w©rld

‘ปี 2018 เกาะเฮนเดอร์สัน ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ถูกค้นพบว่าเป็นเกาะที่มีขยะพลาสติกเยอะที่สุดในโลกประมาณ  37 ล้านชิ้น แม้ว่าจะมีจำนวนมหาศาลขนาดนี้ แต่นั่นคือปริมาณของพลาสติกที่ใช้เวลาผลิตเพียง 1.98 วินาทีเท่านั้น’

ของเล่นที่เราเพลิดเพลินในวัยเด็ก ถุงร้อนที่ใส่อาหารมาเพียงหนึ่งครั้ง ขวดน้ำที่ดื่มหมดแล้วโยนทิ้งไป ใช้เวลาเพียงกระดิกนิ้วในการผลิต แต่กลับใช้เวลาเป็นพันปีในการย่อยสลาย 

แต่ละวันทุกคนใช้พลาสติกมหาศาล เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็เฉลี่ยแล้วราวๆ คนละ 8 ใบต่อวัน จำนวนที่มากมายเช่นนี้จะไม่เป็นปัญหาถ้าเราสามารถกำจัดพลาสติกได้รวดเร็วเหมือนที่เราผลิตขึ้นมา ในเมื่อต้องใช้เวลาย่อยสลายอย่างยาวนานขนาดนี้ พลาสติกจึงกลายเป็นพิษกับธรรมชาติ

มาดูกันว่า ในวันนี้พลาสติกได้พรากอะไรไปจากโลกแล้วบ้าง ?

 

สัตว์น้อยใหญ่
เพื่อนร่วมโลกผู้ตกเป็นเหยื่อ

ถุงกับข้าวที่เราหิ้วกลับบ้านเมื่อวันก่อน อาจกำลังลอยอยู่กลางทะเลที่ไหนสักแห่ง

common UNDP
พลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเล Marseille ปี 2019 (Photo : Boris HORVAT / AFP)

งานวิจัยระบุว่า 92 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเคยสัมผัสกับขยะพลาสติก และหนึ่งในนั้นราวๆ  10 เปอร์เซ็นต์เผลอกินมันเป็นอาหาร 

ซากวาฬสเปิร์มที่ตายจากการกินพลาสติก เกยตื้นอยู่ที่ทางตอนใต้ของเมืองเกรนาดา ประเทศสเปน (Photo : The Donana Biological Station)
นักชีววิทยายืนท่ามกลางถุงพลาสติกที่พบในท้องของซากวาฬ (Photo : The Donana Biological Station)

ในแต่ละปีสัตว์ทะเลต้องสังเวยชีวิตให้ขยะพลาสติกในทะเลไปมากกว่า 100 ล้านตัว เต่าประมาณ 1,000 ตัว นกทะเลประมาณ 1 ล้านตัว นอกจากนี้ วัวจำนวนมากที่ประเทศอินเดียยังล้มตายเพราะกินพลาสติกเข้าไป เมื่อผ่าพิสูจน์แต่ละตัวจะพบถุงพลาสติกราวๆ 50 ชิ้นอยู่ในกระเพาะ

เด็กสาวกำลังมองหาขยะรีไซเคิล ในกองขยะที่ใหญ่ที่สุดทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย – 2018 (Photo : Biju Boro / AFP)

พลาสติกที่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกายของสัตว์ จะเข้าไปขัดขวางลำไส้ ทำให้เจ็บปวดและทรมาน จากนั้นร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึมสารพิษจนกระทั่งลมหายใจหมดลงอย่างช้าๆ หรือบางกรณีสัตว์จะรู้สึกอิ่มเนื่องจากมีพลาสติกจำนวนมากอยู่เต็มท้อง จนไม่ยอมออกหาอาหาร และล้มตายในที่สุด

นกกระสากำลังหาอาหารท่ามกลางขยะที่เรี่ยราดอยู่ตามแนวชายฝั่งอ่าวกัวนาบารา ประเทศบราซิล – 2008 (Photo : Vanderlei Almeida / AFP)

 

ระบบนิเวศน์อันสมบูรณ์ของธรรมชาติ

common UNDP
น้ำเสียที่ไหลลงแม่น้ำเบรุต ประเทศเลบานอน – 2019 (Photo : Joseph Eid / AFP)

ไมโครพลาสติก คืออนุภาคของพลาสติกที่มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร สิ่งนี้จะปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสีย เมื่อน้ำถูกปล่อยลงดินจะทำให้ดินเต็มไปด้วยไมโครพลาสติกและจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว

บนพื้นผิวของไมโครพลาสติกเต็มไปด้วยแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งเป็นตัวการหลักที่ทำร้าย ‘ไส้เดือน’ สัตว์ชนิดสำคัญในระบบนิเวศน์ ที่ทำหน้าที่ขุดและพรวนดิน เมื่อไส้เดือนถูกทำร้าย ดินก็เสื่อมสภาพ พืชที่เคยอาศัยผืนดินนั้นก็ไม่เจริญงอกงาม เหี่ยวเฉา และล้มตายในที่สุด 

common UNDP
เจ้าของสวนองุ่นนำไส้เดือนมาปล่อยเพื่อให้ช่วยบำรุงดิน ประเทศฝรั่งเศส – 2018 (Photo : Anne-Christine Poujoulat / AFP)

นอกจากนี้ไมโครพลาสติกยังปล่อยสารที่ชื่อว่า Phthalates and Bisphenol A (BPA) ทำให้สัตว์ชนิดต่างๆ หยุดหลั่งฮอร์โมนบางชนิด  ดังนั้น เมื่อพลาสติกเข้าไปแทรกซึมอยู่ในธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะทำให้ระบบนิเวศน์ค่อยๆ พังทลายลงอย่างช้าๆ

 

ปะการังใต้ท้องทะเล

common UNDP
ปะการังที่ฟอกขาวจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ที่จูนิเย ประเทศเลบานอน – (Photo : Ibrahim Chalhoub / AFP)

ในคาบสมุทรเอเชียแปซิฟิค มีพลาสติกมากกว่า 11 ล้านชิ้นเข้าไปติดตามแนวปะการัง และประเทศที่ได้รับผลกระทบที่สุด ใน 4 ปีที่ผ่านมาคือ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และไทย 

พลาสติกหลากชนิดที่ลอยไปติดใต้ทะเลจะทำให้เกิดแบคทีเรียในน้ำและบนปะการัง ซึ่งเข้าไปบดบังแสงแดด ทำให้ปะการังเป็นโรคได้

ยิ่งในวันที่อุหภูมิของโลกสูงขึ้น น้ำก็ร้อนขึ้น ทำให้ปะการังฟอกขาว หากได้รับผลกระทบจากพลาสติกในช่วงที่อ่อนไหวเช่นนี้ จะทำให้ปะการังติดเชื้อโรคได้ง่ายและเสียหายมากขึ้นไปอีก 

 

แผ่นน้ำแข็งขั้วโลก บ้านของหมีขาว

“ตอนนี้หมีขั้วโลกไม่มีที่อยู่แล้ว” นี่เป็นคำบอกเล่าของ ดร.รศ.สุชนา ชวนิตย์ นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้และขั้วโลกเหนือมาหลายครั้ง

หมีขาวกำลังคุ้ยหาอาหารจากกองขยะ ที่หมู่บ้านในเมืองโนวายาเซมลยาทางตอนเหนือของรัสเซีย – 2018 (Photo : Alexander Grir / AFP)

กระบวนการผลิตพลาสติกนั้นต้องใช้แหล่งพลังงานจากฟอสซิลมหาศาล ซึ่งการเผาไหม้ของฟอสซิลทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลอยไปทำลายชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ แผ่นน้ำแข็งที่เคยเป็นบ้านของหมีขั้วโลก ก็เริ่มหายไป ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่แผ่นจนแทบนับได้ ทำให้หมีขั้วโลกหาอาหารยากลำบากและต้องย้ายถิ่นที่อยู่

common UNDP
ก้อนน้ำแข็งที่ละลายจากธารน้ำแข็งคอลลินส์ เกาะคิงจอร์จ ชายฝั่งแอนตาร์กติกา – 2018 (Photo : Mathilde Bellenger / AFP)

หากก๊าซเรือนกระจกยังถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเรื่อยๆ แบบนี้ น้ำแข็งก็จะละลายมากขึ้น และวันไหนที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมด น้ำทะเลจะท่วมสูงถึง 50 เมตร

เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่ใช่แค่หมีที่ไม่มีบ้าน แต่พวกเราเองก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน

‘ขาดพลาสติก ไม่ขาดใจ!’

แคมเปญลดการใช้พลาสติกจาก UNDP

ในการประชุม UN Ocean Conference 2017 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP : United Nations Development Programe) ได้มีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งเสริมให้ลดใช้พลาสติกและหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน

UNPD จึงจัดแคมเปญ No Plastic! Yes, We Can หรือ ขาดพลาสติก ไม่ขาดใจ ร่วมกับบริษัท เดนท์สุ ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท แพลนบี มีเดีย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ผู้คนตระหนักว่า เราสามารถเลือกที่จะปฏิเสธพลาสติกได้เสมอ

โดยเล่าผ่านหนังโฆษณาสั้นๆ ที่ชวนให้ฉุกคิด…

ณ ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง บนชั้นวางอาหารสำเร็จรูป ถูกแทนที่ด้วยคะน้าหมูกรอบ ข้าวผัด กะเพราไข่ดาว ฯลฯ ที่รองด้วยใบตองอย่างหมิ่นเหม่ มีป้ายเล็กๆ ติดอยู่ด้านบนระบุว่า ‘ฟรี! อาหาร’ โดยมีเงื่อนไขกำกับว่า ต้องยกไปที่แคชเชียร์ให้ได้โดยไม่มีภาชนะที่เป็นพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้ ผู้คนต่างให้ความสนใจกับอาหารพร้อมข้อเสนอตรงหน้า ถึงจะยากแค่ไหน แต่ละคนก็สามารถนำอาหารออกไปได้ บ้างกลับไปเอากล่องข้าวมาใส่ บ้างถือไปด้วยมือเปล่า ไม่ว่าใครก็สามารถนำอาหารบนชั้นกลับบ้านได้โดยที่ไม่ใช้พลาสติกแม้แต่ชิ้นเดียว

ทั้งนี้ ปี 2050 ถือได้ว่าเป็นปีชี้ชะตาของโลก งานวิจัยหลายฉบับคำนวณไว้ว่าทั้งอากาศและสภาพแวดล้อมจะย่ำแย่ลงอีกมหาศาล UN Environment เองก็ออกมาคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2050 มาถึง ‘พลาสติกที่อยู่ในทะเลจะมีมากกว่าจำนวนปลาเสียอีก’

ดังนั้น เมื่อตัดสินใจใช้พลาสติกแต่ละครั้ง นั่นหมายความว่า จะมีขยะเพิ่มขึ้นในทะเลอีก 1 ชิ้น ซึ่งอาจจะไปอยู่ในท้องของปลาสักตัว หรือย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วย้อนกลับมาอยู่ในท้องของเราในวันที่เรากินสัตว์ทะเลตัวนั้น

จะเห็นได้ว่าพลาสติกคือวัตถุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และเป็นวายร้ายต่อโลกใบนี้แค่ไหน

และในขณะที่เราขาดการใช้พลาสติกแล้วไม่ขาดใจ แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่า พลาสติกจะทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดไหนต้องขาดใจไปอีกบ้าง

เพราะฉะนั้น การงดใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือยคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

#ขาดพลาสติกไม่ขาดใจ #NoPlasticYesWeCan #UNDP 

 

อ้างอิง