากฏโฉม ดิเอโก้ ริเวียร่า ศิลปินเอกอุแห่งเม็กซิโก ผู้เป็นสามีชนิดสุดแค้นแสนรักของฟรีด้า ที่ยังคงต้องอยู่ร่วมกันบนธนบัตรหนึ่งใบแม้จะตายจากกันไปแล้วก็ตาม

Colombia banknote

นักเขียนนามอุโฆษชาวโคลอมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1982 และเจ้าของวรรณกรรมที่หนอนหนังสือต้องอ่าน อย่าง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) นิยายที่ได้รับการแปลมากกว่า 46 ภาษา และขายไปแล้วกว่า 50 ล้านเล่มทั่วโลก

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลโคลอมเบีย เนื่องจากงานเขียนตีแผ่ความจริงที่ท้าทายอำนาจรัฐของเขาสมัยเป็นนักข่าว ทำให้เขาต้องรอนแรมไปยังประเทศต่างๆ โดยไม่ได้เหยียบแผ่นดินแม่เป็นเวลานานหลายปี

และในท้ายที่สุด “กาโบ” ของนักอ่านทั่วโลกก็ได้โลดแล่นบนแผ่นดินแม่อย่างสมภาคภูมิ โดยปรากฏโฉมบนธนบัตรฉบับละ 50,000 เปโซ ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2014

Serbia banknote

เมื่อได้ยินคำว่า เทสลา คนส่วนใหญ่ย่อมนึกถึงรถยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรมแห่งอนาคตที่มี อีลอน มัสก์ ผู้บริหาร SpaceX เป็นผู้ผลักดันนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ชิ้นนี้

น้อยคนที่จะนึกถึง นิโคลา เทสลา วิศวกร นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของมัสก์ในการคิดค้นหลากหลายนวัตกรรมยั่งยืนแห่งอนาคต

ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้จักเทสลาผู้เก่งกาจ และมีศักดิ์ศรีทัดเทียมนักประดิษฐ์ร่วมรุ่นอย่าง โธมัส อัลวา เอดิสัน เพราะแม้เขาจะเป็นผู้ค้นพบไฟฟ้ากระแสสลับ รวมถึงคิดค้นหลอดฟลูออเรสเซนต์และนีออนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แต่เทสลาอ่อนด้อยด้านการตลาดกว่าเอดิสัน ถึงขั้นเป็นจอมเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่คบหามนุษย์คนใด มีเพียงนกพิราบเท่านั้นที่เขาวางใจในฐานะเพื่อนรักเพียงหนึ่งเดียว

เกิดในเซอร์เบีย แต่ย้ายไปทำงานและสร้างสิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่และมากมายกว่า 300 สิทธิบัตรยังสหรัฐอเมริกา ทว่าเทสลาไม่มีบ้าน เขาเลือกที่จะอาศัยอยู่ในโรงแรม โดยย้ายโรงแรมไปเรื่อยๆ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1943 

กว่าเทสลาจะได้กลับมายังบ้านเกิด ก็หลังจากที่เขาลาโลกนี้ไปแล้วถึง 63 ปี อวดโฉมให้ผู้คนได้สังเกตเห็นใบหน้าของเขาบ้าง จากหน้าธนบัตรมูลค่า 100 ดินาร์เซอร์เบียในมือ

Sweden banknote

ใครเป็นนักดูหนัง คงคุ้นหน้าเจ้าของรอยยิ้มชวนสนเท่ห์บนธนบัตร 200 โครน่าสวีเดนเป็นอย่างดี

เขาคือ อิงมาร์ เบิร์กแมน ผู้กำกับชาวสวีดิชที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 เสาหลักแห่งวงการภาพยนตร์ เคียงข้างอากิระ คุโรซาวา ของญี่ปุ่น และเฟเดริโก เฟลลินี ของอิตาลี

ธนบัตร 200 โครน่าสวีเดนรุ่นเบิร์กแมน เริ่มใช้ในปี 2015 หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงอย่างสงบในปี 2007 ณ บ้านพักบนเกาะฟาโรในคาบสมุทรบอลติก ด้านหลังของธนบัตรใบนี้จึงปรากฏภาพรูปก้อนหินแปลกตาบนชายหาดในเกาะฟาโร เพื่อรำลึกถึงบ้านของเบิร์กแมน

ส่วนด้านหน้าของธนบัตร นอกจากใบหน้าเปื้อนยิ้มของเบิร์กแมนแล้ว ฉากหลังเป็นเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Seventh Seal (1957) หนึ่งในผลงานระดับขึ้นหิ้งของเขา 

นอกจากนี้ ยังปรากฏ quote ลับจากเรื่อง Fanny and Alexander ด้านล่างติ่งหูของเบิร์กแมน และที่มุมล่างขวาก็ยังปรากฏข้อความ ที่แปลได้ใจความว่า 

“ด้วยพลังของภาพยนตร์ เราจะสามารถก้าวข้ามไปยังโลกที่เราไม่คุ้นเคย โลกแห่งความจริงที่เหนือความเป็นจริง”

Switzerland banknote

สถาปนิกระดับตำนานที่นักเรียนสถาปัตย์ทุกคนต้องรู้จักและศึกษาผลงานของเขา ในฐานะผู้นำแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Movement) เจ้าของผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยความพิเศษทางวัฒนธรรม จนได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก

ไม่ว่าจะเป็น Unité d’habitation เมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส, Maison Guiette เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม หรือ Capitol Complex เมืองจัณฑีครห์ ประเทศอินเดีย

เอกลักษณ์ในงานของเลอ กอร์บูซีเย คือ การเผยเนื้อแท้ของวัสดุ เช่น ปูนเปลือย หรือเผยโครงสร้างอาคารให้เห็นชัดเจนจากภายนอก งานของเขาจึงเป็นต้นแบบของคำว่า Less is more อย่างแท้จริง

เลอ กอร์บูซีเย เกิดที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนแปลงสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสในวัย 43 ปี แต่ถึงกระนั้น เขาก็คือความภาคภูมิของชนชาติสวิส และได้รับการจารึกเกียรติบนธนบัตรมูลค่า 10 ฟรังก์สวิส มาตั้งแต่ ค.ศ. 1997

อ้างอิง: