w©rld

หากเปรียบเป็นคน พีระมิดลูฟวร์ (Louvre Pyramid) กำลังจะเป็นสาวสะพรั่งเต็มวัย 30 ปี ในวันที่ 29 มีนาคม 2019

พีระมิดแก้วแห่งนี้ สร้างเสร็จเมื่อปี 1989 เพื่อเป็นทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

Louvre pyramid
(photo: KENZO TRIBOUILLARD / AFP)

ทุกวันนี้ พีระมิดลูฟวร์เป็นมากกว่าแลนด์มาร์กหรือฉากหลังให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปสวยๆ  

แต่กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความหรูหราและโมเดิร์นของเมืองน้ำหอม

common ขอแฮ้ปปี้เบิร์ดเดย์ พร้อมร่วมฉลองครบรอบ 30 ปี ของพีระมิดลูฟวร์

ด้วยการชวนย้อนไปสำรวจและทำความรู้จักประวัติศาสตร์ของพีระมิดโลกยุคใหม่แห่งนี้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย

Louvre pyramid
(photo: KENZO TRIBOUILLARD / AFP)

ผู้ริเริ่มการสร้างพีระมิดลูฟวร์ คือ ฟร็องซัว มีแตร็อง อดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เขาสั่งให้สร้างพีระมิดแห่งนี้ในปี 1984 เพื่อแก้ปัญหาทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในตอนนั้น ซึ่งไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากในแต่ละวันได้ และมีทางเดินเหมือนเขาวงกต ทำให้ผู้คนหลงทางเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่อีกหลายส่วน

Louvre pyramid
ฟร็องซัว มีแตร็อง อดีตประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ชื่นชมความอลังการของพีระมิดลูฟวร์หลังสร้างเสร็จ (photo: AFP)

ผู้ออกแบบพีระมิดลูฟวร์ คือ ไอ. เอ็ม. เป่ย (I. M. Pei หรือ Leoh Ming Pei) สถาปนิกสัญชาติจีน-อเมริกัน ผู้โด่งดังจากผลงานการออกแบบห้องสมุด John F. Kennedy, National Gallery of Art และได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ในปี 1983

Louvre pyramid
สถาปนิก ไอ. เอ็ม. เป่ย ผู้ออกแบบพีระมิดลูฟวร์ (photo: www.architecturaldigest.com)

ไอ. เอ็ม. เป่ย ศึกษาประวัติศาสตร์ของแลนด์สเคปและสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้งจนได้ไอเดียออกแบบพีระมิดลูฟวร์ โดยเขาเลือกปรับใต้ดินของ Cour Napoléon ลานกว้างหน้าพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างเป็นโถงต้อนรับและพื้นสาธารณะ รวมทั้งทางเข้าหลักทางใหม่

Louvre pyramid
ภาพสเก็ตช์การก่อสร้างพีระมิดลูฟวร์ของ ไอ. เอ็ม. เป่ย (photo: www.architectmagazine.com)
Louvre pyramid
บรรยากาศการก่อสร้างพีระมิดลูฟวร์ในปี 1989 (photo: Patrick KOVARIK / AFP)
Louvre pyramid
นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกำลังต่อแถวเข้าคิวใต้พีระมิดลูฟวร์ ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Photo by LOIC VENANCE / AFP)

พีระมิดลูฟวร์สร้างด้วยแผ่นแก้วใส ไม่มีสีใดๆ เจือปน เพราะสถาปนิกต้องการให้มีแสงธรรมชาติส่องลงมาถึงชั้นใต้ดิน และแสงที่ตกกระทบลงมาต้องเป็นแสงสว่างแบบธรรมชาติมากที่สุด เพื่อไม่รบกวนการชมศิลปะ ในขณะเดียวกันผู้คนก็สามารถเงยหน้ามองขึ้นมาชมอาคารเก่าแก่ที่ล้อมรอบพีระมิดได้ด้วย

Louvre pyramid
พีระมิดลูฟวร์ยามกลางวันรับแสงธรรมชาติผ่านแผ่นกระจกใส 100% อย่างเต็มที่ (Photo by LOIC VENANCE / AFP)

ทีมสถาปนิกค้นหาแผ่นแก้วที่เหมาะสำหรับใช้สร้างพีระมิดลูฟวร์เป็นเวลานาน เพราะแผ่นแก้วโดยทั่วไปมักมีเฉดสีเขียวผสมเล็กน้อย แต่ไอ. เอ็ม. เป่ย ต้องการวัสดุแก้วที่ใสที่สุดในการก่อสร้างพีระมิดสุดล้ำแห่งนี้

Louvre pyramid
แสงอาทิตย์ลอดผ่านแผ่นแก้วที่มีความใส 100% ซึ่งเป็นวัสดุหายากในยุคก่อน (photo by LOIC VENANCE / AFP)

ตัวพีระมิดลูฟวร์มีความสูง 21.6 เมตร ตัวฐานแต่ละด้านกว้าง 34 เมตร ถือเป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงพีระมิดที่ยิ่งใหญ่อันดับ 15 ของโลก นับตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ

Louvre pyramid
กราฟเปรียบเทียบความสูงของสถาปัตยกรรมทรงสามเหลี่ยมหรือทรงพีระมิดในทุกยุคสมัย (photo: https://bit.ly/2FzIWwG)

โครงสร้างของพีระมิดลูฟวร์ประกอบด้วยโครงเหล็กและแผ่นแก้วรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน 793 ชิ้น ซึ่งแทนรูปทรงของเพชร แต่มีตำนานเล่าว่า แท้จริงแล้วมี 666 ชิ้น ซึ่งเป็นเลขของซาตาน

Louvre pyramid
แผ่นแก้วใสรูปสี่เหลี่ยมเปียกปูนจำนวน 793 แผ่นประกอบกันเป็นพีระมิดลูฟวร์สุดอลังการ (photo: MIGUEL MEDINA / AFP)

ไอ. เอ็ม. เป่ย เริ่มต้นออกแบบโครงสร้างพีระมิดลูฟวร์จากการจำกัดความสูง เพราะเขาไม่ต้องการให้ตัวพีระมิดมีความสูงโดดเด่นเกินสถาปัตยกรรมสุดคลาสสิกรอบด้าน    

Louvre pyramid
ความสูงของพีระมิดลูฟวร์ไม่เกินสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่อยู่ล้อมรอบ
(photo: LOIC VENANCE / AFP)

ก่อนพีระมิดลูฟวร์กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของปารีส พีระมิดแก้วแห่งนี้เคยเป็นที่รังเกียจของคนฝรั่งเศส เพราะดีไซน์สุดโมเดิร์นที่ไม่เข้ากับพระราชวังสไตล์เรเนซองส์สุดคลาสสิกที่อยู่รอบด้าน คนฝรั่งเศสยังถือว่าพีระมิดเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายที่ไม่เหมาะกับการตั้งอยู่ใกล้สถานที่สำคัญใจกลางเมือง นอกจากนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบไม่ใช่คนฝรั่งเศส อาจไม่เข้าใจตัวตนของคนฝรั่งเศสได้อย่างแท้จริง

Louvre pyramid
พีระมิดลูฟวร์ในปี 1988 เป็นสถาปัตยกรรมที่คนฝรั่งเศสต่อต้านและมองว่ามีสไตล์ที่ไม่เข้ากันกับพระราชวังสุดคลาสสิกรอบด้าน (photo: JOEL ROBINE / AFP)

ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จะเฉลิมฉลองพีระมิดลูฟวร์ครบรอบ 30 ปี อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมจัดงานอีเวนต์สุดพิเศษหลายกิจกรรม เช่น JR at the Louvre โดยศิลปินช่างภาพชื่อดังผู้เคยทำสร้างงานศิลปะบนพีระมิดลูฟวร์มาแล้ว สำหรับงานครั้งนี้ เขาปิดเป็นความลับและใช้คนถึง 400 คน! นอกจากนี้ ยังมีคอนเสิร์ตพิเศษโดย Paris Orchestra จัดแสดงให้ชมใต้พีระมิดลูฟวร์ในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย.

Louvre pyramid
JR ศิลปินช่างภาาพชื่อดังชาวฝรั่งเศส จะจัดแสดงงานศิลปะบนพีระมิดลูฟวร์ เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของพีระมิดแก้วแห่งนี้ (photo: www.voanews.com)
Louvre pyramid
ผลงานของ JR ศิลปินชาวฝรั่งเศสในปี 2016 ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะบนพีระมิดลูฟวร์ โดยใช้ภาพถ่ายของเขาห่อหุ้มพีระมิดแก้ว จนดูกลมกลืนกับอาคารด้านหลังและเหมือนหายไปจากที่ตั้งเดิม (photo: https://edition.cnn.com)

#LouvrePyramid #Louvre #museum #WORLD #common

Fact Box:

  • รางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) เป็นรางวัลประจำปีที่มอบเป็นเกียรติแก่สถาปนิกที่ยังมีชีวิตในปัจจุบัน เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 โดยส่วนหนึ่งของเกณฑ์ในการพิจารณาให้รางวัลคือ การสร้างนวัตกรรมที่ดีและมีคุณภาพ เสริมสร้างและบูรณาการการใช้เทคโนโลยีที่ดีในการก่อสร้าง รางวัลนี้เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลผลงานทางด้านสถาปัตยกรรม

อ้างอิง: