กระแสโลกวันนี้เป็นอย่างไร ‘เอโมจิ’ (Emoji) อาจบอกเราได้!
เมื่อไม่นานมานี้ Unicode Inc. องค์กรไม่แสวงผลกำไรผู้ดูแลระบบภาษาคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเผยลิสต์อิโมจิ v12.0 ปี 2019 จำนวน 59 แบบ ซึ่งมาในธีม ‘โอบรับคนชายขอบ’ (inclusivity)
เอโมจิในเซ็ทนี้หลายตัวจึงเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มผู้พิการ เพิ่มความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว รวมถึงรสนิยมทางเพศมากขึ้น
เอโมจิที่เราพูดถึงมีอะไรบ้าง?
deaf person: ผู้บกพร่องทางการได้ยิน
ear with hearing aid: หูใส่เครื่องช่วยฟัง
woman with probing cane: ผู้พิการทางด้านสายตา
man in manual wheelchair: ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวบนวีลแชร์
woman in motorized wheelchair: ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวบนวีลแชร์ไฟฟ้า
mechanical leg: ขาเทียม
mechanical arm: แขนเทียม
women holding hands: คู่รักเพศหญิง
men holding hands: คู่รักเพศชาย
นอกจากนี้ ยังมีเอโมจิที่เพิ่มความหลากหลายด้านภาษาและวัฒนธรรม เช่น
Hindi temple: วัดของอินเดีย
Tuk tuk: รถตุ๊กตุ๊ก
Sari: ชุดส่าหรีของผู้หญิงอินเดีย
Banjo: แบนโจ เครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวแอฟริกันในอเมริกาเหนือ
Yo-yo: ของล่นสุดฮิตจากยุค 90s
การมาถึงของเอโมจิชุดใหม่ที่ครอบคลุมถึงคนกลุ่มต่างๆ นั้น ไม่ได้เพิ่งมีในปีนี้ แต่ทาง Unicode Inc. เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2005 โดยสร้างสรรค์สัญลักษณ์ที่ครอบคลุมรสนิยมทางเพศ เช่น ⚥ ⚣ ⚢ และเอโมจิ ♿ สัญลักษณ์สากลของผู้ใช้วีลแชร์ เพิ่มเอโมจิที่ครอบคลุมสีผิวต่างๆ เมื่อปี 2015 รวมถึงพัฒนาเอโมจิให้สามารถใช้ได้ในทุกบริบทของภาษาและวัฒนธรรม
ปี 2015
เอโมจิคู่รักจับมือกัน ทั้งคู่ชาย-หญิง หญิง-หญิง และชาย-ชาย
เอโมจิสีผิวต่างๆ มีทั้งเอโมจิมือ ใบหน้า และคนในอิริยาบทต่างๆ
ปี 2016
เพิ่มเอโมจิให้มีทั้งชายและหญิงในอิริยาบถและอาชีพต่างๆ แสดงให้เห็นความเท่าเทียมทางเพศ
เอโมจิ Pride flag ธงสายรุ้งสัญลักษณ์ของชาว LGBT
ปี 2017
เอโมจิ Woman With Headscarf ผู้หญิงสวมฮิญาบ มีที่มาจากคำร้องของสาวมุสลิมที่ขอให้ Unicode สร้างเอโมจิที่บ่งบอกตัวตนของพวกเธอได้
ปี 2018
ล่าสุด Unicode เพิ่มสีและทรงผมให้กับเอโมจิชุด v11.0
เอโมจิที่เกิดขึ้นใหม่นี้แสดงให้เห็นถึงกระแสในโลกแต่ละช่วงเวลา เช่นเดียวกับเอโมจิชุด v12.0 ล่าสุดที่สะท้อนว่าสังคมโลกกำลังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและคุณค่าความเป็นมนุษย์
ชิเกตากะ คูริตะ (Shigetaka Kurita) นักออกแบบในทีมพัฒนาของ DOKOMO บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ในญี่ปุ่น คงไม่คาดคิดว่าเอโมจิที่เขาออกแบบเมื่อปี 1999 ที่ใช้กันเพียงหมู่คนญี่ปุ่น จะเดินทางมาไกลถึงเพียงนี้
จากจุดเริ่มต้นที่สร้างเอโมจิเพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ตัวอักษรในการส่งข้อความ และสื่อสารแบบง่ายๆ ผ่านภาพ เช่น การบอกสภาพภูมิอากาศ แทนที่จะบอกว่า ‘แดดออก’ ก็ใช้เอโมจิ ‘ดวงอาทิตย์’ แทนการพิมพ์
ถึงวันนี้เอโมจิกลายเป็นภาษาดิจิทัลที่ผู้คนใช้กันทั่วโลกและแพร่หลาย จนกลายเป็นธรรมชาติของการสื่อสารบนโลกดิจิทัล
เพราะเอโมจิเป็นมากกว่าข้อความ แต่เป็นภาษาภาพที่ส่งต่อความรู้สึกของผู้ส่งผ่านข้อความได้
เอโมจิเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
ถึงแม้ว่า Unicode Inc. จะสร้างเอโมจิให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
แต่ผู้คนในแต่ละสังคม ภาษา และวัฒนธรรม ต่างมีการใช้เอโมจิในความหมายที่แตกต่างกันออกไป
Folded Hands: เอโมจิมือประกบกัน
อย่างเอโมจิ 🙏 สุดคลาสสิกที่อยู่คู่โทรศัพท์มาเนิ่นนาน ทางฝั่งยุโรปนั้นให้ความหมายว่า เป็นการแท็กมือกัน (High Five) แต่คนไทยให้ความหมายว่าเป็นการไหว้
ความสนุกของภาษาคือการตีความ เอโมจิก็เช่นกัน เช่น เอโมจิที่จะเพิ่มเข้ามาใหม่อย่าง…
pinching hand: การจีบนิ้วเพื่อสื่อถึงจำนวนอันน้อยนิด
ทาง Unicode Inc. ผู้สร้างสรรค์ระบุว่า หมายถึง จำนวนนิดเดียวหรือเล็กน้อย แต่สำหรับคนบางกลุ่มก็มีการใช้เอโมจินี้เพื่อสื่อถึง ‘อวัยวะเพศชายที่มีขนาดเล็ก’
Sloth: สลอธ
หรือเอโมจิ สลอธ (sloth) ที่สื่อความได้หลายนัยยะ ทั้งนัยตรงว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เคลื่อนตัวเชื่องช้า และนัยประหวัดหรือความหมายเชิงเปรียบเทียบที่หมายถึง ความเชื่องช้า เนิบช้า ขี้เกียจ หรือสโลว์ไลฟ์ ก็สุดแล้วแต่ผู้ใช้จะสื่อสารและตีความ
นับจากวันแรกที่ถือกำเนิดในปี 1999 หรือราว 20 ปีที่แล้ว เอโมจินั้นช่วยเพิ่มอรรถรสของบทสนทนาในโลกออนไลน์ ไม่ให้ดูห้วนหรือน่าเบื่อเกินไป
อีกทั้งยังเป็นภาษาใหม่ที่สะท้อนให้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของสังคมโลก ผ่านตัวอักษรภาพเล็กๆ บนแป้นพิมพ์.
อ้างอิง:
- Announcing the Oxford Dictionaries “Word” of the Year 2015. https://www.oxforddictionaries.com/press/news/2016/9/2/WOTY
- Arielle Pardes. The WIRED Guide to Emoji. https://www.wired.com/story/guide-emoji/
- Kevin Webb. Here’s every single new emoji arriving in 2019. https://read.bi/2N92J8v
FACTBOX
- เอโมจิ (Emoji) มาจากภาษาญี่ปุ่น 3 คำรวมกัน คือ 絵 (เอะ) - ภาพ, 文 (โม) - ตัวหนังสือ, 字 (จิ) - ตัวอักษร แปลว่า ตัวอักษรรูปภาพ
- 😂 หรือ Face with Tears of Joys คือเอโมจิที่ Oxford Dictionaries แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ยกให้เป็นคำศัพท์แห่งปี 2015
- Unicode มาตรฐานอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ที่แปลงภาษาเขียนของมนุษย์ให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร และโปรแกรมสามารถรองรับการใช้งานภาษาต่างๆ และถ่ายโอนข้อมูลสะดวกขึ้น