รู้จัก ‘ทิพย์รส’ ไหม?
ใครตอบว่า “รู้จัก” เราขอเดาว่า ถ้าไม่เกิดและเติบโตในย่านเตาปูน
ก็ต้องเคยใช้ชีวิตอยู่แถวนั้น
เพราะ ทิพย์รส คือร้านไอศกรีมไทยระดับตำนานย่านเตาปูน ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่หนาแน่นไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยของกินรสเลิศ
ปัจจุบันร้านไอศกรีมแห่งนี้ที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2513 ยังคงเสิร์ฟไอศกรีมที่มีรสชาติอันแสนวิเศษสมชื่อร้านให้คนย่านนี้ได้คลายร้อนมาตลอดห้าสิบปี
คำถามคือ ทำไมไอศกรีมไทยๆ แบบทิพย์รสถึงยังคงอยู่และไม่หายไป
ในฐานะคนชอบกินและสนใจค้นหาคำตอบที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความอร่อย เราจึงจัดการชิม (จนอิ่ม) และสอบถามข้อมูลจากเจ้าของร้าน ทายาทรุ่นที่ 3 จนได้พบคำตอบ ซึ่งพอสรุปได้ 3 ข้อ ดังนี้
1. วัตถุดิบแท้จากธรรมชาติ
‘เนื้อละมุน รสเข้มข้น’ ถือเป็นเสน่ห์ของไอศกรีมทิพย์รส ที่ไม่มีใครเหมือน ซึ่งเกิดจากความตั้งใจที่จะทำไอศกรีมอย่างซื่อตรงและเรียบง่าย ด้วยการเลือกใช้ ‘ของดี’ มาทำไอศกรีม
อย่างไอศกรีมกะทิ ก็ใช้กะทิคั้นสดจากมะพร้าวทับสะแก ที่ขึ้นชื่อเรื่องความหวาน ความหอม และความมัน
หรือไอศกรีมทุเรียน จะคัดพิเศษเฉพาะทุเรียนหมอนทองที่สุกได้ที่ ซึ่งกำลังส่งกลิ่นและออกรสกำลังดี
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/06/031-3.jpg)
2. ผลิตตามออเดอร์แบบโฮมเมด
ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า ทุกๆ ครั้งที่ทานไอศกรีม จะพบกับความอร่อยของไอศกรีมที่สดใหม่อยู่เสมอ
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/06/025-2.jpg)
3. ให้เยอะจุใจ สมราคา
ที่สำคัญคือ ร้านไอศกรีมแห่งนี้ไม่เคยหวงปริมาณสักนิด ประกอบกับเครื่องเคียงไทยนานาชนิดที่คัดสรรมาให้เลือกอย่างจุใจ ทั้งลูกชิด เยลลี่แดง ข้าวเหนียวมูน มะม่วงเชื่อม มะยมเชื่อม เม็ดบัวเชื่อม ซุปข้าวโพด และไข่แดงสดแช่แข็งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
10 เมนูใหม่ที่ต่อยอดจากรสชาติระดับตำนาน
พ.ศ. 2562 ทิพย์รส ภายใต้การดูแลของรุ่นที่ 3 ตัดสินใจพาร้านไอศกรีมที่บุกเบิกโดยรุ่นอากงก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ด้วยการสร้างสรรค์มรดกทางรสชาติให้ร่วมสมัย ใส่ความโบราณผสมกับวิถีชีวิตในโลกยุคใหม่ ผสานความเป็นไทยเข้ากับนานาชาติ จนได้ 10 เมนูไอศกรีมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
โลกเปลี่ยน ไอศกรีมปรับ แต่ความอร่อยยังคงเดิม
สองเรื่องแรก ประสบการณ์ที่ผ่านมาและภาพที่เห็นต่อไปนี้คงบอกคุณได้ แต่เรื่องสุดท้าย จะรู้ได้ต้องลองเอง
วิจิตรไข่ฝอย หมี่กรอบส้มซ่า
เมนูที่ผสมผสานความอร่อยไว้อย่างลงตัว กลิ่นหอมของไข่ฝอยหอมกรุ่น โรยอยู่บนไอศกรีมกะทิรวมมิตรทีเด็ดของทางร้าน รายล้อมด้วยหมี่กรอบส้มซ่ารสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน ที่นิยมทานกันอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5
หอมหมื่นไมล์
กลิ่นหอมของขนมปังปิ้งเนยสดร้อนๆ เสิร์ฟพร้อมกับซอสใบเตยเมเปิ้ลที่ส่งกลิ่นหอมของใบเตยชวนให้ลิ้มลอง และทานกับไอศกรีมนมสดรสชาติละมุนลิ้น
จตุมงคลจารึก
จตุมงคลจารึก เล่าเรื่องราวความเป็นไทยผ่านขนมไทย 4 ชนิดแรก ประกอบไปด้วย ไข่กบ นกปล่อย บัวลอย อ้ายตื้อ ที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ถูกบันทึกไว้ในศิลาจารึก และนิยมเสิร์ฟในงานเลี้ยงประเพณีโบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกรวมว่า กินสี่ถ้วย หรือ ประเพณีสี่ถ้วย
ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม 2 ได้อธิบายถึง ขนม 4 ชนิดนี้ไว้ว่า…
- ไข่กบ คือ สาคู หรือ เมล็ดแมงลัก
- นกปล่อย คือ ลอดช่อง
- มะลิลอย หรือ บัวลอย คือ ข้าวตอก
- อ้ายตื้อ คือ ข้าวเหนียว
โดยจะวางไว้ 4 ถ้วย และมีน้ำกะทิหวานๆ ใส่ชามอยู่ตรงกลาง ในอดีตจะเรียกน้ำกะทินี้ว่า ‘น้ำกระสาย’
น้ำเต้าหู้โบราณ
รสชาติสุดคลาสสิคของน้ำเต้าหู้ ทานคู่กับไอศกรีมงาดำ และเครื่องเคียงหลากหลายชนิด อย่าง แปะก๊วย วุ้น สาคู ลูกเดือย ถั่วแดง เม็ดบัว และโก๋กรอบ แล้วสร้างสรรค์ให้เมนูสุดคลาสสิกไม่เหมือนใคร ด้วยการเพิ่มแผ่นเต้าหู้ทอด
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/06/ถังทอง.jpg)
ถังทอง
ปลุกขนมโบราณอย่าง ‘ถังแตก’ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบใหม่ ด้วยการทานคู่กับไอศกรีมกะทิรวมมิตร โรยด้วยมะพร้าวอ่อน เกล็ดน้ำตา และงาขาวงาดำคั่ว
ปลากริมไข่เต่า กะทิหอม
ปลากริมต้มน้ำตาลมะพร้าว ไข่เต่าต้มน้ำกะทิ ทานคู่กับไอศกรีมเผือกและเผือกทอด ให้รสชาติกลมกล่อมหวาน มัน เค็มอย่างลงตัว
ขนมปลากริมไข่เต่า หรือ ขนมแชงม้า เป็นขนมโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 สำหรับ ‘ขนมปลากริม’ และ ‘ขนมไข่เต่า’ เป็นขนมคนละชนิดกัน
ขนมปลากริม มีลักษณะเป็น “ปลากริม” ที่เป็นปลาจริงๆ มีทั้งรสเค็มและหวาน นิยมทำเลี้ยงในงานศพในจังหวัดตราด โดยจะใช้เลี้ยงแขกในคืนสุดท้ายของงานศพผู้สูงอายุ
ส่วน ขนมไข่เต่า ในอดีตจะมีเพียงสีเดียวคือ สีขาว ที่ได้จากแป้งขนม
แต่ด้วยความที่คนนิยมนำขนมทั้งสองชนิดนี้มาทานรวมกัน จึงเรียกว่า ขนมปลากริมไข่เต่า
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/06/แตงโม.jpg)
แตงโมปลาแห้ง สังขยาเคี่ยว
ถ้านึกถึง เมนูคลายร้อนของไทยในอดีต ก็คงจะหนีไม่พ้น แตงโมปลาแห้ง เพราะแตงโมเป็นผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีแร่ธาตุที่จำเป็นอยู่มากมาย ส่วนปลาแห้งนั้นก็คือ ปลาที่คั่วจนเหลือง คลุกเคล้ากับน้ำตาลทรายและเกลือ โรยหอมแดงเจียวกรอบ เช่นเดียวกับปลาแห้งโรยหน้าข้าวเหนียวมูน
จากแตงโมปลาแห้งสูตรโบราณ ทิพย์รสได้สร้างสรรค์เมนูขึ้นใหม่ โดยนำ ข้าวเหนียวแตงโมปลาแห้งมาทานคู่กับไอศกรีมนมสด เพื่อเพิ่มความหวานมัน และเพิ่มความหอมด้วยสังขยาเคี่ยวสูตรเฉพาะของทางร้าน
รสแห่งสยาม
อาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง ‘ต้มยำ’ สู่เมนูไอศกรีมรสชาติแปลกใหม่น่าลิ้มลอง ความเผ็ดร้อนของพริกหอมทอดกรอบ เสิร์ฟมาพร้อมกับเยลลี่ตะไคร้ใบเตยหอมที่จะช่วยเพิ่มความสดชื่น และเมื่อทานคู่กับไอศกรีมนมสดจะขับให้รสชาติของเมนูนี้ออกรสยิ่งขึ้น
บานาน่า ไทยสไตล์
เรื่องกล้วยๆ ที่ไม่ได้มีแค่กล้วย… นำทัพโดยไอศกรีมวนิลลาหอมหวาน ทานคู่กับ ‘กล้วยตาก’ หนุบหนับ ‘กล้วยฉาบ’ กรุบกรอบ และราดด้วย ‘น้ำกล้วยปิ้ง’ ทำให้เกิดความซับซ้อนของรสสัมผัสหลากหลายมิติ
![](https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/06/เหินห่าวซือ.jpg)
เหินห่าวซือ
เหินห่าวซือ เมนูขนมไทยเชื้อสายจีน ที่มีความหมายว่า “อร่อยมาก”
เมนูนี้เป็นการผสมผสานไอศกรีมชาไทยสูตรต้นตำรับที่ส่งกลิ่นหอมละมุนจากใบชา กับซอสไข่เค็มสูตรเฉพาะ และขนมยิ้มเสน่ห์ ขนมไทยเชื้อสายจีนโบราณที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน
นี่คือ 10 เมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ โดยที่ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ดั้งเดิม
เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และก้าวต่อไปสู่อนาคตของ ทิพย์รส ร้านไอศกรีมไทยที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513.
ร้านไอศกรีมทิพย์รส
ที่ตั้ง: ซอย กรุงเทพ-นนทบุรี ๒ (เตาปูน)
เปิด: ทุกวัน เวลา 08:00 – 20:00 น.
ติดต่อ: 02-585-0415, 02-585-0209 หรือ www.facebook.com/thipparoticecream
แผนที่:
อ้างอิง:
- Museumthailand. ขนมสี่ถ้วย กินสี่ถ้วย : ประเพณีแต่งงานแบบโบราณของชาวสุโขทัย. https://bit.ly/2JZbXWl
- อารยา ถิรมงคลจิต. ของหวานชื่อนี้ก็มีด้วย(๔ กันยายน ๒๕๕๖). https://bit.ly/2K4uP6f
- ศิลปวัฒนธรรม. ขนมชาววัง ที่คนในวังไม่เคยกิน. https://bit.ly/2QXvAyw
- สีวลี ตรีวิศวเวทย์. อาหารต้านร้อน ปลาแห้งแตงโม. https://bit.ly/2ItTOwz