แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือที่คนในวงการช่างภาพรู้จักกันในชื่อ ADD CANDID เป็นช่างภาพที่ ‘ชัด’ กับสิ่งที่ตัวเองถ่าย
เขาเกิดในครอบครัวที่พ่อหรือที่เขาเรียกว่า ‘ป๊า’ ชอบถ่ายภาพ
มีกล้องของตัวเองตัวแรกตอน ป.5 เป็นกล้องฟิล์มรุ่น ‘ฟูจิเบิร์ด’ ที่ใส่ฟิล์ม แล้วถ่ายได้เลย
หลังจับกล้องคอมแพคถ่ายรูปเพื่อนและกิจกรรมวัยเรียนจนถึง ม.ปลาย ก็หยิบกล้องแบบแมนนวลของพ่อมาใช้
โฟกัสที่ปรับได้ การตั้งค่ารูรับแสง-ความไวชัตเตอร์ได้อย่างอิสระ ช่วยเปิดมุมมองการถ่ายภาพสู่พรมแดนใหม่
“ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าภาพไม่ชัด สวย ภาพที่มันคมมาก บางทีก็ทำให้เสียเสน่ห์บางอย่างไป” นั่นคือความรู้สึกของแอ๊ดตอนมัธยม ที่ตกค้างมาถึงตัวตนและภาพถ่ายของเขาในวันนี้
SENSE OF PLACE นิทรรศการภาพถ่ายครั้งล่าสุดที่เขาถ่ายทอดความรู้สึก ที่มีต่อพื้นที่ต่างๆ ที่พบเจอ แล้วถ่ายทอดผ่านมุมมองเฉพาะตัว มีหลายภาพที่ไม่ชัด
แต่ความไม่ชัดเหล่านั้นกลับมีแรงดึงดูดบางอย่างให้เดินเข้าหาและจ้องมอง
เช่นเดียวกับชีวิตที่ผ่านมาของเขา
1.
เท่าที่รู้จักกัน แอ๊ดหรือ “พี่แอ๊ด” เป็นช่างภาพ (น่าจะไม่กี่คน) ที่เลี้ยงชีพด้วยการถ่ายภาพโดยทุกงานที่ทำเป็นงานที่เขาเลือก และคนที่เรียกใช้ก็เลือกจากงานของเขา
เพราะภาพของแอ๊ดมี ‘กลิ่น’ เฉพาะบางอย่าง ซึ่งมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร
ไม่ว่างานนั้นจะเป็นภาพข่าว บุคคล สารคดี แฟชั่น หรือภาพถ่ายสถาปัตย์ ภาพเหล่านั้นจะมีกลิ่นในแบบของเขาเสมอ
“ผมว่ามันเกิดจากการสะสม เหมือนสะสมแต้ม”
แอ๊ดบอกว่า สิ่งที่ชอบ งานที่ทำตลอดชีวิตที่ผ่านมา ล้วนส่งผลต่องานของเขา โดยเฉพาะการ์ตูน
“ผมจะใช้การ์ตูนเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพซะส่วนใหญ่ เพราะการ์ตูนมันไม่เกิดขึ้นจริง ช่องนี้มันวาดไงวะ ภาพนี้มันมาจากไหน อยู่ดีๆ ก็เสยมาทางนี้ มันไม่จำกัดจินตนาการเรา”
แอ๊ดตอบด้วยประกายตาสดใส ที่แสดงถึงพลังในการสร้างสรรค์ที่ยังเต็มเปี่ยม ทั้งๆ ที่ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา
ชีวิตการเป็นช่างภาพของเขาผ่านอะไรมาไม่น้อย
2.
แอ๊ดเรียนจบสถาปัตย์โดยไม่ตั้งใจ เพราะในตอนที่เลือกคณะ คณะนิเทศศิลป์ที่อยากเรียนยังไม่เปิดในเทอมที่เขาสมัคร
แต่ความอยากเป็นช่างภาพที่มีมาตั้งแต่เด็กไม่เคยหายไป หลังเรียนจบ แอ๊ดเริ่มต้นอาชีพช่างภาพโดยเป็นฟรีแลนซ์อยู่ช่วงหนึ่ง
ระหว่างนั้นก็ส่งใบสมัครช่างภาพไปที่นิตยสาร oom (ก่อตั้งโดย อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส) และ a day แต่ถูกปฏิเสธทั้งสองที่
จนกระทั่งสองเดือนผ่านไป นิตยสาร oom ติดต่อมา เพราะต้องการช่างภาพมาประจำหนังสือในเครือที่รับจ้างทำให้บริษัทต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือหนังสือของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด
แอ๊ดได้งานประจำเป็นช่างภาพ และได้ใช้ทักษะการถ่ายภาพผสมกับความรู้ด้านสถาปัตย์ที่เรียนมา แต่เมื่อธุรกิจของบริษัทเริ่มฝืดเคือง แอ๊ดก็ออกมาเป็นช่างภาพอิสระอีกครั้ง แล้วถูกชักชวนมาทำฟรีแมกกาซีนอยู่ช่วงหนึ่ง แต่นิตยสารที่ทำสปอนเซอร์ไม่เข้า ในที่สุดก็ต้องปิดตัว
โชคดีในขณะที่ทำนิตยสาร oom แอ๊ดเคยถ่ายผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วผู้สมัครฯ คนนั้นชอบภาพที่เขาถ่าย
ผู้สมัครคนนั้นถามเขาว่า
“มาถ่ายภาพให้คุณอภิสิทธิ์ไหม?”
3.
“สนุก… แบบสนุกมาก”
แอ๊ดพูดถึงประสบการณ์จากการเป็นช่างภาพติดตาม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงที่เป็นนายกฯ จนกระทั่งลงจากตำแหน่ง
จากสัญญา 3 เดือนในวันแรก ความสนุกได้ลากพาเขาทำงานอยู่ตรงนี้นานถึง 7 ปี
ความสนุกในการติดตามถ่ายชีวิตคนๆ หนึ่งนานถึง 7 ปีคืออะไร?
“ผมเริ่มงานกับคุณอภิสิทธิ์ตอนอายุ 28 รู้สึกว่าตัวเองยังวัยรุ่นอยู่ ได้ไปทำงานกับผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่หลายท่านที่ได้เจอก็เหมือนสอนเรา”
แอ๊ดบอกว่านี่คือช่วงชีวิตที่เขาจดจำได้ถึงทุกวันนี้ เพราะมีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศ และอยู่ในการประชุมที่สำคัญกับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งไทยและเทศ รวมถึงได้เรียนรู้มารยาทและแนวคิดต่างๆ จากบุคคลชั้นนำ
ส่วนการถ่ายภาพ โจทย์คือการบันทึกภาพเพื่อนำไปลงเว็บไซต์ของรัฐบาล (www.thaigov.go.th) และเฟซบุ๊ค
แต่การถ่ายภาพคนๆ เดียวตลอด 7 ปี ไม่เบื่อเหรอ?
“ถามว่าเซ็งบ้างไหม มันมีอยู่แล้ว ทุกคน เหมือนคนทำงานประจำ แต่ทำยังไง เราก็ต้องหาวิธีทำยังไงให้ตัวเองรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ดูหนัง ฟังเพลง สังสรรค์ พักผ่อน เดินทาง มันช่วยได้
ส่วนเรื่องการถ่ายภาพ “เราไม่อยากให้ภาพมันน่าเบื่อ เลยพยายามถ่ายคุณอภิสิทธิ์ในมุมที่คนไม่เคยเห็น แอบถ่าย นอนถ่าย ไปซ่อนตัว” เรียกว่าทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ภาพที่ออกมาไม่เหมือนเดิมๆ
“สมมติมี 20 รูป ผมมีให้ 1 รูปที่เห็นหน้าชัดๆ เอาใจแฟนคลับ แต่ที่เหลืออาจจะเป็นติ่งหู หัว ผม แขน หรือมุมไกลๆ ให้ภาพรวมๆ ที่เป็นซีรีส์เล่าเรื่องว่าเขาทำอะไรบ้าง
“ดีกว่าแบบ…หล่อจังเลย เฮ้ย ไม่ใช่แล้ว”
4.
โอกาสเดินเข้ามาหาแอ๊ดอีกครั้ง เมื่อ ปิงปอง-นิติพัฒน์ สุขสวย ที่ขณะนั้นเป็นผู้บริหารเครืออะเดย์ โทรมาชวนแอ๊ดไปเป็นช่างภาพสื่อออนไลน์ชื่อ The Momentum ที่เขากำลังจะก่อตั้ง
“อยากได้ภาพแบบมึง” คือเงื่อนไขที่นิติพัฒน์ยื่นให้เขา
แอ๊ดตอบตกลงรับความท้าทายครั้งใหม่ งานนี้ต่างออกไปจากงานเดิม เพราะการทำงานกับสื่อที่เรียกตัวเองว่า ‘สำนักข่าวออนไลน์’ ต้องทำงานร่วมกับนักเขียน
จากเดิมที่นึกถึงแค่ ‘ภาพ’ แอ๊ดบอกเขาต้องคิดถึง ‘เรื่อง’ ของเพื่อนในทีมด้วย
“เราควรจะให้ภาพส่งเสริมบทความหรือว่าสอดคล้องกัน ไม่ใช่แบบว่าภาพมันต้องดีมากจนคนไม่สนใจบทความ ซึ่งไม่ใช่”
การเรียนรู้ดูจะอยู่ในนิสัยของเขา เพราะหลังจากอุบัติเหตุทางธุรกิจระหว่างผู้บริหารเครืออะเดย์และนายทุน จนเกิดเหตุการณ์ ‘แพแตก’ ของทีมงานในช่วงเวลานั้น ผู้บริหาร พนักงานเก่าบางส่วน และทีมงาน The Momentum ยกทีมออกไปตั้งบริษัทใหม่ชื่อ The Standard แอ๊ดก็ตามออกไปอยู่บริษัทใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจออกมาเป็นช่างภาพอิสระอีกครั้ง
เป็นช่างภาพอิสระที่รับงานถ่ายหลากหลายประเภท แต่ทุกงานที่เข้ามา ล้วนสะดุดตาจากลายเซ็นของเขา และมักจะมีประโยคคล้ายๆ กันว่า
“อยากได้ภาพแบบมึง”
5.
‘ภาพแบบมึง’ มาจากไหน?
จากการพูดคุย เราคิดว่า แอ๊ดสร้างสไตล์การภาพถ่ายของเขาจาก 2 สิ่ง คือความตั้งใจและความจริงใจ
ความตั้งใจ ไม่ยาก ถ้ารักในงานที่ทำ เราย่อมอยากทำงานทุกชิ้นให้ดี
แอ๊ดบอกว่า เขาจะศึกษาก่อนว่า ตัวเขาอยากพูดถึงเรื่องอะไร ภาพรวมคืออะไร
“ตรงนี้อาจมาจากวิชาสถาปัตย์มั้งครับ ที่มันจะต้องมีรีเสิร์จก่อนทำงาน” แต่ในชีวิตจริง แอ๊ดยอมรับว่า แต่ละโปรเจคมีเวลาไม่เท่ากัน บางโปรเจคอาจไม่มีเวลารีเสิร์จเลยก็ได้
ถ้าต้องทำงานที่ไม่เวลาทำการบ้านเลย ทำยังไง?
“เอาประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิตไปใช้ตรงนั้นครับ ทำในเวลาที่จำกัด แล้วก็ทำให้ได้ ช่างภาพเดี๋ยวนี้มันมีเส้นตายบางอย่าง ก็ต้องกลั่นออกมาให้ดีที่สุด ณ นาทีนั้น
“มันไม่มีอะไรดีที่สุด แต่สุดท้ายมันดีที่สุดในเวลานั้น อันนี้คือคำที่ พี่เอ๋-นิ้วกลม บอกกับเรา พี่เอ๋บอกว่างานที่เขาทำ มันคือสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้น เวลานั้นเขาคิดแบบนั้น เขาไม่โกหกตัวเอง
“เรารู้สึกว่าทำอะไรก็ได้ที่ไม่โกหกตัวเอง”
ความจริงใจในงานคือสิ่งสำคัญ แอ๊ดไม่ได้ตรัสรู้เอง แต่เขาเคยฝืนแล้วรู้ว่าไม่คุ้ม
“ผมเคยทำแล้วมันไม่แฮปปี้ …เงินก็อยากได้ แต่ถ้ามันไม่เหมาะกับเราก็อย่าเลย เอาชื่อเราไปทำไปเสีย”
แอ๊ดบอกเขาไม่ได้ไร้เดียงสาถึงขั้นจะเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน “ถ้าอันนั้นคืองานก็คืองาน ดีลกันไปเรื่องงาน หรือเป็นงานที่จะแสดงตัวตน อันนั้นเราก็ต้องทำในสิ่งที่ตั้งใจ”
แต่สุดท้ายไม่ว่างานที่ทำจะเป็นแบบไหน แอ๊ดบอกว่างานนั้นต้องทำให้เรามีรอยยิ้ม
และรู้สึกเคารพตัวเอง
6.
ตลอดชีวิตบนเส้นทางอาชีพช่างภาพ คนอื่นมองแอ๊ดอย่างไร ไม่รู้ แต่หลังพูดคุยกว่าสามชั่วโมง เรารู้สึกว่าเขาเป็นช่างภาพที่มีลักษณะคล้ายกับภาพที่เขาถ่าย
คือชัดในความไม่ชัด
แอ๊ดไม่เคยจำกัดหรือตีกรอบพื้นที่ในการทำงานของตัวเอง และไม่ได้สนใจว่าใครจะนิยามเขาว่าเป็นช่างภาพสไตล์ไหน
“จะเรียกอะไรก็ได้ ผมขี้เกียจจะหานิยามแล้วล่ะ บอกไปว่าผมเป็นอะไรก็ได้ครับ ได้หมด
“แต่เราตอบตัวเองได้ว่า เราชอบถ่ายภาพบุคคลที่อยู่ในสถานที่”
เขาชัดในสิ่งที่คิดและทำ แต่ขณะเดียวกัน เขายินดีจะรับถ่ายงานทุกแบบ ไม่ว่าจะภาพข่าวการเมือง ดารา แฟชั่น ชาวบ้าน งานแต่งงาน หรืออะไรก็ตาม
“ไม่มีอะไรไร้ความหมาย หากเราเรียนรู้ได้จากมัน” แอ๊ดบอกคติที่เขาพกไว้ประจำใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เจออะไร ทำอะไร เขาจะพยายามหยิบจับ หาแง่มุมเรียนรู้ เพื่อเอามาพัฒนาและปรับใช้กับตัวเอง
ทุกวันนี้ แอ๊ดยังคงเป็นช่างภาพที่มีงานถ่ายภาพเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ขาด ขอบเขตการทำงานของเขาดูจะกว้างไกลมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวันแรกๆ ในชีวิตช่างภาพ
งานจากสื่อสำนักเล็กและใหญ่ จากแบรนด์ องค์กร หน่วยงาน เพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ต่างเดินมาเคาะประตูเรียกใช้
ชีวิตของแอ๊ดเดินทางมาไกล เหมือนกับภาพถ่ายของเขา ภาพที่มักมีความไม่ชัดในความชัด แต่กลับดูสวยและมีเสน่ห์
หรือชีวิตที่สวยงามควรจะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน คือชัดในบางอย่าง และไม่ชัดบ้างในบางสิ่ง
สมมติฐานนี้เกือบถูกแต่ไม่ทั้งหมด เพราะสำหรับแอ๊ด ภาพที่สวยนอกจากความชัดไม่ชัด หรือการจัดองค์ประกอบที่ถูกต้อง คือการมีความหมาย
“รูปไม่จำเป็นต้องสวยขนาดนั้น แต่มันควรจะมีความหมาย มีเรื่องราว ว่าทำไมเราถึงถ่ายแบบนี้”
แม้แอ๊ดจะพูดถึงภาพถ่าย แต่คำพูดของเขากลับชวนเราให้นึกถึงชีวิต.