w©rld

“แต่ละเมืองควรมีป่าอยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เรามีอยู่แค่ 40 และเป็นยางพาราไปแล้ว 15”

ปรีชา รอดเพชร หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย จังหวัดน่าน เล่าให้ฟัง เมื่อครั้งเราไปเยือนที่นั่น

ปี พ.ศ. 2551 จังหวัดน่านเคยมีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ถึง 71 เปอร์เซ็นต์ แต่ระยะเวลาเพียง 5 ปีให้หลัง เมื่อวิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไป เกษตรกรในท้องถิ่นต้องถางป่าทำเป็นไร่ข้าวโพดและยางพาราจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจ

จากภูเขาเขียวขจี เต็มไปด้วยพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แห้งแล้งไปจนสุดลูกหูลูกลูกตา  

เด็ดดอกไม้ยังสะเทือนถึงดวงดาว 

ตัดต้นไม้…มีหรือจะไม่สะเทือนถึงผู้คน

world_forest
ต้นน้ำสบสาย (Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

ในหนังสือวิชาภูมิศาสตร์ที่เราเรียนกันตั้งแต่ชั้นประถมบอกว่า ‘ปิง วัง ยม น่าน เป็นชื่อแม่น้ำ 4 สายหลักที่ไหลมาบรรจบกันที่เจ้าพระยา’ แต่อาจไม่ได้ย้ำว่าเกือบครึ่งของปริมาณน้ำทั้งหมด (ร้อยละ 47) มาจาก ‘แม่น้ำน่าน’

world_forest
พ่อค้าเข็นรถขายของหลังจากที่ฝนตกหนัก กรกฏาคม 2019 (Romeo Gacad / AFP)

นั่นเป็นเหตุผลว่าถ้าต้นไม้บนภูเขาน่านถูกโค่น ป่าต้นน้ำถูกทำลายและปนเปื้อนสารเคมีจากยาฆ่าแมลง เราจะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ตั้งแต่เกษตรกร คนในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งผู้คนที่อาจกำลังเปิดฝักบัวอาบน้ำอย่างสบายใจอยู่ที่ไหนสักแห่งในกรุงเทพฯ

world_forest
ชายคนหนึ่งกำลังกินข้าวโพดขณะลุยน้ำท่วม พฤศจิกายน 2011 (Photo : Pornchai Kittiwongsakul / AFP)

 

‘น้ำไม่ได้พึ่งเรือ แต่ต้องพึ่งป่า’

ป่าเป็นเหมือนสำลีที่คอยโอบอุ้มน้ำเอาไว้ เมื่อฝนตกลงมาต้นไม้จะใช้รากแก้วอันแข็งแรงที่หยั่งลึกลงไปในดินซับน้ำฝนกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกักเก็บไว้ใช้เมื่อหน้าร้อนมาเยือน ต้นไม้จะคายน้ำออกมาเลี้ยงลำต้น ทำให้ป่ายังคงชุ่มชื้นแม้ไร้ฝน เกษตรกรจะมีน้ำใช้สำหรับทำเษตรกรรมตลอดทั้งปี 

world_forest
ป่าด้านหลังหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย (Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

แต่หากป่าไร้ต้นไม้ ดินเสื่อมสภาพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ไม่มีรากแก้วไว้อุ้มน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคงน่ากลัว เพราะไม่มีต้นไม้ไว้คอยซับน้ำฝนที่ตกมาอย่างไม่หยุดหย่อน น้ำจะหลากและกัดเซาะหน้าดิน จนอาจเกิดดินถล่มลงได้ในบางพื้นที่

world_forest
ชาวนากำลังเดินท่ามกลางทุ่งนาอันแห้งแล้ง กรกฏาคม 2015 (Photo : Nicolas Asfour / AFP)

ฝนที่ตกลงมาทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำและตัวเมือง หากระบายไม่ทันจะเกิดปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่หน้าแล้ง ก็จะแล้งจัดจนไม่มีน้ำใช้ เพราะไม่มีต้นไม้ไว้คายน้ำและให้ความชุ่มชื้น

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ‘น้ำจึงต้องพึ่งป่า’ และ ทำไมพวกเราต้องรักษาป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์  

 

พยาบาลผืนป่า

ป่าก็เหมือนกับคนที่ต้องการเวลาพักผ่อน หากไม่สบายก็ต้องใช้เวลากว่าจะดีขึ้น ถ้าป่าป่วยหนักอาจต้องส่งให้หมอรักษา ทั้งนี้ มีเกร็ดน่ารู้ 2 เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของป่าที่หลายคนอาจไม่รู้

1.ป่าฟื้นฟูตัวเองได้ 

คนทั่วไปอาจไม่รู้ว่า ป่าสามารถฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ เพียงแค่ต้องใช้เวลา ปล่อยให้พืชพรรณเติบโตขึ้นตามธรรมชาติโดยที่ไม่มีใครเข้าไปยุ่มย่าม 

world_forest
ต้นกล้วยป่าที่มักขึ้นริมน้ำแสดงถึงความชุ่มชืนของป่า (Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

อย่างมากที่สุด คนเราทำได้เพียงคุ้มครองให้ต้นไม้เติบโตอย่างปลอดภัย คอยกำจัดวัชพืช หรือทำแนวกันไฟ ไม่นานป่าผืนนั้นจะเยียวยาตัวเองให้กลับมาเขียวชอุ่ม ระบบนิเวศน์ก็จะสมบูรณ์อีกครั้ง 

world_forest
(Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

 

2.ป่าบอบช้ำจนต้องยื่นมือเข้าช่วย

หากป่าถูกทำลายจนเสียหายมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ จนแทบไม่เหลือต้นไม้ดั้งเดิมเลย เราต้องยื่นมือเข้าไปช่วยพยาบาลโดยการปลูกต้นไม้ทดแทน

โดยต้นที่ปลูกต้องเป็น ‘ต้นไม้เบิกนำ’ หรือพรรณไม้ดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ซึ่งเติบโตได้ง่ายในสภาพอากาศและดินอันเหมาะสมของป่าแต่ละพื้นที่ เมื่อเติบโตก็จะแผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมให้ผืนดินร่มรื่น พืชต้นเล็กต้นน้อยชนิดอื่นๆ ก็พร้อมจะเบ่งบานขึ้นตามมา เมื่อป่าสมบูรณ์ ต้นน้ำก็สมบูรณ์

world_forest
(Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

 

พยาบาลลุ่มน้ำน่าน ฉบับชุมชน

world_forest
แม่ทัพกุล กำลังอธิบายขั้นตอนการทำแทงก์น้ำไม้ไผ่ (Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

หลังจากผืนป่าน่านกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ผู้คนในท้องถิ่นก็เริ่มเป็นกังวลและพะวงกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หนึ่งในนั้นคือ กุล ปัญญาวงศ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘แม่ทัพกุล’ ผู้เกษียณตัวเองจากการเป็นคนปลายน้ำ กลับมาดูแลต้นน้ำที่บ้านเกิด 

กุลเดินอย่างคล่องแคล่วพาเราลัดเลาะไปตามทางเล็กๆ และคอยแนะนำให้เรารู้จักกับพืชชนิดต่างๆ รอบข้าง เธอเล่าว่าที่นี่เคยเป็นสวนยางพารา นอกจากจะไร้ต้นไม้ชนิดอื่นแล้ว ดินยังป่วยและเต็มไปด้วยสารเคมี 

world_forest
ทุ่งนาของชาวบ้านระหว่างทางไปศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ (Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

กุลจึงชักชวนคนในละแวกมาเยียวยาผืนป่าและต้นน้ำด้วย ‘กสิกรรมธรรมชาติ’ หรือการทำเกษตรแบบยั่งยืนให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้ ทำ ‘โคกหนองนาโมเดล’ หรือการจัดการน้ำในพื้นที่ให้แต่ละครัวเรือนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยจัดสรรพื้นที่รอบๆ ให้เป็นสัดส่วน เช่น การปลูกป่า 5 ระดับ ขุดหนองเลี้ยงปลา ขุดคลองไส้ไก่เพื่อกระจายความชุ่มชื้น ปลูกผักตามหัวคันนา ทำแท็งก์น้ำจากไม้ไผ่ และการทำระบบกรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน

world_forest
‘หนองปลาโตไว’ ใช้ไม่ไผ่กั้นและโยนเศษใบไผ่ลงไป เป็นแหล่งอนุบาลและที่หลบภัยของปลาตัวเล็ก (Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

นอกจากการทำกสิกรรมธรรมชาติจะทำให้แต่ละชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้แทนการรอค่าตอบแทนจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังทำให้ดินคุณภาพดี และระบบนิเวศน์สมบูรณ์ 

world_forest
จุดก่อสร้างแทงก์น้ำไม้ไผ่ (Photo : ธัญลักษณ์ ก่อวณิชกุล)

หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการฟื้นป่าและปรุงดิน ในแต่ละปีที่ผ่านไป โคกหนองนาค่อยๆ ให้ผลผลิตที่น่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นปลาตัวใหญ่จากหนองน้ำ ข้าวเม็ดงามจากท้องนา รวมถึงผักสวนครัวที่ผลิดอกออกผลกันตามฤดูกาลเพราะได้ดินดี

ยิ่งไปกว่านั้นผืนป่ากำลังจะกลับมาห่มจนเต็มภูเขาอีกครั้ง ทำให้ต้นน้ำน่านอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงตั้งแต่คนในท้องถิ่นจนถึงคนในเมืองหลวง  

 

อ้างอิง