w©rld

ผมถ่ายภาพนี้เมื่อสองปีก่อน

นี่คือวัตถุห้วงอวกาศลึกที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากที่สุดบนท้องฟ้าก็ว่าได้ นักถ่ายภาพดาวแทบทุกคนเคยถ่ายภาพนี้

มันคือ โอไรออน เนบิวลา (Orion Nebula) ในบัญชีรายชื่อวัตถุท้องฟ้าเรียกสิ่งนี้ว่า M42/M43 และ NGC 1976

โอไรออน เนบิวลา คือกลุ่มก๊าซและฝุ่นในอวกาศขนาดมหึมา มีขนาดกว้าง 24 ปีแสง และอยู่ห่างจากระบบสุริยะราว 1,344 ปีแสง โดยระยะทาง 1 ปีแสง มีค่าประมาณ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร ดังนั้น เนบิวลา ซึ่งเป็นคำภาษาละติน แปลว่า “หมอก” หรือ “ก้อนเมฆ” ก้อนนี้ จึงมีขนาดใหญ่และอยู่ห่างไกลจากโลกของเรามหาศาล

นักจักรวาลวิทยาค้นพบว่าดวงดาวทุกดวงในจักรวาล ล้วนมีจุดกำเนิดจากเนบิวลา ซึ่ง โอไรออน เนบิวลา คือโรงงานผลิตดวงดาวที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้ โอไรออน เนบิวลา ซึ่งเป็นหนึ่งในเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) จึงสว่างและโดดเด่นเป็นพิเศษ

แสงนี้มาจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นที่ถูกกระตุ้นโดยพลังงานอันร้อนแรงของดาวฤกษ์อายุน้อยภายในเนบิวลา โดยเฉพาะดาวฤกษ์สี่ดวงที่มีอายุไม่กี่แสนปีที่อยู่ตรงใจกลางที่เรียงตัวกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘ทราปีเซียม คลัสเตอร์’ (Trapezium Cluster)

แต่ภายใน โอไรออน เนบิวลา ไม่ได้มีดาวฤกษ์เพียงแค่นั้น แต่มีนับพันดวงกระจายอยู่ทั่วไป บางส่วนเผยให้เห็น อีกจำนวนมากซ่อนตัว หรือไม่ก็ถูกบดบังจนมองไม่เห็น

ไม่ใช่ความบังเอิญที่เนบิวลาจะมีดาวฤกษ์อยู่มากมาย แต่เป็นเพราะดวงดาวทั้งหลายถือกำเนิดมาจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นนี้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ดาวทุกดวงคือลูกหลานของเนบิวลานั่นเอง

นอกจาก โอไรออน เนบิวลา ในกาแล็กซีทางช้างเผือก และกาแล็กซีอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลนับล้านปีแสง ก็ยังมีกลุ่มก๊าซและฝุ่นในอวกาศเช่นนี้อยู่มากมาย

อย่างในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เป็นกาแล็กซีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ประมาณกันว่า มีดาวฤกษ์รวมกันไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านดวง

ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
ดวงดาวจำนวนมหาศาลบริเวณแขนกังหันชั้นในของทางช้างเผือก
(photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)

หรือในจักรวาลนี้ที่มีกาแล็กซีอยู่ราว 100,000 – 200,000 ล้านกาแล็กซี (ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กาแล็กซีอาจมีจำนวนมากกว่านี้ แต่อยู่ไกลและจางเกินกว่าจะตรวจพบได้ด้วยเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่เรามี)

หากจะลองคำนวณจำนวนดวงดาวทั้งหมดในจักรวาลนี้ คงมีมากมหาศาลเกินกว่าใครจะจินตนาการ

ดวงดาว โอไรออน เนบิวลา ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
โอไรออน เนบิวลา (photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)

การได้กลับมานั่งมองภาพ Orion Nebula ที่ตัวเองเคยถ่ายเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ผมหวนนึกถึงกำเนิดของชีวิต

ผมคิดว่า ออกซิเจนที่เราใช้หายใจ แท้จริงแล้วไม่ได้ถูกสร้างมาจากพืชสีเขียว พืชเพียงแต่ใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานและใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนธาตุออกซิเจนมีอยู่แล้วในอากาศ และก๊าซออกซิเจนก็เป็นเพียงผลพลอยได้จากกระบวนการสร้างอาหารของพืชเท่านั้น

ธาตุอื่นๆ อาทิ แคลเซียมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูก หรือธาตุเหล็กที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในเม็ดเลือด ก็เช่นกัน

สิ่งเหล่านี้ล้วนถือกำเนิดมาจากดวงดาวทั้งสิ้น และไม่ว่าจะมองจากมุมไหน พวกเราทั้งหมดล้วนเป็นลูกหลานและเชื่อมโยงสัมพันธ์กับดวงดาว

ดวงดาวที่มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มก๊าซอันบางเบา ดั่งสสารที่เสมือนไร้ตัวตน.

เรียบเรียง: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์

FACTBOX

โอไรออน เนบิวลา Orion Nebula Wikimedia Commons

  • Orion Nebula หรือมีชื่อตามบันทึกของ Charles Messier ว่า “M 42” จัดเป็นเนบิวลาแบบเรืองแสงขนาดใหญ่และสว่างมากที่สุดแห่งหนึ่งบนท้องฟ้า เป็นวัตถุที่นักดาราศาสตร์อาชีพและสมัครเล่นต่างให้ความสนใจ
  • นักดาราศาสตร์ค้นพบว่า Orion Nebula ได้ก่อให้เกิดดาวฤกษ์ใหม่ๆ ขึ้นมาไม่น้อยกว่า 700 ดวง และมีดาวฤกษ์ที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มก๊าซอีกไม่น้อยกว่า 150 ดวง
  • *1 ปีแสง เท่ากับระยะทางราว 9,460,730,472,580.8 กิโลเมตร คิดจากการเดินทางของแสงในสุญญากาศที่มีความเร็ว 300,000 กิโลเมตร/วินาที