w©rld

การประชุมเศรษฐกิจหรือ World Economic Forum ประจำปี 2019 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

เมื่อวันที่ 22-25 มกราคมที่ผ่านมา มีบุคคลสำคัญของโลกตบเท้าเข้าร่วมการประชุมมากมาย

ประเด็นใหญ่ของโลกถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ไม่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ วิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และผลกระทบที่มีต่อสังคม ตลอดจนความสำคัญของการทำสมาธิและสติ

หากคุณสงสัยโลกวันนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น?

5 คำกล่าวจากบุคคลสำคัญที่มาร่วมการประชุมครั้งนั้น น่าจะช่วยให้เห็นทิศทางของโลกในอนาคตอันใกล้ได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม

เดวิด แอตเทนบะระ (David Attenborough) พิธีกรรายการโทรทัศน์และนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ

(Photo : AFP)

“ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับมหันตภัยร้ายจากน้ำมือมนุษย์ ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

 

เดวิดเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ด้านธรรมชาติวิทยามายาวนานกว่า 60 ปี ได้รับรางวัล Crystal Award จาก WEF ในฐานะผู้นำด้านวัฒนธรรมที่ช่วยขับเคลื่อนให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขาได้นำปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ขึ้นหารือในการประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาภูมิอากาศครั้งที่ 24 หรือ COP24  ที่เมืองคาโตวีตเซ ประเทศโปแลนด์

อันโทนีโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

(Photo : AFP)

 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติภายในปี 2020 เราอาจพลาดโอกาสที่จะหลุดพ้นจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง และระบบนิเวศน์ที่กำลังอุ้มชูเราอยู่”

 

คำปราศรัยของแอนโทนิโอในที่ประชุม เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่ออารยธรรมของมนุษย์

อีกหนึ่งสัญญาณเตือนที่อันโทนิโอมองว่าเราควรตระหนัก คือการร่วมมือกันระหว่างประชาคมโลกที่จะจัดการกับความท้าทายที่มนุษย์เผชิญอยู่ จะเกิดขึ้นหรือไม่?

วินนี่ บิยานยิมา (Winnie Byanyima) ผู้อำนวยการบริหาร Oxfam International

(Photo : AFP)

 

“ไม่มีกฎเศรษฐกิจใดที่กำหนดให้โลกาภิวัฒน์ต้องแข่งกันไปจนถึงจุดต่ำสุด”

 

ออกซ์แฟม (Oxfam) องค์กรการกุศลที่เชื่อว่า ‘โลกที่ปราศจากความยากจน เป็นจริงได้’ เผยรายงานปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทั่วโลกในวันแรกของการประชุม โดยเนื้อหารายงานเน้นย้ำถึงความตึงเครียดระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวและประโยชน์สาธารณะที่ชี้ให้เห็นว่า การจะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรองรับปัญหาสุขภาพ การศึกษา และบริการสาธารณะอื่นๆ คนรวยและบริษัทต่างๆ ต้องจ่ายภาษีในอัตราเท่าๆ กัน

วินนี่ บิยานยิมา ผู้อำนวยการบริหารออกซ์แฟม กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมต้องทำความเข้าใจปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การก้าวสู่โลกาภิวัฒน์ 4.0 จะเห็นผลได้ ก็ต่อเมื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นมรดกจากกระแสโลกาภิวัฒน์ในยุคที่ผ่านมาได้รับการแก้ไข โดยเธอเรียกร้องให้มีการปฏิวัติทางสังคม

เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum

(Photo : AFP)

 

“โลกาภิวัฒน์ 4.0 เพิ่งจะเริ่มขึ้น แต่เราก็ยังเตรียมการไม่พอสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้”

 

เคลาส์ ชวาบ พูดถึงการกำหนดแนวคิดโลกาภิวัฒน์ 4.0 โดยเกริ่นในการประชุมว่า “สองสิ่งสำคัญในการเป็นประชาคมโลกคือ การมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง และจินตนาการที่บรรเจิดกว่าเดิม”

ซูซี่ ร็อดเจอร์ส (Susie Rodgers) นักกีฬาพาราลิมปิก และผู้อำนวยการ Spirit of 2012

(Photo:www.susannahrodgers.com)

 

“ฉันขอบคุณที่ตัวตนความพิการมันทำให้หลายอย่างดูยุ่งยากขึ้นไปอีก ทั้งที่มันเป็นเพียงแค่ภาษาหรือคำคำหนึ่งเท่านั้น ใครคือคนที่บอกว่า ‘ปกติ’ คือปกติ? หรือ…‘ผู้ไม่พิการ’ แปลว่าไม่พิการ?”

 

ซูซี่ รอดเจอร์ เป็นผู้พิการเพียงไม่กี่คนบนโลกนี้ที่ไม่ได้มองว่าความพิการคือปมปัญหา ขณะที่ความจริงอีกด้านก็ชี้ว่า โลกใบนี้ก็ไม่ได้แฟร์กับผู้พิการมากนัก

รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โลกนี้มีผู้พิการมากกว่า 1 พันล้านคน และคนกลุ่มนี้ต้องเผชิญปัญหาความยากจน ถูกตัดสิทธิ์การเข้าถึงการศึกษา และถูกปฏิเสธการจ้างงานมากกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ในบางวัฒนธรรมยังมองผู้พิการในแง่ลบ เป็นกลุ่มคนที่ถูกลดความสำคัญ ต้องเจอทั้งอคติ การเลือกปฏิบัติ และการถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงสิทธิบางอย่าง

ทั้งที่ความจริงผู้พิการนั้นมีศักยภาพและแสงสว่างมากกว่าสิ่งที่สายตาสังคมมองเห็น

 

โลกวันนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น?

ถึงบรรทัดนี้ เราคงรู้คำตอบ ว่าโลกกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤต ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำยากจน การเข้าถึงโอกาสของผู้ด้อยโอกาส

คลื่นลมแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ 4.0 โหมกระหน่ำรุนแรง

คำถามใหญ่ที่ทิ้งไว้ในการประชุมคือ ประเทศต่างๆ ในประชาคมโลกจะหันหน้าร่วมมือฝ่าคลื่นลม หรือจะต่างคนต่างอยู่

เพื่อให้ตัวเองรอด แล้วทิ้งคนรั้งท้ายไว้ข้างหลัง

นี่คือคำถามที่เวลาจะให้คำตอบ.

 

อ้างอิง: