หากมีอายุนานถึงจุดหนึ่ง จะรู้ว่าความผันผวนคือสิ่งที่อยู่คู่กับธุรกิจและชีวิต
โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่ความเปลี่ยนแปลงเดินมาเคาะประตูได้ทุกนาที จนบางครั้งการเคาะประตูครั้งหนึ่ง อาจหมายถึงการล้มหายของธุรกิจจำนวนมาก
แต่ถึงอย่างนั้น กลับมีเจ้าของธุรกิจไซส์ SMEs จำนวนหนึ่งสามารถหาวิธีโต้คลื่นลม สร้างตัวตน สร้างธุรกิจใหม่จากมรสุมความเปลี่ยนแปลง
Co-Founder บริษัท PRO-toys จำกัด ผู้เปลี่ยนบริษัทโปรดักชั่นด้านการถ่ายทำ สู่โมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมถ่ายภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ (คลิก!)
CEO บริษัท ฮับบา จำกัด ผู้เปลี่ยนนิยาม โคเวิร์กกิ้ง สเปซ แบบเดิมๆ ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ (คลิก!)
Founder บริษัท Rock and Roll จำกัด นักออกแบบแสงสีแบบมัลติมีเดีย ที่ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง และชอบทดลองหาความแปลกใหม่เพื่อให้คนร้อง “ว้าว” จนคว้างานใหญ่ระดับประเทศ (คลิก!)
common เดินทางไปพูดคุยผู้ประกอบการ 3 คนนี้ ที่สร้างตัวตนและวิธีคิดใหม่จากความผันผวนในโลกธุรกิจ ที่มาจากวิกฤตและวิธีคิดนอกตำรา
เพื่อหาคำตอบว่า พวกเขาทำได้อย่างไร?
1
สร้างธุรกิจ ถ่ายภาพ-วิดีโอ ด้วยวิธีคิดแบบนวัตกร
บุญชัย วงศ์บวรเกียรติ Co-Founder บริษัท PRO-toys จำกัด
“เมื่อเราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้ แล้วเราไม่กลัว เราจะเห็นโอกาสในความเปลี่ยนแปลง”
ในวันที่ใครๆ ก็ถ่ายภาพและวิดีโอได้ ธุรกิจที่เคยทำกำไรอย่างโปรดักชั่นรับจ้างถ่ายวิดีโอต่างล้มหาย
แต่ไม่ใช่กับ PRO–toys บริษัทขนาดเล็ก มีพนักงานเพียงสิบคน สัญชาติไทย ที่หันหน้าโต้คลื่นดิสรัปชั่น ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการถ่ายภาพและวิดีโอขึ้นมาด้วยตัวเอง
“ถ้าเทคโนโลยีทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทำไมเราไม่โหนกระแสไปกับเทคโนโลยี”
บุญชัย วงศ์บวรเกียรติ หรือ “พี่เบี้ยว” Co-Founder บริษัท PRO–toys จำกัด บอกว่านี่คือวิธีคิดที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมการถ่ายทำเองแทนการเช่าซื้อจากต่างประเทศ
โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพ Bullet Time แบบในหนังเรื่อง The Matrix ก่อนต่อยอดและแตกไลน์ไปสู่เทคนิคถ่ายทำต่างๆ นานา ที่เขากล้าพูดว่า “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” เพราะเขาและทีมพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหมด ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ยันเมนบอร์ด จนทำให้สามารถสร้างเทคนิคการถ่ายทำที่ ‘ทำได้มากกว่า’ และ ‘ต้นทุนต่ำกว่า’ เจ้าอื่นในตลาด ทั้งจากอเมริกา ยุโรป และเอเชีย จนมีงานจ้างไปถ่าย ‘ช็อตพิเศษ’ ทั้งในและต่างประเทศ
จากคนที่ทำอีเวนท์และโปรดักชั่นถ่ายทำมาทั้งชีวิต พี่เบี้ยวเปลี่ยนบริษัทโปรดักชั่นธรรมดาให้กลายเป็นบริษัทโปรดักชั่นที่สร้างนวัตกรรมและมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้อย่างไร
เขาตอบว่า ทั้งหมดมาจาก ‘วิธีคิด’
ถ้ามีปัญหา มันคือโอกาส
อาจเรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นของ PRO–toys และการพัฒนานวัตกรรมโดยมีภาค R&D เป็นของตัวเอง เกิดจากปัญหาที่อยู่ในใจของคนทำโปรดักชั่นอย่างเขามาเนิ่นนาน
“ผมเสียรู้เมืองนอกมาเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการซื้ออุปกรณ์เอฟเฟกต์ ตอนนั้นซื้ออุปกรณ์ถ่ายทำ 3 มิติ พอเอามาปุ๊บ โดนราคาสามแสน ทั้งที่มีแค่โครงสร้างยึดจับกล้อง กระจกหนึ่งบาน แล้วก็ใช้ยากด้วย เราคิดว่าคนไทยน่าจะทำได้ จากนั้นเราก็พัฒนาในโมเดลของเรา แล้วทำให้ดีกว่า เพื่อใช้เป็นเซอร์วิสภายใน ตกตัวละ 8 หมื่น คุณภาพดีกว่า เซ็ตอัพเร็วกว่า เบากว่า จนในที่สุดเราเริ่มมั่นใจแล้วว่าเมืองนอกไม่ได้เจ๋งที่สุด”
คนอื่นก็ใช้กันมาได้ ทำไมต้องทำ?
“เราไม่พอใจ คุณเชื่อไหม อะไรก็ตามถ้ามันมีปัญหา มันคือโอกาส ผมพยายามหาปัญหาเยอะๆ เพื่อผมจะได้เห็นโอกาสในปัญหา”
เช่นเดียวกับการเช่าซื้ออุปกรณ์เพื่อถ่ายทำเทคนิค Bullet Time ที่เขาก็เจอปัญหาไม่น้อยกว่ากัน “เราใช้ของเจ้านั้นเจ้านี้ ปัญหาเยอะมาก เอาใหม่ ซื้อกล้องแคนนอน (Canon) มาสะสมไว้ เพื่อจะลองต่อจริงๆ ว่าเราทำได้ไหม แล้วเราก็จดปัญหาที่เจอจากใช้ของนอก แล้วก็ท้าทายตัวเอง”
หลังจากเจอนักพัฒนาที่ใช่ และใช้เวลาอีกครึ่งปีพัฒนาระบบ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ บวกกับการสนับสนุนของแคนนอนที่ให้เข้าถึง SDK (ชุดพัฒนาด้านโปรแกรมเมอร์) ทำให้ทีมพัฒนาควบคุมและสื่อสารกับกล้องจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน จนในที่สุด PRO-toys สามารถสร้างเทคนิคการถ่ายทำ Bullet Time ได้ด้วยตัวเอง และจดสิทธิบัตรว่านี่คือนวัตกรรมของคนไทย
เรียนรู้จากลูกค้า ให้ลูกค้าสอนเรา
“เรามาถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ได้เกิดจากเราคิดเองนะ เกิดจากลูกค้าสอนเรา” พี่เบี้ยวบอกว่า หลายครั้งไอเดียเกิดจากสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
“ยกตัวอย่าง ดิ เอ็มโพเรียม เอาระบบถ่ายภาพเราไปตั้ง ทีนี้ระบบเราออกแบบมาเพื่อถ่ายโฆษณา ลูกค้าก็ถามว่า ‘คุณช่วยทำแบบนี้เป็นของอีเวนท์ พอมีนักท่องเที่ยวมา ให้เขาแชร์บนออนไลน์ได้ไหม’ อ้าว ซวยละ เราไม่เคยมีระบบนี้นี่หว่า…”
แต่ไม่มี ใช่ว่าจะมีไม่ได้ พี่เบี้ยวนำสิ่งที่ลูกค้าร้องขอมาพัฒนาระบบ Social Hub ของ PRO–toys โดยเฉพาะ เพื่อใช้เก็บภาพถ่าย และให้คนสามารถแชร์ภาพถ่ายเหล่านั้นได้ทันที
“ทุกคนมองว่า Photo Booth คือการถ่ายแล้วก็จบ… แต่พอเซลฟี่แล้วแชร์ เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันการตลาดชัดๆ นี่หว่า”
ข้อดีของการพัฒนาระบบ Social Hub ของตัวเองคือ ทุกครั้งที่มีคนถ่ายภาพ เขาสามารถเก็บข้อมูลของคนๆ นั้น นำไปต่อยอดสู่โมเดลธุรกิจใหม่ จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่ขายบริการ รับจ้างถ่ายทำ ไปสู่การทำแคมเปญการตลาด โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการเก็บดาต้า เช่น ถ่ายรูปแล้วได้คูปองโปรโมชั่น ขณะเดียวกันทางห้างสรรพสินค้าก็ได้ข้อมูลลูกค้าในการทำ CRM
หรือในกรณีของการท่องเที่ยว “แต่ก่อน ททท. ไม่เคยได้ข้อมูลนักท่องเที่ยวเลย แต่ถ้ามีสิ่งนี้ไปอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เขาจะมีข้อมูลนักท่องเที่ยวในประเทศเราทั้งหมด เวลาทำแคมเปญจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการพีอาร์ขนาดไหน แล้วที่สำคัญเป็นการไดเร็คกับกลุ่มท่องเที่ยวโดยตรง”
พอทำสำเร็จ นอกจากได้สิ่งใหม่ เขายังหาราคาเพิ่มได้จากบริการที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ยอมรับความจริงและความเปลี่ยนแปลง
กว่าจะมาถึงวันนี้ ในฐานะคนที่ทำธุรกิจโปรดักชั่นถ่ายทำมาเกือบสามสิบปี ตั้งแต่ยุคที่การถ่ายภาพและวิดีโอเป็นเรื่องเข้าถึงยาก ราคาสูง จนถึงยุคที่ใครๆ ก็ถ่ายรูปได้ พี่เบี้ยวบอกว่าในช่วงหนึ่ง เขาปิดตัวเอง ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง
“คุณเคยเหลิงป่ะ ธุรกิจคอนเทนท์เมื่อก่อนโคตรเหลิงเลย ไม่มีใครทำเป็น วิดีโอตัวหนึ่ง ตัวละเท่าไหร่ หลักแสนถึงหลักล้าน หลักแสนนี่หมายถึงเจ็ดแสนอัพนะ”
แต่เมื่อถึงวันที่การถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องลึกลับอีกต่อไป รายได้จากธุรกิจเริ่มลดลง สถานการณ์ที่บีบคั้นบังคับให้เขาต้องหันมาสบตากับความจริง เพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่
“ตอนนั้นเราโทษคนอื่นหมดเลยนะ แต่พอมองคนอื่นในระดับเดียวกันที่ยังอยู่ได้ เค้าไม่ได้โทษเหมือนเรานะ แต่เค้าทำ คำถามคือเค้าอยู่ได้ ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้
“สำหรับผม ธุรกิจจะดีไม่ดี สถานการณ์มันเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยหลักที่แท้จริงมันอยู่ที่วิธีคิดของคนทำธุรกิจต่างหาก
“ทำไมในยุคที่ดิสรัปชั่น ยังมีคนที่รวยเอาๆ ได้ เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับวิธีคิด ไม่ใช่อยู่กับสถานการณ์อย่างเดียว
“ฉะนั้นถ้าคุณอยู่กับสถานการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง แล้วเปลี่ยนมันเป็นโอกาสได้ มันน่าจะมีประโยชน์นะ”
2
เปลี่ยนนิยาม โคเวิร์คกิ้ง สเปซ ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์
ชาล เจริญพันธ์ CEO แห่ง บริษัท ฮับบา จำกัด
“การทำธุรกิจไม่ได้สวยหรู ถ้าเราไม่รักในสิ่งที่ทำไม่เกิน 1 ปี หรือ 2 ปี เราจะยอมแพ้”
ทุกวันนี้ ‘โคเวิร์คกิ้ง สเปซ’ (co-working space) กลายเป็นคำคุ้นหูและเป็นสถานที่คุ้นตา
แต่หากย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน ‘โคเวิร์คกิ้ง สเปซ’ เป็นคำแปลกใหม่
และ ฮับบา (Hubba) ถือเป็นที่แรกที่เรียกตัวเองว่า ‘โคเวิร์คกิ้ง สเปซ’ ในเมืองไทย
จากวันนั้นถึงวันนี้ ฮับบาผ่านทั้งช่วงเติบโตแบบก้าวกระโดด และวันที่ต้องคอยปรับตัวเมื่อธุรกิจนี้มีดีมานด์และซัพพลายไม่เท่ากัน แถมยังมีผู้เล่นจากลีกส์ใหญ่ระดับอินเตอร์ กระโดดเข้ามาเล่นในสนาม
แต่ ชาล เจริญพันธ์ CEO แห่ง บริษัท ฮับบา จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งจนประสบความสำเร็จ ไม่ได้พกมาแค่สมองและสองมือในการทำงานเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับหัวใจและความรักในการสร้างฮับบาให้เป็นมากกว่าแค่สถานที่ทำงาน
ฮับบา โคเวิร์คกิ้ง สเปซ พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
หนึ่งในเครื่องวัดความสำเร็จของฮับบาวัดได้จากการขยายสาขาไปตามย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ
จากเอกมัยสาขาแรก ขยายไปยังสีลม อ่อนนุช วิภาวดี ซึ่งสวนทางกับแบรนด์อื่นๆ ในธุรกิจเดียวกันที่ทยอยล้มหายตายจาก หรือลด แลก แจก แถมโปรโมชั่นอย่างหนัก เพื่อดึงดูดลูกค้า
“ธุรกิจโคเวิร์คกิ้ง สเปซเป็นตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพราะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของ ecosystem ของเทคโนโลยี แล้วเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ทำให้เราต้องปรับตัวตามตลอดเวลา
“แต่สิ่งหนึ่งที่ฮับบาไม่เคยเปลี่ยนคือ เราตั้งใจเป็นมากกว่าโคเวิร์คกิ้ง สเปซ เราให้บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาเราช่วยได้เยอะมาก เราอยากเป็น open innovation hub คือเป็นที่ที่ทุกคนเข้ามาอยู่ด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ”
โคเวิร์คกิ้ง สเปซ ธุรกิจที่เกิดจากการสังเกต มองเห็น และกล้าลอง
ไอเดียธุรกิจโคเวิร์คกิ้ง สเปซ ของคุณชาล ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว
ย้อนไปเมื่อปี 2551 คุณชาลประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เช่นเดียวกับหลายคน เขาต้องปิดกิจการร้านอาหารของตัวเอง และอพยพไปอยู่แถวพัทยาชั่วคราว พร้อมนั่งทำงานในบ้านเช่าหรือตามร้านกาแฟ
“ตอนนั้นกำลังคิดหาธุรกิจใหม่ นั่งทำงานที่บ้านแล้วไม่ค่อยมีไอเดียหรือความคิดเท่าไร นั่งทำงานคนเดียวจนเริ่มพูดคนเดียว ผมรู้สึกว่าต้องออกจากห้องแล้ว ไม่งั้นต้องเป็นบ้าแน่ (หัวเราะ) จึงลองขับรถออกไปหาที่นั่งคิดงาน และมักไปจบตามร้านกาแฟ และสิ่งที่เห็นคือ คนกรุงเทพไปนั่งตามร้านกาแฟจนแน่นร้าน เราก็รู้สึกผิดนะ เพราะร้านกาแฟจะเน้นลูกค้าหมุนเวียน สำหรับเราเองก็ไม่ตอบโจทย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเวลาเข้าไปในร้าน ไม่รู้จะมีโต๊ะไหม ลุกไปห้องน้ำก็ไม่ได้ อินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ดี ผมจึงมานั่งคิดว่ามันมีที่เหมาะกว่านี้ไหม ที่ทำงานที่เป็นคอมมูนิตี้ มีความเซฟตี้”
ในช่วงเวลานั้น คุณชาลถือเป็นผู้เล่นคนแรกที่กล้าลงเล่นในสนามนี้แบบไม่มีประสบการณ์
ทำให้หลายครั้งเขาถูกตั้งคำถามและกดดันจากการลงมือทำสิ่งแปลกใหม่นี้
“โดนกดดันทุกด้าน (หัวเราะ) แต่ผู้ประกอบการมักมีความเชื่อมั่นของตัวเอง ไม่ฟังใคร ถ้าเราฟังคนอื่นมาก เราอาจจะยอมแพ้ไปนานแล้ว”
เมื่อผ่านประสบการณ์นี้ด้วยตัวเอง คุณชาลจึงเข้าอกเข้าใจผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักของฮับบาจึงเน้นไปที่ผู้ประกอบการ
ฮับบา โคเวิร์คกิ้ง สเปซ ที่เปรียบเสมือนบ้านเกิดผู้ประกอบการ
“ปกติเราจะให้คุณค่าผู้ประกอบการต่อเมื่อเขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่ช่วงที่เขาเริ่มต้น ไม่มีใครแคร์เขาเลย ช่วงเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ มันทั้งกดดันและเหงานะ โดนคนทักถามว่าทำธุรกิจอะไร เราก็อธิบายไปแบบฟังง่ายๆ ว่า ทำออฟฟิศให้เช่า”
เพราะคุณชาลตั้งใจทำโคเวิร์คกิ้ง สเปซ ให้เป็นคอมมูนิตี้ของผู้ประกอบการ การทำงานจึงไม่จบแค่หาพื้นที่และเอาโต๊ะเก้าอี้เข้าไปวาง
การสร้างกลุ่มเพื่อนใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือทำได้ภายในวันเดียว และใช้เงินซื้อไม่ได้ แต่ต้องแลกมาด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจและการพูดคุย
“มันเป็นเรื่องของความเชื่อใจกัน ต้องมีการพูดคุยกันหลายๆ ทาง โคเวิร์คกิ้ง สเปซแบรนด์ใหญ่ๆ มักบริหารงานแบบท็อปดาวน์ ลูกค้าไม่สามารถสื่อสารไปหาทีมผู้บริหารได้ แต่ที่ฮับบาเราเปิดให้สมาชิกเดินมาบอกได้เลยว่า อยากทำอะไร แล้วดึงให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไป เขาอาจจะตอบว่า โอเค ขอเก็บฟีดแบคนี้ไว้ แต่เราจะบอกว่า ไอเดียดีมากเลย แล้วเราจะซัพพอร์ทคุณได้อย่างไรบ้างในการสร้างไอเดียนี้ คือเราจะไม่ทำเองและไม่ทำให้ เราจะกระตุ้นให้สมาชิกทำเอง”
ด้วยวิธีการนี้ สมาชิกหลายคนของฮับบ้าจึงเป็นมากกว่าลูกค้าที่ไปนั่งทำงาน แต่กลายผู้นำในคอมมูนิตี้ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในหลายๆ ด้าน
‘สมอง’ กับ ‘หัวใจ’ สองสิ่งสำคัญที่ทำให้ฮับบ้าอยู่รอด
“โคเวิร์คกิ้ง สเปซหลายที่ที่เริ่มต้นมาพร้อมกับเรา ตอนนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่อยู่แล้ว”
อะไรทำให้พวกเขาหายไป
“ผมคิดว่าธุรกิจนี้ทำให้สำเร็จยาก ตอนนี้โคเวิร์คกิ้ง สเปซต้องเป็นมากกว่าที่นั่งทำงานชั่วคราว
“คนเราอยากทำงานเงียบๆ ก็จริง แต่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนด้วย ไม่ใช่นั่งทำงานแบบผีหลอก และจริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่อยากได้โคเวิร์คกิ้ง สเปซดีๆ ที่เหมือนบ้าน เขาไม่อยากเปลี่ยนบ่อย หรือลองไปเรื่อยๆ”
ในขณะที่โคเวิร์คกิ้ง สเปซอื่นดูแลสมาชิกเหมือนโรงแรม 5 ดาว คือ ใช้ความเป็น professional แต่ฮับบาเน้นใช้ความ personal มากกว่า professional ซึ่งคุณชาลมองว่าเหมาะกับธุรกิจนี้มากกว่า
“เราถือว่าตัวเองเป็น emotional support system คุยกันได้ทุกเรื่อง มีทั้งคนที่เข้ามาปรึกษาเรื่องการงาน การทำสตาร์ทอัพ ไปจนถึงคุยเรื่องเลิกกับแฟน เพราะเขารู้สึกสบายใจที่คุยกับคนในคอมมูนิตี้ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ มันอีโมชั่นนอล นี่คือสิ่งที่ทำให้เราถึงอยู่รอด
เมื่อถามถึงสิ่งที่คุณชาลใช้ในการทำงานมากที่สุด สมองหรือหัวใจ?
คำตอบที่ได้คือ “ผมคิดว่าสำคัญทั้งสองอย่าง”
“ในการทำธุรกิจถ้าไม่มีแพชชั่นหรือไม่มีหัวใจ เราก็อยู่กับมันไม่ได้นาน เพราะการทำธุรกิจไม่ได้สวยหรู มันเหนื่อยมาก ดังนั้นถ้าเราไม่รักในสิ่งที่เราทำ ไม่เกิน 1 ปี หรือ 2 ปี เราก็จะยอมแพ้ อย่างผมเองไปทำงานอย่างอื่นอาจได้เงินเยอะกว่านี้ และไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ (หัวเราะ) แต่ผมมีความรักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เราเลือกเพราะเราอยากทำ แต่ในขณะเดียวกัน สมองของเราก็สำคัญ เพราะถ้าเราไม่ใช่เหตุผล ตรรกะ หรือดาต้าในการช่วยในการตัดสินใจ และใช้แต่อารมณ์อย่างเดียว ธุรกิจก็คงไม่รอดเหมือนกัน”
ความท้าทายใหม่ในโลกที่โคเวิร์คกิ้ง สเปซผุดเหมือนดอกเห็ด
“ธุรกิจของเราเน้นผู้ประกอบการ และตอนนี้ผู้ประกอบการค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก แน่นอนว่าในอนาคตเราต้องมีเซอร์วิสหลายอย่างออกมารองรับพวกเขาให้ตรงจุดมากขึ้น”
นอกจากนี้ เซอร์วิสในโคเวิร์คกิ้ง สเปซ ต้องครบถ้วน ไม่มีขาดตกบกพร่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการทำงานของตัวเองได้สมบูรณ์แบบที่สุด
“ผมไม่อยากให้ผู้ประกอบการหรือสมาชิกต้องมานั่งกังวลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อยากให้เข้ามาเช่าห้องปุ๊บ เปิดแล็บท็อบ แล้วทำงานได้เลย ไม่ต้องห่วงเรื่องการทำงานเอกสาร ซึ่งเรื่องนี้เครื่องถ่ายเอกสารของแคนนอนตอบโจทย์ได้ดี
“ที่ฮับบาทุกสาขาเลือกใช้เครื่องถ่ายเอกสารของแคนนอน (Canon) รุ่น iR-ADV C3530i III เกือบทุกสาขา ก่อนหน้านี้เราก็เช็กข้อมูลก่อนเลือก และพบว่าแคนนอนเป็นแบรนด์ที่ตอบโจทย์การทำงานมากที่สุด เพราะต้องเจอการทำงานทุกรูปแบบ มีคนหลักร้อยมาสลับกันใช้ เราจึงต้องเลือกเครื่องถ่ายเอกสารที่รองรับการใช้งานหนักๆ ได้
“นอกจากนี้ ต้องเป็นเครื่องที่ใช้งานง่าย สมาชิกสามารถใช้งานได้เองโดยที่เราไม่ต้องไปสอนเขาเยอะ ดังนั้นต้องเป็นเครื่องที่เสียยากด้วย ที่สำคัญคือเซอร์วิสของแคนนอนถือว่าดี ทั้งการดูแลและบริการลูกค้าหลังการซื้อ เช่น เรื่องการเติมหมึก”
หลายคนอาจมองว่า การเลือกเครื่องถ่ายเอกสารเป็นเรื่องเล็กๆ แต่คุณชาลกลับมองต่าง เห็นว่ารายละเอียดเหล่านี้เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้เหล่าผู้ประกอบการทำงานได้ราบรื่นที่สุด
และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ฮับบาไม่มองข้าม
3
นักทดลอง มัลติมีเดีย ผู้สนุกกับความท้าทายและไม่จำเจ
นารุต ต่ายจันทร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ร็อก แอนด์ โรลล์ (Rock and Roll)
“เราอยู่รอดด้วยความสนุก และความท้าทาย เวลาเจองานที่ไม่เคยทำ เรามันส์กับมันมากๆ”
ในยุคที่เทคโนโลยีอยู่รอบตัวเช่นทุกวันนี้
งานอีเวนต์เป็นมากกว่าแค่การตั้งป้าย ออกบูธขายของ
และเมื่อทุกคนได้เห็นทุกอย่างบนโลกผ่านอินเทอร์เน็ต ความตื่นตากลายเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเห็นได้ตามกูเกิล การสร้างความแปลกใหม่จึงกลายเป็นเรื่องยาก
“การทำงานของผมมีความยากตรงที่ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ให้ลูกค้าตลอด บางอย่างอาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย อย่างการทำบูธขนาด 3*3 เมตร อาจกลายเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะสิ่งที่ลูกค้าอยากได้จากเรา คือความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร”
ต่าย-นารุต ต่ายจันทร์ ผู้ก่อตั้งและ creative director บริษัท ร็อก แอนด์ โรลล์ (Rock and Roll) ที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบงานมัลติมีเดียด้วยความครีเอทีฟ
“เราอยากทำให้คนร้องและรู้สึกว้าวกับงานของเรามากที่สุด”
นี่คือความท้าทายที่หล่อเลี้ยงชีวิตการทำงานออกแบบมัลติมีเดียของต่าย
เช่น ผลงานการออกแบบแสงสีในวันเปิดตัวไอคอนสยาม ในส่วนของ Magnolias Waterfront Residences
ที่กลายเป็นปรากฏการณ์งานอีเวนต์ใหญ่ของเมืองไทย รวมทั้งงานโชว์ไลท์ติ้งใจกลางเมืองอย่าง Beautiful Bangkok @Magnolias Ratchadamri Boulevard ซึ่งเขาทำงานในฐานะ Creative Director
ทั้งหมดนี้ เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ รวมทั้งความเป็นคนขี้สงสัย ความเป็นคนขี้เบื่อ ไม่ชอบความจำเจ
ที่สำคัญ การเป็นนักชอบทดลอง
ขี้สงสัย ทดลอง เรียนรู้สไตล์ครูพักลักจำ
เมื่อวันที่ต่ายเบื่อหน่ายการทำงานตำแหน่งครีเอทีฟในบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง
เขาท่องอินเทอร์เน็ตหาแรงบันดาลใจตามปกติ และสะดุดตากับงานอีเวนต์ของ Redbull ใน Youtube ที่มีการโชว์ฉายภาพกราฟิกลงบนวัตถุ หรือที่เรียกกันว่า ‘แมปปิ้ง’ (mapping) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์งานมัลติมีเดียและใช้ไอเดียครีเอทีฟ
สิ่งนี้ทำให้เขาตื่นตา และเกิดคำถามในใจว่า “ทำยังไงวะ” พร้อมเริ่มถามไถ่ผู้คนรอบข้างที่เป็นกูรูด้านนี้ และทดลองฝึกฝนโดยใช้วิธีครูพักลักจำ จนวันหนึ่งมีลูกค้าอยากได้ความแปลกใหม่ และไว้ใจพร้อมเปิดโอกาสให้เขาลงมือทำงาน
“ลูกค้าที่มาหาเรามักเป็นลูกค้าที่เบื่อกับสิ่งเดิมๆ แพทเทิร์นเดิมๆ เราอยากสร้างความว้าวให้ลูกค้าได้เสมอ”
นอกจากการเรียนรู้สไตล์มวยวัด ต่ายหาแรงบันดาลใจจากแหล่งไหน?
“ในอินเทอร์เน็ตมีความรู้เป็นกิโล แล้วลองหยิบมาทำเอง ทดลองเอง หากระบวนการขั้นตอนเอาเอง เจ็บเอง เพราะไม่ได้มีใครมานั่งสอน อย่างมากก็ปรึกษาพวกรุ่นน้องที่ถนัดด้านนี้”
เริ่มจากวันแรกที่สนใจด้านนี้ มาจนถึงวันนี้ที่ต่ายก่อตั้งบริษัท ร็อก แอนด์ โรลล์ ของตัวเอง เขาอาจจะมีพนักงานเท่าเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยจำนวนงานที่มากขึ้นและลูกค้าเบอร์ใหญ่ขึ้น
“ทีมเราไม่มีเออี ไม่มีเซลล์วิ่งขายงาน เราไม่มีพื้นฐานด้านมาร์เก็ตติ้ง เขียนแผนธุรกิจไม่เป็น ทำแบรนด์ดิ้งไม่ได้ แต่เราอยู่รอดด้วย ‘ความสนุก’ และ ‘ความท้าทาย’ เวลาเจองานที่ไม่เคยทำ เรามันส์กับมันมากๆ”
เปลี่ยนทุกเรื่องให้เป็นไปได้ ด้วยความเชื่อ ‘คนเราทำได้ถ้ามีมือเท้าเท่ากัน”
การเปลี่ยนสายงานจากครีเอทีฟโฆษณามาทำงานด้านมัลติมีเดีย อาจฟังดูง่าย เพราะเป็นสายอาร์ตเหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วงานนี้ไม่หมูอย่างที่คิด
“มันก็ไม่ยาก และมันก็ไม่ง่าย แต่เรามีความเชื่อว่าเราทำได้ เพราะมีมือมีเท้าเหมือนคนอื่นๆ ที่ทำได้ ผมเคยทำงานอยู่บริษัทโปรดักชั่นของเกาหลีมาก่อน พวกเขาบอกผมว่า ถ้าคนเรามีอวัยวะเท่ากัน ก็ต้องทำได้เหมือนกัน ผมก็เชื่อแบบนั้นมาตลอดไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าทำงานไม่ไหวแล้ว หรือไม่อยากทำ”
เมื่อถามถึงความท้าทายในการทำงาน ต่ายตอบว่า ทุกอย่างคือความท้าทาย เพราะงานของเขาคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่อาจไม่มีคนเคยทำ
“มันท้าทายไปหมดทุกเรื่อง เราอยากได้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องพึ่งสิ่งที่เรียกว่าเรฟเฟอร์เรนซ์
“การทำอะไรใหม่ๆ ต้องอาศัยการทดลองเยอะมาก อุปกรณ์ที่ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นในขั้นตอนนี้ คือ โปรเจกเตอร์ของแคนนอน ซึ่งต้องบอกว่าอึดมาก เราขนกระแทกไปหลายที่ยังไม่พัง (หัวเราะ) และตอบโจทย์เรื่องการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป ให้ภาพคมชัด เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะส่วนใหญ่เราทดลองและทดสอบฉายงานกันในที่มืด ถ้าใช้โปรเจกเตอร์ที่คุณภาพไม่ดี งานคงออกมาไม่เวิร์คแน่ๆ นอกจากนี้ เรายังใช้โปรเจกต์เตอร์ของแคนอนขายงาน ฉายตัวอย่างงานให้ลูกค้าดูด้วย เรียกว่ามีตัวเดียวคุ้มเลย”
หัวใจและสมอง ของต้องมีคู่กัน
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนทำงานย่อมมีวันพลังหมด ต่ายก็เช่นกัน
“ปีที่แล้วได้ทำงานเปิดตัวไอคอนสยาม ในส่วนของ Magnolias Waterfront Residence ถือเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ ใช้พลังงานหมดเลย เพราะมันไม่ใช่อีเวนต์เล็กๆ ที่ออกบูธวันเดียวจบ มันเป็นโชว์ที่ต้องทำให้คนจดจำ ทั้งในวันงานและฟีดแบคหลังงาน ทำให้ผมหมดแรงไปเลย ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตที่ทำมา
“หลังจากงานนั้นผมทำให้ผมต้องเดินทางไปเติมพลังและหาแรงบันดาลใจในยุโรปหลายเมือง รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น ซึ่งดีมากๆ โดยเฉพาะการได้ไปโชว์งานศิลปะแนวมัลติมีเดียที่โตเกียวในฐานะศิลปินเดี่ยว ร่วมกับเหล่าศิลปินญี่ปุ่นสายสตรีท”
“สำหรับผม ประสบการณ์เดินทางถือเป็นการเติมแพชชั่นให้กลับมาอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าผมมองหาแต่แพชชั่น สมองก็ต้องมี คนเราถ้าไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้หรอก ผมเน้นใช้ทั้งสองอย่างเลย เพราะรู้สึกว่า
“ถ้าไม่ใช้สมองคือโง่ ถ้าไม่ใช้หัวใจคือเลว ดังนั้นสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน”