w©rld

กิมย้งจากไปแล้ว…

ไม่กี่วันก่อนผมยังคุยกับมิตรสหายในงานมหกรรมหนังสือถึงเรื่องของเขา งานของเขา และเปรยกับสหายในวงการน้ำหมึกว่า “กิมย้ง แกเป็นอมตะหรือไร?”

หมายความว่าเขาอายุยืนมาก หลังจากนั้นไม่กี่วันต่อมาเขาก็ลาจากโลกนี้ไป ในวัย 94 ปี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา

กิมย้ง
กิมย้ง (จา เลี้ยงย้ง)

บางคนอาจจะจำได้ว่า ตอนที่เกิดสึนามิบ้านเรา กิมย้งมาเที่ยวภูเก็ต ตอนนั้นก็สูงวัยมากแล้ว แต่ยังเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติมาได้ และมีชีวิตยืนยาวนาน นับว่าเป็นแมวเก้าชีวิตคนหนึ่ง แต่เขาวางมือจากงานเขียนมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว บอกว่าเขียน อุ้ยเสี่ยวป้อ จบ ถึงที่สุดแห่งชีวิตนักเขียน

อุ้ยเสี่ยวป้อ หนังสือ
อุ้ยเสี่ยวป้อ แปลโดย น.นพรัตน์ สำนักพิมพ์สยามสปอร์ตพับลิชชิ่ง ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2528 (Photo: 2bbook.blogspot.com)

อุ้ยเสี่ยวป้อนั้นว่าด้วยคนที่ไร้วิทยายุทธ์ แต่เอาตัวรอดได้ท่ามกลางจอมยุทธ์ร้อยพัน นิยายกำลังภายในที่พระเอกไม่มีวรยุทธ์ เป็นงานที่พิสดารพันลึก ไม่มีใครเขียนได้ดีเท่ากิมย้ง กิมย้งก็เขียนไม่ได้ดีเท่านี้อีก จึงตัดสินใจวางปากกา

ความสูญเสียครั้งนี้ ผมเป็นแฟนตัวยงของกิมย้งอดรู้สึกตกใจไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า มีพบย่อมมีพราก งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา และไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า

กิมย้ง หนุ่ม
กิมย้งในวัยหนุ่ม นับเป็นชายหนุ่มที่หน้าตาหล่อเหลา (Photo: btntou.com)

กิมย้งน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ที่สุด เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อนบุตรชายคนโตของเขาฆ่าตัวตาย ระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ยังความเศร้าโศกให้กับกิมย้งอย่างมาก และทำให้เขาหันมาศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เพื่อแสวงหาหนทางเยียวยาจิตใจ และค้นหามรรคแห่งการพ้นทุกข์ ทำให้นิยายหลายเรื่องของเขาสะท้อนหลักศาสนาพุทธอย่างชัดเจน

งานของกิมย้งนั้นเปี่ยมไปด้วยปรัชญาจีน รสวรรณคดี เกร็ดประวัติศาสตร์ ราวกับสารานุกรมในรูปของนิยาย คล้ายกับวรรณกรรมอมตะเรื่อง ความฝันในหอแดง (หนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับ สามก๊ก, ไซอิ๋ว และซ้องกั๋ง ประพันธ์โดย เฉาเสวี่ยฉิน – 曹雪芹) คุณภาพงานของเขาดีปานนั้น คงเพราะเขาได้รับการศึกษาแบบบัณฑิตโบราณ ควบคู่กับนักศึกษาโมเดิร์น

ความตายของกิมย้ง คือจุดสิ้นสุดของวรรณกรรมจีนแบบโบราณก็ว่าได้

8 เทพอสูรมังกรฟ้า หนังสือ
แปดเทพอสูรมังกรฟ้า หนึ่งในอมตะนิยายกำลังภายในของกิมย้ง (Photo: moomnangsue.com)

งานของเขาหลายสิบเรื่อง เรื่องที่สะท้อนหลักพุทธธรรมที่สุดคือ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า

เรื่องที่สะท้อนหลักจารีตขงจื๊อ และความรักบ้านเมืองที่สุดคือ มังกรหยกภาคก๊วยเจ๋ง

เรื่องที่สะท้อนปรัชญาหยางจื่อ สุขนิยมไร้กรอบกฎเกณฑ์ที่สุดคือ มังกรหยกภาคเอี้ยก้วย

เรื่องที่สะท้อนหลัก ‘อี้จิง’ พลิกแพลงไร้ที่สุดสิ้นสุด คือ อุ้ยเสี่ยวป้อ, จอมยุทธ์ที่ไร้เพลงยุทธ์

เรื่องที่สะท้อนสันดานดิบของมนุษย์ที่สุด คือ ยิ้มเย้ยยุทธจักร หรือ กระบี่เย้ยยุทธจักร

มังกรหยก ก๊วยเจ๋ง โปสเตอร์
มังกรหยก ภาคก๊วยเจ๋ง (Photo: hkmdb.com)
ยิ้มเย้ยยุทธจักร เดชคัมภีร์เทวดา โปสเตอร์หนัง
เดชคัมภีร์เทวดา ภาพยนตร์จีนที่สร้างจากนิยายเรื่อง ยิ้มเย้ยยุทธจักร หรือกระบี่เย้ยยุทธจักร (Photo: movie.mtime.com)

การเขียนเรื่องยิ้มเย้ยยุทธจักร สะท้อนความวินาศของการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้กิมย้งถูกพวกซ้ายจัดในฮ่องกงขู่เอาชีวิต แต่เขาก็เขียนมันจนจบท่ามกลางการข่มขู่ของพวกที่เรียกตัวเองว่ามีอุดมการณ์แรงกล้า

เรื่องยิ้มเย้ยยุทธจักรทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงคำว่า ‘วิญญูชนจอมปลอม’ (เหว่ยจวินจื่อ – 偽君子) คนที่คิดว่าตัวเองสูงส่งด้านอุดมการณ์ วิพากษ์วิจารณ์ทุกคนได้ แต่กลับไม่ทนกับคนที่วิจารณ์พวกเขา

กิมย้ง มังกรหยก ตอน กำเนิดเอี้ยก้วย 1960
กิมย้งถ่ายภาพกับนักแสดง มังกรหยก ตอน กำเนิดเอี้ยก้วย ปี 1960 (Photo: club.kdnet.net)

ผมเคยเขียนหนังสือวิจารณ์งานของกิมย้งโดยเฉพาะ เอ่ยถึงคำว่า ‘วิญญูชน’ เอาไว้ ในนิยายกำลังภายในและหนังจีนมักได้ยินประโยคนี้บ่อยๆ…

君子報仇,十年不晚

—วิญญูชน มีความแค้นสิบปียังไม่สาย

ซึ่งแท้จริงแล้วต้นเค้าของถ้อยประโยคนี้ มิได้มาจากจอมยุทธ์คนใด หากมาจากเรื่องราวของ ฟ่านจู (范雎) เสนาแคว้นเว่ย ที่ถูกใส่ร้ายจนต้องหนีไปแคว้นฉิน แล้วใช้เวลายาวนานแทรกซึมในราชสำนัก จนเป็นที่ไว้ใจเจ้าแคว้นฉิน วางแผนให้แคว้นฉินสร้างพันธมิตรล้มแคว้นเว่ย เรื่องราวการล้างแค้นอย่างเลือดเย็นนี้บันทึกในตำรา สื่อจี้ โดย ซือหม่าเชียน มหาบัณฑิตยอดนักประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในหมู่วิญญูชนสายบัณฑิต และวิญญูชนสายต่อสู้ บางคราวก็ต้องมีความแค้นอยู่ในอกเฉกเช่นเดียวกัน

ซือหม่าเชียน (司馬遷)
ซือหม่าเชียน (司馬遷)

แล้ว ‘วิญญูชนจอมปลอม’ เล่า ควรหมายถึงคนจำพวกใด?

ย่อมเป็นในทางตรงกันข้ามกับวิญญูชนที่แท้จริงทุกกระบวนท่า เพียงแต่คนชั่วร้ายเหล่านี้ มักใช้ฉากหน้าของวิญญูชนเป็นหน้ากากซ่อนความโฉดโหดหินไว้ มิให้คนได้เห็น นับว่าต่ำช้ากว่ามาร เพราะมารยังอาจแลเห็นได้ แต่คนชั่วในคราบคนดี ใครเล่าจะมองเห็นธาตุแท้ได้ ล้วนได้เห็นเอาก็เกือบจะสายเกินการณ์ทั้งสิ้น…

ศิลปินชาวฮ่องกง (ซ้าย) เซ็นสัญญากับกิมย้งเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ มังกรหยก ภาค 3 หรือ ‘กระบี่อิงฟ้า ดาบฆ่ามังกร’ ในปี 1963 (Photo: club.kdnet.net)

นิยายของกิมย้งสะท้อนถึงวิญญูชนจอมปลอมเอาไว้ไม่น้อย นัยว่าเพื่อตักเตือนผู้อ่านให้คอยระแวดระวัง เพราะในขณะที่สังคมยกย่องความดีงาม ความชั่วช้าก็อำพรางตัวอย่างแนบเนียนอยู่ในนั้น

นิยายที่ดีควรจะเปิดโปงความชั่วร้าย ดังนี้

ขอส่งกิมย้งสู่ปรภพด้วยเนื้อเพลง ยิ้มเย้ยยุทธจักร ประกอบภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายเรื่องดังของเขา แม้เพลงนี้กิมย้งจะไม่ได้แต่ง แต่กลับสะท้อนจิตวิญญาณของจอมยุทธ์ที่ไร้พันธะในขนบจอมปลอม แต่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมแท้จริงในนิยายของกิมย้งได้เป็นอย่างดี

 

ท้องทะเลครั่นครืน สายน้ำรื่นเลาะฝั่ง

เกลียวคลื่นคงดำรงหวัง ยั้งในกาลบัดดล

ฟ้าหัวเราะเยาะยั่ว โลกข้องกลัวกังวล

เพียงฟ้าดินจึ่งทราบผล แพ้ชนะชั่วดี

ภูสรวลเสเฮฮา ฝนคล้อยมารางราง

ยามคลื่นใหม่ไล่เก่าลาร้าง โลกก็ยังอยู่ดี

สายลมโปรยโชยอ่อน ยิ้มอาวรณ์วังเวง

ลืมทุกข์โศกโลกร่ำบรรเลง มิเกรงความโดดเดี่ยว

โลกหัวเราะเริงร่าย สิ้นเดียวดายกังวล

ใจข้ายังยั่งยืนยง ยิ้มทะนงคงมั่น.