“สังคมเต็มไปด้วยความรุนแรงจากปืน คนใจร้ายและใจดำมากขึ้น เราใช้เวลาไปกับการจ้องโทรศัพท์มากกว่าการมองหน้ากัน ถึงแม้ว่าเราติดต่อกันง่ายขึ้น แต่กลับรู้สึกเหงากันมากขึ้น ”
นี่คือเหตุผลสำคัญที่เทรซี่ รูเบิล (Traci Ruble) สร้างสรรค์ ‘สังคมแห่งการฟัง’ ขนาดเล็กขึ้นในปี 2014
การฟังที่ว่าไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล สถานบำบัด หรือห้องทำงานของนักจิตวิทยา
แต่นั่งบนเก้าอี้ตามฟุตบาทริมถนน
จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ ‘Sidewalk Talk’
พร้อมเน้น ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’
ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเยียวยาความทุกข์ตรมของผู้คนได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล
ดังคำกล่าวของติช นัท ฮันห์ ที่ว่า
“การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการช่วยลดความทุกข์ใจของใครสักคนได้ดีที่สุด และการฟังควรมีเป้าหมายเดียวคือ ช่วยให้คนคนนั้นระบายความในใจออกมาให้ได้มากที่สุด”
รับฟังแบบฟรีๆ ที่ข้างถนน
“เราอยากให้ผู้คนกลับมาพูดคุยแบบเผชิญหน้ากันจริงๆ เช่นสมัยก่อน”
นี่คือความตั้งใจของเทรซี่ รูเบิล อดีตนักบำบัดมืออาชีพ ผู้เป็นเจ้าของโปรเจกต์ ‘Sidewalk Talk’ ซึ่งเธอก่อตั้งขึ้นเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรในปี 2014 ด้วยความพยายามเปลี่ยนมุมมองด้านลบที่ผู้คนมีต่อการบำบัด และให้กำลังใจผู้คนด้วยการทำความเข้าใจความรู้สึก พร้อมพัฒนาชุมชนไปในตัว
เทรซี่เริ่มต้นโดยชักชวนเพื่อนร่วมงานและนักจิตวิทยามากกว่า 20 คน มาฝึกฝนทักษะการฟังเพิ่มเติม หลังจากนั้น พวกเขาพกพาเก้าอี้คนละหนึ่งตัวไปนั่งบนฟุตบาท พร้อมชูป้ายที่เขียนว่า “รับฟังเรื่องของคุณฟรี!” ใน 12 จุดทั่วเมืองซานฟรานซิสโก เพื่อเปิดให้คนที่เดินถนนเข้ามานั่งพูดคุยได้ทุกเรื่องที่ต้องการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
เทรซี่ได้ไอเดียนี้จากความเชื่อที่ว่า
“การเป็นนักบำบัดที่นั่งอยู่แต่ในออฟฟิศของตัวเอง ไม่สามารถช่วยให้เข้าใจผู้คนได้ดี”
‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ ทักษะที่ฝึกฝนได้
ถึงแม้ว่าเทรซี่จะมีประสบการณ์การทำงานด้านการบำบัดแบบมืออาชีพมากกว่า 20 ปี แต่เธอเชื่อว่าทุกคนเป็นผู้ฟังที่ดีได้
“ใครๆ ก็เป็นผู้ฟังที่ดีได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักบำบัดมืออาชีพ แค่มีความเห็นอกเห็นใจ พยายามทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และไม่ควรตัดสินผู้คนจากเรื่องราวที่ได้รับฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝนกันได้”
Sidewalk Talk จึงเปิดรับนักฟังอาสาสมัครจำนวนมากผ่านการลงทะเบียนบนเว็บไซต์ https://www.sidewalktalksf.com โดยไม่จำกัดเพศ อายุ อาชีพ ความสามารถ สถานภาพทางสังคม เมื่อฝึกฝนทักษะการฟังจากทีมงานมืออาชีพที่สอนผ่านวิดีโอ และได้ใบรับรองจากโครงการ จึงสามารถก้าวออกไปเป็นนักฟังข้างถนนได้
“อยากนั่งคุยกันไหมครับ/ค่ะ”
คือคำถามที่อาสาสมัครมักพูดชักชวนคนที่เดินผ่านไปมา พร้อมยกป้ายชื่อโปรเจกต์ ‘Sidewalk Talk’ พวกเขาพร้อมรับฟังทุกหัวข้อและไม่จำกัดชั่วโมงการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน ครอบครัว ความรัก เพื่อน ยกเว้นการเมือง
แม้ว่าในช่วงเริ่มต้น คนส่วนใหญ่จะเดินผ่านกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้โดยไม่สนใจใยดี หรือปฏิเสธด้วยข้ออ้างต่างๆ แต่เทรซี่และเพื่อนๆ อาสาสมัครพิสูจน์ให้เห็นว่า การที่คนเราได้พูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กัน มีผลให้สุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยเหตุนี้ Sidewalk Talk จึงประสบความสำเร็จอย่างมาก ปัจจุบัน Sidewalk Talk มีอาสาสมัครนักฟัง 4,000 คน และกระจายตัวไปมากกว่า 50 เมืองใน 12 ประเทศทั่วโลก อาทิเช่น ในอเมริกา อังกฤษ แคนาดา โปรตุเกส เยอรมนี มาเลเซีย ฮ่องกง สวีเดน โดยนั่งอยู่ตามฟุตบาท ถนนบริเวณสี่แยก สวนสาธารณะ สถานีรถไฟใต้ดิน หรือตามมุมตึกต่างๆ
มากกว่าการบำบัด คือ ‘การพัฒนาชุน’
ผลลัพธ์ของโปรเจกต์ Sidewalk Talk ให้มากกว่าเรื่องสุขภาพจิต คือ การพัฒนาเมืองและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเทรซี่มองว่าสิ่งนี้เกิดจากการที่คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การได้มีโอกาสพูดคุยและรับฟังปัญหาอย่างจริงใจ
อาสาสมัครส่วนใหญ่ของ Sidewalk Talk เป็นคนในชุมชนด้วยกันเอง เมื่อพวกเขาผ่านการเทรนนิ่งและเข้ามาเป็นนักฟังข้างถนน สิ่งตอบแทนไม่ใช่เงิน แต่เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พร้อมโอกาสพัฒนาทักษะหลายด้าน รวมทั้งมีความรู้สึกเหงาน้อยลง ในขณะเดียวกัน อาสาสมัครก็มีความสุขมากขึ้น ที่สำคัญคือ ถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตของอาสาสมัครเองเช่นกัน เรี
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมูลค่าที่ไม่อาจประเมินได้.
อ้างอิง:
Elena Kadvany.Sidewalk Talk hopes to expand to Palo Alto. http://bit.ly/2vZIG4C
Sidewalk Talk.About.https://www.sidewalktalksf.com/about.html
Nick Mcgill.San Francisco group comes to Indianapolis to encourage human interaction.http://bit.ly/2YuBUQx